บก.ขอเล่า : หนังสือ ชีวประวัติ เจอร์เก้น คล็อปป์ JÜRGEN KLOPP DIE BIOGRAFIE

เมื่อตอนสิ้นปี 2019 ผมได้ไปดูบอลที่สนามแอนฟิลด์ ในนัดที่ลิเวอร์พูล พบกับ วูล์ฟฯ ก่อนบอลจะเริ่มแข่ง ครอบครัวเราได้ไปซื้อสินค้าที่ระลึกในร้านค้าสโมสร ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าของสนาม ตรงมุมหนังสือ มีหนังสือวางขายอยู่หลายเล่มไม่ว่าจะเป็น ชีวประวัติสตีเฟน เจอร์ราร์ด, เจมส์ มิลเนอร์, เส้นทางสู่แชมป์ยุโรป แต่เล่มที่สะดุดตาผมมากที่สุดคือ เล่ม Jurgen Klopp The Biography เขียนโดย Elmar Neveling ในใจผมคิดว่า ถ้าเล่มนี้วางจำหน่ายอยู่ในร้านค้าสโมสร ก็น่าจะอนุมานได้ว่า เป็นหนังสือชีวประวัติของคล็อปป์ที่น่าเชื่อถือ ไม่อย่างนั้นสโมสรก็คงไม่ยอมให้มาขาย โดยเฉพาะทีมบริหารสโมสรชุดนี้ถือว่าเป็นทีมที่มีความเป็นมืออาชีพมากๆ เขาคงต้องคัดเลือกมาอย่างดีถึงจัดให้วางจำหน่ายในร้าน

หนังสือ ชีวประวัติ เจอร์เก้น คล็อปป์ ที่ร้านสโมสรลิเวอร์พูล ในแอนฟิลด์

ผมซื้อเล่มนี้กลับมาอ่าน ระหว่างอ่านก็พบว่า เป็นหนังสือที่อ่านสนุก มีข้อมูลน่ารู้มากมายที่ผมไม่รู้มาก่อน ตอนนั้นตัดสินใจว่า กลับถึงไทยเมื่อไหร่ จะรีบติดต่อเจ้าของลิขสิทธิ์เพื่อขอแปลเป็นไทยทันที หวังว่ายังไม่มีใครซื้อลิขสิทธิ์แปลไทยมาก่อน

เมื่อติดต่อไปที่สำนักพิมพ์ในอังกฤษที่จัดพิมพ์เล่มนี้ ก็ได้ข้อมูลว่า ผู้ดูแลลิขสิทธิ์เล่มนี้ที่แท้จริงคือ สำนักพิมพ์ในเยอรมัน เพราะ Elmar Neveling ผู้เขียนเล่มนี้ แกเป็นคนเยอรมัน ที่เป็นแฟนบอลดอร์ตมุนต์ ตอนที่คล็อปป์ทำทีมดอร์ตมุนด์ได้แชมป์บุนเดสลีกาในฤดูกาล 2010-11 แกเลยเขียนหนังสือเล่มนี้ออกมา จากนั้นก็ปรับปรุงอีกหลายครั้งตามความสำเร็จในชีวิตโค้ชของคล็อปป์ เล่มที่ผมซื้อจากลิเวอร์พูลเป็นเล่มแปลจากเยอรมันเป็นอังกฤษ เวอร์ชั่นหลังจากที่คล็อปป์พาลิเวอร์พูลคว้าแชมป์ยุโรปเป็นสมัยที่ 6 สำเร็จ

เราก็ตามต่อไปที่สำนักพิมพ์เยอรมัน ทางนั้นก็ตอบกลับมาว่า เขาเชื่อว่าคล็อปป์จะพาลิเวอร์พูลคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกได้สำเร็จในฤดูกาล 2019-20 ทางผู้เขียนกำลังปรับปรุงเนื้อหาอยู่ โดยจะรอปิดเล่มหลังจากลิเวอร์พูลคว้าแชมป์อย่างเป็นทางการ เขาจึงถามเราว่า เราจะรอเล่มปรับปรุงหลังลิเวอร์พูลคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกหรือเปล่า ผมก็ตอบไปทันทีว่า แน่นอน เราอยากแปลจากเวอร์ชั่นคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก เขาเลยแนะนำต่อว่า ถ้าอย่างนั้น อยากให้เราแปลจากภาษาเยอรมันโดยตรง จะได้ไม่ต้องรอให้สำนักพิมพ์ในอังกฤษแปลจากเยอรมันเป็นอังกฤษ แล้วเราถึงจะได้แปลจากอังกฤษเป็นไทยอีกที ซึ่งจะล่าช้าไปมาก อีกทั้งเนื้อหาเล่มอังกฤษก็มีความแตกต่างจากเยอรมันอยู่บ้าน จากการที่ปรับเป็นสำนวนอังกฤษไปแล้ว เขายืนยันว่า อยากให้เราแปลตรงจากเยอรมันดีกว่า

