สมรภูมิอุเอะโนะ

ที่สวนสาธารณะอุเอะโนะ สถานที่พักผ่อนหย่อนใจร่มรื่นกลางกรุงโตเกียว ในช่วงปลายมีนาคมถึงต้นเมษายนของทุกปี ถือเป็นจุดชมซากุระที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่ง ผู้คนต่างพากันมาชมความงามของซากุระ บ้างก็มานั่งปิกนิกชมน้ำพุท่ามกลางดอกไม้ บ้างก็มาเที่ยวพิพิธภัณฑ์ที่มีถึง 5 แห่งในสวนแห่งนี้ บ้างก็มาสักการะศาลตระกูลโตกุกะวะ บ้างก็มาออกกำลังกาย

แต่จะมีใครกี่คนทราบว่า ที่สวนแห่งนี้เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1868 (พ.ศ.2411) หรือ 150 กว่าปีก่อน เคยเป็นสมรภูมินองเลือดระหว่างทหารฝ่ายสมเด็จพระจักรพรรดิ กับทหารฝ่ายโชกุน เรียกว่า สมรภูมิอุเอะโนะ (Battle of Ueno) โดยมีหลักฐานให้เห็นในปัจจุบันอยู่ตรงทางใต้ของสวนแห่งนี้ เป็นอนุสรณ์สถานของบุคคลสำคัญและกองทหารชื่อดังในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นอยู่เคียงข้างกัน

img_9896อนุสรณ์สถานแห่งแรก คือ อนุสาวรีย์ไซโง ทาคาโมริ ซามูไรแห่งแคว้นซัตสุมะ ผู้นำขบวนการฟื้นฟูพระราชอำนาจกลับไปให้สมเด็จพระจักรพรรดิ ท่านเป็นซามูไรที่โดดเด่นระดับตำนาน จนภาพยนตร์ฮอลลีวูดชื่อดังเรื่อง The Last Samurai ก็นำเอาบุคลิกของท่านไซโง ไปเป็นตัวเอกในเรื่อง สำหรับสมรภูมิอุเอะโนนั้น ไซโงเป็นผู้นำกองกำลังฝ่ายสนับสนุนจักรพรรดิเข้าต่อสู้กับฝ่ายโชกุน โดยมีจำนวนทหารราวพันกว่าคน น้อยกว่าฝ่ายโชกุน แต่มียุทโธปกรณ์ทันสมัยกว่า

img_9905อนุสรณ์สถานที่อยู่ใกล้กันคือ สุสานของนักรบโชงิไต กองทหารฝ่ายสนับสนุนโชกุน ในสมรภูมิอุเอะโนะครั้งนั้น กลุ่มนักรบโชงิไต มีจำนวนราว 2,000 คน รวมกำลังคอยปกป้องอดีตโชกุนโยชิโนบุ โตกุกาวะ ที่ขังตัวเองไว้ที่วัดคันเอจิ อุเอะโนะ วัดที่มีเจ้าอาวาสคือองค์ชายคิตะชิราคาวะ โยชิฮิสะ ผู้ซึ่งต่อมาถูกแต่งตั้งเป็นจักรพรรดิโทบุแห่งราชสำนักเหนือโดยกลุ่มสนับสนุนโชกุนทางภาคเหนือในภายหลัง นั่นเอง

ในเวลานั้น ฝ่ายจักรพรรดิได้ยึดครองเอโดะ (โตเกียวในปัจจุบัน) ไว้ได้แล้ว ซึ่งเป็นผลจากการเจรจากับทางกลุ่มโชกุน และโชกุนโยชิโนบุได้ยอมสละเอโดะเพื่อหลีกเลี่ยงสงครามใหญ่ โดยได้ขังตัวเองในวัดคันเอจิ แต่เมืองเอโดะยังไม่สงบเพราะกลุ่มโชงิไตยังคอยก่อกวนสร้างสถานการณ์ความไม่สงบอยู่เสมอ

