Proactive อุปนิสัยสำคัญสู่ชัยชนะ กับ No Excuse Culture ของ เจอร์เกน คล็อปป์

เมื่อ 29 ธันวาคม 2019 ที่ผ่านมา ผมได้ทำตามความฝันข้อหนึ่งในชีวิต คือ การไปดูบอลที่สนามแอนฟิลด์ เมืองลิเวอร์พูล วันนั้นเป็นการแข่งขันระหว่าง ลิเวอร์พูล กับ วูล์ฟ แฮมป์ตันฯ ซึ่งเป็นการแข่งขันแมตช์ที่ 9 ของทีมลิเวอร์พูลในเดือนธันวาคมเดือนเดียว นับเป็นโปรแกรมการแข่งขันสุดโหด เพราะต้องลงเตะทุกสามวันติดต่อกันแรมเดือน

ทุกแมตช์ที่มีการเตะในบ้าน ทางสโมสรจะมีการจัดทำ Program Book ให้กับแฟนบอลที่มาชมได้ซื้ออ่านกัน ในวันที่ผมไปชมนั้น หน้าปกเป็น นาบี เกอิต้า ที่เล่นได้โดดเด่นในช่วงเดือนธันวาคม แต่เนื้อหาในเล่ม ที่ผมประทับใจมาก คือ คอลัมน์ From the Boss โดย เจอร์เกน คล็อปป์ ผู้จัดการทีมลิเวอร์พูล โดยเขาได้เขียนตอนหนึ่งว่า

“มีคนมากมายพร้อมที่จะวิจารณ์จากข้างนอกถึงผลกระทบของการเดินทางไปโดฮา (ไปแข่งชิงแชมป์สโมสรโลก ที่ลิเวอร์พูลคว้าแชมป์กลับมา) ที่มีต่อการลุ้นแชมป์พรีเมียร์ลีก ผมสามารถตอบได้ตรงนี้เลย โดยไม่ต้องดูผลลัพธ์ ว่า ไม่มีผลเลย! เพราะว่าพวกเราไม่อนุญาตให้มันมามีผลกับเรา นักฟุตบอลของเรากลุ่มนี้รู้ว่าพวกเขาต้องกำหนดวาระ และมาตรฐานของพวกเขาเอง

พวกเขารู้ว่า พวกเขามีความสามารถที่จะตัดสินเองว่า จะเข้าไปสู่เกมการแข่งขันด้วยความเหนื่อยล้า หรือเราเลือกที่จะสดชื่นทั้งกายและใจ มันคือทางเลือกที่เราสามารถเลือกได้เอง เรามีพลังที่จะตัดสินใจเลือกวิธีการของเราเอง…

การพูดถึงหัวข้อพวกนี้ ย่อมแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากการใช้มันเป็นข้ออ้าง และนักบอลของเราเหล่านี้มี วัฒนธรรมไร้ข้ออ้าง (No Excuse Culture) ไหลเวียนอยู่ในตัวพวกเขา

เราจะพลาด เราจะแพ้บางเกมส์ แน่นอน เราจะเจออย่างนั้น นี่ไม่ใช่เป็นเพราะความล้มเหลวของเรา แต่เพราะคุณภาพของคู่แข่งที่สูงมาก แต่เราจะไม่ใช้ปัจจัยภายนอกมาอธิบาย ไม่ว่ามันจะดูสมเหตุสมผลขนาดไหน

แนวทางของเราคือมันเป็นเรื่องของโอกาสเสมอ การคว้าแชมป์สโมสรโลกฟีฟ่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสโมสรคือโอกาส และเราคว้ามันได้ การกลับมาสู่การแข่งขันต่อเข้มเข้นอย่างยิ่งในพรีเมียร์ลีกภายใต้ ตารางการแข่งขันที่แน่น คือโอกาสสำหรับเราที่จะแสดงผลงานถ้าเราเลือกที่จะเผชิญอย่างนั้น และเราจะทำเช่นนั้น

นั่นคือสิ่งที่ผมเห็นจากนักเตะของเราตั้งแต่เรากลับมารวมทีมเมื่อกรกฎาคมและสิงหาคมที่ผ่านมา เรากำหนดวาระของเราเอง เราตัดสินใจว่ามันเป็นไปได้ มันคือของขวัญของเราที่จะมอง “ความกดดัน” ที่เราสมควรจะเจอ ในแง่บวก ไม่ใช่แง่ลบ”

อ่านบทความตอนนี้ของคล็อปป์แล้ว ผมคิดถึงเรื่อง 7 อุปนิสัยของผู้มีประสิทธิภาพสูง ของสตีเฟน โควีย์ อันโด่งดัง ทันที โควีย์ได้ศึกษาปัจจัยสู่ความสำเร็จของคน ตลอด 200 ปีที่ผ่านมา และได้สรุปออกมาเป็น อุปนิสัย 7 ข้อ โดยข้อแรกก็คือ Proactive ซึ่งก็คือ ต้องเป็นฝ่ายเริ่มต้นทำก่อน ไม่ใช่รอตั้งรับ

โควีย์อธิบายว่า เมื่อมีสถานการณ์ใดๆเกิดขึ้น คนที่ประสบความสำเร็จจะมีอิสระที่จะเลือกวิธีการตอบสนองต่อสถานการณ์นั้น ไม่ใช่รอให้คนอื่นมาบอกมาทำให้เรา หรือปล่อยเป็นฝ่ายถูกกระทำ (Reactive) เช่น ในสถานการณ์ของลิเวอร์พูลที่ต้องเจอการแข่งขัน 9 นัดภายในเดือนเดียว หากปล่อยเป็นฝ่ายถูกกระทำ ก็คือ การไปโทษว่า สมาคมฟุตบอลอังกฤษผู้จัดพรีเมียร์ลีก กับ ฟีฟ่าผู้จัดการแข่งชิงแชมป์สโมสรโลก ไม่ยอมคุยกันหรือจัดตารางแข่งขันให้ดี จนทำให้เกิดการแข่งที่แน่นเกินไป หรืออาจรู้สึกเหนื่อยกับการที่ต้องเจอตารางแข่งขันเช่นนี้ แต่การเป็นคนโปรแอกทีฟ ก็จะมองแบบที่คล็อปป์มอง นั่นคือ นี่คือโอกาสที่จะคว้าแชมป์สโมสรโลกเป็นครั้งแรกของสโมสร และเป็นโอกาสที่จะพิสูจน์ตนเองว่า พร้อมที่จะคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกให้ได้เป็นครั้งแรกของสโมสร

การเป็นคนโปรแอกทีฟแบบนี้ ไม่ได้หมายความว่า ผลลัพธ์จะต้องชนะหรือสำเร็จเสมอไป แต่การที่ไม่ไปโทษสิ่งภายนอก จะทำให้เรามามุ่งมั่นกับสิ่งที่เราสามารถกระทำได้ ทำให้การเข้าสู่การแข่งขันจะเข้าด้วยความมุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จ ไม่ใช่การที่พร้อมจะไปโทษนั่นโทษนี่หรือหาข้ออ้างหากไม่สำเร็จ ผมว่า วิธีคิดของคล็อปป์ที่ปลูกฝังให้เกิดขึ้นในทีมลิเวอร์พูลว่า ทุกสถานการณ์คือโอกาส และวัฒนธรรมไร้ข้ออ้าง คือตัวอย่างของการสร้างความสำเร็จขึ้นสำหรับคนทุกคน

**********************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
13 มกราคม 2020
**********************************

ยุคแห่งโฆษณาแบบเจาะจง (Targeting) ใช้เงินน้อยกว่า ก็ชนะได้

ผลการเลือกตั้งอังกฤษเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา พรรคอนุรักษ์นิยม (Conservative Party) ชนะ พรรคแรงงาน (Labour Party) ไปได้ เป็นชัยชนะครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 30 ปี โดยได้ ส.ส.ถึง 365 คน เกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรมาถึง 40 ที่นั่ง ทำให้ นายบอริน จอห์นสัน หัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมและนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ครองตำแหน่งต่อไปด้วยเสียง ส.ส. ที่มากกว่า สามารถตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากพรรคเดียว การผลักดันนโยบายไปสู่การปฏิบัติจึงง่ายกว่าเดิมมาก

ปัจจัยที่ส่งผลให้พรรคอนุรักษ์นิยมชนะไปในครั้งนี้ มีมากมายหลายประการ แต่หากเรามองเฉพาะในแง่โฆษณาออนไลน์ ซึ่งกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการเข้าถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้งในยุคนี้ไปแล้ว เราจะพบแง่มุมที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะว่า ผู้ใช้เงินซื้อโฆษณาสูงสุดกลับไม่ชนะเลือกตั้ง ส่วนผู้ชนะการเลือกตั้งกลับกลายเป็นผู้ใช้เงินซื้อโฆษณาเฟซบุ๊คเป็นอันดับ 3

เราจะวิเคราะห์ข้อมูลโฆษณาบนแพลตฟอร์ม เฟซบุ๊ค เป็นหลัก เพราะมีการเปิดเผยข้อมูลชัดเจนและเข้าใจง่าย อีกทั้งเป็นแพลตฟอร์มที่มีอิทธิพลที่สุดในบรรดาออนไลน์ด้วยกัน จึงเชื่อว่า สิ่งที่เราพบจากข้อมูลบนแพลตฟอร์มนี้ก็สามารถสะท้อนภาพรวมได้

เมื่อเราดึงข้อมูลการใช้เงินโฆษณาบนเฟซบุ๊ค ระหว่าง 12 พ.ย.- 11 ธ.ค. 2019 (วันยุบสภาคือ 6 พ.ย. และวันเลือกตั้งคือ 12 ธ.ค.) พบว่า นั่นคือ พรรคที่ใช้เงินซื้อโฆษณาเฟซบุ๊คสูงที่สุด คือ พรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democrats Party) ที่ใช้เงินไป 819,626 ปอนด์ ตามมาด้วย พรรคแรงงาน (Labour Party) ที่ใช้เงินไป 800,888 ปอนด์ พรรคที่ซื้อโฆษณาเฟซบุ๊คเป็นอันดับสาม คือ พรรคอนุรักษ์นิยม (Conservative Party) ใช้เงินไป 539,085 ปอนด์