เอาล่ะสิ สำนักพิมพ์เรายังไม่เคยแปลภาษาเยอรมันเสียด้วย แต่เหตุผลที่เขาบอกเรามาก็มีน้ำหนั กมาก จะรอแปลสองทอดทำไมให้เนื้อหามันตกหล่นไป และกว่าเล่มอังกฤษจะออกก็สิ้นปี 2020 เราเอาแปลไทยต่อก็น่าจะได้พิมพ์จำหน่ายตอนกลางปี 2021 จึงตัดสินใจซื้อลิขสิทธิ์ตรงจากเล่มเยอรมันเลย ไม่รอเล่มอังกฤษแล้ว

จบเรื่องลิขสิทธิ์ไป มาต่อกันเรื่องคนแปล ผมเป็นแฟนบอลลิเวอร์พูลจึงทราบดีว่า เดอะค็อปอย่างเราซีเรียสเรื่องคุณภาพการแปลแค่ไหน เคยมีหนังสือแปลประวัติคล็อปป์อีกเล่มที่ผู้เขียนเป็นคนละคนกับ Elmar Neveling (ขออนุญาตไม่เอ่ยชื่อหนังสือเล่มนั้น) ซึ่งมีปัญหาการแปลมากๆ เพราะคนแปลไม่เข้าใจเรื่องฟุตบอล ทำให้ถูกวิจารณ์หนักมากจนสำนักพิมพ์นั้นต้องเก็บหนังสือไป ไม่ได้วางขายอีก ผมจึงตั้งใจว่า เล่มนี้ของเราจะต้องแปลให้ดีที่สุด ตอนที่สำนักพิมพ์ลีฟริชได้เล่ม The Mixer กับ Zonal Marking ของ Michael Cox มา ตอนนั้นผมได้ติดต่อคุณวิศรุต แห่งเพจวิเคราะห์บอลจริงจัง มาแปลให้ เพราะเชื่อในคุณภาพและสำนวนการแปลของคุณวิศรุต แต่เล่มนี้เป็นภาษาเยอรมัน คุณวิศรุตไม่ถนัดภาษาเยอรมัน ผมจึงต้องหาคนแปลคนอื่น ต้องค้นหาอยู่พักใหญ่ ในที่สุด ผมก็ติดต่อน้องที่เคยทำงานแปลข่าวฟุตบอลจากสื่อเยอรมันให้กับช่อง 3 คือคุณบี จากนั้นคุณบี ก็ได้แนะนำ คุณแผน สมปรารถนา มาช่วยแปล หลังจากคุณแผนได้ทดลองแปลมาให้เราอ่านแล้ว เราก็มั่นใจว่า คุณภาพงานแปลดีแน่นอน

แม้ว่าเราอยากเริ่มงานแปลให้เร็วที่สุด แต่โควิดก็ทำให้บอลพรีเมียร์หยุดแข่งไป 3 เดือน กว่าจะมาแข่งอีกทีก็เดือนมิถุนายน และกว่าลิเวอร์พูลจะคว้าแชมป์อย่างแน่นอน ก็คืนวันที่ 25 มิถุนายน หลังจากนั้นเราก็รอต้นฉบับเยอรมัน แล้วก็รีบแปลอย่างรวดเร็ว แต่การแปลเล่มนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งจากโครงสร้างสำนวนภาษาเยอรมันที่ต้องปรับมาเป็นภาษาไทย และจากเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับฟุตบอล จึงต้องใช้เวลาตรวจทานก็พอสมควร ระหว่างทำอาร์ตเวิร์กก็ยังตรวจทานก็อีกหลายรอบเพื่อให้คุณภาพออกมาดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ จนทำให้ต้องเลื่อนการจัดพิมพ์จากเดิมที่ตั้งใจว่าจะขายในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ เดือนตุลาที่ผ่านมา ก็ต้องเลื่อนมาเปิดพรีออเดอร์กันช่วงปีใหม่ และจะเริ่มจัดส่งได้ตั้งแต่ 19 ม.ค.เป็นต้นไป