Sagahan_Armstrong_gun_used_at_the_Battle_of_Ueno_against_the_Shogitai_1868วันที่ 4 กรฎาคม 1868 ไซโง นำทัพฝ่ายจักรพรรดิ จำนวน 1,000 กว่าคน บุกวัดคันเอจิ ที่มีทหารโชงิไต จำนวน 2,000 คน ซึ่งผิดหลักพิชัยสงครามอย่างยิ่ง เพราะตามหลักแล้ว หากจะโจมตีฝ่ายตรงข้าม ต้องมีทหารอย่างน้อย 2 เท่าของฝ่ายตั้งรับ ในช่วงแรก ไซโงนำทหารบุกโจมตีทางประตูหน้า แต่เสียเปรียบเพราะฝ่ายโชงิไตที่ตั้งรับมีทหารมากกว่า ขณะที่ไซโงกำลังจะเพลี่ยงพล้ำ ทหารแคว้นโชชู ที่อยู่ฝ่ายจักรพรรดิ ก็เข้าโจมตีทางด้านหลัง ทำให้ฝ่ายบุกเริ่มพลิกสถานการณ์ ตามมาด้วย ทหารแคว้นโทสะ ฝ่ายจักรพรรดิ ใช้ปืนใหญ่และปืนไรเฟิลยาวยิงโจมตี สร้างความเสียหายต่อนักรบโชงิไตอย่างมาก ในที่สุด ทหารฝ่ายจักรพรรดิจึงได้รับชัยชนะ

ผลของสมรภูมิอุเอะโนะ ทำให้นักรบโชงิไต ตายไป 300 คน วัดคันเอจิถูกเผาราบลงไป บ้านเรือนใกล้เคียงถูกทำลายไปพันกว่าหลัง องค์ชายคิตะชิราคาวะ เจ้าอาวาสวัดคันเอจิ และนักรบโชงิไตที่มีชีวิตรอด หลบหนีออกจากเอโดะไปได้ ส่วนโชกุนโยชิโนบุ ไม่ได้หลบหนีไปไหน ได้ยอมแพ้ต่อฝ่ายจักรพรรดิแต่โดยดี และเมื่อฝ่ายจักรพรรดิได้ยึดครองเมืองเอโดะอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด สมเด็จพระจักรพรรดิจึงย้ายเมืองหลวงจาก เกียวโต มายังเอโดะ และเปลี่ยนชื่อเป็น กรุงโตเกียว ที่แปลว่า ราชธานีตะวันออก ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

สมรภูมิอุเอะโนะ เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า สงครามยุคใหม่ ไม่ได้วัดกันที่จำนวนทหารแต่อย่างเดียวแล้ว แต่อาวุธที่ทันสมัย เป็นปัจจัยชี้ขาดที่สำคัญกว่า และกลายเป็นธงนำของกองทัพญี่ปุ่นในยุคนั้น ที่มีการพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ขนานใหญ่ จนกลายเป็นมหาอำนาจแห่งเอเชียตะวันออก เอาชนะจีนในยุคราชวงศ์ชิง ชนะรัสเซียของพระเจ้าซาร์ เข้ายึดครองเกาหลี และนำไปสู่สงครามโลกมหาเอเชียบูรพาในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เป็นจุดจบของแสนยานุภาพทางทหารอันเกรียงไกรของญี่ปุ่น

************************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
31 มีนาคม 2019
************************************