ผลเลือกตั้ง กลับเป็นตรงกันข้ามกับอันดับคนใช้เงิน เพราะพรรคที่ใช้เงินซื้อโฆษณาเฟซบุ๊คเป็นอันดับสาม อย่างพรรคอนุรักษ์นิยม กลายเป็นพรรคที่ได้ ส.ส.เป็นอันดับหนึ่ง (465 คน ส.ส.เพิ่มจากเลือกตั้งครั้งก่อน 47 คน) พรรคที่ใช้เงินอันดับสอง ก็ได้ ส.ส.เป็นอันดับสอง คือ พรรคแรงงาน ที่ได้ ส.ส. 203 คน (ส.ส.ลดลง 59 คน) ส่วนพรรคที่ใช้เงินมากที่สุด อย่างพรรคเสรีประชาธิปไตย กลับได้ ส.ส.เป็นอันดับสี่ คือ 11 คน (ส.ส.ลดลง 1 คน) พรรคที่ได้ ส.ส.อันดับสามคือ พรรคชาตินิยมสก็อต (Scottish National Party) ได้ ส.ส.มา 48 คน (เพิ่มขึ้น 13 คน) แต่พรรคนี้ไม่ติดอันดับการใช้เงินบนเฟซบุ๊ค น่าจะเป็นปัจจัยเฉพาะด้านชาตินิยมในสก็อตแลนด์มากกว่า

การที่พรรคเสรีประชาธิปไตย ใช้เงินมากสุด แต่ได้ ส.ส.เป็นอันดับสี่ นั้น น่าจะมาจากโครงสร้างการเลือกตั้งของสหราชอาณาจักรมากกว่า ที่มีลักษณะแบบสองพรรคการเมืองใหญ่เป็นเวลานับร้อยปีแล้ว คล้ายๆกับในทางธุรกิจ ที่หากมีผู้นำตลาดสองรายแรกที่มีส่วนแบ่งตลาดรวมกันเกิน 75% แล้ว ผู้เล่นอันดับสามอันดับสี่จะลำบากมากๆที่จะชิงส่วนแบ่งตลาดกลับมาได้ จำเป็นต้องใช้เงินโฆษณาจำนวนมากจึงจะพอมีที่ยืน แต่เงินที่จ่ายไป ไม่ได้รับประกันเลยว่า จะได้ส่วนแบ่งตลาดกลับมาตามที่คาด

รอบนี้เราจึงขอวิเคราะห์เฉพาะผู้นำสองอันดับแรกเท่านั้น เพราะในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา มีเพียงแค่ 2 พรรคนี้เท่านั้นที่จะมีโอกาสชนะเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่ง เราจึงมาดูข้อมูลจากเฟซบุ๊คให้ละเอียดขึ้น แล้วพบว่า พรรคอนุรักษ์นิยม มีจำนวนชิ้นโฆษณาในช่วงเวลาดังกล่าว 9,432 ชิ้น มากกว่าพรรคแรงงานที่มี 778 ชิ้นโฆษณา ถึง 12 เท่า พอเราหารเป็นเงินโฆษณาต่อชิ้นงาน พบว่า พรรคแรงงานใช้เงินต่อชิ้นโฆษณา เท่ากับ 1,029 ปอนด์ (ราวๆ 41,160 บาท) ส่วนพรรคอนุรักษ์นิยม ใช้เงินต่อชิ้นโฆษณา เท่ากับ 57 ปอนด์ (ราวๆ 2,280 บาท) เท่านั้นเอง

นั่นแปลว่า พรรคอนุรักษ์นิยม ทำโฆษณาแต่ละชิ้น เจาะจงลงไปที่กลุ่มเป้าหมายย่อยๆ (Targeting) ไม่ใช่ทำโฆษณาหว่านแหไปที่คนหมู่มากอย่างพรรคแรงงาน เพราะแต่ละกลุ่มเป้าหมายมีความต้องการความสนใจแตกต่างกัน การทำโฆษณาให้โดนใจคนแต่ละกลุ่มจำเป็นต้องมีความแตกต่างกันด้วย

จากกรณีศึกษาเรื่องนี้ ทำให้เราเรียนรู้ได้ว่า โลกวันนี้ ไม่ใช่ยุคของการทำโฆษณาแบบเหวี่ยงแหอีกต่อไป ไม่ใช่ยุคของเงินมากชนะเงินน้อยเสมอไป แต่คือยุคของการโฆษณาแบบเจาะจงลูกค้าเฉพาะกลุ่ม (Targeting) ยุคของคนที่มีข้อมูลลูกค้ามากกว่าชนะคนที่มีข้อมูลลูกค้าน้อยกว่า นั่นเอง

************************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
15 ธันวาคม 2019
************************************

กลยุทธ์ดูไฟชายฝั่ง กับ บทเรียนการปฏิรูปในศตวรรษที่ 19 ใครรุ่ง? ใครดับ? : ตอนที่ 3.2 การปฏิรูปของสยามสมัยรัชกาลที่ 5

เมื่อวิกฤติวังหน้าสิ้นสุดลงในปี 1874-75 การเร่งปฏิรูปโดยสมเด็จพระปิยมหาราช ก็ดูเหมือนหยุดชะงักลงชั่วคราว อาจเป็นเพราะในช่วงเวลาหลังจากนั้นเกิดเหตุความไม่สงบในพระราชอาณาจักรหลายแห่ง ทั้งเหตุการณ์จีนฮ่อเข้ามาปล้นเมืองบริเวณเชียงขวางและหลวงพระบาง (ขณะนั้นยังอยู่ภายใต้อาณาจักรสยาม) ในปี 1875-1876, 1877 และอีกครั้งในปี 1883-1887, เหตุจลาจลโดยกลุ่มอั้งยี่จีนที่เป็นกรรมกรเหมืองแร่ในภูเก็ตเมื่อปี 1876 เป็นต้น อีกทั้งในปี 1880 เกิดเหตุที่ทรงโทมนัสเป็นที่สุดเมื่อพระองค์ต้องสูญเสียสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ฯ จากเหตุการณ์เรือพระประเทียบล่มระหว่างเสด็จแปรพระราชฐานไปวังบางปะอิน

หรืออาจเป็นไปได้ว่า พระองค์ทรงเลือกใช้กลยุทธ์ ดูไฟชายฝั่ง (เก๋ออั้นกวนหั่ว 隔岸观火) กลยุทธ์ที่ 9 ใน 36 สุดยอดกลยุทธ์ก็ได้ กลยุทธ์นี้คือ การเฝ้ารออย่างสงบ เพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามเกิดความวุ่นวายแตกแยกภายในเอง ในกรณีนี้ไม่ได้เกิดความแตกแยกของฝ่ายที่คัดค้านการปฏิรูปแต่อย่างใด แต่เป็นการเฝ้ารอเวลาที่กำลังของฝ่ายคัดค้านการปฏิรูปลดลงจนไม่สามารถต่อต้านได้อีก ซึ่งเป็นการเฝ้ารอจนกระทั่ง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ถึงแก่พิราลัยในปี 1882 ซึ่งไม่มีการแต่งตั้งบรรดาศักดิ์ให้ผู้ใดเป็นถึงระดับ “สมเด็จเจ้าพระยา” อีก และต่อมา กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ (วังหน้า) เสด็จทิวงคตในปี 1885 พระองค์ก็ไม่ได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดดำรงตำแหน่งวังหน้าอีก โดยทรงเปลี่ยนเป็นการแต่งตั้ง มกุฎราชกุมาร (Crowd Prince) แทน

เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงมีอำนาจสมบูรณ์ในการบริหารราชการแผ่นดินแล้ว พระองค์ก็ได้ดำเนินการปฏิรูปสยามเข้าสู่ยุคใหม่อย่างมากมาย ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งของพระองค์ในช่วงปลายรัชกาล ว่า

“..ความเปลี่ยนแปลงที่เปลี่ยนไปใน 40 ปีนี้ เหมือนอย่างจะยิ่งกว่าห้าร้อยปี ที่จะได้พึงเปลี่ยนแปลงมาในพระราชพงศาวดารก็ไม่เท่า ด้วยเหตุฉะนี้ เราจึงมาสันนิษฐานว่า การที่เราได้อยู่ในราชสมบัตินานถึง 40 ปี อันประกอบด้วยเหตุการณ์เป็นอันมากนี้ นับว่าเป็นความดีโดยสถานหนึ่ง ซึ่งได้ดำเนินความคิดในการเปลี่ยนแปลงความปกครอง แลการบำรุงแผ่นดินอันเป็นที่รักของเรา โดยบรรทัดฐานอันหนึ่งอันเดียวกัน ให้ดำเนินไปโดยลำดับ…”

ในด้านการเมือง ทรงตั้ง เสนาบดีสภา ในปี 1888 ขึ้นมาเพื่อประชุมหารือราชการแผ่นดินโดยพระองค์เป็นประธานก่อน จนในที่สุด ในปี 1892 ทรงยกเลิกระบบจตุสดมภ์ เวียง วัง คลัง นา ที่ใช้บริหารราชการแผ่นดินมากว่า 400 ปีตั้งแต่สมัยพระบรมไตรโลกนาถ รวมถึงยกเลิกตำแหน่งสมุหนายกและตำแหน่งสมุหพระกลาโหม โดยเปลี่ยนเป็นระบบกระทรวง 12 กระทรวง ได้แก่ มหาดไทย, กลาโหม, ต่างประเทศ, วัง, พระนครบาล, เกษตราพาณิชการ, คลัง, ยุติธรรม, ยุทธนาธิการ, โยธาธิการ, ธรรมการและศึกษาธิการ, มุรธาธร การแบ่งส่วนราชการเช่นนี้ทำให้มีผู้รับผิดชอบบริหารในด้านต่างๆครอบคลุมราชการทุกด้าน โดยเฉพาะการพัฒนาประเทศ มีการแบ่งงานชัดเจน สามารถจัดสรรทรัพยากรได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ที่สำคัญเป็นการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่จบการศึกษาจากต่างประเทศเข้ามามีบทบาทในการบริหารประเทศ ทรงเริ่มดึงอำนาจหัวเมืองต่างๆเข้ามาสู่ส่วนกลางมากขึ้น โดยยกเลิกระบบเมืองเอก-โท-ตรี-จัตวา เปลี่ยนเป็นระบบ มณฑล-เมือง-อำเภอ-ตำบล-บ้าน แทน เพื่อให้ทันต่อการรุกคืบอิทธิพลของตะวันตกที่ต้องการยืดครองดินแดนสยาม, ทรงวางระบบศาลยุติธรรมยุคใหม่ ที่ปูทางไปสู่การยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในเวลาต่อมา

