กลยุทธ์ยืมซากคืนชีพ กับกลยุทธ์ซื้อหุ้นกลุ่มอุตฯที่ให้ผลตอบแทนแย่ที่สุดในปีที่ผ่านมา

มีกลยุทธ์การลงทุนแบบหนึ่งที่แนะนำให้นักลงทุนเลือกซื้อหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีผลตอบแทนแย่ที่สุดในปีที่ผ่านมา และถือเอาไว้หนึ่งปี พอครบปีก็ขายออกไปและทำเช่นเดิมซ้ำอีก กลยุทธ์นี้มีสมมติฐานที่ว่า การลงทุนแบบสวนกระแส (Contrarian) จะสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าการลงทุนแบบตามคนส่วนใหญ่ เพื่อพิสูจน์ความน่าเชื่อถือของกลยุทธ์นี้ มีนักวิเคราะห์กลยุทธ์หุ้นคนหนึ่งที่ชื่อว่า Kim Iskyan แห่ง True Wealth Publishing สิงคโปร์ ได้รวบรวมข้อมูลจาก Bloomberg ย้อนหลัง 10 ปี โดยใช้ดัชนี Bloomberg World Asia-Pacific เป็นตัวแทนตลาด และแยกกลุ่มอุตสาหกรรมออกเป็น 10 กลุ่ม นำมาทำตารางตามรูป โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนลงทุนดีที่สุดของปีจะใส่สีเขียวเอาไว้ ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนแย่ที่สุดก็เป็นสีแดง


จากภาพ จะเห็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดไม่สามารถรักษาแชมป์ในปีถัดไปได้เลย ดังนั้นกลยุทธ์ที่ซื้อหุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดในปีที่ผ่านมาโดยคาดว่าปีถัดไปจะยังคงดีเช่นเดิมนั้น เป็นกลยุทธ์ที่ใช้ไม่ได้ผล  มีบางปีกลุ่มที่ดีที่สุดกลายเป็นกลุ่มที่แย่ที่สุดในปีถัดไปเลย อย่างปี 2014 ที่หุ้นกลุ่มสินค้าปลีก (Consumer Discretionary) ให้ผลตอบแทน -3% ทั้งๆที่ปีก่อนหน้ามีผลตอบแทนถึง 25%

ส่วนกลยุทธ์ที่ซื้อหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนแย่ที่สุดในปีที่ผ่านมา กลับให้ผลตอบแทนสูงกว่าตลาด 7 ปีจากทั้งหมด 10 ปี (ยกเว้นปี 2012, 2013, 2014) และหากเราใช้กลยุทธ์นี้ทุกปีตั้งแต่ปี 2008 เราจะได้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 13% ขณะที่ตลาด (ดัชนี Bloomberg World Asia-Pacific) ได้ผลตอบแทนเพียง 6% ต่อปี หรือพูดได้ว่า กลยุทธ์นี้เอาชนะตลาดถึง 7% ต่อปีเลยทีเดียว สำหรับปี 2017 นี้ กลยุทธ์นี้จะแนะนำให้ซื้อหุ้นกลุ่มสาธารณูปโภค (Utilities Sector) และกลุ่มสุขภาพ (Healthcare) เพราะเมื่อปีที่แล้ว หุ้นสองกลุ่มนี้ให้ผลตอบแทน -9% แย่ที่สุดในตลาด

กลยุทธ์ซื้อหุ้นที่มีผลตอบแทนแย่ที่สุดในปีที่ผ่านมานี้ ดูๆไปก็เหมือนกับกลยุทธ์ที่ 14 จากคัมภีร์ 36 กลยุทธ์แห่งชัยชนะของจีน นั่นคือ กลยุทธ์ยืมซากคืนชีพ (借尸还魂 เจี้ยซือหวนหุน) ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ให้หาประโยชน์จากสิ่งที่ดูเหมือนตายไปแล้วหรือไร้ประโยชน์ ในกรณีนี้ หุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนแย่ที่สุดในปีที่ผ่านมาก็เหมือนกับซากศพที่ใครๆไม่สนใจ แต่เมื่อไปลงทุน ซากนั้นกลับกลายมีชีวิตขึ้นมา ให้ผลตอบแทนดีกว่าตลาดในปีต่อมานั่นเอง

*******************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
5 กุมภาพันธ์ 2560
*******************************

เงินถุงแดง Emergency Fund ของสยาม

ในการวางแผนการเงิน (Financial Planning) นั้น มีหลักสำคัญเกี่ยวกับการบริหารสภาพคล่องของเราว่า จะต้องมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน (Emergency Fund) ไว้เท่ากับค่าใช้จ่าย 3-6 เดือนของเรา เพื่อว่าหากเกิดเรื่องฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็น อุบัติเหตุ ล้มป่วยไม่สบาย ตกงาน หรือเหตุอื่นใดที่จำเป็นต้องใช้เงินทันที เราก็จะมีเงินใช้ โดยไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินให้เป็นภาระซ้ำเติมการเงินของเราอีก หลายคนมักประมาทเงินก้อนนี้และมองว่า การเก็บเงินก้อนนี้ไว้เป็นการเสียโอกาสที่จะนำไปลงทุนสร้างผลตอบแทนสูงๆกัน แต่เชื่อเถอะว่า เงิน Emergency Fund นี้สำคัญในยามฉุกเฉินจริงๆ โดยขอยกตัวอย่างการเงินระดับชาติในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้ง วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ที่ไทยถูกฝรั่งเศสเอาเรือปืนมาปิดอ่าวไทย

วิกฤติครั้งนั้นเริ่มต้นเมื่อ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2436 เรือรบฝรั่งเศส 2 ลำ คือ เรือแองกองสตัง (Inconstant) และเรือโกเมต (Comete) ถูกส่งเข้ามาในสยาม อ้างว่าจะให้ความคุ้มครองชาวฝรั่งเศสในกรุงเทพฯ เพราะขณะนั้นมีข้อพิพาทแถวชายแดนอินโดจีน แต่รัฐบาลสยามปฏิเสธเพราะมีเรือรบลาลูแตง (La Lutin) ของฝรั่งเศสจอดอยู่ในกรุงเทพฯอยู่แล้วหนึ่งลำ ตอนนั้น นายเดอเวล รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสรับปากทูตไทยที่ปารีสว่าจะระงับการเดินทางของเรือรบทั้งสองลำ แต่ผู้บัญชาการฝ่ายฝรั่งเศสที่สยามอ้างว่าไม่ได้รับการแจ้งจากรัฐบาลฝรั่งเศส จึงใช้เรือเมล์ ฌอง บับติสต์ เซย์ เป็นเรือนำร่อง นำเรือรบเข้ามา เมื่อผ่านถึงป้อมพระจุลฯ ฝ่ายไทยจึงยิงปืนเสือหมอบเตือนไป 2 นัด แต่ฝรั่งเศสไม่หยุด จึงเกิดการยิงปืนใหญ่ต่อสู้กัน เรือนำร่องฝรั่งเศสถูกยิงเกยตื้น แต่เรือรบฝรั่งเศสทั้ง  2 ลำ ผ่านป้อมพระจุลฯ ทะลุมาจอดหน้าสถานทูตฝรั่งเศสที่ถนนเจริญกรุง บางรัก กรุงเทพ ได้ตอนหัวค่ำ (ซึ่งอยู่ในวิสัยที่สามารถเคลื่อนที่มายิงปืนใหญ่ใส่พระบรมมหาราชวังที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ประทับอยู่ได้) ผลจากการต่อสู้วันนั้น ทหารฝรั่งเศสตาย 3 นาย บาดเจ็บ 3 นาย ฝ่ายไทย ทหารตาย 8 นาย บาดเจ็บ 34 นาย

o4hd56hh6Y3oripQb8i-o

20 กรกฎาคม 2436 ฝรั่งเศสยื่นข้อเรียกร้องต่อไทย 6 ข้อ โดยมีใจความสำคัญคือ ให้ดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง (หมายถึงอาณาจักรล้านช้าง หรือลาวในปัจจุบัน) และเกาะแก่งบนแม่น้ำโขง เป็นของฝรั่งเศส และที่สำคัญอีกข้อหนึ่งคือ สยามต้องจ่ายเงินค่าปรับชดใช้ค่าเสียหายให้ฝรั่งเศส 3 ล้านฟรังก์ หรือประมาณ 22,000 ชั่ง ทั้งหมดนี้สยามต้องตอบภายใน 48 ชั่วโมง มิฉะนั้น จะปิดอ่าวไทยและเมืองชายทะเลของสยาม ฝ่ายไทยรีบส่งโทรเลขให้ทูตไทยในปารีสเพื่อเจรจากับรัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส ขณะเดียวกันก็ขอคำปรึกษาจากอังกฤษในทำนองให้มาคานอำนาจกับฝรั่งเศส แต่อังกฤษกลับนิ่งเฉย ในที่สุด 22 กรกฎาคม 2436 รัฐบาลสยามจึงตอบกลับฝรั่งเศสโดยยอมเป็นส่วนใหญ่ แต่ขอเจรจาในรายละเอียด พร้อมยืนยันว่าจะจ่ายเงิน 3 ล้านฟรังก์โดยทันที แต่ฝรั่งเศสไม่พอใจที่ไทยต่อรอง จึงประกาศตัดสัมพันธ์ทางทูตกับสยาม และให้กองเรือรบฝรั่งเศสปิดอ่าวไทยทันที จนในที่สุด 29 กรกฎาคม 2436 สยามต้องยอมรับคำขาดของฝรั่งเศสและรีบจ่ายเงิน 3 ล้านฟรังก์ให้ฝรั่งเศสโดยเร็วที่สุด

