เรามักได้ยินว่า กรุงศรีอยุธยาเสียกรุงแก่พม่าครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2310 นั้น เป็นเพราะผู้นำประเทศขณะนั้นอ่อนแอ พระเจ้าเอกทัศ กษัตริย์ผู้ครองกรุงศรีอยุธยาขณะนั้น เป็นคนไม่เก่ง ไม่เอาไหน เล่าต่อๆกันว่า หากนายทหารคนใดจะยิงปืนใหญ่ ต้องมาขออนุญาตก่อนเพราะเกรงว่าสนมจะตกใจ ทำให้กองทัพพม่าที่เคยสันนิษฐานว่า มาอย่างกองโจร ไม่ได้นำทัพมาโดยกษัตริย์ กลับสามารถตีกรุงศรีฯจนแตกและทำลายเมืองอันยิ่งใหญ่นี้จนล่มสลายลงไปได้
แต่ต่อมา เมื่อศึกษาหลักฐานประวัติศาสตร์หลายๆแหล่ง โดยเฉพาะหลักฐานข้างพม่า จะพบว่า เรื่องราวอาจไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะ พม่าไม่ได้มาอย่างกองโจร แต่เป็นการยกทัพโดยวางยุทธศาสตร์มาอย่างดี โดยยกมาสองทัพใหญ่ มาตั้งแต่ พ.ศ. 2308 ทัพแรกนำโดย เนเมียวสีหบดี ยกทัพมาจากเชียงใหม่ (ขณะนั้นเชียงใหม่ตกเป็นของฝั่งพม่า) อีกทัพนำโดย มังมหานรธา ยกทัพมาทางด่านเจดีย์สามองค์ (กาญจนบุรี) ตีเมืองรายทางไปตลอด กวาดต้อนทรัพยากร ผู้คน สมบัติ เสบียง มาตลอดทาง จนกระทั่ง ทั้งสองทัพมาบรรจบกันล้อมกรุงศรีอยุธยาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2309
ขณะที่กรุงศรีอยุธยาใช่ว่าจะประมาทจนไม่ได้ทำอะไรเลย จริงๆแล้ว พระเจ้าเอกทัศได้เตรียมการตั้งรับด้วยการโปรดให้รวบรวมประชาชนและเสบียงเข้ามาไว้ในพระนคร จนสามารถตั้งรับพม่าได้ยาวนานถึง 14 เดือน แต่ปัญหาก็คือ ยุทธศาสตร์หลัก ของกรุงศรีอยุธยานั้น กลับเป็นยุทธศาสตร์ที่เคยใช้มานับร้อยปีก่อนหน้านั้น นั่นคือ การรวบรวมทรัพยากร ไพร่พล เสบียง มาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา เพื่อตั้งรับการล้อมของพม่า รอกระทั่งถึงฤดูน้ำหลากราวๆเดือนสิบสอง น้ำจะท่วมรอบกรุงศรีอยุธยาจนพม่าจะต้องถอยทัพกลับไปเอง การส่งทัพไปต่อสู้กับพม่าตามหัวเมืองนั้น เป็นเพียงการส่งกำลังย่อยออกไป เพื่อตัดกำลัง ไม่ได้เป็นยุทธศาสตร์ที่จะป้องกันไม่ให้พม่ามาล้อมกรุง
แต่ครั้งนี้ พม่าได้เตรียมแผนเด็ดมาอุดช่องโหว่ของการมาตีกรุงศรีอยุธยาแบบเดิมแล้ว ก่อนถึงฤดูน้ำหลาก แม่ทัพพม่าได้วางแผนสำรวจที่ดอนตามโคกตามวัดที่จะวางกำลังไว้ในช่วงน้ำหลาก มีการจัดหาเรือมาใช้ในกองทัพจำนวนมาก พอถึงฤดูฝน พม่าให้ทหารปลูกข้าวตามบริเวณใกล้เคียง สร้างป้อมค่ายในที่น้ำท่วมไม่ถึงและติดต่อถึงกันได้สะดวก ถึงตอนนี้ ผู้นำของกรุงศรีอยุธยารู้แล้วว่า แพลนเอ กำลังล้มเหลว และพวกเขาไม่ได้คิดถึง แผนสำรอง หรือ แผนฉุกเฉิน (Contingency Plan) ไว้เลย ได้แต่พยายามยกทัพเรือไปโจมตีค่ายพม่า ซึ่งพบแต่ความล้มเหลว
ขณะที่ ยอดนักยุทธศาสตร์ อย่างสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือพระเจ้าตากสิน ซึ่งในขณะนั้นท่านเป็นพระยาตาก ท่านกลับเตรียมแผนสำรอง (Contingency Plan) ของท่านไว้อยู่แล้ว พอพ้นหน้าน้ำหลาก พม่าไม่ถอยทัพ ท่านก็รู้แน่ว่า แผนหลักของกรุงศรีฯล้มเหลว และเหล่าบรรดาผู้นำของกรุงศรีฯไม่ได้เตรียมแผนอื่นไว้เลย ท่านไม่จำเป็นต้องรอดูผลก็รู้แน่ว่า กรุงศรีอยุธยาจะต้องแตกพ่ายแพ้แก่พม่าอย่างแน่นอน ถ้ารออยู่ในกรุงต่อไป ก็คือการรอวันตายเท่านั้น ดังนั้น เมื่อถึงต้นเดือนมกราคม 2310 ท่านจึงเริ่มแผนสอง หรือ แพลนบี ของท่านทันที ด้วยการยกทัพตีฝ่าออกจากกรุงศรีฯ มุ่งหน้าภาคตะวันออก ซึ่งปลอดภัยจากทัพพม่า เข้ายึดเมืองจันทบุรีและหัวเมืองทางภาคตะวันออก รวบรวมไพร่พลทรัพยากร ยกทัพเรือกลับมายึดกรุงศรีฯได้ จนสามารถสถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี กอบกู้เอกราชจากพม่าและรวบรวมแผ่นดินไทยให้กลับมาเป็นปึกแผ่นเป็นผลสำเร็จ
บทเรียนสำคัญจากเหตุการณ์การเสียกรุงครั้งที่ 2 สำหรับนักกลยุทธ์นั้น ก็คือ อย่าเตรียมแผนการหลักไว้เพียงแผนเดียว จำเป็นต้องมี แผนสำรอง (Contingency Plan) ไว้ในกรณีแผนหลักล้มเหลวไว้ด้วย ไม่ฉะนั้น จะตกอยู่ในสถานะพลาดตาเดียวพ่ายแพ้ทั้งกระดาน นั่นเอง
*******************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
16 มกราคม 2560
*******************************