ในด้านเศรษฐกิจ ทรงปฏิรูปการจัดเก็บภาษีอย่างต่อเนื่องโดยเปลี่ยนจากระบบเจ้าภาษีนายอากร มาเป็นระบบราชการเก็บภาษีเอง, ทรงวางระบบจ่ายเงินเดือนข้าราชการ ตามตำแหน่งแน่นอน แทนเงินเบี้ยหวัดแต่เดิม รวมถึงมีบำนาญให้ข้าราชการที่เกษียณแล้ว, ทรงจัดทำงบประมาณแผ่นดินเป็นครั้งแรก เพื่อให้การใช้จ่ายเงินของราชการมีการวางแผนงานล่วงหน้าและเป็นระบบชัดเจน, ทรงจัดการเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินของเอกชนให้ชัดเจนด้วยการออกกฎหมายว่าด้วยโฉนดที่ดิน และตั้ง กรมที่ดิน ดูแลงานโฉนดที่ดิน, ด้านเอกชน มีการซื้อเครื่องจักรอุปกรณ์จากต่างประเทศจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่เป็นเครื่องจักรไอน้ำเพื่อการสีข้าว ที่เรียกว่า โรงสีไฟ ไม่ได้มีโรงงานผลิต อุตสาหกรรมต้นน้ำ ส่วนการเหมืองแร่ ก็ยังเป็นการให้สัมปทานกับบริษัทต่างประเทศทั้งนั้น จะว่าไป นายทุนที่เกิดขึ้นในยุคนี้ล้วนแต่เป็นนายทุนแบบนายหน้าทั้งสิ้น คือมีลักษณะซื้อมาขายไปเป็นส่วนใหญ่

ในด้านคมนาคมและสาธารณูปโภค ทรงจัดให้มีการไปรษณีย์​โทรเลข​ โทรศัพท์, สร้างทางรถไฟเชื่อมต่อหัวเมือง, ขุดคลองเพื่อขยายเมืองออกไป เพิ่มการขนส่งสินค้า และส่งเสริมการชลประทาน, สร้างถนน, ให้สัมปทานบริษัทเอกชนทำกิจการรถราง, ตั้งกรมศุขาภิบาลเพื่อจัดการขยะมูลฝอย และริเริ่มการประปาเพื่อหาน้ำสะอาดให้ประชาชน

ในด้านสังคม ทรงยกเลิกระบบไพร่ เปลี่ยนมาเป็นการจ้างข้าราชการแทน ทำให้ราษฎรมีเวลาทำมาหากินให้กับตนเองได้เต็มที่ ก่อให้เกิดผลดีทางเศรษฐกิจอย่างยิ่ง, ทรงเลิกทาส, ทรงเปลี่ยนระบบปฏิทินจันทรคติ มาเป็นปฏิทินสุริยคติ เพื่อให้สอดคล้องกับสากล, ทรงยกเลิกการมอบคลานเข้าเฝ้า และให้จัดสถานที่ทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังพระราชนิพนธ์ตอนหนึ่งว่า “วันนี้เปลี่ยนธรรมเนียมออฟฟิศใหม่ ใช้ยืนและนั่งเก้าอี้อย่างฝรั่ง”

โดยสรุปแล้ว การปฏิรูปแผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ทำให้สยามรอดพ้นจากการล่าอาณานิคมของตะวันตกมาได้ ไม่ตกเป็นอาณานิคมอย่างประเทศเพื่อนบ้านอย่าง พม่า เวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชา และสามารถดำรงความเป็นประเทศชั้นนำของภูมิภาค ก็เพราะว่า การปฏิรูปนั้นดำเนินการโดยผู้มีอำนาจสูงสุด มีวิสัยทัศน์ แม้ในตอนแรกท่านจะไม่มีอำนาจเต็ม แต่ท่านก็อดทนรอจนสามารถรวบรวมอำนาจเพียงพอต่อการปฏิรูป อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการปฏิรูปเมจิของญี่ปุ่น พบว่า มีความแตกต่างกัน โดยญี่ปุ่นเป็นการปฏิรูปแบบนองเลือด มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม และขึ้นเป็นมหาอำนาจใหม่แห่งเอเชีย ส่วนสยามปฏิรูปอย่างสงบ ค่อยเป็นค่อยไป ในเกือบทุกด้าน แต่ไม่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้สยามยังคงเป็นประเทศเกษตรกรรม ไม่ได้กลายเป็นประเทศอุตสาหกรรม ไม่ได้มีอุตสาหกรรมต้นน้ำที่จะทำให้ประเทศผู้ผลิตไปได้ มีแต่นายทุนใหม่ประเภทซื้อมาขายไปเกือบทั้งนั้น

*******************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
23 มกราคม 2561
*******************************

บทเรียนการปฏิรูปในศตวรรษที่ 19 ใครรุ่ง? ใครดับ? : ตอนที่ 3.1 การปฏิรูปของสยามสมัยรัชกาลที่ 5

ในช่วงศตวรรษที่ 18-19 ราชอาณาจักรสยามก็เป็นดินแดนที่มหาอำนาจตะวันตกพุ่งเป้าเข้ามามีอิทธิพลครอบครอง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงเห็นสัญญาณอันตรายนี้ตั้งแต่เนิ่นๆ ทรงยอมเจรจาเซ็นสนธิสัญญาเบอร์นี กับอังกฤษ ใน ค.ศ.1826 ถือว่าเป็นประเทศแรกๆในเอเชียที่เปิดการค้าเสรีกับตะวันตก และด้วยความที่สยามไม่ได้ถือนโยบายปิดประเทศเข้มข้นอย่างจีนและญี่ปุ่น สนธิสัญญานี้จึงไม่ได้เสียเปรียบอังกฤษ กลับกลายเป็นพ่อค้าอังกฤษเสียอีกที่ไม่พอใจกับสนธิสัญญาเพราะยังต้องเสียค่าธรรมเนียมปากเรือค่อนข้างแพง ซึ่งทำให้ภัยจากตะวันตกไม่ได้หายไป เพียงแต่ชะลอเวลาไปเท่านั้น อย่างที่พระองค์พระองค์ทรงตรัสกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เมื่อตอนทรงประชวรใกล้เสด็จสวรรคตในปี 1851 ว่า
“การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดีอย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิดควรจะเรียนเอาไว้ก็ให้เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว”

พอถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 อังกฤษซึ่งได้เข้ามากดดันให้แก้ไขสนธิสัญญาเดิม ตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 3 แล้ว จึงได้ส่ง เซอร์ จอห์น เบาว์ริง เข้ามาเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาเดิม เพื่อให้ได้เปรียบไทยมากขึ้น ในเวลานั้น อังกฤษเพิ่งเอาชนะจีนในสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 และทำสนธิสัญญานานกิงในปี 1842 ที่ได้เปรียบจีนมากมาย ฝ่ายสหรัฐอเมริกาก็ใช้เรือรบยิงปืนใหญ่กดดันให้ญี่ปุ่นเซ็นสนธิสัญญาคะนะงะวะเปิดประเทศสำเร็จในปี 1854 รัชกาลที่ 4 ทรงทราบดีว่า หากไม่ยอมแก้ไขสนธิสัญญาเดิม อังกฤษก็พร้อมใช้กำลังทหารเข้ายึดสยาม ดังนั้น จึงเปิดให้มีการเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาและลงนามกันในปี 1855 โดยสยามต้องเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้กับคนในสังกัดอังกฤษ, เปิดการค้าเสรี โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมปากเรือ เหลือแต่ภาษีขาเข้า ร้อยละ 3 และภาษีขาออกตามพิกัดภาษีที่ตกลงกันไว้ โดยเฉพาะฝิ่นที่อังกฤษไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า เพียงแต่ต้องขายให้เจ้าภาษีเท่านั้น

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงขึ้นครองราชย์ในปี 1868 ด้วยวัยเพียง 15 พรรษา ถ้าพูดภาษาสามัญชนก็คือ พระองค์ยังเป็นวัยรุ่นอยู่ ได้มีการแต่งตั้ง เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) (ต่อมาท่านได้เลื่อนยศเป็น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แม้รัชกาลที่ 5 จะขึ้นครองราชย์ในวัยเยาว์ พระองค์ก็ทรงเห็นความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปราชอาณาจักรสยามให้เข้มแข็ง ก้าวหน้าทัดเทียมกับประเทศตะวันตก ในปี 1870 ได้เสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา เพื่อเรียนรู้การปกครองอาณานิคมของอังกฤษและฮอลันดา ต่อมาในปี 1872 ก็ได้เสด็จประพาสอินเดียกับพม่าที่เป็นเมืองขึ้นอังกฤษ ทรงเล็งเห็นว่าจำเป็นต้องปฏิรูปประเทศอย่างเร่งด่วนเพื่อไม่ให้ตกเป็นอาณานิคมของตะวันตก แต่เวลานั้นพระองค์เป็นเพียงกษัตริย์ในนาม ไม่มีอำนาจเต็มในการบริหารราชการแผ่นดิน จึงไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก

ในปี 1873 เมื่อเจริญพระชนมายุครบ 20 พรรษา รัชกาลที่ 5 ทรงเข้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และทรงเริ่มบริหารบ้านเมืองด้วยพระองค์เองแล้ว แต่อำนาจการบริหารที่แท้จริงยังไม่ได้อยู่ในมือพระองค์ เพราะขุนนางตำแหน่งสำคัญๆยังเป็นผู้ได้รับการแต่งตั้งจากผู้สำเร็จราชการแต่เดิมทั้งนั้น อีกทั้งยังมีวังหน้า ที่ได้รับการคัดเลือกและแต่งตั้งโดยผู้สำเร็จราชการ ไม่ได้เป็นการคัดเลือกโดยพระองค์เลย จึงดูเหมือนว่า อำนาจบริหารแผ่นดินอยู่ในกลุ่มใหญ่ๆ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ นำโดยรัชกาลที่ 5, กลุ่มอำนาจเก่า นำโดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ และกลุ่มวังหน้า นำโดยกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ (พระนามเมื่อแรกประสูติ คือ พระองค์เจ้ายอร์ชวอชิงตัน) จะเห็นได้จาก บางตอนจากพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 5 ถึงสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ที่กล่าวว่า
“..ในเวลานั้น อายุพ่อเพียง ๑๕ ปีกับ ๑๐ วัน ไม่มีมารดา มีญาติฝ่ายมารดาก็ล้วนแต่โลเลเหลวไหล หรือไม่โลเลเหลวไหลก็มิได้ตั้งอยู่ในตำแหน่งราชการอันใดเป็นหลัก ฐาน ฝ่ายญาติข้างพ่อคือเจ้านายทั้งปวง ก็ตกอยู่ในอำนาจสมเด็จเจ้าพระยาและต้องรักษาตัวรักษาชีวิต อยู่ด้วยกันทุกองค์ ที่ไม่เอื้อเฟื้อต่อการอันใดเสียก็มีโดยมาก ฝ่ายข้าราชการจึงว่ามีผู้ใดที่ได้รักใคร่ สนิทสนมอยู่บ้างก็เป็นแต่ผู้น้อยโดยมาก ที่เป็นผู้ใหญ่ก็ไม่มีกำลังสามารถอาจจะอุดหนุนอันใดเปรียบ เหมือนคนที่ศีรษะขาดแล้ว จับเอาแต่ร่างกายขึ้นตั้งไว้ในที่สมมุติกษัตริย์…และความหนักของมงกุฎ อันเหลือที่คอจะทานไว้ได้ ทั้งมีศัตรูซึ่งมุ่งหมายอยู่โดยเปิดเผยรอบข้างทั้งภายในภายนอก…”