ปัญหาใหญ่ขณะนั้นคือ ไทยจะหาเงิน 3 ล้านฟรังก์ที่ไหนมาจ่ายฝรั่งเศสโดยทันที ในตอนนั้น รัฐบาลไทยยังอยู่ระหว่างการปฏิรูปการจัดเก็บภาษี เงินรายได้เข้าคลังยังน้อยกว่าที่ควรจะเป็นมาก รัชกาลที่ 5 เคยเขียนเล่าให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ความตอนหนึ่งว่า “…ในเวลาครึ่งปีต่อมา เงินภาษีอากรก็ลดเกือบหมดทุกอย่าง ลดลงไปเป็นลำดับ จนถึงปีมะแม ตรีศก (พ.ศ. 2414) เงินแผ่นดินที่เคยได้อยู่ปีละ 50,000-60,000 ชั่งนั้น เหลือจำนวนอยู่ 40,000 ชั่ง…” หากเราประมาณเอาว่า รายได้แผ่นดินสมัยนั้นอยู่ประมาณ 50,000 ชั่ง เงิน 3 ล้านฟรังก์ซึ่งเทียบเท่ากับ 22,000 ชั่งในตอนนั้น ก็เป็นสัดส่วนสูงถึง 40-50% ของรายได้แผ่นดินต่อปีเลยทีเดียว หรือหากคิดตามสูตรวางแผนการเงิน เงินค่าปรับที่เราต้องจ่ายอยู่ก็ราวๆค่าใช้จ่ายของรัฐบาลสยามราวๆ 5-6 เดือน  (คิดว่ารัฐบาลขณะนั้นมีค่าใช้จ่ายเท่ากับรายได้พอดี) ซึ่งก็ตรงตามสูตรเลยทีเดียว โดยหากรัฐบาลไทยไม่มีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินเอาไว้และต้องเอาเงินรายได้แผ่นดินปีนั้นมาจ่ายก็แทบจะไม่เหลือเงินใช้จ่ายเลย นั่นย่อมทำให้ฝรั่งเศสและเหล่ามหาอำนาจตะวันตกที่จ้องจะยึดไทยอยู่ สามารถเอาเปรียบไทยได้อีกจนอาจต้องสูญเสียเอกราชไปก็ได้ ดูตัวอย่างได้จากเมื่อครั้งอังกฤษรุกรานพม่าเมื่อ พ.ศ. 2369 อังกฤษเรียกร้องค่าปฏิกรรมสงครามจากพม่าสูงถึง 2 ล้านปอนด์ พม่าไม่มี Emergency Fund เก็บเอาไว้ ทำให้ราชวงศ์อลองพญาซวดเซจนในที่สุดก็ต้องสูญเสียเอกราชให้อังกฤษในที่สุด

โชคดีของสยามที่ยังมีเงินถุงแดง ของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 3 เก็บสะสมไว้อยู่ เงินถุงแดงซึ่งเป็นเงินเก็บหอมรอมริบของรัชกาลที่ 3 ตั้งแต่เมื่อพระองค์ยังไม่ขึ้นครองราชย์ ทรงพระปรีชาในการค้าขายเรือสำเภาจนมีเงินกำไรสะสมจำนวนมาก ส่วนหนึ่งพระองค์ได้เก็บเอาไว้ในถุงแดง และเคยมีพระราชดำรัสว่า “เอาไว้ไถ่บ้านไถ่เมือง” ในที่สุดเมื่อพระองค์จากไปเป็นเวลา 43 ปี เงินนี้ก็ได้นำมาใช้ไถ่บ้านไถ่เมืองจริงๆ เงินในถุงแดงนั้นเป็นเหรียญรูปนกอินทรีกางปีกของเม็กซิโก ซึ่งเป็นเงินที่ได้รับการยอมรับในการค้าขายระหว่างประเทศในยุคนั้น  ในวันที่ 22 สิงหาคม 2436 สยามได้จ่ายเงินเหรียญจากท้องพระคลังจำนวน 801,282 เหรียญ คิดเป็นเงินบาท 1,605,235 บาทกับอีก 8 อัฐ มีนำ้หนักรวมกันถึง 23 ตัน โดยนำไปให้ฝรั่งเศสที่เรือ ว่ากันว่า ตอนลำเลียงโดยล้อเลื่อนทางถนน ทำให้เกิดรอยล้อยุบเป็นร่องบนถนนเลยทีเดียว

กล่าวได้ว่า การที่ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของตะวันตกมาได้นั้น ส่วนสำคัญก็เพราะเงินถุงแดงที่รัชกาลที่ 3 ทรงมองการณ์ไกลเก็บสะสมไว้เป็น Emergency Fund ของสยาม นั่นเอง ดังนั้น เราควรนำเอาบทเรียนเรื่องนี้มาใช้กับชีวิตของเราด้วยการเตรียมเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินเอาไว้ตามสูตรการวางแผนการเงินนั่นเอง

*******************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
5 กันยายน 2559
*******************************

 

มาลงทุนหุ้นในประเทศเจ้าเหรียญทองโอลิมปิคกันดีมั้ย?

ในตลาดหุ้นมักมีนักวิเคราะห์พยายามจับคู่เหตุการณ์ต่างๆที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวกันมาพยากรณ์ว่า ตลาดหุ้นจะไปในทางทิศทางไหน ล่าสุด เมื่อเดือนสิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา มีการแข่งขันโอลิมปิคฤดูร้อนที่บราซิล ที่เรียกว่า ริโอ 2016 (Rio 2016) ปรากฏว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาได้กวาดเหรียญรางวัลสูงสุด เป็นเจ้าเหรียญทองโอลิมปิค โดยได้เหรียญทอง 46 เหรียญ ก็มีคนสนใจว่า จริงๆแล้วมีความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าเหรียญทองโอลิมปิคกับผลตอบแทนตลาดหุ้นของประเทศนั้นหรือเปล่า? ซึ่งผลการวิเคราะห์ในอดีตพบว่า มันมีความสัมพันธ์กันจริงๆ

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยแล้ว ตลาดหุ้นของประเทศเจ้าเหรียญทองโอลิมปิคทั้งฤดูร้อนและฤดูหนาว จะมีผลตอบแทนดีกว่า ดัชนี MSCI World ที่เป็นดัชนีตลาดหุ้นของโลก ในช่วงเวลาไม่กี่เดือนหลังโอลิมปิคสิ้นสุดลง ตัวอย่างเช่น โอลิมปิค ฤดูร้อน 1996 สหรัฐอเมริกาชนะเป็นเจ้าเหรียญทอง หนึ่งปีถัดมา (คือจาก 4 ส.ค. 1996 ถึง 4 ส.ค. 1997) ดัชนี MSCI World Index เพิ่มขึ้น 26% ขณะที่ ดัชนี S&P500 ซึ่งเป็นตัวแทนตลาดหุ้นสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 43% เอาชนะตลาดหุ้นโลกไปได้ถึง 17%

 

Screen Shot 2016-09-01 at 5.56.18 PM

ในปี 2008 โอลิมปิคฤดูร้อน ประเทศจีนเป็นเจ้าภาพ และเอาชนะเป็นเจ้าเหรียญทองไปได้ ปีต่อมาหลังโอลิมปิค ดัชนี MSCI World Index ตกลง 19% ขณะที่ ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิท (Shanghai Composite Index) ตัวแทนของตลาดหุ้นจีนกลับเพิ่มขึ้น 25% หมายความว่า เอาชนะตลาดหุ้นโลกไปได้ถึง 43%

จากตาราง ถ้าดูย้อนหลัง 20 ปี จากโอลิมปิค 10 ครั้ง ตลาดหุ้นของประเทศเจ้าเหรียญทองเอาชนะตลาดหุ้นโลกได้ 6 ครั้ง ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์เฉลี่ยอยู่ที่ 4%, ถ้าเราดูระยะเวลาหลังโอลิมปิคเพียง 3 เดือน จะพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วเจ้าเหรียญทองจะเอาชนะตลาดหุ้นโลกได้ราว 6% และถ้าเราดูที่ 6 เดือน ตัวเลขก็จะเป็น 6% เช่นกัน

ถ้าเราดูให้ละเอียดแล้ว จะพบว่า ตัวเลขที่ต่างกันมาก มีน้ำหนักจากโอลิมปิค 2008 ที่จีนเป็นเจ้าเหรียญทอง อย่างไรก็ตาม ถ้าเราถอดโอลิมปิค 2008 ออกไป ตัวเลขตลาดหุ้นเจ้าเหรียญทองก็ยังดีกว่าตลาดโลกอยู่ดี โดยเฉพาะถ้าเราดูที่ระยะเวลา 3 เดือนและ 6 เดือนหลังโอลิมปิค