วีรกรรมสะพานหลูติ้ง

ในช่วงแรกของการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เหตุการณ์สำคัญที่สุดเหตุการณ์หนึ่งก็คือ การถอยทัพหนีการล้อมปราบจากรัฐบาลก๊กมินตั๋งของเจียงไคเช็ค ที่เรียกกันว่า การเดินทางไกล (Long March) พรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องเดินทางไกลถึง 25,000 ลี้ หรือ 12,500 กิโลเมตร ในช่วงระยะเวลาประมาณ 1 ปี ระหว่างตุลาคม 1934 ถึง ตุลาคม 1935 ครั้งนั้นกองทัพจีนแดงของพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งมีกำลังพลน้อยกว่ารัฐบาลก๊กมินตั๋งอย่างมาก จำเป็นต้องหนีจากฐานที่มั่นเดิม ผ่าน 11 มณฑล และพื้นที่ทุรกันดารมากมาย ว่ากันว่า ทหารจีนแดงตอนเริ่มต้นเดินทางไกลจำนวน 100,000 คนเมื่อจบภารกิจเดินทางไกลกลับเหลือเพียง 8,000 คนเท่านั้น  แต่ภายใต้ความสูญเสียมากมายขนาดนั้น เหมาเจ๋อตุงกลับประกาศชัยชนะโดยบอกว่า ไม่เคยมีครั้งไหนในประวัติศาสตร์โลก ที่มีการเดินทัพทางไกลขนาดนี้ ได้พิสูจน์ความเป็นวีรชนคนกล้าของกองทัพแดง พรรคก๊กมินตั๋งทุ่มทรัพยากรล้อมปราบกองทัพแดงมากมายขนาดนั้น แต่ยังไม่สามารถพิชิตกองทัพแดงได้ ที่สำคัญที่สุด พรรคคอมมิวนิสต์ได้โฆษณาป่าวประกาศนโยบายปลดแอกมวลชนต่อประชาชน 200 ล้านคนใน 11 มณฑล ด้วยการเดินทางไปทั่วแผ่นดินจีน

มีวีรกรรมมากมายเกิดขึ้นระหว่างการเดินทางไกล แต่วีรกรรมที่ผมประทับใจที่สุด นั่นคือ วีรกรรมยึดสะพานหลู่ติ้ง เพื่อข้ามแม่น้ำต้าตู้เหอ ในเดือนพฤษภาคม 1935 ตอนนั้นกองทัพแดงของพรรคคอมมิวนิสต์ได้ถอยทัพมาถึงแม่น้ำต้าตู้เหอ และต้องรีบข้ามแม่น้ำใหญ่สายนี้ไปให้ได้ มิฉะนั้น กองทัพก๊กมินตั๋งของเจียงไคเช็คต้องทำลายกองทัพแดงอย่างสิ้นเชิง แม่น้ำสายนี้เป็นสายน้ำเชี่ยวกราก สองฟากฝั่งเป็นหน้าผา มีวังวนแก่งหินที่เป็นอันตรายเต็มไปหมด แต่ที่นั่นมีสะพานข้ามแม่น้ำแห่งเดียวคือ สะพานหลูติ้ง ยาวประมาณ 110 เมตร สร้างด้วยโซ่เหล็กขนาดใหญ่ 13 เส้น ปูไม้กระดานสำหรับเดิน สร้างขึ้นเมื่อปี 1701 แต่เมื่อกองทัพแดงไปถึง กองทัพที่อยู่ฝ่ายเจียงไคเช็คได้ถอดไม้กระดานปูพื้นเก็บไปเสียแล้ว เหลือเพียงโซ่เหล็กเท่านั้น

ภารกิจของกองทัพแดงตอนนั้นคือ ต้องข้ามสะพานหลูติ้ง และยึดฐานที่มั่นฝั่งตรงข้ามให้ได้ ก่อนที่กองทัพใหญ่ของเจียงไคเช็คจะมาถึง นี่คือภารกิจที่แทบเป็นไปไม่ได้ เพราะอีกฝั่งของโซ่เหล็ก กองทัพท้องถิ่นที่อยู่ฝ่ายเจียงไคเช็คได้วางกำลังพร้อมยิงใส่ทหารกองทัพแดงที่พยายามข้ามมา กองทัพแดงประกาศรับสมัครหน่วยกล้าตายจำนวน 22 คน รับภารกิจไต่โซ่เหล็กข้ามแม่น้ำ ฝ่าดงกระสุนไปยึดฐานที่มั่นอีกฝั่งแม่น้ำให้ได้ เพื่อให้ทหารอีกหนึ่งกองร้อยรีบเอาไม้กระดานปูสะพานข้ามไป นี่คือภารกิจที่มีโอกาสตายมากกว่ารอด มีแต่คนที่บ้าบิ่นเท่านั้นที่จะยอมรับภารกิจเช่นนี้

