กลยุทธ์สร้างมาตรฐานของจิ๋นซีฮ่องเต้

เมื่อเดือนที่แล้ว ได้ไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ปิงหม่าหย่ง หรือพิพิธภัณฑ์หุ่นทหารดินเผาของจิ๋นซีฮ่องเต้ ที่เมืองซีอาน ประเทศจีน ระหว่างเดินชมความยิ่งใหญ่ของพิพิธภัณฑ์ ก็คิดตั้งคำถามไปด้วยว่า ทำไมอารยธรรมจีนจึงได้ยิ่งใหญ่และดำรงต่อเนื่องมายาวนานถึงปัจจุบัน ต่างจากอารยธรรมโบราณเช่น อียิปต์ กรีก โรมัน ที่เมื่อถึงจุดหนึ่งก็ล่มสลายและไม่สามารถกลับมาครองความยิ่งใหญ่ได้เช่นยุคก่อน

ORG_DSC09938
พิพิธภัณฑ์หุ่นทหารดินเผาจิ๋นซีฮ่องเต้ ที่ซีอาน

การจะตอบคำถามดังกล่าว ก็ต้องย้อนทวนไปที่จุดพลิกผันของประวัติศาสตร์จีนครั้งสำคัญ นั่นคือ การสามารถรวบรวมแผ่นดินจีนเข้าด้วยกันเป็นจักรวรรดิอันหนึ่งอันเดียวกันในยุคของจิ๋นซีฮ่องเต้ (ถ้าออกเสียงแบบจีนกลาง ต้องออกเสียงว่า ฉินสื่อหวงตี้) ก่อนหน้านั้นแผ่นดินจีนได้แตกแยกออกเป็นแคว้นต่างๆมากมายหลายร้อยปี เรียกกันว่ายุคชุนชิว (春秋) แม้ว่าในนามทุกแคว้นจะอยู่ภายใต้ราชวงศ์โจว แต่ในทางปฏิบัติ เจ้าครองแคว้นต่างๆได้บริหารแคว้นของตนอย่างอิสระ ไม่ได้ฟังคำสั่งจากกษัตริย์ราชวงศ์โจวแต่อย่างใด มีการรบราฆ่าฟันขยายอำนาจกันตลอดเวลา แคว้นใหญ่กลืนแคว้นเล็ก จากกว่าสองร้อยแคว้น เหลืออยู่เพียงเจ็ดแคว้น เข้าสู่ยุคที่เรียกกันว่า จ้านกว๋อ (战国) และในที่สุดเมื่อสถานการณ์สุกงอม ประกอบกับเกิดผู้นำที่เข้มแข็งและเฉลียวฉลาดอย่าง จิ๋นซีฮ่องเต้ ขึ้นเป็นเจ้าแคว้นฉิน จึงสามารถรวบรวมแผ่นดินจีนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้

Qin_InscribedWeight
ตุ้มน้ำหนักเหล็กมาตรฐาน สมัยจิ๋นซีฮ่องเต้

การรบเอาชนะกองทัพแคว้นต่างๆในสนามรบนั้นถือว่าเป็นเรื่องยากแล้ว แต่การบริหารแคว้นต่างๆที่มีแตกต่างกันแทบทุกด้านเป็นเรื่องยากยิ่งกว่า จิ๋นซีฮ่องเต้ทรงตัดสินใจใช้กลยุทธ์สร้างมาตรฐาน (Standardization) เพื่อบริหารแผ่นดินจีนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ในทุกๆด้าน ได้แก่ มาตฐานการชั่ง ตวง วัด เงินตรา ความกว้างของเกวียนและถนน ตัวอักษร ฯลฯ

ด้านมาตรฐานชั่งตวงวัด มีการจัดทำหน่วยชั่งตวงวัดมาตรฐานกระจายไปทั่วประเทศ พร้อมพระราชโองการให้ทุกคนใช้มาตรฐานเดียวกัน ทำให้เวลาซื้อขายขนส่งสินค้า คำนวณราคาเปรียบเทียบกันได้โดยง่าย ไม่ต้องแปลงหน่วยไปมาให้ซับซ้อน ทุ่นเวลาไปได้มาก ที่สำคัญสำหรับรัฐก็คือ จำเป็นสำหรับการเก็บภาษี เพราะยุคนั้นจ่ายภาษีเป็นผลผลิตทางการเกษตร ไม่ใช่จ่ายด้วยเงินตรา การมีมาตรฐานเดียวกันย่อมทำให้การควบคุมการเก็บภาษีมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ด้านเงินตรา ทรงกำหนดมาตรฐานเงินตราแบบเดียว ยกเลิกการใช้เงินตราของแคว้นต่างๆแต่เดิม เช่น เดิมแคว้นฉู่ใช้เบี้ยหอยสำริดกับแผ่นทองคำสี่เหลี่ยม, แคว้นฉีใช้เหรียญเหล็กรูปมีด ฯลฯ และให้มาใช้เงินตรารูปแบบเดียวกัน คือ เหรียญวงกลม เจาะรูตรงกลางเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส เรียกว่า เหรียญป้านเหลี่ยง (半兩) น้ำหนัก 7.5 กรัม การใช้เงินตรารูปแบบเดียวกันเพิ่มประสิทธิภาพในการค้าขายอย่างมาก ไม่ต้องเสียเวลามาคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนเงินหลายสกุล ไม่ต้องศึกษาการดูเหรียญจริงเหรียญปลอมหลายๆแบบ และทำให้รัฐควบคุมปริมาณเงินในระบบได้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็สะท้อนความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการหล่อเหรียญกษาปณ์จากโลหะของจีนยุคนั้นด้วย

ด้านภาษา จิ๋นซีฮ่องเต้ได้กำหนดให้ใช้ตัวอักษรจีนมาตรฐานเดียวกันทั้งอาณาจักร อัครมหาเสนาบดีหลี่ซือจึงได้ประดิษฐ์อักษรเสี่ยวจ้วน (小篆) ขึ้นจำนวนราวๆ 3,300 ตัวอักษร เพื่อใช้เป็นอักษรมาตรฐานในงานราชการ  การสร้างมาตรฐานทางภาษาก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการสั่งการของรัฐบาลกลางไปยังส่วนต่างๆทั่วราชอาณาจักร รวมไปถึงสามารถส่งเสริมการศึกษาของบัณฑิตทั่วประเทศให้เรียนรู้ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น

LcPBng5WSKa9LJVUdSwlWg
รถม้าสำริดจำลอง เชื่อว่าเป็นลักษณะรถม้าที่จิ๋นซีฮ่องเต้นั่งตรวจราชการไปทั่วราชอาณาจักร