ทำไมตลาดหุ้นประเทศเจ้าเหรียญทองถึงดีกว่าตลาดหุ้นโลกได้? เป็นไปได้ว่า การชนะเป็นเจ้าเหรียญทองน่าจะเป็นผลจากการที่ประเทศนั้นได้ลงทุนในกีฬามาก่อนหน้า ซึ่งประเทศที่จะมีเงินลงทุนในกีฬามักมาจากประเทศที่มีเศรษฐกิจกำลังเติบโต ซึ่งส่งผลให้ตลาดหุ้นหลังโอลิมปิคไม่กี่เดือนมีผลตอบแทนดีไปด้วย ดังนั้น ถ้าเราเชื่อทฤษฎีนี้ ก็คงต้องไปเลือกซื้อกองทุนที่อิงกับดัชนี S&P500 ของสหรัฐอเมริกา แต่บอกตามตรง ผมไม่รับประกันกำไรนะครับ

*******************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
26 สิงหาคม 2559
*******************************

เครดิตข้อมูลจาก http://www.truewealthpublishing.asia

 

เศรษฐีเงินล้านเขาจัดสรรเงินกันอย่างไร

เป็นที่ทราบกันในหมู่นักวางแผนการเงิน นักลงทุน หรือผู้คนในแวดวงการเงิน ว่า การเอาเงินทั้งหมดที่มีอยู่ไปใส่ในที่ๆเดียวนั้นเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่ง ภาษิตนักการเงินเรียกว่า “อย่าเอาไข่ทั้งหมดใส่ในตะกร้าใบเดียว” เพราะถ้าตะกร้าใบนั้นตกพื้น ไข่ทั้งหมดที่เรามีอยู่ก็จะแตกไปหมดด้วย ดังนั้น เงินลงทุนของเราจึงควรจัดสรรไปยังสินทรัพย์ต่างๆตามสัดส่วนที่เหมาะสมกับแต่ละคน ว่าแต่ว่าสัดส่วนที่เหมาะสมควรจะเป็นอย่างไร เราลองมาดูตัวอย่างว่าคนรวยๆเขาจัดสรรเงินลงทุนกันอย่างไรดีกว่า

บริษัท CapGemini ได้จัดทำรายงาน World Wealth Report ว่าด้วย เศรษฐีเงินล้านทั่วโลก มากว่า 20 ปีแล้ว คำว่า เศรษฐีเงินล้าน นั้น ไม่ใช่ล้านบาท แต่หมายถึง ล้านดอลลาร์ โดย CapGemini เรียกคนกลุ่มนี้ตามภาษาทางการว่า กลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสุทธิสูง (High Net Worth Individuals: HNWIs) ซึ่งหมายถึง ผู้ที่มีสินทรัพย์ลงทุนสุทธิตั้งแต่ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯขึ้นไป (โดยไม่รวมถึงสินทรัพย์ที่เป็นบ้านที่ใช้อยู่อาศัย ของสะสม และของที่ใช้บริโภคอุปโภค) ถ้าคิดเป็นไทยก็ต้องมีเงินลงทุนตั้งแต่ 35 ล้านบาทขึ้นไป สำหรับรายงานปี 2016 นี้ ทาง CapGemini บอกว่า เป็นปีแรกที่เศรษฐีเงินล้านของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคมีจำนวนและมูลค่าความมั่งคั่งแซงภูมิภาคอเมริกาเหนือไปแล้ว ซึ่งหลักๆก็เป็นเศรษฐีจากจีนและญี่ปุ่น

MillionairePort2016rev

ในรายงาน World Wealth Report 2016 บอกว่า เศรษฐีเงินล้านในโลกนี้ โดยเฉลี่ย จัดสรรเงินลงทุนไปอยู่ใน หุ้น 25%, เงินสดและเทียบเท่าเงินสด (พวกเงินฝากทั้งหลาย) 24%, ตราสารหนี้ 18%, อสังหาริมทรัพย์ (ไม่รวมบ้านหลังที่ใช้พักอาศัย) 18% และการลงทุนทางเลือก (พวก Hedge Fund, ตราสารอนุพันธ์, เงินตราต่างประเทศ, สินค้าโภคภัณฑ์ ฯลฯ) 16% จากข้อมูลดังกล่าว สรุปได้ว่า เศรษฐีเงินล้านในโลกนี้ ต่างเข้าใจและปฏิบัติตามกฎการกระจายความเสี่ยงด้วยการจัดสรรเงินลงทุนไปในสินทรัพย์ต่างๆได้ดีทีเดียว เขาไม่ได้เอาเงินลงทุนใส่ใน หุ้น ตราสารหนี้ ที่อยู่ในตลาดการเงิน เท่านั้น แต่เขาใส่ใน สินทรัพย์จับต้องได้ อย่าง อสังหาริมทรัพย์ ด้วย เพราะเคยมีตัวอย่างให้เห็นแล้ว เวลาเกิดวิกฤติใหญ่ๆ หุ้นหรือตราสารหนี้ซึ่งเป็นการลงทุนในตลาดการเงิน หรือเรียกว่า เงินลงทุนกระดาษ paper investment ต่างก็ร่วงไปด้วยกัน อสังหาริมทรัพย์กลับเป็นสินทรัพย์ที่ไว้ใจได้มากกว่าด้วยซ้ำไป

ที่น่าสังเกตคือ เศรษฐีถือเงินสดในสัดส่วนค่อนข้างสูง ราวๆ 1 ใน 4 ของเงินลงทุนทั้งหมดเลยทีเดียว ทั้งๆที่เงินสดนั้นแทบไม่ได้ให้ผลตอบแทนเลย ในระยะยาว การถือเงินสดจะมีมูลค่าลดลงเพราะอัตราเงินเฟ้อสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเสียอีก แต่ทำไมเศรษฐีในโลกนี้ถึงถือเงินสดราว 1 ใน 4 ล่ะ นั่นเป็นเพราะว่า แม้เงินสดหรือเงินฝากจะแทบไม่มีผลตอบแทน แต่วันใดก็ตาม ที่ตลาดเกิดข่าวร้าย ไม่ว่าจะเป็น หุ้นตกหนัก ราคาที่ดินร่วง นั่นย่อมเป็นโอกาสซื้อครั้งสำคัญที่จะสร้างผลตอบแทนมโหฬาร แต่โอกาสนั้นจะมีให้สำหรับผู้ที่มีเงินสดในมือเท่านั้น เศรษฐีผู้ฉลาดในเรื่องการหาเงิน จึงถือเงินสดไว้พอสมควร เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับโอกาสซื้อสินทรัพย์ลงทุนในช่วงลด แลก แจก แถม ซึ่งจะมาเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจนั่นเอง

ข้อคิดสำหรับคนที่ยังไม่ได้เป็นเศรษฐีเงินล้าน ก็คือ เราต้องมีการกระจายสินทรัพย์ลงทุน อย่าเชื่อมั่นตนเองจนเทเงินไปที่สินทรัพย์อันใดอันหนึ่งจนหมด หากเราคาดการณ์ถูก เราก็ได้กำไรเยอะก็จริง แต่หากคาดผิด เงินของเราอาจสูญไปเลยก็ได้ สำหรับการถือเงินสดนั้น คนที่ยังมีเงินลงทุนไม่มากนัก การถือเงินสดไว้ถึงหนึ่งในสี่ ก็อาจจะเป็นสัดส่วนสูงเกินไป เพราะทำให้เราเสียโอกาสสร้างผลตอบแทนขยายพอร์ตลงทุนของเรา ก็คงต้องปรับให้เหมาะสมกับแต่ละคน ซึ่งเราก็ต้องศึกษาหาความรู้ในเรื่องนี้จึงจะกำหนดได้เหมาะสม หรืออีกวิธีหนึ่งก็อาจไปปรึกษา นักวางแผนการเงิน ที่มีความรู้จริงๆ ซึ่งจะให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับคนแต่ละคนได้ดี

ปล. ท่านใดสนใจติดต่อนักวางแผนการเงินเก่งๆ สามารถส่งข้อความหลังไมค์มาสอบถามผมได้นะครับ

*******************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
23 สิงหาคม 2559
*******************************

กลยุทธ์ทำให้นกร้องเพลง ตอน 3 อิเอยาสุ โตกุกาวะ

แล้วก็มาถึง จอมคนคนที่ 3 ผู้รวมชาติของญี่ปุ่น นั่นคือ อิเอยาสุ โตกุกาวะ เจ้าของกลยุทธ์ “ฉันจะเฝ้ารอคอยจนกว่านกจะร้องเพลง” ผู้ประสบความสำเร็จในการขึ้นครองตำแหน่งโชกุน และสืบทอดอำนาจตำแหน่งโชกุนในตระกูลโตกุกาวะ ต่อเนื่องเป็นเวลาเกือบสามศตวรรษ