ปี 1874 ในวัย 21 พรรษา พระองค์ทรงเลือกใช้กลยุทธ์เริ่มปฏิรูปด้วยอำนาจที่คนยุคนั้นคาดคิดไม่ถึง นั่นคือ ทรงเริ่มจากอำนาจนิติบัญญัติ (ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คนมักใช้แต่อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ แต่มองข้ามอำนาจนิติบัญญัติไป) ด้วยการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of State) ซึ่งมีสมาชิก 12 คน เพื่อเป็นที่ปรึกษาในการบริหารราชการ และที่สำคัญคือ เป็นองค์กรร่างกฎหมาย เพื่อตราเป็นพระราชบัญญัติออกมา
มาตรการปฏิรูปแรกจากสภานี้ ก็คือ การออกกฎหมายจัดตั้ง หอรัษฎากรพิพัฒน์ เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการจัดเก็บภาษีอากร ดึงอำนาจการเก็บภาษีที่กระจัดกระจายจากขุนนางเจ้านายหลายๆส่วนเข้ามาไว้ที่เดียว ตามมาด้วยการออกกฎหมายเกษียณอายุลูกทาสลูกไทย เพื่อกำหนดค่าตัวลูกทาสตอนเป็นเด็ก และมีค่าตัวลดลงทุกปีจนพ้นเป็นไทได้หมดในปี 1905 และเพื่อสร้างทีมงานส่วนพระองค์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ทรงจัดตั้ง สภาที่ปฤกษาในพระองค์ (Privy Council) ประกอบด้วยสมาชิก 49 คน ทำหน้าที่ถวายคำปรึกษาส่วนพระองค์ สอดส่องเหตุการณ์สำคัญในบ้านเมือง และสืบสวนข้อเท็จจริงและถวายความเห็นในข้อราชการต่างๆ
เพียงเริ่มต้นปฏิรูปเท่านี้ กระแสต่อต้านการปฏิรูปก็พุ่งสูงขึ้นทันที อาจเป็นเพราะความเป็นห่วงที่เชื่อว่าการปฏิรูปอย่างรวดเร็วเกินไปจะเป็นอันตรายต่อบ้านเมือง หรือเป็นเพราะสูญเสียผลประโยชน์ที่มีแต่เดิมก็ตามแต่ ในที่สุด การปฏิรูปก็สะดุดลงไปบ้าง โดยเฉพาะเมื่อเกิดวิกฤติการณ์วังหน้าขึ้น

28 ธันวาคม 1874 เกิดเพลิงไหม้ขึ้นในวังหลวงจากโรงผลิตแก๊สอะเซทิลีนสำหรับเดินท่อจ่ายไปยังโคมไฟแสงสว่างในวัง ทหารวังหน้าจัดทีมเข้าไปหมายจะช่วยดับเพลิง แต่ทหารวังหลวงไม่ยินยอมด้วยความระแวงเกรงจะเป็นการก่อวินาศกรรมโดยฝ่ายวังหน้า จึงเกิดการปะทะขึ้น จากนั้น กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ (วังหน้า) เกรงว่าจะถูกจับกุมข้อหากบฏ จึงหลบหนีเข้าไปอยู่ในสถานกงสุลอังกฤษ เปิดโอกาสให้อังกฤษเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในประเทศ สมเด็จเจ้าพระยาฯ อดีตผู้สำเร็จราชการ ต้องเดินทางจากบ้านพักที่ราชบุรี เพื่อเข้าไปเจรจากับวังหน้าในสถานกงสุลอังกฤษ ในที่สุด วังหน้าทรงยอมออกจากสถานกงสุลกลับสู่วังพระองค์เอง วิกฤติวังหน้าครั้งนั้นจึงสิ้นสุดลง

แต่การปฏิรูปที่แท้จริงยังไม่ได้เริ่มขึ้น…

*******************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
10 มกราคม 2561
*******************************

บทเรียนการปฏิรูปในศตวรรษที่ 19 ใครรุ่ง? ใครดับ? : ตอนที่ 2 การปฏิรูปเมจิของญี่ปุ่น

ในช่วงศตวรรษที่ 17-19 ญี่ปุ่นปกครอบด้วยระบอบโชกุน ที่อำนาจการบริหารบ้านเมืองอยู่ที่ โชกุนตระกูลโทกุกะวะ โดยจักรพรรดิเป็นเพียงผู้นำเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น ไม่มีอำนาจบริหารใดๆ ระบอบโชกุนบริหารประเทศด้วยการปิดประเทศ การค้าขายกับต่างชาติเป็นระบบผูกขาดผ่านโชกุน และทำได้เฉพาะที่ เมืองนางาซากิ เท่านั้น ประชาชนในญี่ปุ่นจะถูกระบุให้อยู่ในชนชั้น 1 ใน 4 ชนชั้น (ซามูไร ชาวนา ช่างฝีมือ และพ่อค้า) ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงชนชั้นได้ ซึ่งมีการกำหนดบทบาทหน้าที่ของแต่ละชนชั้นอย่างชัดเจน ด้วยระบบอันเข้มงวดเช่นนี้ ทำให้ญี่ปุ่นเกิดความสงบทางการเมือง อำนาจอยู่ในมือของตระกูลโทกุกาวะ ได้ยาวนานกว่า 268 ปี

แต่เมื่อกระแสอิทธิพลของตะวันตกรุกคืบเข้ามาในช่วงศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปี 1853 พลเรือจัตวา แมทธิว เพอร์รี่ ได้นำเรือรบที่ทันสมัยของสหรัฐอเมริกา ที่คนญี่ปุ่นเรียกกันว่า เรือดำ เข้ามาเทียบท่าถึงอ่าวเอโดะที่เมืองหลวง โดยไม่สนใจคำสั่งของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ให้เขานำเรือไปที่นางาซากิ ยิ่งไปกว่านั้น นายพลเพอร์รี่กลับหันปากกระบอกปืนไปยังตัวเมือง แล้วยิงปืนใหญ่ โดยอ้างว่า เพื่อฉลองวันชาติสหรัฐฯ จนทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นตกตะลึงในแสนยานุภาพเรือรบสหรัฐฯที่ญี่ปุ่นไม่สามารถต่อสู้ได้ จึงจำเป็นต้องยอมเจรจาสนธิสัญญาเปิดประเทศที่เสียเปรียบต่อสหรัฐฯ (ยุคนั้นประเทศในเอเชียต่างถูกมหาอำนาจตะวันตกกดดันให้เปิดประเทศตามสนธิสัญญาที่เสียเปรียบอย่างยิ่ง อย่างในประเทศไทย ก็ต้องเซ็นสนธิสัญญาบาวริ่งกับอังกฤษในปี 1855 ส่วนจีนที่ไม่ยอมเจรจาก็เกิดสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 และต้องพ่ายแพ้เสียดินแดนให้ตะวันตก)

หลังเปิดประเทศตามสนธิสัญญาที่เสียเปรียบ รัฐบาลโชกุนโทุกุกะวะซึ่งเรียกกันว่า รัฐบาลบาคุฟุ ก็สูญเสียความมั่นคงอย่างรุนแรง เพราะคนขาดความเชื่อมั่นว่าระบอบนี้จะนำพาชาติให้รอดพ้นจากตะวันตกได้ การค้าขายกับต่างชาติที่ก้าวกระโดดจากการเปิดประเทศ กลับทำให้ระบบเงินตราของญี่ปุ่นตอนนั้นเกิดปัญหารุนแรง เกิดกระแสเงินไหลออกจากประเทศ โดยเฉพาะการไหลออกของทองคำ จากการแห่กันเก็งกำไร (Arbritage) ของฝรั่งจากอัตราแลกเปลี่ยนทองคำในประเทศกับต่างประเทศที่แตกต่างกันมากเกินไป แม้ว่าจะมีพ่อค้าร่ำรวยเพิ่มขึ้นจากการค้าต่างประเทศ แต่จำกัดเฉพาะในวงแคบๆเท่านั้น คนส่วนใหญ่กลับเผชิญปัญหาเงินเฟ้อ อัตราว่างงานพุ่งสูงขึ้น ผสมกับเกิดทุพภิกขภัยทางการเกษตร จนเกิดการลุกฮือของชาวนาขึ้นหลายครั้ง

กลุ่มไดเมียว (เจ้าเมือง) จากแคว้นซัตสึมะ และแคว้นโชชู จึงได้ก่อตั้งพันธมิตรซัตโซ ขึ้นในปี 1866 ร่วมกับกลุ่มซามูไรรุ่นใหม่ นำโดย ซากะโมโตะ เรียวมะ (คอซีรีย์และการ์ตูนญี่ปุ่นคงคุ้นชื่อเขากันอย่างดี) มีเป้าหมายเพื่อ ดึงอำนาจบริหารประเทศจากรัฐบาลบาคุฟุของโชกุนตระกูลโทกุกะวะ กลับสู่จักรพรรดิญี่ปุ่น และปฏิรูปประเทศ แต่เส้นทางนี้ไม่ได้จบโดยสันติ กลุ่มรัฐบาลบาคุฟุและผู้คัดค้านไม่ยินยอม เกิดการลอบสังหารซากะโมโตะ เรียวมะ และต่อมา เกิดสงครามกลางเมืองขึ้น ที่เรียกว่า สงครามโบชิน ระหว่างปี 1868-1869 ในที่สุดสงครามก็จบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายนิยมจักรพรรดิ การปฏิรูปเมจิจึงได้ถือกำเนิดขึ้น มีการเชิญจักรพรรดิย้ายที่ประดับจากเมืองเกียวโต มายังเอโดะ และเปลี่ยนชื่อเมืองเอโดะ เป็น โตเกียว

การปฏิรูปเมจิ หลายครั้งมักใช้คำว่า การฟื้นฟูยุคเมจิ (Meiji Restoration) เพราะเป้าหมายที่ประกาศคือ การฟื้นฟูอำนาจขององค์สมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่น แต่ผมคิดว่า ควรใช้คำว่า ปฏิรูป จะเหมาะสมกว่า เพราะเนื้อหาที่แท้จริง เป็นการปฏิรูปที่กระทบทุกมิติของประเทศ ภายใต้คำขวัญว่า “ประเทศมั่งคั่ง กองทัพแข็งแกร่ง” ส่วนการบอกว่า อำนาจกลับคืนสู่องค์พระจักรพรรดินั้น ดูจะไม่เป็นอย่างนั้น เพราะอำนาจที่แท้จริงในการบริหารประเทศได้กลับไปสู่กลุ่มชนชั้นนำ หรือเรียกว่า คณาธิปไตย จะตรงความหมายมากกว่า เราลองมาดูเนื้อหาการปฏิรูปเมจิกัน