ด้านมาตรฐานของถนนและเกวียน มีการกำหนดความกว้างมาตรฐานของเกวียน ส่งผลให้สามารถกำหนดความกว้างมาตรฐานของถนนได้ นอกจากนั้น มาตรฐานความกว้างของเกวียน ทำให้การขนส่งเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะเมื่อเกวียนกว้างเท่ากัน รถม้าที่ใช้ลากก็มีขนาดมาตรฐานเดียวกัน การเปลี่ยนรถม้าระหว่างการขนส่งก็ทำได้สะดวก เมื่อกำหนดมาตรฐานของเกวียนแล้ว จิ๋นซีฮ่องเต้จึงได้สร้างเครือข่ายถนนครั้งใหญ่ของจีน โดยแบ่งเป็น 3 ขนาด คือ ทางหลวงขนาดใหญ่ ซึ่งจะเราจะเรียกว่า ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ ก็ได้ เพราะกว้างถึง 69 เมตร, ทางหลวงขนาดรองลงมา กว้าง 34.5 เมตร และถนนทั่วไป กว้าง 11.5 เมตร ตลอดรัชกาลพระองค์ได้สร้างถนนมาตรฐานความยาวรวมมากกว่า 5,200 ไมล์ เทียบกับโรมันในยุคใกล้เคียงกันที่สร้างถนนหน้ากว้าง 8.5 เมตร เพียง 3,750 ไมล์เท่านั้น นับว่าจีนก้าวหน้าไปกว่าโรมันมาก การสร้างเมกะโปรเจ็กต์ขยายเครือข่ายถนนในยุคจิ๋นซี นอกจากเป็นการเพิ่มความรวดเร็วในการยกทัพไปยังดินแดนต่างๆซึ่งเป็นประโยชน์ด้านความมั่งคนแล้ว ยังเป็นการสร้างเครือข่ายการคมนาคมขนส่งที่ทำให้เกิดการเดินทางและซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าเชื่อมโยงไปทั่วราชอาณาจักร และด้วยกลยุทธ์สร้างมาตรฐานถนนและเกวียน จึงทำให้ต้นทุนโดยรวมของระบบเศรษฐกิจลดลงอีกด้วย

ด้วยกลยุทธ์การสร้างมาตรฐานนี้ ทำให้ระยะเวลาเพียง 11 ปีที่จิ๋นซีฮ่องเต้ขึ้นครองราชย์ สามารถรวมแผ่นดินจีนได้อย่างเป็นปึกแผ่น แต่ด้วยความเด็ดขาดโหดเหี้ยมภายใต้การปกครองของพระองค์ทำให้เกิดกบฏขึ้นมาหลายแห่งในช่วงปลายรัชสมัยของพระองค์ และทำให้ที่สุดแล้ว ราชวงศ์ฉินมีฮ่องเต้ปกครองเพียง 2 พระองค์ รวมระยะเวลาเพียง 15 ปีเท่านั้น แต่ราชวงศ์ฮั่นที่ปกครองแผ่นดินจีนต่อจากราชวงศ์ฉิน ก็ยังคงใช้กลยุทธ์สร้างมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นราชวงศ์ที่ได้รับประโยชน์จากกลยุทธ์ดังกล่าวจนสามารถครองแผ่นดินจีนได้ยาวนานถึงกว่า 400 ปี

ในยุคต่อๆมา กลยุทธ์การสร้างมาตรฐาน (Standardization Strategy) ยังคงเป็นกลยุทธ์ที่ใช้อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา เพราะอุตสาหกรรมใดที่สร้างมาตรฐานกลางได้มักเติบโตรุ่งเรือง เพราะกลยุทธ์นี้ทำให้เกิดประสิทธิภาพสูง ต้นทุนต่อหน่วยต่ำ ตัวอย่างเช่นเรื่องมาตรฐานหน่วยการวัด ประเทศส่วนใหญ่ได้ตกลงที่จะใช้มาตรฐาน SI (หรือที่เรียกกันว่ามาตรฐานเมตริก) เป็นมาตรฐานกลางของโลก ทำให้คนส่วนใหญ่ใช้หน่วยวัดเดียวกัน ไม่ต้องปวดหัวกับการแปลงหน่วย (ที่น่าแปลกคือ ประเทศสหรัฐอเมริการ ยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจของโลกกลับไม่ยอมใช้มาตรฐานกลางของโลก ทำให้ยังคงความไม่มีประสิทธิภาพค้างในระบบเศรษฐกิจโลก)

ในแง่บริหารธุรกิจ หลายบริษัทได้ใช้กลยุทธ์การสร้างมาตรฐาน เพื่อลดต้นทุนโดยรวมของบริษัท เช่น สายการบินเซาท์เวสต์แอร์ไลน์ (South West Airline) ต้นตำรับสายการบินต้นทุนต่ำของโลก เลือกที่จะบินโดยเครื่องบินรุ่นเดียว (ปัจจุบันคือ โบอิ้ง 737 รุ่นเดียว 752 ลำ) เพื่อลดต้นทุนการบำรุงรักษาโดยรวม เพราะนักบินฝึกบินเครื่องแบบเดียว ช่างบำรุงรักษาเรียนรู้ซ่อมบำรุงเครื่องแบบเดียว อะไหล่ต่างๆก็เตรียมไว้สำหรับเครื่องแบบเดียว ฯลฯ​ ด้วยต้นทุนบำรุงรักษาต่ำกว่าคู่แข่งทำให้สามารถลดราคาให้ผู้โดยสารได้ จึงทำให้ความสามารถในการทำกำไรไม่แพ้คู่แข่งแม้ราคาจะถูกกว่า

หรืออย่าง Starbucks ที่สร้างมาตรฐานของกาแฟและบรรยากาศของร้าน ที่ไม่ว่าจะเข้าร้านสตาร์บัคส์สาขาไหน ก็จะได้รับรสชาติกาแฟและบรรยากาศในร้านแบบเดียวกันทุกแห่ง ทำให้ลูกค้าไม่ว่าจะไปที่ไหน ก็จะเลือกร้านสตาร์บัคส์เพราะรู้ว่าจะได้รับบริการมาตรฐานเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจยุคใหม่มีการใช้กลยุทธ์ตอบสนองเฉพาะราย (Customization Strategy) เพื่อเอาใจลูกค้าบางกลุ่มที่ไม่ได้ต้องการได้รับสินค้าบริการเหมือนๆกับคนอื่น เพียงแต่กลยุทธ์นี้มักทำให้ต้นทุนสูงกว่ากลยุทธ์สร้างมาตรฐาน ดังนั้นการเลือกใช้กลยุทธ์ใด จำเป็นต้องตัดสินใจเลือกให้ดีว่าแบบไหนจะเหมาะสมกับธุรกิจของเรามากกว่า และบางครั้งอาจจะผสมผสานทั้งสองกลยุทธ์เข้าด้วยกันก็สามารถทำได้เช่นกัน

************************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
19 กุมภาพันธ์ 2019
************************************

กลยุทธ์ดูไฟชายฝั่ง กับ บทเรียนการปฏิรูปในศตวรรษที่ 19 ใครรุ่ง? ใครดับ? : ตอนที่ 3.2 การปฏิรูปของสยามสมัยรัชกาลที่ 5