Tokugawa Ieyasuอิเอยาสุ เกิดเมื่อ ค.ศ. 1542 ในแคว้น มิคาว่า เป็นบุตรของไดเมียวเล็กๆ ในวัยเด็กถูกส่งตัวไปเป็นตัวประกันที่ตระกูลอิมางาวะ แคว้นใหญ่ข้างเคียงเพื่อแสดงความภักดี ต่อมาได้ส่งตัวกลับมาเป็นไดเมียวแห่งมิคาว่าหลังจากที่พ่อเขาเสียชีวิต กลยุทธ์ในช่วงต้นของอิเอยาสุ คือ การเข้าสวามิภักดิ์กับแคว้นที่กำลังขยายอำนาจ โดยเมื่อแคว้นโอวาริของ โอดะ โนบุนากะ จอมคนท่านแรกที่เราเคยกล่าวถึงไปแล้วในตอนแรก ได้พิชิตชัยเหนือตระกูลอิมางาวะได้ เขาก็เปลี่ยนข้างมาอยู่ฝ่ายเดียวกับ โอดะ โนบุนากะ ทันที การเป็นพันธมิตรกับโอดะ ทำให้ อิเอยาสุได้เริ่มสั่งสมทรัพยากรและความพร้อมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

แต่เมื่อโอดะ โนบุนากะ ถูกหักหลังโดยลูกน้องคนสนิทอย่าง อาเคชิ มิตสึฮิเดะ จนเขาต้องทำเซ็ปปุกุตายไป อิเอยาสุที่กำลังเดินทัพอยู่ก็ต้องหนีตายอย่างทุลักทุเลภายใต้ความช่วยเหลือจากนินจาผู้ยิ่งใหญ่อย่างท่านฮัตโตริ ฮันโซ จนกลับไปถึงแคว้นมิคาว่าของตนอย่างปลอดภัย ถึงตอนนั้นเขาต้องตัดสินใจว่าจะเลือกตั้งตนเป็นใหญ่หรือไปอยู่กับฝ่ายใด หลังจากคิดใคร่ครวญอย่างดีแล้ว เขาตัดสินใจเลือกอยู่ฝ่ายฮิเดโยชิ จอมคนคนที่ 2 ซึ่งเป็นการเลือกที่ถูกต้อง เพราะเมื่อฮิเดโยชิสามารถยึดอำนาจได้เบ็ดเสร็จ อิเอยาสุก็ได้รับมอบดินแดนคันโต ซึ่งปัจจุบันคือ โตเกียว เป็นรางวัล

ในช่วงท้ายของฮิเดโยชิ เขามีความหวาดระแวงในตัวอิเอยาสุอย่างยิ่งว่า อาจก่อกบฏได้หากตัวฮิเดโยชิไม่อยู่ เขาจึงแต่งตั้งสภาไทโร ประกอบด้วย ผู้อาวุโส 5 ท่าน คานอำนาจซึ่งกันและกัน เพื่อว่าราชการแทนบุตรชายของเขาที่ยังเป็นเด็กจนกว่าจะพร้อม หนึ่งในนั้นคือ อิเอยาสุ นั่นเอง นอกจากนี้ การบุกเกาหลีของฮิเดโยชิ ที่ยืดเยื้อและสิ้นเปลืองทรัพยากรอย่างยิ่งนั้น ไม่ได้มีกองทัพจากอิเอยาสุเลย ทำให้เขาแทบไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามครั้งนั้น

เมื่อฮิเดโยชิถึงแก่อสัญกรรม ความตึงเครียดที่ว่าอิเอยาสุจะก่อกบฏก็เกิดขึ้น แต่เขาก็ยังคงรอคอยให้ผู้อาวุโสคนสำคัญในสภาไทโร อย่าง มาเอดะ โทชิอิเอะ เสียชีวิตไปก่อน เขาจึงเริ่มก่อการจนเกิดการสู้รบครั้งประวัติศาสตร์ที่ ทุ่งเซกิงะฮะระ กับทางกองทัพ อิชิดะ มิซึนะริ ผู้ภักดีต่อบุตรชายของฮิเดโยชิ ในปี 1600 โดยอิเอยาสุได้เกลี้ยกล่อมแม่ทัพฝ่ายอิชิดะทรยศมาอยู่ข้างเขาได้ ทำให้เขาสามารถเอาชนะในสมรภูมิครั้งนี้ได้ ทำให้เขาขึ้นครองอำนาจเหนือญี่ปุ่นได้อย่างเบ็ดเสร็จ และได้รับการแต่งตั้งเป็น โชกุน จากองค์จักรพรรดิ ใน ค.ศ.1603

แม้ว่าเขาจะขึ้นครองอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จแล้วก็ตาม อิเอยาสุยังไม่ได้เข้ายึดปราสาทโอซาก้าซึ่งเป็นที่พำนักของ ฮิเดโยริ บุตรชายของฮิเดโยชิ ที่ว่ากันว่าเป็นป้อมปราการที่แข็งแกร่งที่สุด เขาเฝ้าอดทนรอจนกระทั่งปี 1615 เขาจึงยกทัพเข้าโจมตีปราสาทโอซาก้า จนฮิเดโยริต้องทำเซ็ปปุกุคว้านท้องสิ้นชีวิตไปพร้อมกับมารดาของเขา ทำให้อำนาจของตระกูลโตกุกาวะมั่นคง สามารถครองอำนาจสืบทอดตำแหน่งโชกุนไปได้จนถึง ค.ศ. 1868 เลยทีเดียว

หากเรานำชีวิตของอิเอยาสุมาเปรียบเทียบกับกลยุทธ์การลงทุน อิเอยาสุ ก็เหมือนกับนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า หรือ VI ที่สามารถเฝ้ารอให้ราคาหุ้นที่ต้องการลงทุนร่วงลงมาจนได้ส่วนเผื่อความปลอดภัย (Margin of Safety) เพียงพอ จึงจะลงทุน เขาไม่ชอบการเสี่ยงเข้าไปลงทุนในหุ้นหวือหวา แต่เขาเน้นการลงทุนที่เขาชนะแน่ๆมากกว่า เขาไม่มีความยึดติดกับหุ้นตัวไหน โดยจะลงทุนกับหุ้นที่ชนะแน่ๆ และพร้อมทิ้งไปหาตัวใหม่หากเห็นว่าไม่เป็นไปตามที่คิด การที่จะใช้กลยุทธ์นี้ได้ เขาต้องอดทน และต้องรักษาสุขภาพ เพราะกลยุทธ์เช่นนี้ต้องใช้เวลารอคอย หากอายุไม่ยืนยาวพอ ก็จะไม่เห็นผลชัดเจน กลยุทธ์นี้แม้ไม่หวือหวา แต่ได้ผลแน่นอนและยั่งยืน

************************************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
30 พฤษภาคม 2559
************************************************

ข้อมูลจาก หนังสือ ตำนานสามวีรบุรุษสร้างชาติญี่ปุ่น โดย วีระชัย โชคมุกดา และ Ninja Attack! โดย Hiroko Yoda & Matt Alt

 

“ถ้าคุณเป็นคนฉลาดในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 คุณจะหาทางไปอยู่ในทวีปเอเชีย”

ในหนังสือขายดีเล่มล่าสุดของ จิม โรเจอร์ส สุดยอดเซียนหุ้นของโลก เขาได้เขียนตอนหนึ่งว่า “ถ้าคุณเป็นคนฉลาดในช่วงต้นคริสต์วรรษที่สิบเก้า คุณจะเดินทางไปลอนดอน ถ้าคุณเป็นคนฉลาดในช่วงต้นคริสต์วรรษที่ยี่สิบ คุณจะเก็บข้าวของแล้วย้ายไปอยู่ที่นิวยอร์ก ถ้าคุณเป็นคนฉลาดในช่วงต้นคริสต์วรรษที่ยี่สิบเอ็ด คุณจะหาทางไปอยู่ในทวีปเอเชีย”

 

หน้าปก Street Smarts-create-220

ทำไม จิม โรเจอร์ส แนะนำอย่างนั้น ก็เพราะว่าศตวรรษที่ 19 เป็นศตวรรษที่ยิ่งใหญ่ของอังกฤษ จักรวรรดิอังกฤษได้พัฒนากลายเป็นมหาอำนาจของโลกในช่วงเวลานั้นจนกลายเป็น ดินแดนพระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน ส่วนศตวรรษที่ 20 จากผลกระทบของสงครามโลกทั้งสองครั้ง สร้างความบอบช้ำให้ยุโรป และทำให้ สหรัฐอเมริกา ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของโลก ส่วนในศตวรรษที่ 21 เป็นเรื่องที่ชัดเจนแล้วว่า ทวีปเอเชียจะกลายเป็นมหาอำนาจของโลกแทนที่ตะวันตก