แต่สำหรับกองทัพแดงขณะนั้น ไม่ได้เป็นเรื่องยากที่จะหาหน่วยกล้าตาย 22 คนเพื่อปฏิบัติภารกิจนั้น ทั้ง 22 คนถือปืนประจำตัว พกลูกระเบิดมือคนละ 12 ลูก สะพายดาบทหารม้า มุ่งหน้าไต่โซ่เหล็กไปข้างหน้า ท่ามกลางห่ากระสุนที่ยิงต่อสู้กัน หน่วยกล้าตาย 4 คนร่วงลงจากสะพานตกลงไปในแม่น้ำเชี่ยวกรากลอยลับหายไป ส่วนข้าศึกอีกฝั่งเริ่มจุดไฟเผาสะพานไม่ให้ข้ามมาได้ หน่วยกล้าตายที่เหลือฝ่าไฟเข้าไปจนยึดสะพานอีกฝั่งไว้ได้ ทำให้กองกำลังที่เหลือปูสะพานและยกทัพนับหมื่นข้ามสะพานมาได้

ชัยชนะเหนือสะพานหลูติ้งของกองทัพแดง ได้รับการโจษจันไปทั่วแผ่นดินจีน ภาพวาดหน่วยกล้าตายทั้ง 22 คนที่กำลังข้ามสะพานได้รับการเผยแพร่ไปทั่วประเทศ (ภาพวาดประกอบบทความนี้ ผมถ่ายรูปจากพิพิธภัณฑ์เชิดชูนายพล หยางเฉิงอู่ ผู้เป็นหัวหน้าปฏิบัติการข้ามสะพานหลูติ้ง ที่เมืองฉางทิง มณฑลฝูเจี้ยน เมื่อเดือนมีนาคม 2016 นี้) การพิชิตภารกิจเสี่ยงตายเช่นนี้ทำให้ทหารกองทัพแดงแทบจะกลายเป็นกองทัพที่ทุกคนเชื่อกันว่า ไม่มีใครจะพิชิตเขาได้อีกแล้ว ขวัญกำลังใจของทหารพุ่งสูงถึงขีดสุด แม้ว่าอยู่ระหว่างถอยทัพหนีการล้อมปราบ แต่ขวัญกำลังใจทหารไม่ได้ลดน้อยถอยลง มีแต่เพิ่มพูนขึ้น เหมาเจ๋อตุงไม่พลาดที่จะโฆษณาป่าวประกาศความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่นี้ ถือเป็นจุดพลิกผันของพรรคคอมมิวนิสต์ จากเดิมมีแต่ล่าถอยเสียเปรียบก๊กมินตั๋ง แต่คราวนี้ทุกคนในกองทัพเชื่อว่า พวกเขาไม่มีวันแย่ไปกว่านี้อีกแล้ว มีแต่ดีขึ้นและขยายตัวขึ้น

เรื่องนี้คือตัวอย่างของการใช้กลยุทธ์ที่ 36 นั่นคือ หนีคือสุดยอดกลยุทธ์ ที่สอนเราว่า การถอยหนีไม่ใช่ความพ่ายแพ้ ในการล่าถอยกลับเต็มไปด้วยพลังที่จะฟื้นตัวเอาชนะกลับมาได้ นั่นเอง

*******************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
26 สิงหาคม 2559
*******************************

การซ้อมรบมิลเลนเนียมชาเลนจ์ 2002: เมื่อกลยุทธ์ตัดสินใจโดยการคิดวิเคราะห์ ปะทะ การใช้สัญชาตญาณ