ในด้านการเมือง ได้ยกเลิกอำนาจปกครองของแคว้นต่างๆ โดยจัดตั้งรัฐบาลกลาง แล้วดึงอำนาจการบริหารประเทศจากท้องถิ่นมาสู่ส่วนกลาง, จัดตั้งรัฐสภา โดยมีการส่งตัวแทนจากแคว้นต่างๆเข้ามามีบทบาทในการออกกฎหมาย, , จัดตั้งกระทรวง 8 กระทรวงเพื่อบริหารประเทศ, ประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกของญี่ปุ่น จะเห็นว่านี่คือการดึงอำนาจในมือโชกุนโทกุกะวะและไดเมียวทั่วประเทศ เข้ามาสู่โครงสร้างใหม่ ที่นำแนวคิดระบอบการปกครองของตะวันตกมาใช้ แต่เน้นการรวมศูนย์อำนาจมาที่รัฐบาลกลางที่เป็นตัวแทนของกลุ่มชนชั้นนำในยุคนั้น

ในด้านเศรษฐกิจ มีการออกกฎหมายปฏิรูปภาษีที่ดิน เปิดให้เอกชนเป็นเจ้าของที่ดินได้เป็นครั้งแรก, สร้างรถไฟไปทั่วประเทศ ระยะเวลาเพียง 18 ปี สร้างทางรถไฟไปถึง 2,250 กิโลเมตร, วางระบบโทรเลขเชื่อมโยงเมืองใหญ่ทั่วประเทศ, สนับสนุนให้เกิดบริษัทเอกชน โดยได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาล, ก่อตั้งธนาคารตามแบบตะวันตก, มีการสร้างท่าเรือ เหมืองแร่ ลงทุนสร้างโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก ทำให้ญี่ปุ่นเข้าสู่ “การปฏิวัติอุตสาหกรรม” เป็นประเทศแรกของเอเชียด้วยตนเอง

ในด้านสังคม ได้ยกเลิกระบบชนชั้นทั้งสี่ ทำให้คนทุกชนชั้นสามารถเลือกอาชีพได้ตามที่ตั้งใจ, เปิดโรงเรียนสอนหนังสือแบบตะวันตก ทำให้คนเข้ารับการศึกษาได้อย่างทั่วถึง นี่คือการปลดปล่อยศักยภาพของคนให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างเต็มที่ ทำให้ญี่ปุ่นก้าวกระโดดไปไกลกว่าประเทศอื่นๆในเอเชีย

ในด้านการทหาร ยกเลิกกองทัพท้องถิ่นของแต่ละแคว้น, ยกเลิกระบบซามูไร ที่ตอนนั้นมีกว่า 1.9 ล้านคน โดยค่อยเป็นค่อยไป จากที่ซามูไรทุกคนได้เงินเดือนจากรัฐ จึงเป็นภาระที่หนักมากของรัฐบาล จึงทยอยปรับเป็นได้พันธบัตรรัฐบาลแทนในที่สุด, จัดตั้งกองทัพของรัฐบาลกลาง ตามรูปแบบกองทัพสมัยใหม่ โดยชายญี่ปุ่นทุกคนเมื่ออายุครบ 21 ปี ต้องเป็นทหารรับใช้ชาติ 4 ปี, มีการพัฒนาและผลิตอาวุธยุคใหม่ด้วยตนเอง จนสามารถทำสงครามรบชนะทั้งกับจีน (ปี 1894-1895) และรัสเซีย (ปี 1904-1905)

ผลจากการปฏิรูปเมจิ ทำให้ในปี 1912 เมื่อจักรพรรดิเมจิได้สวรรคต ถือเป็นสัญลักษณ์การสิ้นสุดยุคเมจิ ประเทศญี่ปุ่นได้กลายเป็นประเทศมหาอำนาจใหม่แห่งเอเชีย ได้ยกเลิกสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมที่ทำกับประเทศตะวันตกทั้งหมด เป็นการปฏิรูปที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ปัจจัยที่ทำให้การปฏิรูปเมจิประสบความสำเร็จแตกต่างจากการปฏิรูปร้อยวันของจีน อยู่ที่ แกนนำการปฏิรูปได้เข้ายึดอำนาจจากกลุ่มอำนาจเก่าได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และแกนนำเหล่านี้มีวิสัยทัศน์ มีความรู้ความสามารถ ทุ่มเท จนการปฏิรูปก้าวหน้าไปตามทิศทางที่วางไว้ ไม่ได้ทำแบบครึ่งๆกลางๆ แต่ข้อด้อยของการปฏิรูปเมจิที่เห็นได้ชัดคือ เส้นทางปฏิรูปเต็มไปด้วยความรุนแรงนองเลือด มีทั้งการสู้รบในสงครามกลางเมือง และการลอบสังหารเหล่าผู้นำการปฏิรูป นั่นเอง

*******************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
3 มกราคม 2561
*******************************

บทเรียนการปฏิรูปในศตวรรษที่ 19 ใครรุ่ง? ใครดับ? : ตอนที่ 1 ปฏิรูปร้อยวันของจีน

ในช่วงไม่นานที่ผ่าน เราได้ยินคำว่า ปฏิรูป กันบ่อยครั้ง จนหลายต่อหลายครั้งก็สงสัยว่า การปฏิรูปนั้นเป็นอย่างไรกันแน่ ย้อนหลังไปในประวัติศาสตร์โลก มีการปฏิรูปเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง บางทีก็สำเร็จ บางทีก็ไม่สำเร็จ จึงน่าสนใจที่จะศึกษาดูว่า เราได้บทเรียนอะไรบ้างจากการปฏิรูปในอดีต โดยอยากหยิบยกกระแสการปฏิรูปในช่วงศตวรรษที่ 19 ของประเทศในเอเชียมาเล่าสู่กันฟัง

หลังจากที่ยุโรปได้เข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 จนถึงกลางศตวรรษที่ 19 ประเทศในยุโรปต่างพัฒนาจนเศรษฐกิจเข้มแข็ง ก่อให้เกิดการขยายอิทธิพลทางการค้าไปทั่วโลก และเมื่อมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ เหล่ามหาอำนาจยุโรปก็แผ่ขยายอำนาจยึดอาณานิคมไปทั่วโลก ประเทศในเอเชียหลายประเทศถูกยึดครอง หลายประเทศเล็งเห็นภัยที่เกิดขึ้นและความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปประเทศ บางประเทศปฏิรูปสำเร็จ บางปฏิรูปไม่สำเร็จ เรามาดูกรณีศึกษาบางประเทศเริ่มจาก การปฏิรูปร้อยวันของจีน

ช่วงศตวรรษที่ 19 ประเทศจีนอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ชิง มีฮ่องเต้เป็นคนแมนจู ซึ่งเป็นชนเผ่าทางตอนตะวันออกเฉียงเหนือของจีน และได้เข้าโค่นล้มราชวงศ์หมิงที่มีฮ่องเต้เป็นชาวฮั่นของจีนในศตวรรษที่ 17 ยุคต้นของราชวงศ์ชิงนั้นมีฮ่องเต้แมนจูที่มีความสามารถโดดเด่น โดยเฉพาะยุค คัง-ยง-เฉียน ที่เป็นยุคทองของชิง มีฮ่องเต้ที่เปรื่องปราดติดต่อกัน 3 พระองค์ คือ คังซี ยงเจิ้ง และเฉียนหลง ครอบคลุมระยะเวลานานถึง 138 ปี (ค.ศ. 1661-1799) แต่หลังจากนั้น ความเจริญของอาณาจักรจีนก็ถูกประเทศตะวันตกทิ้งห่างไปเรื่อยๆ เนื่องจากนโยบายปิดประเทศ จนตกขบวนรถการปฏิรูปอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18 ต่อมายังพ่ายแพ้ในสงครามฝิ่นในกลางศตวรรษที่ 19 จนถูกต่างชาติเข้าบังคับให้เปิดประเทศแบบเอาเปรียบ เข้ายึดดินแดนจำนวนมาก สูญเสียอธิปไตย กลายเป็นสังคมกึ่งอาณานิคม แต่ราชวงศ์ชิงยังไม่คิดปฏิรูปใดๆ จนเกิด กบฏไท่ผิงเทียนกว๋อ เข้ายึดดินแดนทางตอนใต้ ราชวงศ์ชิงใช้เวลาปราบปรามกว่า 14 ปี จนมีคนล้มตายไปถึง 20-30 ล้านคน ถึงเวลานั้น ชนชั้นนำบางส่วนจึงเริ่มขบวนการเรียนรู้วิทยาการตะวันตก ภายใต้การคัดค้านจากกลุ่มขุนนางหัวโบราณที่ยังคิดว่าประเทศจีนยังคงยิ่งใหญ่ ส่วนพวกตะวันตกยังล้าหลังจีนอยู่ แต่ขบวนการนี้ก็ไม่ได้ปฏิรูปอะไรเป็นชิ้นเป็นอันนัก มีแต่นำเทคโนโลยีจากตะวันตกเข้ามาพัฒนาประเทศเท่านั้น

qing-dynasty-china-19th-century-27-638.jpg

ต่อมาในปี 1895 จีนได้พ่ายแพ้สงครามกับญี่ปุ่น ก็เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า อาณาจักรจีนนั้นไม่ได้ยิ่งใหญ่เหมือนในอดีตอีกต่อไป พ่ายแพ้ทั้งกับมหาอำนาจตะวันตก และพ่ายแพ้ให้กับญี่ปุ่น ประเทศเล็กๆที่ได้ปฏิรูปประเทศสำเร็จในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 (เรียกว่า ปฏิรูปเมจิ รายละเอียดจะเล่าในครั้งต่อไป) เมื่อเป็นเช่นนี้ กลุ่มบัณฑิตของจีนนำโดย คังโหยว่เหวย ได้เสนอนโยบายปฏิรูปประเทศ ต่อฮ่องเต้กวงซู่ และฮ่องเต้ก็ได้ประกาศพระราชโองการกำหนดนโยบายเพื่อปฏิรูปประเทศ ในเดือนมิถุนายน 1898 เนื้อหาการปฏิรูปได้แก่ ส่งเสริมการประกอบธุรกิจแบบใหม่ สนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรม จัดตั้งหน่วยงานเพื่อเร่งรัดการพัฒนารถไฟและการทำเหมืองแร่ ยกเลิกการเขียนบทกวีในการสอบจอหงวนแต่หันมาสอบความรู้สถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบันแทน ตั้งโรงเรียนศึกษาวิทยาการตะวันตก ปลดขุนนางส่วนเกิน ลดขนาดกองทัพแบบเก่า และพัฒนากองทัพแบบใหม่ แต่เนื่องจากเนื้อหาการปฏิรูปไปกระทบผลประโยชน์ของชนชั้นนำ จึงเกิดการต่อต้านคัดค้านอย่างรุนแรง ที่สำคัญคือ เป็นการดำเนินการที่แสดงให้เห็นว่าอำนาจกลับมาอยู่ในมือฮ่องเต้ จากแต่เดิมอยู่ภายใต้ซูสีไทเฮา