การตัดสินใจย้ายไปอยู่ในดินแดนที่กำลังรุ่งเรืองจนกลายเป็นมหาอำนาจของโลกนั้น เป็นกลยุทธ์ที่ตั้งอยู่บนหลักการที่ว่า ถ้าเราไปอยู่ถูกที่ถูกเวลา ถึงแม้เราไม่ได้เป็นผู้ที่เก่งที่สุด แต่เราก็จะได้ประโยชน์จากแนวโน้มขาขึ้นของสังคมนั้นด้วย ที่ที่เศรษฐกิจเฟื่องฟู คนที่อยู่ตรงนั้นไม่ว่าอาชีพอะไรก็ย่อมได้ประโยชน์ไปด้วย ผมเคยคุยกับผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่เป็นผู้บริหารระดับผู้จัดการเขตธนาคาร ตอนนั้นท่านใกล้จะเกษียณแล้ว ท่านเล่าว่า ช่วงที่เฟื่องฟูที่สุดของชีวิต ก็คือ ตอนที่เป็นผู้จัดการสาขาธนาคารอยู่ที่ภาคตะวันออกในยุคเฟื่องฟูสมัยพลเอกชาติชายเป็นนายกรัฐมนตรี ราคาที่ดินในภาคตะวันออกพุ่งขึ้นอย่างติดจรวด มีการซื้อขายเปลี่ยนมือกันเร็วมาก ท่านนั่งเป็นผู้จัดการสาขาธนาคาร ที่ดินแปลงเดียวกันมีการซื้อขายเปลี่ยนมือกันสี่รอบภายในปีเดียว นอกจากจะได้ยอดสินเชื่อแล้ว ท่านยังได้ค่านายหน้าในการแนะนำลูกค้ามาซื้อขายที่ดินนั้นด้วย โดยแทบไม่ต้องใช้ฝีมืออะไรเท่าไหร่เลย จนมีรายได้สร้าง passive income ที่แทบไม่ต้องพึ่งเงินเดือนพนักงานธนาคารอีกเลย

ในหนังสือเล่มดังกล่าว จิม โรเจอร์ส ยังให้คำแนะนำดีๆให้กับผู้อ่านอีกมาก เป็นมุมมองจากเซียนหุ้นชั้นนำของโลก ผู้มีความโดดเด่นจากการคาดการณ์แนวโน้มอนาคต ผมเองซื้อหนังสือเล่มนี้อ่านตั้งแต่ตีพิมพ์ฉบับภาษาอังกฤษออกมาใหม่ๆ อ่านแล้วประทับใจมาก จนได้ติดต่อซื้อลิขสิทธิ์แปลจาก จิม โรเจอร์ส โดยตรง ในที่สุดก็ได้ลิขสิทธิ์แปลมา และได้คุณวิรัตน์ รัตนเวชสิทธิ นักแปลฝีมือเยี่ยมมาช่วยแปลและเรียบเรียง ส่วนผมทำหน้าที่บรรณาธิการ ร่วมกับคุณจักรพงษ์ เมษพันธุ์ The Money Coach ช่วยกันตรวจทานอีกที ตอนนี้ หนังสือฉบับแปลเป็นไทยในชื่อว่า “รู้จริง รวยจริง อย่างเซียนหุ้น : การผจญภัยบนเส้นทางชีวิตและตลาดการเงิน” กำลังเปิดจองสั่งซื้อล่วงหน้า (Pre-Order) อยู่ที่เว็บของสำนักพิมพ์ลีฟริช จนถึง 15 มี.ค. 59 นี้ ราคาเต็ม 220 ช่วงนี้ลดพิเศษ 15% เหลือเพียง 185 บาท (ไม่มีค่าจัดส่ง) สนใจคลิกไปที่ http://shop.liverich.co.th/streetsmartlp/ ได้เลยครับ

**********************************************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
25 กุมภาพันธ์ 2559
**********************************************************

เรามองเห็นอะไรจากตารางผลตอบแทนกองทุนรวมช่วง 9 เดือนแรกของปี 58

 

Morningstar Thailand ได้สรุปผลตอบแทนของกองทุนรวมประเภทต่างๆย้อนหลังในรอบ 3 เดือน, 6 เดือน, 9 เดือนแรกของปี ไปจนถึง 5 ปี ช่องสีแดงคือขาดทุน ช่องสีเขียวคือกำไร ไล่โทนสีไปตามขนาดของผลลัพธ์ด้วย

MutualFund9M15

เราสามารถสังเกตเห็นได้ชัดว่า ในปีที่เศรษฐกิจทั่วโลกไม่ดีอย่างปีนี้ ผลตอบแทนย้อนหลังระยะใกล้ๆก็จะเป็นสีแดงเป็นส่วนใหญ่ (แปลว่าขาดทุนกันถ้วนหน้า) แต่เมื่อมองย้อนหลังไปไกลๆ กองทุนเกือบทั้งหมดต่างก็เป็นสีเขียวหรือมีกำไรด้วยกันแทบทั้งสิ้น

อย่างช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 ส่วนใหญ่ติดลบ มีเพียงกองทุน Money Market (+1.19%), Short Term Bond (+1.73%), Mid/Long Term Bond (+1.58%), Europe Equity (+4.62%), Property Indirect (+6.84%) และ Healthcare (+4.27%) เท่านั้นที่มีผลตอบแทนเป็นบวก

แต่เราพอมองย้อนหลังไปถึง 5 ปี ก็พบว่า มีผลตอบแทนเป็นบวกเกือบทั้งหมด เหลือเพียง Emerging Market Equity (-4.77%), Commodities Energy (-13.59%) และ Commodities Precious Metals (-1.86%) เท่านั้น

นั่นแปลว่า แม้ว่าในระยะสั้น จะขาดทุน ในระยะยาวแล้ว การลงทุนไม่ว่าประเภทไหนก็มีโอกาสสูงที่จะมีผลตอบแทนเป็นบวกด้วยกันทั้งสิ้น จะมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับประเภทการลงทุน อย่างกองทุนตลาดเงิน (Money Market) ที่มีความเสี่ยงต่ำก็ให้ผลตอบแทนย้อนหลัง 10 ปีเฉลี่ยปีละ 2.32% ซึ่งพอๆกับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยที่อยู่ราวๆ 2.4%ต่อปี ส่วนกองทุนที่ลงทุนในหุ้นขนาดกลางและเล็ก ให้ผลตอบแทนย้อนหลัง 10 ปีเฉลี่ยปีละ 11.27%

จากข้อสังเกตนี้ เราพอสรุปได้ว่า กลยุทธ์ที่เราทุกคนควรทำกับเงินเก็บก็คือ ควรนำเงินออมไปลงทุน อย่าเก็บเป็นเงินสดเฉยๆทั้งหมด เพื่อที่ว่าในอนาคตเงินที่เราหามาอย่างยากลำบาก จะเพิ่มค่ามากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าในระยะสั้น เงินที่ลงทุนอาจติดลบบ้าง แต่ในระยะยาว มันจะทวีค่าสูงขึ้น ช่วยทุ่นแรงการออมเงินของเราไปได้มาก

แต่โปรดระลึกเสมอว่า ก่อนจะลงทุน ต้องศึกษาให้เข้าใจเสียก่อน เพราะการลงทุนนั้น ยิ่งรู้ ยิ่งกำไร (High Understanding, High Return) นั่นเอง

*************************************************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
3 พ.ย. 2558
*************************************************************

เครดิตข้อมูลจาก MorningStar Thailand

 

โอกาสซื้อหรือลงทุนอสังหาสำหรับคนมีเงินสด

เมื่อวาน (14 ต.ค. 58) คณะรัฐมนตรีได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาอีกรอบ คราวนี้มุ่งไปที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นจักรกลสำคัญของระบบเศรษฐกิจ เพราะมีการจ้างงานจำนวนมากกระจายไปทั่วประเทศและยังส่งเสริมให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ถือเป็นการออมเงินทางอ้อมระยะยาวอีกด้วย มาตรการที่ออกมาเมื่อวานนี้ที่เกี่ยวข้องกับประชาชนทั่วไปที่สนใจจะซื้อบ้านมีอยู่ 3 ข้อ

ข้อแรกคือ การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินที่นำไปซื้อบ้านหรือคอนโดราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ 20% ของราคาบ้าน โดยมีเกณฑ์ 5 ข้อ ได้แก่
(1) ต้องใช้สิทธิยกเว้นภาษีฯต่อเนื่องกัน 5 ปี นับแต่ปีภาษีที่มีการโอนกรรมสิทธิ์บ้าน โดยแบ่งใช้สิทธิปีละเท่าๆกัน
(2) ต้องจ่ายค่าซื้อบ้าน และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์บ้าน จนถึง 31 ธ.ค. 2559
(3) มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านที่ซื้อเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์
(4) ไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาฯมาก่อน (แปลว่า ไม่เคยซื้อบ้านมาก่อน)
(5) ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกรมสรรพากรจะประกาศต่อไป

มาตรการข้อแรกนี้ ถือว่าเป็นเซอร์ไพรส์ เพราะไม่มีข่าวหลุดออกมาก่อนเหมือนมาตรการข้ออื่น ถ้าพูดให้เข้าใจง่าย มาตรการนี้ก็คือ โครงการบ้านหลังแรก นั่นเอง ด้วยการลดภาษีให้กับคนซื้อบ้านหลังแรกในราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท สมมติว่า นายสมชาย ไม่เคยซื้อบ้านมาก่อน และมาซื้อบ้านราคา 3 ล้านบาท ซึ่งประมาณได้ว่า นายสมชายมีเงินเดือนราวๆ 50,000 บาท เพราะประมาณยอดผ่อนชำระที่ 20,000 บาทต่อเดือนและธนาคารปล่อยกู้ที่ 40%ของเงินเดือน ถ้าคิดทั้งปีก็เท่ากับมีเงินได้ 600,000 บาท โดยปกติ นายสมชายต้องเสียภาษีราว 29,000 บาทต่อปี แต่มาตรการนี้ให้หักลดหย่อนภาษีได้ 20% ของราคาบ้าน ซึ่งกรณีนี้เท่ากับ 600,000 บาทต่อปี ก็หมายความว่า นายสมชายไม่ต้องเสียภาษีเงินได้เลย สามารถขอคืนภาษีที่หัก ณ ที่จ่ายไปได้ทั้งหมด ถือว่าประหยัดเงินไปได้ถึง 29,000 บาทต่อปี เหมือนกับได้โบนัสมาอีก 0.58 เดือนเลยทีเดียว

ฃ้อสอง เป็นมาตรการการเงิน เป็นการสนับสนุนผู้มีรายได้น้อยและปานกลางให้สามารถกู้เงินจาก ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้ กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการนี้ คือผู้ที่ไปกู้ธนาคารแล้วกู้ไม่ผ่าน ก็สามารถไปติดต่อ ธอส. เพื่อขอกู้ซื้อบ้านได้ด้วยเงื่อนไขผ่อนปรนกว่าธนาคารอื่น

ข้อสาม เป็นมาตรการลดค่าจดทะเบียนการโอน จากเดิม 2% ลดเหลือ 0.01% และค่าธรรมเนียมจดจำนอง จากเดิม 1% เหลือ 0.01% เป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งมาตรการข้อนี้ให้ทั้งซื้อบ้านใหม่และบ้านเก่า โดยไม่มีเพดานราคากำหนดไว้ มาตรการนี้น่าจะส่งผลกระตุ้นผู้ที่คิดจะซื้อบ้านอยู่แล้วให้ซื้อบ้านเร็วขึ้นเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ลองมาคำนวณกรณีนายสมชายดูว่า ถ้าซื้อบ้านราคา 3 ล้านบาท (สมมติให้ราคาประเมินกรมที่ดิน 2.5 ล้านบาท) โดยทั่วไป ผู้ซื้อต้องรับผิดชอบค่าโอนคนละครึ่งกับผู้ขาย นั่นคือ เสีย 1% ของราคาประเมินกรมที่ดิน เท่ากับ 25,000 บาท แต่ด้วยมาตรการนี้จะชำระเพียง 250 บาทเท่านั้น และหากกู้เงินธนาคารเท่ากับราคาซื้อขายเลย (3 ล้านบาท) ปกติต้องเสียค่าจดจำนอง 1% ของยอดเงินกู้ ซึ่งเท่ากับ 30,000 บาท แต่ด้วยมาตรการนี้จะเสียค่าจดจำนองเพียง 0.01% หรือเท่ากับ 300 บาทเท่านั้น รวมๆแล้ว นายสมชายเสียค่าโอนและค่าจดจำนองเพียง 550 บาทเท่านั้น จากปกติต้องเสียเท่ากับ 55,000 บาท ประหยัดเงินไป 54,450 บาท

ตัวอย่างนายสมชายที่ผมสมมติขึ้นนี้ จะเห็นว่า ด้วยมาตรการข้อ 1 และข้อ 3 ของรัฐบาล เขาจะประหยัดเงินไปได้ถึง 83,450 บาท หรือเทียบเท่ากับได้โบนัส 1.67  เดือนเลยทีเดียว

เมื่อเรามาพิจารณาถึงสถานการณ์อสังหาฯในปัจจุบันที่มีปัญหาซัพพลายมากกว่าดีมานด์ ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาฯต้องออกแคมเปญลดราคาเพื่อกระตุ้นยอดขาย ทำให้ผู้ซื้อสามารถต่อรองราคาได้มากกว่าภาวะปกติ และเมื่อมารวมกับเงินที่ประหยัดได้จากมาตรการของรัฐบาล ทำให้ช่วง 6 เดือนจากนี้ เป็นเวลาทองสำหรับผู้มีความพร้อมจะซื้อบ้านได้ โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยซื้อบ้านมาก่อนเลยทีเดียว คำว่าผู้มีความพร้อมจะซื้อบ้านหมายถึง ผู้ที่ถือเงินสดเพียงพอที่จะดาวน์บ้านได้ เพราะต้องรีบโอนบ้านภายใน 6 เดือน (ราวๆเดือนเมษายน 2559) จึงจะได้ลดค่าโอนและจดจำนอง ซึ่งเป็นยอดเงินสูงทีเดียว

เรื่องนี้ย่อมเป็นการย้ำเตือนคำสอนด้านการลงทุนที่ว่า Cash is King อีกครั้ง นั่นคือ เมื่อเข้าภาวะเศรษฐกิจขาลง ผู้ถือเงินสดย่อมได้เปรียบเสมอ

**************************************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
14 ตุลาคม 2558
**************************************************

 

กลยุทธ์ทำให้นกร้องเพลง ตอน 2 โตโยโตมิ ฮิเดโยชิ

ตอนที่แล้ว ผมได้เล่าเรื่องของท่านโอดะ โนบุนะกะ ไปแล้ว มาถึงตอนที่ 2 ก็เป็นเรื่องของท่านโตโยโตมิ ฮิเดโยชิ ผู้เฉลียวฉลาดและชำนาญงานการเมืองการปกครองมากที่สุด ผู้ที่บอกว่า “ถ้านกไม่ยอมร้องเพลง ข้าจะสอนให้มันร้องเพลงให้ได้”

hideyoshi2

โตโยโตมิ ฮิเดโยชิ เกิดเมื่อ 2 ก.พ. ค.ศ. 1536 อายุน้อยกว่าโนบุนะกะ 2 ปี ฮิเดโยชิเกิดในครอบครัวชาวนาที่ยากจน ไม่มีสายเลือดซามูไรหรือชนชั้นสูงอยู่เลย เมื่อโตขึ้น ได้ออกจากบ้านเพื่อไปเป็นทหาร เข้าร่วมกับกองทัพของโนบุนะกะในตำแหน่งพลทหารรับใช้ ผู้ดูแลรองเท้าให้โนบุนะกะ ต่อมา เขาได้แสดงความสามารถไต่เต้าตำแหน่งสูงขึ้นเรื่อยๆ สามารถคิดกลยุทธ์เข้ายึดปราสาทกิฟุได้ จนได้รับตำแหน่งเป็นแม่ทัพ เข้าร่วมทำศึกมากมายจนกลายเป็นขุนพลคนสำคัญของโนบุนะกะ

เมื่อโนบุนะกะเสียชีวิตจากการก่อกบฏของ อาเคชิ มิทสึฮิเดะ ทาง ฮิเดโยชิ จึงนำทัพเข้าปราบกบฏและเอาชนะพร้อมสังหารมิทสึฮิเดะได้ภายในเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์ จากนั้น ฮิเดโยชิ ได้อ้างตนเป็นผู้คุ้มครองตระกูลโอดะ โดยเขาประกาศตั้ง โอดะ ฮิเดโนบุ บุตรชายวัยห้าขวบของโอบุนากะขึ้นเป็นหัวหน้าตระกูลโอดะคนใหม่ ทั้งๆที่ยังมีคนในตระกูลโอดะคนอื่นโตพอจะสืบตระกูลได้ ทำให้ขุนพลในตระกูลรู้ทันทีว่าฮิเดโยชิวางแผนจะขึ้นเป็นใหญ่ จึงเกิดการต่อสู้กัน ในที่สุด ฮิเดโยชิก็สามารถเอาชนะได้ทั้งหมด และก้าวขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดในภาคกลางของญี่ปุ่น แต่เขาไม่สามารถขึ้นเป็น โชกุน ได้เพราะชาติกำเนิดเป็นเพียงชาวนาเท่านั้น เป็นได้เพียงตำแหน่ง คัมปะกุ (Kampaku) หรือผู้สำเร็จราชการแทนองค์จักรพรรดิ เท่านั้น