เมื่อปี 2002 กระทรวงกลาโหม สหรัฐอเมริกา ได้ทดลองเกมการรบครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ทุ่มงบกว่า 250 ล้านดอลลาร์ โดยเรียกการซ้อมรบผ่านเกมจำลองครั้งนี้ว่า มิลเลนเนียมชาเลนจ์ 2002 (Millennium Challenge 2002) เกมจำลองการรบครั้งนี้เป็นการสมมติสถานการณ์การต่อสู้ระหว่าง ฝ่ายสหรัฐอเมริกา หรือ Blue Team กับฝ่ายกองกำลังเถื่อน หรือ Red Team โดยฝ่ายสหรัฐฯ หรือ Blue Team มีอุปกรณ์ไฮเทคอย่างพร้อมพรัก ไม่ว่าจะเป็น ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ ดาวเทียม อุปกรณ์ข่าวกรองต่างๆ ทำให้ได้รับข้อมูลข่าวกรองในปริมาณมหาศาลอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน มีขั้นตอนการทำงานที่สมเหตุสมผล เป็นระบบ และแม่นยำ พวกเขาได้รับของเล่นทุกชิ้นในคลังสรรพาวุธของกระทรวงกลาโหมเลยทีเดียว ส่วนฝ่ายกองกำลังเถื่อน หรือ Red Team นำโดยนายพลแวนไรเปอร์ สมมติว่าเป็นกองกำลังกบฏของประเทศในแถบอ่าวเปอร์เซีย ที่สนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย และเป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐฯ ตามประวัติการรบแล้ว นายพลแวนไรเปอร์เป็นนายทหารผู้ซึ่งเชื่อมั่นว่า สงครามนั้นทำนายล่วงหน้าไม่ได้ โดยเขายึดแนวคิดของนโปเลียนว่า “แม่ทัพไม่เคยรู้บางสิ่งอย่างแน่ชัด ไม่เคยเห็นศัตรูอย่างแจ่มแจ้ง และไม่เคยรู้ว่าอย่างชัดเจนว่าตัวเองกำลังอยู่ที่ไหน” เขาเกลียดการตัดสินใจที่อาศัยการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบตามที่กระทรวงกลาโหมพยายามพิสูจน์ในการซ้อมรบครั้งนี้ เพราะว่ามันใช้เวลานานเกินไป จึงไม่เหมาะต่อการนำไปใช้ในสถานการณ์สงครามอย่างยิ่ง เราพอจะพูดได้ว่า การซ้อมรบครั้งนี้เป็นการพิสูจน์กลยุทธ์การทำสงครามระหว่าง ฝ่ายที่เน้นการรวบรวมข้อมูลให้ชัดเจนเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์และตัดสินใจอย่างเป็นระบบ กับฝ่ายที่เน้นสัญชาตญาณนำการรบ นั่นเอง

MilleniumChallenge2002

เกมการรบครั้งนี้ ใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์ (Computer Simulation) เพื่อจำลองเหตุการณ์ขึ้นมาอย่างสมจริงจนคนในห้องซ้อมรบมองไม่ออกว่าเป็นเรื่องสมมติ การซ้อมรบครั้งนี้ใช้เวลา 2 สัปดาห์ครึ่ง ในวันแรกของการซ้อมรบ ทีมสหรัฐฯได้ส่งกองกำลังหลายหมื่นนาย พร้อมกองเรือบรรทุกเครื่องบินเข้าสู่อ่าวเปอร์เซีย เพื่อล้อมกองกำลังทีมสีแดงของแวนไรเปอร์ เมื่อแสดงแสนยานุภาพให้เห็นอย่างชัดเจนแล้ว ก็ยื่นข้อเสนอให้แวนไรเปอร์ยอมจำนน ทีมสหรัฐฯมีข้อมูลชัดเจนว่าทีมแวนไรเปอร์ฯมีจุดอ่อนตรงไหน ตั้งใจจะทำอะไรต่อไป และเริ่มตัดเสาส่งคลื่นไมโครเวฟและระบบไฟเบอร์ออปติกของแวนไรเปอร์ เพราะคิดว่าจะบีบให้แวนไรเปอร์ไปสื่อสารด้วยดาวเทียมและโทรศัพท์มือถือ แต่ปรากฏว่า แวนไรเปอร์ไม่ได้ทำอย่างนั้นเลย เขาสื่อสารด้วยเมสเสนเจอร์ขี่มอเตอร์ไซค์ หรือใส่ในข้อความบทสวดมนต์ส่งผ่านในมัสยิด การนำเครื่องบินขึ้นก็ทำโดยใช้ระบบไฟสัญญาณ แบบยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยไม่ใช่ระบบสื่อสารวิทยุที่ล่มไปแล้ว พอวันที่สอง แวนไรเปอร์ ส่งกองเรือลำเล็กๆ เข้าไปในอ่าวเปอร์เซีย เพื่อติดตามเรือทีมสหรัฐฯ และระดมยิงนาน 1 ชั่วโมงด้วยขีปนาวุธขนาดเล็กอย่างที่ไม่ทันได้ตั้งตัว จนทำให้ เรือ 16 ลำของทีมสหรัฐต้องจมไปนอนก้นอ่าวเปอร์เซีย ถ้าการซ้อมรบครั้งนี้เกิดขึ้นจริง ทหารอเมริกันจะต้องเสียชีวิตกว่า 20,000 คนก่อนที่กองทัพของเขาจะทันยิงปืนด้วยซ้ำ และจะกลายเป็นโศกนาฏกรรมของกองทัพสหรัฐนับตั้งแต่เพิร์ลฮาร์เบอร์เลยทีเดียว