เมื่อวิกฤติวังหน้าสิ้นสุดลงในปี 1874-75 การเร่งปฏิรูปโดยสมเด็จพระปิยมหาราช ก็ดูเหมือนหยุดชะงักลงชั่วคราว อาจเป็นเพราะในช่วงเวลาหลังจากนั้นเกิดเหตุความไม่สงบในพระราชอาณาจักรหลายแห่ง ทั้งเหตุการณ์จีนฮ่อเข้ามาปล้นเมืองบริเวณเชียงขวางและหลวงพระบาง (ขณะนั้นยังอยู่ภายใต้อาณาจักรสยาม) ในปี 1875-1876, 1877 และอีกครั้งในปี 1883-1887, เหตุจลาจลโดยกลุ่มอั้งยี่จีนที่เป็นกรรมกรเหมืองแร่ในภูเก็ตเมื่อปี 1876 เป็นต้น อีกทั้งในปี 1880 เกิดเหตุที่ทรงโทมนัสเป็นที่สุดเมื่อพระองค์ต้องสูญเสียสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ฯ จากเหตุการณ์เรือพระประเทียบล่มระหว่างเสด็จแปรพระราชฐานไปวังบางปะอิน

หรืออาจเป็นไปได้ว่า พระองค์ทรงเลือกใช้กลยุทธ์ ดูไฟชายฝั่ง (เก๋ออั้นกวนหั่ว 隔岸观火) กลยุทธ์ที่ 9 ใน 36 สุดยอดกลยุทธ์ก็ได้ กลยุทธ์นี้คือ การเฝ้ารออย่างสงบ เพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามเกิดความวุ่นวายแตกแยกภายในเอง ในกรณีนี้ไม่ได้เกิดความแตกแยกของฝ่ายที่คัดค้านการปฏิรูปแต่อย่างใด แต่เป็นการเฝ้ารอเวลาที่กำลังของฝ่ายคัดค้านการปฏิรูปลดลงจนไม่สามารถต่อต้านได้อีก ซึ่งเป็นการเฝ้ารอจนกระทั่ง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ถึงแก่พิราลัยในปี 1882 ซึ่งไม่มีการแต่งตั้งบรรดาศักดิ์ให้ผู้ใดเป็นถึงระดับ “สมเด็จเจ้าพระยา” อีก และต่อมา กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ (วังหน้า) เสด็จทิวงคตในปี 1885 พระองค์ก็ไม่ได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดดำรงตำแหน่งวังหน้าอีก โดยทรงเปลี่ยนเป็นการแต่งตั้ง มกุฎราชกุมาร (Crowd Prince) แทน

เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงมีอำนาจสมบูรณ์ในการบริหารราชการแผ่นดินแล้ว พระองค์ก็ได้ดำเนินการปฏิรูปสยามเข้าสู่ยุคใหม่อย่างมากมาย ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งของพระองค์ในช่วงปลายรัชกาล ว่า

“..ความเปลี่ยนแปลงที่เปลี่ยนไปใน 40 ปีนี้ เหมือนอย่างจะยิ่งกว่าห้าร้อยปี ที่จะได้พึงเปลี่ยนแปลงมาในพระราชพงศาวดารก็ไม่เท่า ด้วยเหตุฉะนี้ เราจึงมาสันนิษฐานว่า การที่เราได้อยู่ในราชสมบัตินานถึง 40 ปี อันประกอบด้วยเหตุการณ์เป็นอันมากนี้ นับว่าเป็นความดีโดยสถานหนึ่ง ซึ่งได้ดำเนินความคิดในการเปลี่ยนแปลงความปกครอง แลการบำรุงแผ่นดินอันเป็นที่รักของเรา โดยบรรทัดฐานอันหนึ่งอันเดียวกัน ให้ดำเนินไปโดยลำดับ…”

ในด้านการเมือง ทรงตั้ง เสนาบดีสภา ในปี 1888 ขึ้นมาเพื่อประชุมหารือราชการแผ่นดินโดยพระองค์เป็นประธานก่อน จนในที่สุด ในปี 1892 ทรงยกเลิกระบบจตุสดมภ์ เวียง วัง คลัง นา ที่ใช้บริหารราชการแผ่นดินมากว่า 400 ปีตั้งแต่สมัยพระบรมไตรโลกนาถ รวมถึงยกเลิกตำแหน่งสมุหนายกและตำแหน่งสมุหพระกลาโหม โดยเปลี่ยนเป็นระบบกระทรวง 12 กระทรวง ได้แก่ มหาดไทย, กลาโหม, ต่างประเทศ, วัง, พระนครบาล, เกษตราพาณิชการ, คลัง, ยุติธรรม, ยุทธนาธิการ, โยธาธิการ, ธรรมการและศึกษาธิการ, มุรธาธร การแบ่งส่วนราชการเช่นนี้ทำให้มีผู้รับผิดชอบบริหารในด้านต่างๆครอบคลุมราชการทุกด้าน โดยเฉพาะการพัฒนาประเทศ มีการแบ่งงานชัดเจน สามารถจัดสรรทรัพยากรได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ที่สำคัญเป็นการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่จบการศึกษาจากต่างประเทศเข้ามามีบทบาทในการบริหารประเทศ ทรงเริ่มดึงอำนาจหัวเมืองต่างๆเข้ามาสู่ส่วนกลางมากขึ้น โดยยกเลิกระบบเมืองเอก-โท-ตรี-จัตวา เปลี่ยนเป็นระบบ มณฑล-เมือง-อำเภอ-ตำบล-บ้าน แทน เพื่อให้ทันต่อการรุกคืบอิทธิพลของตะวันตกที่ต้องการยืดครองดินแดนสยาม, ทรงวางระบบศาลยุติธรรมยุคใหม่ ที่ปูทางไปสู่การยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในเวลาต่อมา

ในด้านเศรษฐกิจ ทรงปฏิรูปการจัดเก็บภาษีอย่างต่อเนื่องโดยเปลี่ยนจากระบบเจ้าภาษีนายอากร มาเป็นระบบราชการเก็บภาษีเอง, ทรงวางระบบจ่ายเงินเดือนข้าราชการ ตามตำแหน่งแน่นอน แทนเงินเบี้ยหวัดแต่เดิม รวมถึงมีบำนาญให้ข้าราชการที่เกษียณแล้ว, ทรงจัดทำงบประมาณแผ่นดินเป็นครั้งแรก เพื่อให้การใช้จ่ายเงินของราชการมีการวางแผนงานล่วงหน้าและเป็นระบบชัดเจน, ทรงจัดการเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินของเอกชนให้ชัดเจนด้วยการออกกฎหมายว่าด้วยโฉนดที่ดิน และตั้ง กรมที่ดิน ดูแลงานโฉนดที่ดิน, ด้านเอกชน มีการซื้อเครื่องจักรอุปกรณ์จากต่างประเทศจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่เป็นเครื่องจักรไอน้ำเพื่อการสีข้าว ที่เรียกว่า โรงสีไฟ ไม่ได้มีโรงงานผลิต อุตสาหกรรมต้นน้ำ ส่วนการเหมืองแร่ ก็ยังเป็นการให้สัมปทานกับบริษัทต่างประเทศทั้งนั้น จะว่าไป นายทุนที่เกิดขึ้นในยุคนี้ล้วนแต่เป็นนายทุนแบบนายหน้าทั้งสิ้น คือมีลักษณะซื้อมาขายไปเป็นส่วนใหญ่