การออกแบบปก ก็เป็นเรื่องสำคัญ วันที่ลิเวอร์พูลรับถ้วยแชมป์ เป็นวันที่ทีมงาน บก.สำนักพิมพ์ลีฟริช (ที่บางท่านก็เป็นแฟนแมนยู ต้องกล้ำกลืนดูการรับถ้วยแชมป์ของเราด้วย) จ้องดูว่า มีจังหวะไหนที่คล็อปป์จะชูถ้วยสวยๆ ให้เรานำรูปมาใช้เป็นปกได้ เชื่อหรือไม่ว่าไม่มีรูปที่ว่าเลย เจอร์เก้น คล็อปป์ได้ชูถ้วยบนสเตจครั้งเดียว แต่ไม่ได้ชูคนเดียว ดันไปถือร่วมกันอดัม ลัลลานา ถือหูกันคนละข้าง ภาพก็ไม่สวยเท่าที่เราอยากได้ วันรุ่งขึ้น กอง บก.เราต่างไปค้นเว็บมืออาชีพที่ถ่ายรูปรับถ้วย ก็ไม่พบรูปที่คล็อปป์ชูถ้วยสวยๆเลย ในที่สุด เราก็ต้องเลือกรูป คล็อปป์ที่คล้องเหรียญแชมป์ ชูแขนสองข้าง ผลงานจากสำนักข่าว AFP มาเป็นปก แม้ว่าจะไม่มีถ้วยพรีเมียร์ลีกในมือคล็อปป์ก็ตาม แต่ก็สวยที่สุดเท่าที่จะหาได้ และไม่น่าเชื่อว่า เล่มแปลอังกฤษที่พิมพ์ออกมา ก็เลือกรูปเดียวกับเราเลย

ปก หนังสือ ชีวประวัติ เจอร์เก้น คล็อปป์

นอกจากตัวหนังสือที่เราพิถีพิถันแล้ว เราก็อยากทำให้เล่มนี้พิเศษกว่าปกติ จึงได้เลือกกระดาษปก เป็นกระดาษลายหนัง ที่มี texture พิเศษกว่าเล่มอื่นๆที่เราทำมา พร้อมมีใบพาดสีแดงปิดพาดระหว่างปกกับเนื้อใน และสำหรับคนที่สั่งพรีออเดอร์เล่มนี้ เราก็จัดพิมพ์โปสการ์ดรูปภาพสวยๆ พร้อม quote สำคัญๆจากคล็อปป์ ทั้งหมด 6 รูป โดยทุกรูปเราติดต่อขอลิขสิทธิ์มาอย่างถูกต้องเรียบร้อยแล้ว จึงอยากชวนคนที่สนใจเรื่องราวของ เจอร์เก้น คล็อปป์ The Normal One ผู้ที่ทำให้ฝันที่รอคอยมายาวนานถึง 30 ปีของแฟนบอลลิเวอร์พูลเป็นความจริง ได้อ่านหนังสือเล่มนี้กัน

สำหรับเนื้อหาในหนังสือ เนื่องจาก Elmar Neveling ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ เป็นแฟนทีมดอร์ตมุนด์ เขาจึงชื่นชมคล็อปป์มาตั้งแต่สมัยคุมทีมเบเฟาเบ (ดอร์ตมุนด์) แล้ว และด้วยความเป็นคนเยอรมัน ทำให้สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลเชิงลึก ที่สามารถเล่าเรื่องของคล็อปป์ตั้งแต่วัยเด็ก ที่เมืองกลัตเทน, ชีวิตนักเตะที่ ไมนซ์, ครูที่สอนให้คล็อปป์กลายเป็นโค้ชฟุตบอลชั้นยอด และอีกมากมายที่หาอ่านที่ไหนไม่ได้

ตอนผมเป็นวัยรุ่นที่เริ่มดูบอล จำได้ว่า ทีมเยอรมันใช้ระบบการเล่นแบบมีลิเบอร์โร่ ตั้งแต่ยุคของ ฟรานซ์ เบคเคนบาวร์, โลธาร์ มัทเธอุส, มัทเธอัส ซามเมอร์ แต่ในเล่มนี้ ผู้เขียนได้เล่าถึง เรื่องราวในยุค ‘90 ที่โวล์ฟกัง ฟรังค์ โค้ชและครูของคล็อปป์ได้เริ่มระบบการเล่นที่ไม่ใช่ลิเบอร์โร่แล้ว แต่เน้นการทำทีมที่ผู้เล่นทุกคนต้องเคลื่อนไหวไปด้วยกัน จนเป็นที่มาของระบบ เกเก้นเพรสซิ่ง อันลือลั่นในปัจจุบัน