วันรุ่งขึ้น นายทหารผู้ดูแลปฏิบัติการซ้อมรบครั้งนี้ ตัดสินใจให้เริ่มทุกอย่างใหม่ทั้งหมด เรือรบทั้ง 16 ลำที่จมอยู่ใต้ก้นอ่าวเปอร์เซีย ถูกชุบชีวิตขึ้นมาใหม่อีกครั้ง เมื่อทีมแวนไรเปอร์ยิงขีปนาวุธใส่ทีมสหรัฐฯ ผลปรากฏว่า ระบบป้องกันขีปนาวุธจะยิงมันตกทุกลูก เขาถูกห้ามใช้เรดาร์เพื่อไม่ให้แทรกแซงฝ่ายสหรัฐฯได้ พูดง่ายๆคือ การซ้อมรบรอบที่สองนี้ถูกเขียนบทไว้หมดแล้ว ทำให้ทีมสหรัฐฯเป็นฝ่ายชนะไปอย่างเด็ดขาดในรอบสองนี้ กระทรวงกลาโหม สหรัฐฯ ประกาศความสำเร็จของนโยบายการรบแบบใหม่ที่ใช้ข่าวสารข้อมูลปริมาณมหาศาลและการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบเป็นปัจจัยสู่ชัยชนะ ตามบทที่พวกเขาตั้งไว้ตั้งแต่ก่อนซ้อมรบ

เพื่อให้ได้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์ เราต้องมองข้ามผลการซ้อมรบอย่างเป็นทางการ แต่หันกลับไปศึกษาความสำเร็จของแวนไรเปอร์ที่ถล่มทีมสหรัฐฯได้ในช่วงสองวันแรก แวนไรเปอร์ให้ข้อคิดไว้ว่า “ถ้าให้เปรียบเทียบระหว่างการคิดวิเคราะห์กับการตัดสินใจตามสัญชาตญาณแล้ว คงไม่มีแบบไหนดีหรือแย่กว่ากันหรอก แต่ปัญหาจะเกิดเมื่อคุณใช้วิธีที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์” ในระหว่างการสู้รบจริงๆ ผู้นำต้องตัดสินใจเดี๋ยวนั้น ไม่สามารถนั่งรอข้อมูลวิเคราะห์ให้ชัดเจนแล้วค่อยตัดสินใจ “ถ้าคุณเอาแต่หมกมุ่นอยู่กับการหาข้อมูล ดีไม่ดีคุณจะจมกองข้อมูล”

*********************************************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
21 กุมภาพันธ์ 2559
*********************************************************

ข้อมูลจาก หนังสือ Blink โดย Malcolm Gladwell บทที่ 4: Paul Van Riper’s Big Victory – Creating Structure for Spontaneity
เครดิตภาพประกอบจาก http://archive.defense.gov