ในที่สุด เพียง 103 วันหลังการประกาศพระราชโองการปฏิรูป ซูสีไทเฮาทรงเข้ายึดอำนาจ กังขังฮ่องเต้กวงซู่ ประหารชีวิตกลุ่มปฏิรูป และยกเลิกนโยบายปฏิรูปทั้งหมด การปฏิรูปร้อยวันจึงประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง หลังจากนั้น ประเทศจีนก็ดิ่งเหวลงอย่างไม่ฉุดไม่ขึ้น แม้ว่าต่อมาในปี 1911 เกิดปฏิวัติซินไฮ่ โค่นล้มราชวงศ์ชิง เปลี่ยนเป็น ระบอบสาธารณรัฐ แต่ก็ไม่สามารถทำให้ประเทศจีนฟื้นคืนมาได้ รัฐบาลกลางแทบไม่มีอำนาจบริหาร ต่อมาเกิดการรุกรานจากญี่ปุ่น และเกิดสงครามชิงแผ่นดินระหว่างก๊กมินตั๋ง และพรรคคอมมิวนิสต์ กว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะยึดอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จและก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ก็ล่วงเข้าไปจนถึงปี 1949 ผ่านการปฏิวัติ ปฏิรูป หลายต่อหลายครั้ง จนกระทั่งศตวรรษที่ 21 จีนใหม่จึงกลับมาเป็นมหาอำนาจของโลกได้อีกครั้ง

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การปฏิรูปร้อยวันของจีนที่ล้มเหลว มาจาก การประกาศการปฏิรูปมาจากผู้ที่ไม่มีอำนาจอย่างแท้จริง แม้ว่าฮ่องเต้กวงซู่จะเป็นฮ่องเต้ก็จริง แต่อำนาจทางการเมืองที่แท้จริงอยู่ในมือซูสีไทเฮามากกว่า ฮ่องเต้กวงซู่อาศัยการปฏิรูปเพื่อดึงอำนาจจากมือซูสีไทเฮากลับมาที่พระองค์ แต่โลกความเป็นจริงมันไม่ง่ายเช่นนั้น การปฏิรูปไม่ได้เป็นพลังที่จะทำให้ผู้นำมีอำนาจมากขึ้น ในทางกลับกัน การปฏิรูปกลับต้องการอำนาจทางการเมืองที่เข้มแข็งจากผู้นำ จึงจะทำให้การปฏิรูปนั้นสำเร็จ

*******************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
31 ธันวาคม 2560
*******************************

กลยุทธ์โฟกัสของ Oppo

จากตัวเลขยอดขายในปี 2016 ที่รายงานโดย IDC ปรากฏว่า Oppo ได้ประกาศศักดาก้าวเป็นอันดับหนึ่งของตลาดสมาร์ตโฟนในประเทศจีน ด้วยส่วนแบ่งตลาด 16.8% แซงหน้า Xiaomi, Huawei, Apple ถือว่าเป็นก้าวย่างสำคัญของแบรนด์โทรศัพท์จากมณฑลกว่างตงแห่งนี้ (vivo อันดับ 4 ก็เป็นแบรนด์ภายใต้บริษัทแม่เดียวกันกับ Oppo นั่นคือ BBK Electronics) โดยในปีก่อนหน้า Oppo ยังอยู่อันดับที่ 4 ที่ส่วนแบ่งตลาดในจีนเพียง 8.2% เท่านั้น ภายในปีเดียว Oppo มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มมาเท่าตัว แล้ว Oppo ทำได้อย่างไร?

ChinaSmartPhoneMarketShare2016

กลยุทธ์ที่ Oppo เลือกใช้ก็คือ กลยุทธ์โฟกัส ซึ่งเป็นไปตามตำราพิชัยสงครามซุนวู บทที่ 6 ตื้นลึกหนาบาง เขียนไว้ว่า “เรารวมศูนย์ แต่ศัตรูกระจาย เรารวมเป็นหนึ่ง ศัตรูกระจายเป็นสิบ เอาสิบไปตีหนึ่งของศัตรู เราก็มากแต่ศัตรูน้อย เมื่อเอามากไปตีน้อยจึงเอาชนะได้โดยง่าย”

Oppo โฟกัสในทุกด้านของธุรกิจ ในด้านผลิตภัณฑ์ Oppo มุ่งเน้นพัฒนาโทรศัพท์ที่มีจุดเด่น 2 อย่างเท่านั้น นั่นคือ ถ่ายรูปสวย และแบตเตอรี่อยู่ได้นานด้วยการชาร์จสั้นกว่าคนอื่น การทุ่มเททรัพยากรการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปที่จุดเด่นสองอย่างที่เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ทำให้ Oppo สามารถตามทันผู้นำตลาดเดิมที่มีทรัพยากรในการพัฒนามากกว่าได้ แต่หาก Oppo คิดจะพัฒนาโทรศัพท์ให้เด่นในทุกด้าน ก็ย่อมสู้ผู้นำในตลาดโลกอย่าง Apple และ Samsung ได้ยาก

ในด้านการขาย ขณะที่คนอื่นทุ่มเทไปกับช่องทางออนไลน์ Oppo กลับมุ่งเน้นไปที่ช่องทางการขายดั้งเดิมพวกร้านค้าและตู้ขายมือถือ การมุ่งเน้นกลุ่มนี้ทำให้ Oppo สามารถให้ margin กับตัวแทนจำหน่าย Oppo ได้มากกว่าคู่แข่ง ทำให้เมื่อมีคนมาหาซื้อมือถือที่ร้าน ที่ร้านย่อมเชียร์ให้ซื้อ Oppo ที่ทำให้ร้านได้กำไรมากกว่านั่นเอง

ในด้านการโฆษณา ผมเคยคุยกับผู้บริหารด้านโฆษณาของ Oppo เขาบอกผมว่า โจทย์เขาชัดเจนมาก นั่นคือ กลุ่มเป้าหมายของเขาคือกลุ่มวัยรุ่น เขาจึงโฆษณาในรายการเรียลลิตี้ โดยเฉพาะการร้องเพลง ในเวลาไพรม์ไทม์ พรีเซ็นเตอร์ของเขาต้องเป็นคนดังที่สุดสำหรับวัยรุ่นในตอนนี้ เขาไม่สนใจลงโฆษณาที่ไม่ตรงตามโจทย์นี้เลย เมื่อโจทย์ชัดเจน ทีมงานก็ทำงานได้อย่างชัดเจน ส่งผลให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้รับสารที่ Oppo สื่อไปได้อย่างชัดเจนเช่นกัน อย่างในเมืองไทย Oppo โฆษณาในรายการร้องเพลงทั้ง The Voice Thailand และ The Mask Singer หน้ากากนักร้อง จนคนจดจำแบรนด์ได้ทั่วบ้านทั่วเมือง

ด้วยกลยุทธ์โฟกัสอย่างนี้ ทรัพยากรของ Oppo จึงทุ่มเทไปยังจุดที่เขามุ่งเน้นจุดเดียว ทำให้เกิดพลังมหาศาลตามที่ซุนวูว่าไว้”เรารวมศูนย์ แต่ศัตรูกระจาย เรารวมเป็นหนึ่ง ศัตรูกระจายเป็นสิบ เอาสิบไปตีหนึ่งของศัตรู เราก็มากแต่ศัตรูน้อย เมื่อเอามากไปตีน้อยจึงเอาชนะได้โดยง่าย” จนทำให้ Oppo ก้าวขึ้นอันดับหนึ่งในประเทศจีนได้นั่นเอง

*******************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
24 เมษายน 2560
*******************************

เครดิตภาพจาก China Daily Asia

หัวเหว่ย ร่วมมือกับ ไลก้า : กลยุทธ์คบไกลตีใกล้

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2016 หัวเหว่ย (Huawei) ผู้ประกอบการโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของจีน ได้ประกาศความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับ ไลก้า (Leica) ผู้ผลิตกล้องถ่ายรูปชั้นนำของโลกจากเยอรมัน ที่จะพัฒนาการถ่ายรูปบนสมาร์ทโฟน สองเดือนต่อมา หัวเหว่ย ก็ออกโทรศัพท์รุ่น P9 ที่ไลก้าร่วมพัฒนากล้องถ่ายรูปเข้าสู่ตลาด สร้างความสั่นสะเทือนในวงการโทรศัพท์มือถือไปทั่วโลก

huawei_leica_distantneighbor

หากเราย้อนไปดูเส้นทางของหัวเหว่ยในธุรกิจโทรศัพท์มือถือ พบว่า เมื่อปี 2010 หัวเหว่ย มีส่วนแบ่งตลาดโทรศัพท์มือถือทั้งโลกอยู่ที่ 1.7% เป็นอันดับที่ 10 ของโลก ต่อจากนั้น ก็เติบโตอย่างก้าวกระโดด ไต่อันดับขึ้นมาจนเป็นอันดับ 3 ของโลกในปี 2012 ด้วยส่วนแบ่งตลาด 2.9% และยังคงเติบโตต่อเนื่องจนถึงปี 2015 ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มเป็น 8.2% ครองอันดับ 3 ของโลก ตามหลังอันดับสองอย่าง Apple ที่มีส่วนแบ่งตลาด 18.7% อยู่ 10%

กลยุทธ์ที่หัวเหว่ยใช้ในการเติบโตที่ผ่านมา นั่นคือ เป็นโทรศัพท์ราคาถูก ที่มีคุณภาพสินค้าคุ้มค่ากว่าราคา แต่หากหัวเหว่ยต้องการจะขึ้นเป็นอันดับสอง หรืออันดับหนึ่ง จำเป็นต้องมีกลยุทธ์ที่มากกว่านั้น เพราะ Samsung และ Apple ต่างมีชื่อเสียงในเรื่องนวัตกรรม ทำให้ขายสินค้าได้แพงกว่ามาก ผู้บริโภคยังไม่รู้สึกว่า แบรนด์ Huawei เป็นแบรนด์พรีเมียมแต่อย่างใด แล้วกลยุทธ์ใดที่จะทำให้หัวเหว่ยก้าวกระโดดต่อไปได้ล่ะ