เล่มนี้ยังเล่าถึง ปรัชญาการทำทีมฟุตบอลของคล็อปป์ และพูดถึง โปรแกรมการฝึกแบบ ไลฟ์คิเนติก (Life Kinetics) ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของสมองด้วยการเพิ่มจุดเชื่อมเซลล์ประสาท ร่วมกับการฝึกฝนทางร่างกาย ทำให้นักเตะของคล็อปป์ สามารถเล่นฟุตบอลได้อย่างชาญฉลาดและมีปฏิกิริยาที่ฉับไว

ในแง่ของข้อคิดการบริหารธุรกิจ ผู้เขียนได้สัมภาษณ์ ดร. ฟรังค์ โดปไฮเดอ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดและแบรนด์ โดยนำ Limbic Map ที่ ดร.ฟรังค์ ใช้ในการระบุค่านิยมของแบรนด์ต่างๆ มาใช้ในการอธิบายว่า ค่านิยมและแบรนด์ดอร์ตมุนด์ นั้นตรงกับตัวตนของคล็อปป์อย่างไร ทำไมคล็อปป์ถึงไม่เหมาะกับทีมบาเยิร์นมิวนิก และทำไมคล็อปป์เหมาะสมอย่างมากที่มาคุมทีมลิเวอร์พูล เรื่องนี้ทำให้ผมได้ไอเดียเกี่ยวกับแบรนด์มากทีเดียว

สำหรับผู้สนใจหนังสือเล่มนี้ สามารถสั่งซื้อหนังสือเล่มนี้ได้ที่ เว็บสำนักพิมพ์ลีฟริช https://www.liverich.co.th/product/jurgen-klopp/ หรือซื้อได้ที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ ทั้ง ซีเอ็ด นายอินทร์ บีทูเอส คิโนะคุนิยะ

#JurgenKlopp #เจอร์เก้นคล็อปป์ #LFC #YNWA #LiveRichBooks

บริหารการลงทุน CapEx สไตล์ FSG & Klopp เพียง 5 ปี รายได้ลิเวอร์พูลโตเท่าตัว

ทุกปี บริษัทที่ปรึกษาสัญชาติอังกฤษ ระดับโลก ดีลอยต์ (Deloitte) จะออกรายงานเกี่ยวกับธุรกิจฟุตบอล เรียกชื่อรายงานนี้ว่า Football Money League โดยจะรายงานข้อมูลรายได้และข้อมูลสำคัญๆในปีที่ผ่านมาของสโมสรฟุตบอลชั้นนำ 20 อันดับแรกในยุโรป การจัดอันดับในลีกการเงินฟุตบอลนี้จัดโดยเรียงลำดับจากรายได้ประจำปี โดยฉบับล่าสุดซึ่งเป็นรายงานปีที่ 23 แล้ว ได้ออกมาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ในชื่อว่า Deloitte Football Money League 2020: Eye on the prize (จับตาที่เงินรางวัล)

รายงานฉบับนี้มีเรื่องน่าสนใจหลายเรื่อง แต่ขอหยิบมาเฉพาะสโมสรอันดับ 7 ใน Football Money League ปีนี้ก่อน นั่นคือ สโมสรลิเวอร์พูล เพื่อมาวิเคราะห์ผลการบริหารทีมนับตั้งแต่ปี 2015 ที่ เจอร์เกน คล็อปป์ มาเป็นผู้จัดการทีม (คล็อปป์ รับตำแหน่งผู้จัดการทีมลิเวอร์พูลเมื่อ 8 ตุลาคม 2015 ก่อนหน้านั้นสโมสรลิเวอร์พูล มี แบรนดอน ร็อดเจอร์ เป็นผู้จัดการทีม)

 

จากรายงานของดีลอยต์ เมื่อมกราคม 2015 ลิเวอร์พูล อยู่อันดับ 9 ของ Football Money League มีรายได้ในปี 2014 อยู่ที่ 255.8 ล้านปอนด์ มาจาก รายได้วันแข่งขัน (Matchday) 51 ล้านปอนด์ หรือ 20% ของรายได้ทั้งหมด, รายได้จากลิขสิทธิ์ถ่ายทอด (Brodcast) 101 ล้านปอนด์ หรือ 39% ของรายได้ทั้งหมด และรายได้จากพาณิชย์ (Commercial) เช่น สปอนเซอร์, ขายสินค้า ที่ 124.1 ล้านปอนด์ หรือ 41% ของรายได้ทั้งหมด