ในด้านคมนาคมและสาธารณูปโภค ทรงจัดให้มีการไปรษณีย์​โทรเลข​ โทรศัพท์, สร้างทางรถไฟเชื่อมต่อหัวเมือง, ขุดคลองเพื่อขยายเมืองออกไป เพิ่มการขนส่งสินค้า และส่งเสริมการชลประทาน, สร้างถนน, ให้สัมปทานบริษัทเอกชนทำกิจการรถราง, ตั้งกรมศุขาภิบาลเพื่อจัดการขยะมูลฝอย และริเริ่มการประปาเพื่อหาน้ำสะอาดให้ประชาชน

ในด้านสังคม ทรงยกเลิกระบบไพร่ เปลี่ยนมาเป็นการจ้างข้าราชการแทน ทำให้ราษฎรมีเวลาทำมาหากินให้กับตนเองได้เต็มที่ ก่อให้เกิดผลดีทางเศรษฐกิจอย่างยิ่ง, ทรงเลิกทาส, ทรงเปลี่ยนระบบปฏิทินจันทรคติ มาเป็นปฏิทินสุริยคติ เพื่อให้สอดคล้องกับสากล, ทรงยกเลิกการมอบคลานเข้าเฝ้า และให้จัดสถานที่ทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังพระราชนิพนธ์ตอนหนึ่งว่า “วันนี้เปลี่ยนธรรมเนียมออฟฟิศใหม่ ใช้ยืนและนั่งเก้าอี้อย่างฝรั่ง”

โดยสรุปแล้ว การปฏิรูปแผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ทำให้สยามรอดพ้นจากการล่าอาณานิคมของตะวันตกมาได้ ไม่ตกเป็นอาณานิคมอย่างประเทศเพื่อนบ้านอย่าง พม่า เวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชา และสามารถดำรงความเป็นประเทศชั้นนำของภูมิภาค ก็เพราะว่า การปฏิรูปนั้นดำเนินการโดยผู้มีอำนาจสูงสุด มีวิสัยทัศน์ แม้ในตอนแรกท่านจะไม่มีอำนาจเต็ม แต่ท่านก็อดทนรอจนสามารถรวบรวมอำนาจเพียงพอต่อการปฏิรูป อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการปฏิรูปเมจิของญี่ปุ่น พบว่า มีความแตกต่างกัน โดยญี่ปุ่นเป็นการปฏิรูปแบบนองเลือด มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม และขึ้นเป็นมหาอำนาจใหม่แห่งเอเชีย ส่วนสยามปฏิรูปอย่างสงบ ค่อยเป็นค่อยไป ในเกือบทุกด้าน แต่ไม่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้สยามยังคงเป็นประเทศเกษตรกรรม ไม่ได้กลายเป็นประเทศอุตสาหกรรม ไม่ได้มีอุตสาหกรรมต้นน้ำที่จะทำให้ประเทศผู้ผลิตไปได้ มีแต่นายทุนใหม่ประเภทซื้อมาขายไปเกือบทั้งนั้น

*******************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
23 มกราคม 2561
*******************************

บทเรียนการปฏิรูปในศตวรรษที่ 19 ใครรุ่ง? ใครดับ? : ตอนที่ 3.1 การปฏิรูปของสยามสมัยรัชกาลที่ 5

ในช่วงศตวรรษที่ 18-19 ราชอาณาจักรสยามก็เป็นดินแดนที่มหาอำนาจตะวันตกพุ่งเป้าเข้ามามีอิทธิพลครอบครอง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงเห็นสัญญาณอันตรายนี้ตั้งแต่เนิ่นๆ ทรงยอมเจรจาเซ็นสนธิสัญญาเบอร์นี กับอังกฤษ ใน ค.ศ.1826 ถือว่าเป็นประเทศแรกๆในเอเชียที่เปิดการค้าเสรีกับตะวันตก และด้วยความที่สยามไม่ได้ถือนโยบายปิดประเทศเข้มข้นอย่างจีนและญี่ปุ่น สนธิสัญญานี้จึงไม่ได้เสียเปรียบอังกฤษ กลับกลายเป็นพ่อค้าอังกฤษเสียอีกที่ไม่พอใจกับสนธิสัญญาเพราะยังต้องเสียค่าธรรมเนียมปากเรือค่อนข้างแพง ซึ่งทำให้ภัยจากตะวันตกไม่ได้หายไป เพียงแต่ชะลอเวลาไปเท่านั้น อย่างที่พระองค์พระองค์ทรงตรัสกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เมื่อตอนทรงประชวรใกล้เสด็จสวรรคตในปี 1851 ว่า
“การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดีอย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิดควรจะเรียนเอาไว้ก็ให้เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว”

พอถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 อังกฤษซึ่งได้เข้ามากดดันให้แก้ไขสนธิสัญญาเดิม ตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 3 แล้ว จึงได้ส่ง เซอร์ จอห์น เบาว์ริง เข้ามาเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาเดิม เพื่อให้ได้เปรียบไทยมากขึ้น ในเวลานั้น อังกฤษเพิ่งเอาชนะจีนในสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 และทำสนธิสัญญานานกิงในปี 1842 ที่ได้เปรียบจีนมากมาย ฝ่ายสหรัฐอเมริกาก็ใช้เรือรบยิงปืนใหญ่กดดันให้ญี่ปุ่นเซ็นสนธิสัญญาคะนะงะวะเปิดประเทศสำเร็จในปี 1854 รัชกาลที่ 4 ทรงทราบดีว่า หากไม่ยอมแก้ไขสนธิสัญญาเดิม อังกฤษก็พร้อมใช้กำลังทหารเข้ายึดสยาม ดังนั้น จึงเปิดให้มีการเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาและลงนามกันในปี 1855 โดยสยามต้องเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้กับคนในสังกัดอังกฤษ, เปิดการค้าเสรี โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมปากเรือ เหลือแต่ภาษีขาเข้า ร้อยละ 3 และภาษีขาออกตามพิกัดภาษีที่ตกลงกันไว้ โดยเฉพาะฝิ่นที่อังกฤษไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า เพียงแต่ต้องขายให้เจ้าภาษีเท่านั้น

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงขึ้นครองราชย์ในปี 1868 ด้วยวัยเพียง 15 พรรษา ถ้าพูดภาษาสามัญชนก็คือ พระองค์ยังเป็นวัยรุ่นอยู่ ได้มีการแต่งตั้ง เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) (ต่อมาท่านได้เลื่อนยศเป็น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แม้รัชกาลที่ 5 จะขึ้นครองราชย์ในวัยเยาว์ พระองค์ก็ทรงเห็นความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปราชอาณาจักรสยามให้เข้มแข็ง ก้าวหน้าทัดเทียมกับประเทศตะวันตก ในปี 1870 ได้เสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา เพื่อเรียนรู้การปกครองอาณานิคมของอังกฤษและฮอลันดา ต่อมาในปี 1872 ก็ได้เสด็จประพาสอินเดียกับพม่าที่เป็นเมืองขึ้นอังกฤษ ทรงเล็งเห็นว่าจำเป็นต้องปฏิรูปประเทศอย่างเร่งด่วนเพื่อไม่ให้ตกเป็นอาณานิคมของตะวันตก แต่เวลานั้นพระองค์เป็นเพียงกษัตริย์ในนาม ไม่มีอำนาจเต็มในการบริหารราชการแผ่นดิน จึงไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก

ในปี 1873 เมื่อเจริญพระชนมายุครบ 20 พรรษา รัชกาลที่ 5 ทรงเข้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และทรงเริ่มบริหารบ้านเมืองด้วยพระองค์เองแล้ว แต่อำนาจการบริหารที่แท้จริงยังไม่ได้อยู่ในมือพระองค์ เพราะขุนนางตำแหน่งสำคัญๆยังเป็นผู้ได้รับการแต่งตั้งจากผู้สำเร็จราชการแต่เดิมทั้งนั้น อีกทั้งยังมีวังหน้า ที่ได้รับการคัดเลือกและแต่งตั้งโดยผู้สำเร็จราชการ ไม่ได้เป็นการคัดเลือกโดยพระองค์เลย จึงดูเหมือนว่า อำนาจบริหารแผ่นดินอยู่ในกลุ่มใหญ่ๆ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ นำโดยรัชกาลที่ 5, กลุ่มอำนาจเก่า นำโดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ และกลุ่มวังหน้า นำโดยกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ (พระนามเมื่อแรกประสูติ คือ พระองค์เจ้ายอร์ชวอชิงตัน) จะเห็นได้จาก บางตอนจากพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 5 ถึงสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ที่กล่าวว่า
“..ในเวลานั้น อายุพ่อเพียง ๑๕ ปีกับ ๑๐ วัน ไม่มีมารดา มีญาติฝ่ายมารดาก็ล้วนแต่โลเลเหลวไหล หรือไม่โลเลเหลวไหลก็มิได้ตั้งอยู่ในตำแหน่งราชการอันใดเป็นหลัก ฐาน ฝ่ายญาติข้างพ่อคือเจ้านายทั้งปวง ก็ตกอยู่ในอำนาจสมเด็จเจ้าพระยาและต้องรักษาตัวรักษาชีวิต อยู่ด้วยกันทุกองค์ ที่ไม่เอื้อเฟื้อต่อการอันใดเสียก็มีโดยมาก ฝ่ายข้าราชการจึงว่ามีผู้ใดที่ได้รักใคร่ สนิทสนมอยู่บ้างก็เป็นแต่ผู้น้อยโดยมาก ที่เป็นผู้ใหญ่ก็ไม่มีกำลังสามารถอาจจะอุดหนุนอันใดเปรียบ เหมือนคนที่ศีรษะขาดแล้ว จับเอาแต่ร่างกายขึ้นตั้งไว้ในที่สมมุติกษัตริย์…และความหนักของมงกุฎ อันเหลือที่คอจะทานไว้ได้ ทั้งมีศัตรูซึ่งมุ่งหมายอยู่โดยเปิดเผยรอบข้างทั้งภายในภายนอก…”

ปี 1874 ในวัย 21 พรรษา พระองค์ทรงเลือกใช้กลยุทธ์เริ่มปฏิรูปด้วยอำนาจที่คนยุคนั้นคาดคิดไม่ถึง นั่นคือ ทรงเริ่มจากอำนาจนิติบัญญัติ (ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คนมักใช้แต่อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ แต่มองข้ามอำนาจนิติบัญญัติไป) ด้วยการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of State) ซึ่งมีสมาชิก 12 คน เพื่อเป็นที่ปรึกษาในการบริหารราชการ และที่สำคัญคือ เป็นองค์กรร่างกฎหมาย เพื่อตราเป็นพระราชบัญญัติออกมา
มาตรการปฏิรูปแรกจากสภานี้ ก็คือ การออกกฎหมายจัดตั้ง หอรัษฎากรพิพัฒน์ เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการจัดเก็บภาษีอากร ดึงอำนาจการเก็บภาษีที่กระจัดกระจายจากขุนนางเจ้านายหลายๆส่วนเข้ามาไว้ที่เดียว ตามมาด้วยการออกกฎหมายเกษียณอายุลูกทาสลูกไทย เพื่อกำหนดค่าตัวลูกทาสตอนเป็นเด็ก และมีค่าตัวลดลงทุกปีจนพ้นเป็นไทได้หมดในปี 1905 และเพื่อสร้างทีมงานส่วนพระองค์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ทรงจัดตั้ง สภาที่ปฤกษาในพระองค์ (Privy Council) ประกอบด้วยสมาชิก 49 คน ทำหน้าที่ถวายคำปรึกษาส่วนพระองค์ สอดส่องเหตุการณ์สำคัญในบ้านเมือง และสืบสวนข้อเท็จจริงและถวายความเห็นในข้อราชการต่างๆ
เพียงเริ่มต้นปฏิรูปเท่านี้ กระแสต่อต้านการปฏิรูปก็พุ่งสูงขึ้นทันที อาจเป็นเพราะความเป็นห่วงที่เชื่อว่าการปฏิรูปอย่างรวดเร็วเกินไปจะเป็นอันตรายต่อบ้านเมือง หรือเป็นเพราะสูญเสียผลประโยชน์ที่มีแต่เดิมก็ตามแต่ ในที่สุด การปฏิรูปก็สะดุดลงไปบ้าง โดยเฉพาะเมื่อเกิดวิกฤติการณ์วังหน้าขึ้น

28 ธันวาคม 1874 เกิดเพลิงไหม้ขึ้นในวังหลวงจากโรงผลิตแก๊สอะเซทิลีนสำหรับเดินท่อจ่ายไปยังโคมไฟแสงสว่างในวัง ทหารวังหน้าจัดทีมเข้าไปหมายจะช่วยดับเพลิง แต่ทหารวังหลวงไม่ยินยอมด้วยความระแวงเกรงจะเป็นการก่อวินาศกรรมโดยฝ่ายวังหน้า จึงเกิดการปะทะขึ้น จากนั้น กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ (วังหน้า) เกรงว่าจะถูกจับกุมข้อหากบฏ จึงหลบหนีเข้าไปอยู่ในสถานกงสุลอังกฤษ เปิดโอกาสให้อังกฤษเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในประเทศ สมเด็จเจ้าพระยาฯ อดีตผู้สำเร็จราชการ ต้องเดินทางจากบ้านพักที่ราชบุรี เพื่อเข้าไปเจรจากับวังหน้าในสถานกงสุลอังกฤษ ในที่สุด วังหน้าทรงยอมออกจากสถานกงสุลกลับสู่วังพระองค์เอง วิกฤติวังหน้าครั้งนั้นจึงสิ้นสุดลง

แต่การปฏิรูปที่แท้จริงยังไม่ได้เริ่มขึ้น…

*******************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
10 มกราคม 2561
*******************************

บทเรียนการปฏิรูปในศตวรรษที่ 19 ใครรุ่ง? ใครดับ? : ตอนที่ 2 การปฏิรูปเมจิของญี่ปุ่น