ในเวลานั้น กล่าวได้ว่า ฮิเดโยชิ เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน ในด้านการปกครอง เขาได้ดำเนินการสำรวจที่ดินที่ใช้ในการเกษตรทั้งหมด ทำให้เกิดการปฏิรูปการใช้ที่ดินและพัฒนาผลผลิตการเกษตร, เขาเร่งยึดอาวุธจากชาวนาในชนบท เพื่อป้องกันการเกิดกบฏชาวนา โดยอ้างว่าต้องเอาไปหลอมเพื่อหล่อพระพุทธรูปขนาดใหญ่ เรียกว่า การล่าดาบ (Sword Hunt), สนับสนุนให้ไดเมียวออกกฎหมายควบคุมสมาชิกของตนเองทำให้เกิดระบบสังคมชนชั้นที่ชัดเจน, ส่งเสริมการค้าเสรี สนับสนุนการต่อเรือ แต่งเรือสินค้าไปต่างประเทศ เปิดรับเรือสินค้าจากชาติอื่นๆ โดยมีเมืองนางาซากิ เป็นเมืองท่าติดต่อกับนานาชาติ ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรืองอย่างมาก

oda_nobunaga_toyotomi_hideyoshi_map_of_conquest
แผ่นดินญี่ปุ่นในยุคของ โตโยโตมิ ฮิเดโยชิ
ในด้านการทหาร เขาได้บุกยึดเกาะชิโกกุ เกาะคิวชู จนสามารถรวบรวมแผ่นดินญี่ปุ่นที่แตกแยกมาหลายร้อยปีให้กลับมารวมกันได้ จากนั้น เขาต้องการแผ่ขยายอำนาจไปไกลกว่านั้น จึงส่งกองทัพ 150,000 คนไปบุกเกาหลี ครั้งแรกในปี 1592 โดยขึ้นฝั่งที่เมืองปูซาน เข้ายึดเมืองฮันซอง (กรุงโซลในปัจจุบัน) โดยใช้เวลาเพียงสองสัปดาห์เท่านั้น จากนั้น บุกยึดเมืองเปียงยาง แต่ทางราชวงศ์หมิงของจีน ได้ส่งกองทัพเข้ามาช่วยเกาหลี ทำให้ต้องเจรจาสงบศึก ต่อมา ฮิเดโยชิได้ส่งกองทัพมาบุกเกาหลีอีกครั้งในปี 1597 แต่ครั้งนี้ จีนและเกาหลีได้เตรียมการไว้อย่างดี ทำให้การบุกครั้งไม่สำเร็จอีกครั้ง

ช่วงท้ายของชีวิตฮิเดโยชิ เขาทราบดีว่า ด้วยชาติกำเนิดที่ต่ำต้อยทำให้เขาไม่ได้เป็นโชกุน เขาจึงวางแผนให้บุตรชายวัย 5 ขวบของเขาขึ้นสืบทอดอำนาจ ด้วยการแต่งตั้ง สภาไทโร ซึ่งประกอบด้วยผู้อาวุโส 5 คน คือ โตกุกาวะ อิเอยาสุ, มาเอดะ โทชิอิเอะ, อุกิตะ ฮิเดอิเอะ, อุเอสึงิ คาเงคัตสึ และ โมริ เทรุโมโตะ เพื่อช่วยบริหารบ้านเมืองและคานอำนาจซึ่งกันและกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อ ฮิเดโยชิได้เสียชีวิตในปี 1598 ด้วยวัย 61 ปี สภาไทโรก็แตกเป็นสองฝ่าย ในที่สุด โตกุกาวะ อิเอยาสุ ก็รวบอำนาจขึ้นมาเป็นใหญ่แทนทายาทของฮิเดโยชิ

โตโยโตมิ ฮิเดโยชิ เป็นตัวอย่างของบุคคลผู้สามารถสร้างตนจนประสบความสำเร็จสูงสุดในแผ่นดิน แม้ว่าจะเกิดมาในตระกูลที่ยากจนและต่ำต้อย ในแง่กลยุทธ์ เขาไม่มีเงินทุนตั้งต้นใดๆเลย มีจุดตั้งต้นแย่กว่าโนบุนากะเสียอีก จำเป็นต้องเริ่มจากการเป็นลูกจ้างของคนอื่น แสดงความรู้ความสามารถจนก้าวขึ้นเป็นผู้นำ อีกทั้งเมื่อขึ้นเป็นใหญ่ ยังสามารถบริหารประเทศจนมีเศรษฐกิจรุ่งเรือง แผ่ขยายอำนาจข้ามทะเลไปเกาะอื่นๆ กล่าวได้ว่าเขาประสบความสำเร็จจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่มาจากตระกูลต่ำต้อย อีกทั้งทายาทยังมีอายุน้อยมาก จึงไม่สามารถสืบต่ออำนาจของเขาต่อไปได้

หากเรานำมาเปรียบเทียบกับกลยุทธ์การลงทุน ฮิเดโยชิ เปรียบเสมือนนักลงทุนที่เริ่มจากเงินทุนเป็นศูนย์ แต่เขาไม่ได้ใช้กลยุทธ์กล้าได้กล้าเสียเท่ากับโนบุนากะ เขาค่อยๆสะสมทุนให้เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อโอกาสทำกำไรที่มีความเสี่ยงต่ำมาถึง (วันที่โนบุนากะเสียชีวิต) เขาก็ทุ่มทุนที่สะสมมาสุดตัวและพลิกชีวิตขึ้นมาทันที จากนั้น เขาใช้ความได้เปรียบที่ได้มา ขยายพอร์ตอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นนักลงทุนอันดับหนึ่งในประเทศ จึงข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังต่างประเทศ แม้ว่าจะไม่ประสบความสำเร็จสูงสุดตามที่หวัง แต่พอร์ตในประเทศของเขาก็ไม่ได้รับผลกระทบอะไรนัก ผมคิดว่า นักลงทุนรายย่อยที่มาจากครอบครัวธรรมดา ไม่มีเงินถุงเงินถัง สามารถเรียนรู้ประวัติของฮิเดโยชิแล้วนำมาใช้กับชีวิตของเรา เพื่อที่ว่าจะประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน

************************************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
11 กันยายน 2558
************************************************

ข้อมูลจาก หนังสือ ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ฉบับสร้างชาติ โดย วีระชัย โชคมุกดา

 

กลยุทธ์ทำให้นกร้องเพลง ของ 3 วีรบุรุษสร้างชาติญี่ปุ่น ตอน 1

คนญี่ปุ่นมีเรื่องเล่ากันว่า หากถามวีรบุรุษผู้รวมชาติญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 16 ทั้งสามท่านว่า มีนกเกาะอยู่ที่กิ่งไม้ เราอยากให้นกร้องเพลงให้เราฟัง เราจะต้องทำอย่างไร

ท่านโอดะ โนบุนะกะ ตอบว่า “ถ้านกไม่ยอมร้องเพลง ข้าจะฆ่ามันให้หมด”
ท่านโตโยโตมิ ฮิเดโยชิ ตอบว่า “ถ้านกไม่ยอมร้องเพลง ข้าจะสอนให้มันร้องเพลงให้ได้”
ท่านโตกุกาวะ อิเอยาสุ ตอบว่า “ถ้านกไม่ยอมร้องเพลง ข้าจะเฝ้ารอคอยให้มันร้องเพลง”

เรื่องเล่านี้สะท้อนกลยุทธ์ที่แตกต่างกันของทั้งสามท่านที่อยู่ร่วมสมัยกัน และได้สร้างวีรกรรมจนทำให้ญี่ปุ่นสามารถรวมชาติได้ โนบุนากะใช้ความเด็ดขาดปราบปรามเมืองต่างๆจนก้าวขึ้นเป็นใหญ่ ท่านฮิเดโยชิใช้ความสามารถในการวางแผนและปกครองขยายอำนาจไปทั่วญี่ปุ่น แต่สุดท้ายแล้วกลับกลายเป็นท่านอิเอยาสุ ที่เฝ้ารอคอยให้ทั้งสองท่านแรกเสียชีวิตไป แล้วก้าวขึ้นเป็นใหญ่อย่างแท้จริง และตระกูลของท่านก็สืบทอดอำนาจในตำแหน่งโชกุนมาอีกกว่า 250 ปี เราลองมาฟังเรื่องราวของท่านแรกกันดีกว่า

Odanobunagaโอดะ โนบุนากะ เกิดเมื่อ 23 มิ.ย. ค.ศ. 1534 พ่อของเขาเป็นไดเมียว เจ้าแคว้นโอวาริ แคว้นเล็กๆในตอนกลางเกาะฮอนชู เขาเป็นคนมุทะลุ เอาแต่ใจตนเอง จนได้ฉายาว่า “ควายแห่งโอวาริ” เมื่อเขาอายุได้ 17 ปี พ่อของเขาได้เสียชีวิตลง ด้วยความเป็นลูกชายคนโต เขาจึงขึ้นเป็นหัวหน้าครอบครัวและไดเมียวแทนพ่อของเขา แต่ในงานศพของพ่อ เขากลับก่อเรื่องทะเลาะอาละวาดกลางงาน ทำให้อาจารย์ของเขาต้องทำเซ็ปปุกุ (ฆ่าตัวตายด้วยการคว้านท้อง) เพื่อชดใช้ความผิดที่สั่งสอนศิษย์ได้ไม่ดี ด้วยความที่เขาขึ้นเป็นไดเมียวตั้งแต่อายุยังน้อยและยังมีชื่อเสียงไม่ดี ทำให้ไม่ได้รับการยอมรับในหมู่ญาติพี่น้องและบริวาร มีการวางแผนฆ่าเขาหลายครั้ง แต่โนบุนากะรู้ก่อนและจึงได้ชิงลอบสังหารฝ่ายตรงข้าม ผู้ที่ต่อต้านคนสำคัญคนหนึ่งคือ น้องชายของเขาเอง โอดะ โนบูยูกิ ได้ก่อกบฏขึ้น เขาเอาชนะน้องชายได้ แต่แม่ของเขาขอร้องให้ไว้ชีวิตน้อง เขาจึงปล่อยไป ต่อมา โนบูยูกิได้วางแผนกบฏอีกครั้ง คราวนี้โนบุนากะได้ปล่อยข่าวว่าล้มป่วย หลอกให้น้องชายเข้ามาเยี่ยมจึงถูกสังหาร หลังเหตุการณ์นี้ โนบุนากะได้ส่งทหารเข้าไปยึดอำนาจจากผู้คิดกบฏทั้งหมด เขาจึงสามารถรวมอำนาจในแคว้นได้อย่างมั่นคงเมื่อปี 1559