เมื่อมาเทียบกับรายงานฉบับล่าสุด มกราคม 2020 สโมสรลิเวอร์พูล ขยับขึ้นมา 2 อันดับ มาอยู่อันดับ 7 ของ Football Money League มีรายได้ในปี 2019 อยู่ที่ 533 ล้านปอนด์ เพิ่มขึ้นจาก 5 ปีก่อนถึง 277.2 ล้านปอนด์ หรือเพิ่มขึ้น 108% เลยทีเดียว โดยมีรายได้วันแข่งขัน 83.3 ล้านปอนด์ เพิ่มขึ้นจากห้าปีก่อน 63%, รายได้จากลิขสิทธิ์ออกอากาศ 263.8 ล้านปอนด์ เพิ่มจากห้าปีก่อน 161% และรายได้จากพาณิชย์ 185.9 ล้านปอนด์ เพิ่มจากห้าปีก่อน 79%

รายได้รวมที่เพิ่มขึ้นมาเท่าตัวภายใน 5 ปีนั้น ในทางธุรกิจถือว่าเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของฝ่ายบริหาร ซึ่งก็มาจากการทำงานร่วมกันของเจ้าของบริษัท ซึ่งก็คือ จอห์น เฮนรี แห่ง เฟนเวย์สปอร์ตกรุ๊ป (FSG) กับ เจอร์เกน คล็อปป์ ผู้จัดการทีม รวมไปถึงฝ่ายบริหารคนอื่นทั้ง ประธานสโมสร ทอม เวอร์เนอร์, CEO ปีเตอร์ มัวร์ เป็นต้น

หากเราย้อนดูปัจจัยสำคัญที่ทำให้สโมสรลิเวอร์พูลมีรายได้เพิ่มขึ้นมาเท่าตัวภายในห้าปี นอกจากผลงานการแข่งขันแล้ว ในแง่บริหารเงินก็มีประเด็นน่าสนใจหลายประการ กลุ่ม FSG เข้ามาเป็นเจ้าของสโมสรลิเวอร์พูลเมื่อ 15 ต.ค. 2010 โดยเข้ามาสะสางปัญหาทางการเงินของสโมสรที่ผู้ถือหุ้นคนเก่าสร้างเอาไว้ กว่าที่จะได้เริ่มลงทุนอะไรใหม่ๆให้สโมสรก็ใช้เวลานับปี

ประเด็นที่น่าสนใจที่ผมเห็นคือ การใช้เงินลงทุน Capital Expenditure หรือที่เรียกสั้นๆว่า CapEx (แคปเอ็กซ์) เพราะการลงทุนแบบนี้จะสะท้อนถึงแผนการในระยะยาวของฝ่ายบริหาร ถ้าลงทุนในสิ่งที่เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน (Competitive Advantage) ก็จะส่งผลดีในระยะยาว แต่ถ้าลงทุนสะเปะสะปะ เงินที่ลงทุนไปก็จะสูญเปล่า ดีไม่ดีจะบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของสโมสรด้วย

สโมสรลิเวอร์พูลในยุค FSG กับคล็อป เริ่มลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ที่สร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยเริ่มจาก ลงทุนขยายอัฒจันทร์ Main Stand ใช้เงินไปราว 110 ล้านปอนด์ โดยเริ่มสร้างในปี 2014 มาเสร็จใช้งานได้ในปี 2016 ส่งผลให้เพิ่มจำนวนที่นั่งทั้งสนามมาอีก 8,500 ที่ หรือประมาณ 19% ทำให้ปัจจุบันสนามแอนฟิลด์มีที่นั่งทั้งหมด 53,394 ที่นั่ง (ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของสโมสรในพรีเมียร์ลีก) เมื่อจำนวนที่นั่งเพิ่มขึ้นมา 19% แต่รายได้วันแข่งเพิ่ม 63% แปลว่าความนิยมแฟนบอลเพิ่มขึ้น จำนวนแมตช์แข่งขันมากขึ้น ส่วนราคาบัตรนั้น สโมสรตรึงราคาไว้หลายปีแล้ว (ไม่นับราคาในตลาดมือสองที่เพิ่มพรวดๆ) ได้ใจแฟนบอลไปมาก