ในช่วงศตวรรษที่ 17-19 ญี่ปุ่นปกครอบด้วยระบอบโชกุน ที่อำนาจการบริหารบ้านเมืองอยู่ที่ โชกุนตระกูลโทกุกะวะ โดยจักรพรรดิเป็นเพียงผู้นำเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น ไม่มีอำนาจบริหารใดๆ ระบอบโชกุนบริหารประเทศด้วยการปิดประเทศ การค้าขายกับต่างชาติเป็นระบบผูกขาดผ่านโชกุน และทำได้เฉพาะที่ เมืองนางาซากิ เท่านั้น ประชาชนในญี่ปุ่นจะถูกระบุให้อยู่ในชนชั้น 1 ใน 4 ชนชั้น (ซามูไร ชาวนา ช่างฝีมือ และพ่อค้า) ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงชนชั้นได้ ซึ่งมีการกำหนดบทบาทหน้าที่ของแต่ละชนชั้นอย่างชัดเจน ด้วยระบบอันเข้มงวดเช่นนี้ ทำให้ญี่ปุ่นเกิดความสงบทางการเมือง อำนาจอยู่ในมือของตระกูลโทกุกาวะ ได้ยาวนานกว่า 268 ปี

แต่เมื่อกระแสอิทธิพลของตะวันตกรุกคืบเข้ามาในช่วงศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปี 1853 พลเรือจัตวา แมทธิว เพอร์รี่ ได้นำเรือรบที่ทันสมัยของสหรัฐอเมริกา ที่คนญี่ปุ่นเรียกกันว่า เรือดำ เข้ามาเทียบท่าถึงอ่าวเอโดะที่เมืองหลวง โดยไม่สนใจคำสั่งของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ให้เขานำเรือไปที่นางาซากิ ยิ่งไปกว่านั้น นายพลเพอร์รี่กลับหันปากกระบอกปืนไปยังตัวเมือง แล้วยิงปืนใหญ่ โดยอ้างว่า เพื่อฉลองวันชาติสหรัฐฯ จนทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นตกตะลึงในแสนยานุภาพเรือรบสหรัฐฯที่ญี่ปุ่นไม่สามารถต่อสู้ได้ จึงจำเป็นต้องยอมเจรจาสนธิสัญญาเปิดประเทศที่เสียเปรียบต่อสหรัฐฯ (ยุคนั้นประเทศในเอเชียต่างถูกมหาอำนาจตะวันตกกดดันให้เปิดประเทศตามสนธิสัญญาที่เสียเปรียบอย่างยิ่ง อย่างในประเทศไทย ก็ต้องเซ็นสนธิสัญญาบาวริ่งกับอังกฤษในปี 1855 ส่วนจีนที่ไม่ยอมเจรจาก็เกิดสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 และต้องพ่ายแพ้เสียดินแดนให้ตะวันตก)

หลังเปิดประเทศตามสนธิสัญญาที่เสียเปรียบ รัฐบาลโชกุนโทุกุกะวะซึ่งเรียกกันว่า รัฐบาลบาคุฟุ ก็สูญเสียความมั่นคงอย่างรุนแรง เพราะคนขาดความเชื่อมั่นว่าระบอบนี้จะนำพาชาติให้รอดพ้นจากตะวันตกได้ การค้าขายกับต่างชาติที่ก้าวกระโดดจากการเปิดประเทศ กลับทำให้ระบบเงินตราของญี่ปุ่นตอนนั้นเกิดปัญหารุนแรง เกิดกระแสเงินไหลออกจากประเทศ โดยเฉพาะการไหลออกของทองคำ จากการแห่กันเก็งกำไร (Arbritage) ของฝรั่งจากอัตราแลกเปลี่ยนทองคำในประเทศกับต่างประเทศที่แตกต่างกันมากเกินไป แม้ว่าจะมีพ่อค้าร่ำรวยเพิ่มขึ้นจากการค้าต่างประเทศ แต่จำกัดเฉพาะในวงแคบๆเท่านั้น คนส่วนใหญ่กลับเผชิญปัญหาเงินเฟ้อ อัตราว่างงานพุ่งสูงขึ้น ผสมกับเกิดทุพภิกขภัยทางการเกษตร จนเกิดการลุกฮือของชาวนาขึ้นหลายครั้ง

กลุ่มไดเมียว (เจ้าเมือง) จากแคว้นซัตสึมะ และแคว้นโชชู จึงได้ก่อตั้งพันธมิตรซัตโซ ขึ้นในปี 1866 ร่วมกับกลุ่มซามูไรรุ่นใหม่ นำโดย ซากะโมโตะ เรียวมะ (คอซีรีย์และการ์ตูนญี่ปุ่นคงคุ้นชื่อเขากันอย่างดี) มีเป้าหมายเพื่อ ดึงอำนาจบริหารประเทศจากรัฐบาลบาคุฟุของโชกุนตระกูลโทกุกะวะ กลับสู่จักรพรรดิญี่ปุ่น และปฏิรูปประเทศ แต่เส้นทางนี้ไม่ได้จบโดยสันติ กลุ่มรัฐบาลบาคุฟุและผู้คัดค้านไม่ยินยอม เกิดการลอบสังหารซากะโมโตะ เรียวมะ และต่อมา เกิดสงครามกลางเมืองขึ้น ที่เรียกว่า สงครามโบชิน ระหว่างปี 1868-1869 ในที่สุดสงครามก็จบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายนิยมจักรพรรดิ การปฏิรูปเมจิจึงได้ถือกำเนิดขึ้น มีการเชิญจักรพรรดิย้ายที่ประดับจากเมืองเกียวโต มายังเอโดะ และเปลี่ยนชื่อเมืองเอโดะ เป็น โตเกียว

การปฏิรูปเมจิ หลายครั้งมักใช้คำว่า การฟื้นฟูยุคเมจิ (Meiji Restoration) เพราะเป้าหมายที่ประกาศคือ การฟื้นฟูอำนาจขององค์สมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่น แต่ผมคิดว่า ควรใช้คำว่า ปฏิรูป จะเหมาะสมกว่า เพราะเนื้อหาที่แท้จริง เป็นการปฏิรูปที่กระทบทุกมิติของประเทศ ภายใต้คำขวัญว่า “ประเทศมั่งคั่ง กองทัพแข็งแกร่ง” ส่วนการบอกว่า อำนาจกลับคืนสู่องค์พระจักรพรรดินั้น ดูจะไม่เป็นอย่างนั้น เพราะอำนาจที่แท้จริงในการบริหารประเทศได้กลับไปสู่กลุ่มชนชั้นนำ หรือเรียกว่า คณาธิปไตย จะตรงความหมายมากกว่า เราลองมาดูเนื้อหาการปฏิรูปเมจิกัน