ต่อมา อิมางาวะ โตชิโมโตะ ไดเมียวแห่งแคว้นมิคาวา ผู้คิดการใหญ่นำทัพ 25,000 คนจะไปทำสงครามกับเกียวโต โดยผ่านมาทางแคว้นโอวาริ ของโนบุนากะ ซึ่งมีทหารเพียง 2,000 กว่าคนเท่านั้น แทนที่โนบุนากะจะอ่อนน้อมต่ออิมางาวะ และให้ยกทัพผ่านไปโดยดี โนบุนากะกลับนำทัพเพียง 2,000 กว่าคนเข้าต่อสู้ ด้วยความชำนาญในภูมิประเทศ และการส่งกองกำลังเฉพาะกิจเข้าจู่โจมอิมางาวะขณะเกิดพายุฝน จนสามารถตัดศีรษะอิมางาวะได้ ทัพของโอบุนากะจึงเอาชนะทัพจากแคว้นมิคาวาสำเร็จ ชัยชนะครั้งนี้สร้างชื่อเสียงให้กับโนบุนากะโด่งดังไปทั่วประเทศ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเขาและประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น มีคนเข้ามาสวามิภักดิ์กับเขาจำนวนมาก ศัตรูก็เปลี่ยนมาเป็นมิตร แม้กระทั่ง โตกุกาวะ อิเอยาสุ ก็เข้ามาอยู่ฝ่ายเขาด้วย

โนบุนากะ ไม่หยุดเพียงเท่านั้น เขาได้ปรับปรุงกองทัพของเขาใหม่ ด้วยเหตุว่าแคว้นของเขาเป็นแคว้นเล็ก มีซามูไรน้อย เขาจึงนำชาวนามาเป็นทหาร แต่ทหารชาวนามีฝีมือรบด้อยกว่าชนชั้นซามูไรมาก เขาจึงพัฒนาหอกขึ้นมาเป็นอาวุธประจำตัวของทหาร แทนที่ดาบซามูไร เพราะว่าในสนามรบ หอกมีประสิทธิภาพในการรบเหนือกว่าดาบ หลายครั้งสามารถเอาชนะนับรบซามูไรที่ชำนาญดาบได้ นอกจากนั้น เขายังเอา ปืนคาบศิลา มาใช้ในกองทัพ โดยไม่สนการถูกปรามาสว่าเอาอาวุธของคนขี้ขลาดมาใช้ ทั้งหมดนี้ทำให้กองทัพของโนบุนากะกลายเป็นกองทัพที่เข้มแข็งเป็นที่เลื่องลือ

ระหว่างนั้น โนบุนากะขยายอำนาจด้วยการเสนอลูกสาวหรือน้องสาวให้ไปแต่งงานกับเจ้าแคว้นรอบข้าง ใครไม่ยอมรับข้อเสนอ เขาก็จะยกทัพไปโจมตี ชื่อเสียงของโนบุนากะโด่งดังไปถึงองค์จักรพรรดิที่เกียวโต จักรพรรดิจึงส่งพระราชสาส์นขอความช่วยเหลือต่อโนบุนากะ ให้ช่วยกอบกู้อำนาจจากโชกุนคืนมายังพระองค์ ขณะเดียวกันโชกุนก็ส่งหนังสือมาขอความช่วยเหลือจากเขาเช่นกัน เขาจึงมองว่า ตัวเขาเองได้รับการแต่งตั้งให้เข้ามาเป็นผู้ปกป้องประเทศญี่ปุ่น เขาจึงจัดทำตรายางประจำตัวของเขาขึ้นมา มีข้อความว่า “ปกครองจักรวรรดิด้วยพละกำลัง” จากนั้น โนบุนากะ ได้ยกทัพมายังเมืองหลวงเกียวโต แต่งตั้งโชกุนหุ่นเชิดของเขาขึ้นมา พร้อมปราบปรามเมืองที่แข็งข้อ ด้วยความดีความชอบนี้ จักรพรรดิได้แต่งตั้งเขาเป็น ไนไดจิน หรือ อัครมหาเสนาบดี เขาจึงก้าวเป็นผู้มีอำนาจอย่างแท้จริงในญี่ปุ่น

Azuchimomoyama-japan
อาณาเขตภายใต้การปกครองของโอดะ โนบุนากะ เมื่อถึงแก่กรรม ค.ศ. 1582

อย่างไรก็ตาม ผู้ต่อต้านเขายังคงมีอยู่จำนวนมาก หนึ่งในศัตรูสำคัญของโนบุนากะก็คือ พระนักรบในศาสนาพุทธ ที่มีอิทธิพลสูงมากในญี่ปุ่น ส่วนโนบุนากะเองนั้น ไม่ได้นับถือศาสนาใดๆ จึงได้เข้าปราบปรามพระนักรบเหล่านั้นด้วยความโหดเหี้ยม การกวาดล้างครั้งใหญ่คือ การที่เขานำทหาร 30,000 คนเข้าล้อมภูเขาฮิเออัน เขาศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาพุทธญี่ปุ่น แล้วเผาวัด ฆ่าทุกคนที่ถูกพบเห็น ไม่ว่าจะเป็น พระ สตรี และเด็ก และอีกเหตุการณ์หนึ่งที่เขาสร้างกำแพงล้อมชาวพุทธที่ตั้งมั่นอยู่ทางตะวันออกของเกาะฮอนชู แล้วจุดไฟเผาฆ่า 20,000 ชีวิตในนั้น

ในปี 1582 โนบุนากะได้นำทัพไปทำสงครามที่คิวชู ระหว่างทาง อาเคชิ มิตสึฮิเดะ ลูกน้องของเขา ได้วางแผนนำกองกำลังย้อนกลับมาล้อมโนบุนากะซึ่งขณะนั้นมีทหารคุ้มกันไม่มาก ไม่สามารถต้านทานได้ โนบุนากะตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยการคว้านท้อง หรือเซ็ปปุกุ ปิดชีวิตนักรบผู้ยิ่งใหญ่สมศักดิ์ศรีแห่งซามูไร อย่างไรก็ตาม ผู้สืบทอดอำนาจของเขากลับไม่ใช่ลูกชายของเขา แต่กลายเป็น โตโยโตมิ ฮิเดโยชิ ขุนพลคนสนิทของเขาแทน

หากให้สรุปบทเรียนจากเรื่องราวของโนบุนากะในด้านกลยุทธ์ จะได้ข้อคิดว่า โนบุนากะเติบโตจากตระกูลที่มีอำนาจไม่มากนัก เขาจึงต้องใช้กลยุทธ์บุกตะลุยไปข้างหน้า ไม่เว้นทางถอย เพราะไม่มีทรัพยากรเหลือพอให้ถอย เขาไม่สนใจแบบแผนดั้งเดิม เพราะนั่นจะทำให้เขาสู้กับผู้มีอำนาจในขณะนั้นไม่ได้ เขาต้องคิดหาแนวทางใหม่ๆเพื่อให้เขาได้เปรียบคนอื่น เช่น นำชาวนามาเป็นทหาร ใช้หอกยาวแทนดาบ นำปืนมาใช้การต่อสู้ เป็นต้น กลยุทธ์นี้ประสบความสำเร็จด้วยความสามารถของเขาเป็นหลัก แต่เขาไม่สามารถสร้างทายาทขึ้นมาสืบต่อได้ทันและเพียงพอ ทำให้เมื่อเขาพลาดท่าเสียที ตระกูลของเขาก็เสื่อมอำนาจลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หากเรานำมาเปรียบเทียบกับกลยุทธ์การลงทุน โนบุนากะก็เหมือนกับนักลงทุนที่ไม่ได้มีเงินทุนตั้งต้นมากมายนัก เขาต้องใช้กลยุทธ์ทุ่มหมดหน้าตัก ถ้ามีโอกาสก็ใช้มาร์จิ้นเต็มที่ เมื่อเขาชนะ ผลตอบแทนจึงมากมายทวีคูณ เขาไม่เลือกเล่นหุ้นแบบมาตรฐาน แต่หาแนวทางใหม่ๆเพื่อเทรดสร้างผลตอบแทนให้เร็วและสูงที่สุด อย่างไรก็ตาม ด้วยกลยุทธ์ทุ่มสุดตัวเช่นนี้ เมื่อเขาพลาด สิ่งที่เขาสร้างมาก็ต้องสูญไปเกือบทั้งหมดเช่นกัน

************************************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
8 กันยายน 2558
************************************************

ข้อมูลจาก หนังสือ ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น โดย วีระชัย โชคมุกดา