เมื่อ Main Stand เสร็จในปี 2016 ฝ่ายบริหารสโมสรก็ใช้เงินลงทุนสร้าง Club Superstore ที่สนาม ขนาด 1,800 ตารางเมตร ต่อเนื่องทันที ร้านค้าสโมสรที่มีขนาดใหญ่ขึ้น สวยงามขึ้น ย่อมเพิ่มรายได้จากพาณิชย์ ขึ้นไปอีก ร้านใหม่เสร็จภายในปีเดียว เริ่มเปิดในปี 2017

ถัดจากขยายอัฒจันทร์กับร้านประจำสโมสร ฝ่ายบริหารลิเวอร์พูล ได้ลงทุนสร้างสนามซ้อมแห่งใหม่ ที่ เคิร์กบี้ ขนาด 9,200 ตารางเมตร ด้วยเงินลงทุนสูงถึง 50 ล้านปอนด์ ซึ่งคาดว่าจะเสร็จเริ่มใช้งานกลางปี 2020 นี้ แปลว่าฤดูกาลหน้า ทีมจะย้ายสนามซ้อมจากเมลวู้ดมายังเคิร์กบี้ ซึ่งมีอุปกรณ์การฝึกซ้อมทันสมัยครบครัน สโมสรใช้คำว่า state-of-the-art facilities การลงทุนในสนามซ้อมนี้ ไม่ได้ส่งผลต่อรายได้ของสโมสรโดยตรง แต่เป็นการมองการณ์ไกลของฝ่ายบริหาร เพราะจะส่งผลดีต่อผลงานของทีม เมื่อนักเตะได้ซ้อมในสนามที่ทันสมัยย่อมได้เปรียบกว่าซ้อมในอุปกรณ์เก่าๆอย่างเดียว อีกทั้งยังเป็นการสร้างทีมเยาวชนขึ้นมาให้สโมสรด้วย

และเมื่อสนามซ้อมแห่งใหม่จะเสร็จในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ฝ่ายบริหารก็เริ่มโครงการลงทุนสำคัญต่อไปทันที คือแผนการขยายอัฒจันทร์ฝั่งถนนแอนฟิลด์ ซึ่งจะทำให้สนามมีความจุเพิ่มอีก 7,000 ที่นั่ง รวมเป็น 61,000 ที่นั่ง (เพิ่มขึ้นอีก 14% และจะกลายสนามใหญ่เป็นอันดับ 3 ในพรีเมียร์ลีกด้วย) ซึ่งอยู่ระหว่างรับฟังความเห็นชุมชนอยู่ หากผ่านการอนุมัติก็พร้อมที่จะก่อสร้างทันที

จะเห็นว่า ก้าวย่างของการลงทุน CapEx ของฝ่ายบริหารสโมสร ล้วนแล้วแต่เลือกลงทุนในสิ่งที่สร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับสโมสรทั้งสิ้น ทำให้เชื่อได้ว่า สโมสรจะสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจให้กับเจ้าของไปอีกนาน

ที่เล่ามานี้ ยังไม่ได้กล่าวถึง การบริหารเชิงพาณิชย์ของสโมสร ซึ่งไม่ใช่เรื่องของการลงทุน CapEx แต่เป็นฝีมือการบริหารเพื่อเพิ่มรายได้ ที่เมื่อไม่นานมานี้ สโมสรได้ประกาศเปลี่ยนสปอนเซอร์ผู้ผลิตเสื้อผ้าจาก New Balance มาเป็น Nike ในฤดูกาลหน้า (2020/21) ซึ่งเงื่อนไขสำคัญก็คือ การที่สโมสรจะได้รับส่วนแบ่ง 20% จากยอดขายสินค้าที่มีตราสโมสร (กรณีรองเท้าได้ 5%) จากการประเมินเชื่อกันว่า รายได้ที่เดิมเคยได้รับจาก New Balance ปีละ 25 ล้านปอนด์ จะเพิ่มขึ้นเป็น 75 ล้านปอนด์ต่อปี ซึ่งหมายความว่า สโมสรจะมีรายได้เพิ่มอีก 50 ล้านปอนด์เลยทีเดียว แต่จะเป็นไปตามคาดหรือไม่ก็ต้องติดตามกันต่อไป

**********************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
20 มกราคม 2020
**********************************