ในด้านการเมือง ได้ยกเลิกอำนาจปกครองของแคว้นต่างๆ โดยจัดตั้งรัฐบาลกลาง แล้วดึงอำนาจการบริหารประเทศจากท้องถิ่นมาสู่ส่วนกลาง, จัดตั้งรัฐสภา โดยมีการส่งตัวแทนจากแคว้นต่างๆเข้ามามีบทบาทในการออกกฎหมาย, , จัดตั้งกระทรวง 8 กระทรวงเพื่อบริหารประเทศ, ประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกของญี่ปุ่น จะเห็นว่านี่คือการดึงอำนาจในมือโชกุนโทกุกะวะและไดเมียวทั่วประเทศ เข้ามาสู่โครงสร้างใหม่ ที่นำแนวคิดระบอบการปกครองของตะวันตกมาใช้ แต่เน้นการรวมศูนย์อำนาจมาที่รัฐบาลกลางที่เป็นตัวแทนของกลุ่มชนชั้นนำในยุคนั้น

ในด้านเศรษฐกิจ มีการออกกฎหมายปฏิรูปภาษีที่ดิน เปิดให้เอกชนเป็นเจ้าของที่ดินได้เป็นครั้งแรก, สร้างรถไฟไปทั่วประเทศ ระยะเวลาเพียง 18 ปี สร้างทางรถไฟไปถึง 2,250 กิโลเมตร, วางระบบโทรเลขเชื่อมโยงเมืองใหญ่ทั่วประเทศ, สนับสนุนให้เกิดบริษัทเอกชน โดยได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาล, ก่อตั้งธนาคารตามแบบตะวันตก, มีการสร้างท่าเรือ เหมืองแร่ ลงทุนสร้างโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก ทำให้ญี่ปุ่นเข้าสู่ “การปฏิวัติอุตสาหกรรม” เป็นประเทศแรกของเอเชียด้วยตนเอง

ในด้านสังคม ได้ยกเลิกระบบชนชั้นทั้งสี่ ทำให้คนทุกชนชั้นสามารถเลือกอาชีพได้ตามที่ตั้งใจ, เปิดโรงเรียนสอนหนังสือแบบตะวันตก ทำให้คนเข้ารับการศึกษาได้อย่างทั่วถึง นี่คือการปลดปล่อยศักยภาพของคนให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างเต็มที่ ทำให้ญี่ปุ่นก้าวกระโดดไปไกลกว่าประเทศอื่นๆในเอเชีย

ในด้านการทหาร ยกเลิกกองทัพท้องถิ่นของแต่ละแคว้น, ยกเลิกระบบซามูไร ที่ตอนนั้นมีกว่า 1.9 ล้านคน โดยค่อยเป็นค่อยไป จากที่ซามูไรทุกคนได้เงินเดือนจากรัฐ จึงเป็นภาระที่หนักมากของรัฐบาล จึงทยอยปรับเป็นได้พันธบัตรรัฐบาลแทนในที่สุด, จัดตั้งกองทัพของรัฐบาลกลาง ตามรูปแบบกองทัพสมัยใหม่ โดยชายญี่ปุ่นทุกคนเมื่ออายุครบ 21 ปี ต้องเป็นทหารรับใช้ชาติ 4 ปี, มีการพัฒนาและผลิตอาวุธยุคใหม่ด้วยตนเอง จนสามารถทำสงครามรบชนะทั้งกับจีน (ปี 1894-1895) และรัสเซีย (ปี 1904-1905)

ผลจากการปฏิรูปเมจิ ทำให้ในปี 1912 เมื่อจักรพรรดิเมจิได้สวรรคต ถือเป็นสัญลักษณ์การสิ้นสุดยุคเมจิ ประเทศญี่ปุ่นได้กลายเป็นประเทศมหาอำนาจใหม่แห่งเอเชีย ได้ยกเลิกสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมที่ทำกับประเทศตะวันตกทั้งหมด เป็นการปฏิรูปที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ปัจจัยที่ทำให้การปฏิรูปเมจิประสบความสำเร็จแตกต่างจากการปฏิรูปร้อยวันของจีน อยู่ที่ แกนนำการปฏิรูปได้เข้ายึดอำนาจจากกลุ่มอำนาจเก่าได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และแกนนำเหล่านี้มีวิสัยทัศน์ มีความรู้ความสามารถ ทุ่มเท จนการปฏิรูปก้าวหน้าไปตามทิศทางที่วางไว้ ไม่ได้ทำแบบครึ่งๆกลางๆ แต่ข้อด้อยของการปฏิรูปเมจิที่เห็นได้ชัดคือ เส้นทางปฏิรูปเต็มไปด้วยความรุนแรงนองเลือด มีทั้งการสู้รบในสงครามกลางเมือง และการลอบสังหารเหล่าผู้นำการปฏิรูป นั่นเอง

*******************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
3 มกราคม 2561
*******************************

บทเรียนการปฏิรูปในศตวรรษที่ 19 ใครรุ่ง? ใครดับ? : ตอนที่ 1 ปฏิรูปร้อยวันของจีน

ในช่วงไม่นานที่ผ่าน เราได้ยินคำว่า ปฏิรูป กันบ่อยครั้ง จนหลายต่อหลายครั้งก็สงสัยว่า การปฏิรูปนั้นเป็นอย่างไรกันแน่ ย้อนหลังไปในประวัติศาสตร์โลก มีการปฏิรูปเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง บางทีก็สำเร็จ บางทีก็ไม่สำเร็จ จึงน่าสนใจที่จะศึกษาดูว่า เราได้บทเรียนอะไรบ้างจากการปฏิรูปในอดีต โดยอยากหยิบยกกระแสการปฏิรูปในช่วงศตวรรษที่ 19 ของประเทศในเอเชียมาเล่าสู่กันฟัง

หลังจากที่ยุโรปได้เข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 จนถึงกลางศตวรรษที่ 19 ประเทศในยุโรปต่างพัฒนาจนเศรษฐกิจเข้มแข็ง ก่อให้เกิดการขยายอิทธิพลทางการค้าไปทั่วโลก และเมื่อมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ เหล่ามหาอำนาจยุโรปก็แผ่ขยายอำนาจยึดอาณานิคมไปทั่วโลก ประเทศในเอเชียหลายประเทศถูกยึดครอง หลายประเทศเล็งเห็นภัยที่เกิดขึ้นและความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปประเทศ บางประเทศปฏิรูปสำเร็จ บางปฏิรูปไม่สำเร็จ เรามาดูกรณีศึกษาบางประเทศเริ่มจาก การปฏิรูปร้อยวันของจีน