การจับมือกับ Leica คือคำตอบเชิงกลยุทธ์ที่หัวเหว่ยเลือก เพราะในสมัยนี้ การถ่ายรูปด้วยโทรศัพท์มือถือเป็นฟังก์ชั่นการใช้งานหลักที่ผู้บริโภคใช้ ใครๆก็อยากถ่ายรูปออกมาให้สวย ถ้า Huawei พัฒนาเทคโนโลยีกล้องด้วยตัวเอง จะทำให้ดีแค่ไหน คนก็ยังไม่รับรู้ว่าเป็นระดับโลก แต่ ไลก้า เป็นแบรนด์ระดับโลกในด้านเลนส์ถ่ายภาพ เมื่อ หัวเหว่ย จับมือกับไลก้า คนรับรู้ทันทีว่านี่คือโทรศัพท์ที่คุณสมบัติการถ่ายรูปที่ดีที่สุด ในขณะเดียวกัน ไลก้า เองก็สามารถเข้าสู่ตลาดโทรศัพท์มือถือได้โดยไม่ต้องสร้างเทคโนโลยีทั้งหมดเอง เพียงแต่เอาแบรนด์ของตนเองมาต่อยอดกับ Huawei เท่านั้น

ผลลัพธ์ของกลยุทธ์นี่ทำให้ในปี 2016 หัวเหว่ย มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มมาอีก 1% กลายเป็น 9.3% ตามติด Apple ที่ส่วนแบ่งตลาดลดลงเหลือเพียง 12.5% ห่างกันเพียง 3% เท่านั้น ภายในเวลา 1 ปี ช่องว่างระหว่างเบอร์ 2 กับเบอร์ 3 ลดลงจาก 10% เหลือเพียง 3% เท่านั้น ขณะที่ ผู้บริโภครับรู้ว่าแบรนด์ Huawei ไม่ใช่แบรนด์ของถูกอย่างเดียวแล้ว นับว่า เป็นผลลัพธ์ที่ดีกว่าที่หลายคนคาดทีเดียว นั่นทำให้ Huawei ขยับหมากไปอีกขั้นด้วยการประกาศตั้ง ศูนย์วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ Leica ที่ประเทศเยอรมัน ในชื่อว่า Max Berek Innovation Lab เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการถ่ายภาพบนโทรศัพท์มือถือ รวมไปถึงเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) และ VR (Virtual Reality) ในเดือนกันยายน 2016 ส่งผลให้ทั่วโลกจับตาดูว่า ปี 2017 นี้ Huawei กับ Leica จะเปิดตัวสินค้าใหม่ตัวไหนเข้ามาสั่นสะเทือนตลาดโลกอีกครั้ง

หากเรามองจังหวะการเคลื่อนไหวเชิงกลยุทธ์ของ Huawei ด้วยสายตานักพิชัยสงคราม เราจะนึกออกทันทีว่า หัวเหว่ย กำลังใช้กลยุทธ์ที่ 23 ของตำรา 36 กลยุทธ์สู่ชัยชนะ ซึ่งเป็นคัมภีร์พิชัยสงครามโบราณของจีน นั่นคือ กลยุทธ์ คบไกลตีใกล้ (遠交近攻 หยวนเจียวจิ้นกง) กลยุทธ์นี้มีที่มาจากในยุคจ้านกว๋อ เว่ยหร่าง สมุหนายกแคว้นฉิน เสนอต่อ ฉินเจาเซียงอ๋อง ว่า แคว้นใกล้เคียงแข็งขืนต่อแคว้นฉินก็เพราะมีแคว้นฉีที่อยู่ไกลหนุนหลังอยู่ เราจึงควรยกทัพไปโจมตีแคว้นฉีที่อยู่ไกลก่อน เพื่อให้ทุกแคว้นหวาดกลัว ไม่กล้าเป็นพันธมิตรกับฉี แต่ ฟ่านซุย ขุนนางอีกคนรีบคัดค้าน บอกว่า การโจมตีแคว้นฉีที่อยู่ไกลทำได้ยาก กองทัพต้องเดินทางไกลและเหนื่อยยาก หากข้าศึกรวมตัวกันโจมตีแคว้นเรา กองทัพจะถอนทัพกลับมาไม่ทัน ดังนั้น แคว้นฉินควรผูกมิตรกับแคว้นไกล โจมตีแคว้นใกล้ ฉินเจาเซียงอ๋อง เห็นด้วยกับฟ่านซุย จึงปลดเว่ยหร่าง และแต่งตั้ง ฟ่านซุย ขึ้นเป็นสมุหนายก ขับเคลื่อนกลยุทธ์คบไกลตีใกล้ และด้วยกลยุทธ์นี้ ทำให้แคว้นฉินทยอยเอาชนะแคว้นใกล้ก่อน และในที่สุดก็รวมประเทศจีนได้สำเร็จ

คำว่า คบไกลตีใกล้ ในเรื่องของหัวเหว่ย ไม่ได้หมายถึง หัวเหว่ย แบรนด์จีน ไปคบกับ ไลก้า แบรนด์เยอรมัน ที่อยู่ไกล แต่ไกลในที่นี้คืออยู่คนละธุรกิจกัน หัวเหว่ย ในธุรกิจมือถือ ไปคบกับ ไลก้า จากธุรกิจเลนส์ถ่ายภาพ เพื่อไปตี ใกล้ นั่นคือ ตลาดมือถือ นั่นเอง ข้อคิดในเรื่องนี้คือ การคิดหากลยุทธ์เพื่อชัยชนะ บางครั้งเราต้องมองไปยังธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่ธุรกิจที่เราอยู่ เพื่อดูว่า เราจะสามารถสร้างพันธมิตร สร้างโอกาสจากธุรกิจอื่น เพื่อมาเสริมธุรกิจของเราได้หรือไม่ นั่นเอง

*******************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
29 มกราคม 2560
*******************************

ตำนานบ้านดินอวี้ชางโหลว ลางดีหรือลางร้าย

เมื่อกว่า 700 ปีก่อน ในยุคราชวงศ์หยวน ที่มองโกลปกครองแผ่นดินจีนอยู่ ชาวจีนฮากกา 5 ตระกูล ที่อพยพหนีภัยสงครามจากตอนเหนือมายังมณฑลฝูเจี้ยนที่อยู่ทางตอนใต้ของจีน ทั้งห้าตระกูลเลือกที่จะลงหลักปักฐานในบริเวณเทือกเขาตำบลหนานจิ้ง ซึ่งห่างจากชายฝั่งทะเล ทำให้ห่างจากภัยโจรสลัดอีกด้วย

Yuchanglou
อวี้ชางโหลว

ทั้งห้าตระกูลประกอบด้วย แซ่หลิว, หลัว, จาง, ถาง และ ฟ่าน ได้ลงขันรวมเงินว่าจ้างผู้รับเหมามาก่อสร้าง บ้านดินถู่โหลว ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาวจีนฮากกา (หรือจีนแคะ) กล่าวคือ เป็นอาคารขนาดใหญ่หลายชั้น มีหลายครอบครัวอาศัยอยู่รวมกัน แบ่งเป็นห้องๆ คล้ายคอนโดมิเนียมในปัจจุบัน มีลักษณะค่อนข้างปิด ทำให้รักษาความปลอดภัยได้ง่าย สำหรับบ้านดินที่ทั้งห้าตระกูลร่วมมือกันสร้างนั้น เรียกกันว่า อวี้ชางโหลว ที่แปลว่า บ้านแห่งความมั่งคั่ง สูง 5 ชั้น แต่ละชั้นมี 54 ห้อง อาคารแบ่งเป็น 5 ส่วน มีบันไดแยกจากกัน เพื่อความเป็นส่วนตัวของแต่ละตระกูลทั้งห้าแม้อยู่ในอาคารเดียวกัน ครัวของแต่ละตระกูลอยู่ครึ่งหลังของอาคารซึ่งมีน้ำสะอาดเพียงพอสำหรับใช้งาน อาคารเป็นรูปวงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 54 เมตร ลานตรงกลางสร้างเป็นศาลบรรพบุรุษ การแบ่งอาคารเป็น 5 ส่วนก็เหมือนกับ 5 ธาตุของจีน นั่นคือ ทอง ไม้ น้ำ ไฟ และดิน

ระหว่างก่อสร้าง ทั้งห้าตระกูลได้จัดเวรแบ่งหน้าที่ผลัดกันทำอาหารส่งน้ำให้กับช่างก่อสร้าง ค่ำคืนหนึ่งในช่วงพระอาทิตย์ตกค่อนข้างเร็ว ผู้ที่รับผิดชอบทำอาหารส่งให้ช่างก่อสร้าง เมื่อเสร็จหน้าที่แล้ว คิดว่าไม่มีอะไรอีกที่ต้องทำต่อ จึงดับตะเกียงเข้านอนแต่หัววัน ครอบครัวถัดไปที่รับผิดชอบส่งอาหารก็คิดว่า เวรถัดไปของตนเป็นรุ่งเช้าอีกวัน จึงเข้านอนไปด้วยโดยไม่ได้คุยกับครอบครัวก่อนหน้า วันนั้นช่างก่อสร้างทำงานจนดึก แต่กลับต้องอดอาหารเพราะเจ้าบ้านเข้านอนกันหมดแล้ว ด้วยความหิว ก็เลยหงุดหงิด ไม่รู้ว่าเพราะความตั้งใจหรือจะแกล้งเจ้าของบ้าน ช่างก่อสร้างจึงก่อบ้านดินไม่สมดุล บางจุดเล็กไป บางจุดใหญ่ไป แต่พอวางคานเสร็จแล้ว ก็ยังคงดูไม่ออกว่าโครงสร้างไม่ได้สมดุล

ว่ากันว่า อวี้ชางโหลว แต่เดิมจะสร้าง 7 ชั้น แต่วันหนึ่งก่อนที่จะปูกระเบื้องหลังคาชั้น 7 มีคนจากภายนอกขึ้นไปไหว้บรรพบุรุษที่ฮวงซุ้ยบนภูเขาด้านหลังอวี้ชางโหลว แต่ลมพัดเอากระดาษเงินกระดาษทองที่กำลังเผาปลิวมาที่ชั้น 7 ของบ้าน ทุกๆคนช่วยกันดับไฟได้ทัน แต่คิดว่า เป็นลางร้ายที่เกิดไฟไหม้ในอาคารใหม่ที่ยังไม่มีใครย้ายมาอยู่ ดังนั้นจึงรื้อชั้น 6 และชั้น 7 ออกไป แล้วก็ปูกระเบื้องหลังคาบนชั้น 5 แทน

800px-The_Zig_zag_building
เสาเอียง ใน อวี้ชางโหลว ที่อยู่มานานกว่า 700 ปี

ไม่นานนัก ทุกๆคนก็เริ่มสังเกตเห็นว่า เสาค้ำระเบียงชั้นสองและชั้นสูงกว่านั้นมันเอียง จนอาจจะพังลงได้ คนก็เริ่มกลัวกัน วันหนึ่ง เวลาย่ำค่ำ มีเสือเข้ามาในอาคาร คำรามเสียงดังก้อง เดินอยู่ที่ระเบียงชั้นล่าง และกระโดดขึ้นไปบนชั้นสอง เดินไปรอบๆระเบียง อย่างกับขุนนางระดับสูงเดินตรวจอาคาร จากนั้นก็กระโดดออกทางหน้าต่างด้านหลังขึ้นไปยังภูเขา นั่งลงมองมาทางบ้านอวี้ชางโหลว แล้วคำรามอย่างนุ่มนวล แต่ทุกคนในอาคารต่างได้ยินอย่างชัดเจน ก่อนจะวิ่งจากไป

คนตระกูลหลิวบอกว่า นี่คือ ลางดี เพราะเสือคำรามอย่างเป็นมงคล  เป็นการมาแสดงความยินดีที่อาคารสร้างเสร็จสมบูรณ์ ขณะที่อีกสี่ตระกูลบอกว่า เป็นลางร้าย เพราะมีเสือเข้ามาในบ้าน ถ้ามันเกิดขึ้นครั้งแรกได้ ก็ต้องเกิดครั้งต่อไปแน่นอน ทั้งสี่ตระกูลจึงตัดสินใจขายส่วนของตนเองให้กับตระกูลหลิว แล้วย้ายไปยังหมู่บ้านอื่น บางบ้านก็อพยพต่อมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หลังจากตระกูลหลิวครอบครองอาคารอวี้ชางโหลวทั้งหมดแล้ว พวกเขาเริ่มตรวจสอบสภาพอาคารอย่างละเอียด พบว่า ถึงแม้ว่าเสาจะเอียง แต่มันค้ำซึ่งกันและกัน โดยรวมแล้วยังแข็งแรง ไม่อันตราย พวกเขาจึงอาศัยในอาคารอวี้ชางโหลวต่อไปด้วยความสุข ตระกูลหลิวอาศัยอยู่ที่นี่มามากกว่า 700 ปี มีลูกหลานมากมาย มีฐานะมั่งคั่งร่ำรวยขึ้น มีคนในตระกูลสอบเข้ารับราชการได้ตำแหน่งใหญ่โตทั้งระหว่างราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง ในยุคสาธารณรัฐก็มีคนเป็นศาสตราจารย์และข้าราชการระดับสูง ถือว่าเป็นตระกูลหลิว สายที่ประสบความสำเร็จสายหนึ่งเลยทีเดียว

ปัจจุบัน อวี้ชางโหลว ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก มีชื่อเสียงว่าเป็นบ้านดินที่เอียง ดูเผินๆอาจรู้สึกว่าอันตราย นักท่องเที่ยวเรียกกันว่า Zig Zag Building แต่มันก็เป็นอย่างนี้มากว่า 700 ปี ตอนที่ผมไปเที่ยวที่นี่ ฟังไกด์เล่าเรื่องตำนานอวี้ชางโหลวให้ฟัง และอ่านหนังสือที่บันทึกเรื่องราวนี้ ก็คิดอยู่ว่า หากเราเป็นคนในห้าตระกูลนั้น เราจะคิดว่า บ้านที่เอียง กับ เสือเข้าบ้าน เป็นลางดี หรือลางร้ายกันแน่  แต่คนตระกูลหลิวเมื่อ 700 ปีก่อน ตัดสินใจเลือกที่จะเชื่อว่ามันคือลางดี เป็นมงคล สิ่งที่เขาทำต่อจากนั้น ก็คือ ตรวจสอบสภาพอาคารว่ายังปลอดภัย แล้วก็มุ่งมั่นสร้างครอบครัว ณ บ้านแห่งความมั่งคั่งแห่งนี้ จนประสบความสำเร็จ ข้อคิดที่ผมได้จากการท่องเที่ยวบ้านอวี้ชางโหลว ก็คือ บางครั้งชีวิตเรา ก็ต้องเลือกที่จะเชื่อว่า ลางที่เราพบเห็นเป็นลางดี เป็นมงคล แล้วมุ่งมั่นต่อไปจนประสบความสำเร็จนั่นเอง

*******************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
15 สิงหาคม 2559
*******************************

เขาว่า “มันบ้า” : เรื่องเล่าชาวสวน (ทางคนอื่น) แห่งเกาะลันตา

เมื่อราว 40 ปีก่อน เกาะลันตาแห่งจังหวัดกระบี่ยังเป็นเพียงเกาะที่ห่างไกลความเจริญ ไม่ได้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังอย่างทุกวันนี้ ใครมีฐานะพอใช้ได้ก็ต้องส่งลูกหลานมาเรียนหนังสือที่ตัวเมืองกระบี่หรือไม่ก็มาที่ตัวเมืองตรังที่ไม่ไกลมากนัก ตัวเมืองดั้งเดิมของเกาะลันตาจะอยู่ที่ท่าเรือซึ่งอยู่ฝั่งตะวันออกของเกาะ เพราะมีลักษณะเป็นอ่าวหลบลม เหมาะกับการจอดเรือ มีระยะทางใกล้กับแผ่นดินใหญ่ ทำให้เดินทางได้สะดวก ใครมีเงินพอจะซื้อที่สร้างบ้านได้ ก็ต้องย่านตลาดตรงท่าเรือ เพราะเป็นใจกลางเมืองของเกาะ ปัจจุบันเรียกกันว่า ชุมชนเมืองเก่า ตลาดศรีรายา ส่วนฝั่งตะวันตกของเกาะที่เป็นทะเลอันดามันนั้นถือว่าเป็นย่านกันดาร ไม่มีใครอยากไปอยู่

ตอนนั้น คุณอาท่านหนึ่งท่านมักจะขี่มอเตอร์ไซค์จากบ้านที่ในตลาดท่าเรือ ข้ามเขากลางเกาะ ลุยผ่านป่า เพื่อไปดูที่ดินริมทะเลฝั่งตะวันตกของเกาะอยู่เสมอ ใครๆก็ทักว่าจะไปดูทำไม มีแต่ป่าแต่ดง แกก็บอกว่า กำลังคิดว่าจะซื้อที่ดินด้านนั้น คนที่ฟังก็ต่างห้ามว่า จะไปซื้อที่กันดารแถวนั้นทำไม มีเงินก็มีซื้อที่ดินแถวตลาดสิ คุณอาก็ไม่ตอบอะไร แกก็ยังแวะเวียนไปดูที่ดินฝั่งตะวันตกอยู่เรื่อยๆ คนก็ยังถามกันว่า แกขี่รถมอเตอร์ไซค์ข้ามเขาไปทำไม คนก็ได้ข้อสรุปว่า “มันบ้า” เวลาผ่านไป คนก็เริ่มชินกับพฤติกรรมประหลาดๆของแก ในที่สุด คุณอาก็ซื้อที่ดินริมทะเลฝั่งตะวันตกจริงๆ


เวลาผ่านไป มีการสร้างท่าเรือสำหรับแพขนานยนต์ เพื่อให้รถยนต์สามารถลงแพขนานยนต์ จากกระบี่มายังเกาะลันตาได้ ทำให้ตัวเมืองได้เปลี่ยนจาก ชุมชนศรีรายา ย้ายมาที่ ศาลาด่าน ซึ่งเป็นจุดที่แพขนานยนต์ตั้งอยู่ด้านฝั่งเกาะลันตาใหญ่ ในขณะเดียวกัน การตัดถนนเลียบชายทะเลฝั่งตะวันตก ซึ่งเป็นบริเวณที่มีชายหาดสวยงาม ทำให้ฝั่งตะวันตกกลายเป็นย่านท่องเที่ยวที่สำคัญของเกาะ ที่ดินที่คุณอาซื้อไว้ ก็แปลงสภาพจากที่กันดาร กลายเป็น ที่ดินติดชายหาดที่สวยงาม คุณอาจึงสร้างเป็นรีสอร์ต เปิดรับนักท่องเที่ยว กลายเป็นแหล่งรายได้ใหม่ ที่ทำเงินมากกว่าอาชีพดั้งเดิมของชาวเกาะลันตา ภาพฝันของคุณอาที่แกวาดเอาไว้เมื่อหลายสิบปีก่อนจึงปรากฏเป็นรูปเป็นร่างให้คนอื่นเห็นอย่างชัดเจน ตอนนี้ไม่มีใครบอกว่าแกมันบ้าอีกแล้ว แต่เขาเรียกแกว่า เศรษฐีรีสอร์ต แทน

เราจะได้ยินได้ฟังเรื่องเล่าทำนองนี้อยู่เสมอ คนที่ประสบความสำเร็จมักมองสวนทางต่างจากคนส่วนใหญ่ เราเรียกกันเล่นหว่า พวกชาวสวน (ทางคนอื่น) ภาษาอังกฤษมักใช้คำว่า Contrarian ในวันที่คนอื่นมองไม่เห็นว่าเขาคิดฝันอะไรในใจ เขาก็ถูกดูถูก ถูกหาว่าบ้า แต่เมื่อเขามุ่งมั่นทำสิ่งที่เขาเห็นชัดเจนในหัวของเขา จนประสบความสำเร็จ คนอื่นมองเห็น บางคนก็ชื่นชม แต่ก็ยังมีคนบางคนบอกว่า เป็นเรื่องฟลุก ไม่ใช่ฝีมือ จะมีสักกี่คนที่เห็นว่า เบื้องหลังความสำเร็จในวันนี้ต้องผ่านการอดทนมุ่งมั่นทำสิ่งที่ตนเองเชื่อ แม้ว่ามันจะต่างจากคนส่วนใหญ่ มากขนาดไหน ความมุ่งมั่นที่จะทำสิ่งที่ตนเองคิดฝันเอาไว้เป็นคุณสมบัติข้อสำคัญในการประสบความสำเร็จของมนุษย์เรา และกลยุทธ์ “มองสวนทางจากคนส่วนใหญ่” หรือ Contrarian ก็ยังเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้คนประสบความสำเร็จมานักต่อนักแล้ว

ว่าแต่ตอนนี้ เมื่อที่ดินฝั่งตะวันตกของเกาะลันตากำลังพุ่งขึ้น เพราะใครๆก็อยากทำรีสอร์ตหรือทำธุรกิจท่องเที่ยว คุณอาท่านนี้ก็ใช้กลยุทธ์ชาวสวน เริ่มมองข้ามช็อตไปแล้ว โดยได้ไปซื้อที่ดินทางภาคอีสาน เพื่อทำเกษตร ปลูกทุเรียน และอินทผาลัม เพราะมองว่ามันจะทำเงินได้อีกมาก ซึ่งก็ตรงกับมุมมองของ จิม โรเจอร์ส นักลงทุนระดับโลก ผู้ใช้กลยุทธ์ Contrarian มาโดยตลอด ที่เขียนไว้ในหนังสือ “รู้จริง รวยจริง อย่างเซียนหุ้น  Street Smarts” ว่า “ถ้าอยากจะรวย ควรจะไปเป็นเกษตรกรให้หมด” 

************************************************

โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย

CelestialStrategist.com

12 มิถุนายน 2559

************************************************