ช่วงศตวรรษที่ 19 ประเทศจีนอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ชิง มีฮ่องเต้เป็นคนแมนจู ซึ่งเป็นชนเผ่าทางตอนตะวันออกเฉียงเหนือของจีน และได้เข้าโค่นล้มราชวงศ์หมิงที่มีฮ่องเต้เป็นชาวฮั่นของจีนในศตวรรษที่ 17 ยุคต้นของราชวงศ์ชิงนั้นมีฮ่องเต้แมนจูที่มีความสามารถโดดเด่น โดยเฉพาะยุค คัง-ยง-เฉียน ที่เป็นยุคทองของชิง มีฮ่องเต้ที่เปรื่องปราดติดต่อกัน 3 พระองค์ คือ คังซี ยงเจิ้ง และเฉียนหลง ครอบคลุมระยะเวลานานถึง 138 ปี (ค.ศ. 1661-1799) แต่หลังจากนั้น ความเจริญของอาณาจักรจีนก็ถูกประเทศตะวันตกทิ้งห่างไปเรื่อยๆ เนื่องจากนโยบายปิดประเทศ จนตกขบวนรถการปฏิรูปอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18 ต่อมายังพ่ายแพ้ในสงครามฝิ่นในกลางศตวรรษที่ 19 จนถูกต่างชาติเข้าบังคับให้เปิดประเทศแบบเอาเปรียบ เข้ายึดดินแดนจำนวนมาก สูญเสียอธิปไตย กลายเป็นสังคมกึ่งอาณานิคม แต่ราชวงศ์ชิงยังไม่คิดปฏิรูปใดๆ จนเกิด กบฏไท่ผิงเทียนกว๋อ เข้ายึดดินแดนทางตอนใต้ ราชวงศ์ชิงใช้เวลาปราบปรามกว่า 14 ปี จนมีคนล้มตายไปถึง 20-30 ล้านคน ถึงเวลานั้น ชนชั้นนำบางส่วนจึงเริ่มขบวนการเรียนรู้วิทยาการตะวันตก ภายใต้การคัดค้านจากกลุ่มขุนนางหัวโบราณที่ยังคิดว่าประเทศจีนยังคงยิ่งใหญ่ ส่วนพวกตะวันตกยังล้าหลังจีนอยู่ แต่ขบวนการนี้ก็ไม่ได้ปฏิรูปอะไรเป็นชิ้นเป็นอันนัก มีแต่นำเทคโนโลยีจากตะวันตกเข้ามาพัฒนาประเทศเท่านั้น

qing-dynasty-china-19th-century-27-638.jpg

ต่อมาในปี 1895 จีนได้พ่ายแพ้สงครามกับญี่ปุ่น ก็เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า อาณาจักรจีนนั้นไม่ได้ยิ่งใหญ่เหมือนในอดีตอีกต่อไป พ่ายแพ้ทั้งกับมหาอำนาจตะวันตก และพ่ายแพ้ให้กับญี่ปุ่น ประเทศเล็กๆที่ได้ปฏิรูปประเทศสำเร็จในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 (เรียกว่า ปฏิรูปเมจิ รายละเอียดจะเล่าในครั้งต่อไป) เมื่อเป็นเช่นนี้ กลุ่มบัณฑิตของจีนนำโดย คังโหยว่เหวย ได้เสนอนโยบายปฏิรูปประเทศ ต่อฮ่องเต้กวงซู่ และฮ่องเต้ก็ได้ประกาศพระราชโองการกำหนดนโยบายเพื่อปฏิรูปประเทศ ในเดือนมิถุนายน 1898 เนื้อหาการปฏิรูปได้แก่ ส่งเสริมการประกอบธุรกิจแบบใหม่ สนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรม จัดตั้งหน่วยงานเพื่อเร่งรัดการพัฒนารถไฟและการทำเหมืองแร่ ยกเลิกการเขียนบทกวีในการสอบจอหงวนแต่หันมาสอบความรู้สถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบันแทน ตั้งโรงเรียนศึกษาวิทยาการตะวันตก ปลดขุนนางส่วนเกิน ลดขนาดกองทัพแบบเก่า และพัฒนากองทัพแบบใหม่ แต่เนื่องจากเนื้อหาการปฏิรูปไปกระทบผลประโยชน์ของชนชั้นนำ จึงเกิดการต่อต้านคัดค้านอย่างรุนแรง ที่สำคัญคือ เป็นการดำเนินการที่แสดงให้เห็นว่าอำนาจกลับมาอยู่ในมือฮ่องเต้ จากแต่เดิมอยู่ภายใต้ซูสีไทเฮา

ในที่สุด เพียง 103 วันหลังการประกาศพระราชโองการปฏิรูป ซูสีไทเฮาทรงเข้ายึดอำนาจ กังขังฮ่องเต้กวงซู่ ประหารชีวิตกลุ่มปฏิรูป และยกเลิกนโยบายปฏิรูปทั้งหมด การปฏิรูปร้อยวันจึงประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง หลังจากนั้น ประเทศจีนก็ดิ่งเหวลงอย่างไม่ฉุดไม่ขึ้น แม้ว่าต่อมาในปี 1911 เกิดปฏิวัติซินไฮ่ โค่นล้มราชวงศ์ชิง เปลี่ยนเป็น ระบอบสาธารณรัฐ แต่ก็ไม่สามารถทำให้ประเทศจีนฟื้นคืนมาได้ รัฐบาลกลางแทบไม่มีอำนาจบริหาร ต่อมาเกิดการรุกรานจากญี่ปุ่น และเกิดสงครามชิงแผ่นดินระหว่างก๊กมินตั๋ง และพรรคคอมมิวนิสต์ กว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะยึดอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จและก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ก็ล่วงเข้าไปจนถึงปี 1949 ผ่านการปฏิวัติ ปฏิรูป หลายต่อหลายครั้ง จนกระทั่งศตวรรษที่ 21 จีนใหม่จึงกลับมาเป็นมหาอำนาจของโลกได้อีกครั้ง

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การปฏิรูปร้อยวันของจีนที่ล้มเหลว มาจาก การประกาศการปฏิรูปมาจากผู้ที่ไม่มีอำนาจอย่างแท้จริง แม้ว่าฮ่องเต้กวงซู่จะเป็นฮ่องเต้ก็จริง แต่อำนาจทางการเมืองที่แท้จริงอยู่ในมือซูสีไทเฮามากกว่า ฮ่องเต้กวงซู่อาศัยการปฏิรูปเพื่อดึงอำนาจจากมือซูสีไทเฮากลับมาที่พระองค์ แต่โลกความเป็นจริงมันไม่ง่ายเช่นนั้น การปฏิรูปไม่ได้เป็นพลังที่จะทำให้ผู้นำมีอำนาจมากขึ้น ในทางกลับกัน การปฏิรูปกลับต้องการอำนาจทางการเมืองที่เข้มแข็งจากผู้นำ จึงจะทำให้การปฏิรูปนั้นสำเร็จ

*******************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
31 ธันวาคม 2560
*******************************

แผนสำรองแผนเดียวอาจไม่พอ เพราะกระต่ายเจ้าเล่ห์ต้องมีสามโพรง

ครั้งก่อน ผมได้เล่าถึงข้อคิดจากการเสียกรุงครั้งที่ 2 ว่า กลยุทธ์ที่ดีต้องมีแผนสำรองนั้น อย่างไรก็ตาม ในบางสถานการณ์ แผนสำรองแผนเดียวอาจไม่พอ เรามาฟังเรื่อง กระต่ายเจ้าเล่ห์ต้องมีสามโพรง ในประวัติศาสตร์จีนกันดีกว่า

ในยุคจ้านกว๋อ ราวๆ 300 ปีก่อนคริสตศักราช ที่แคว้นฉี มีขุนนางคนสำคัญคนหนึ่ง ชื่อว่า เมิ่งฉางจวิน (孟嘗君) ท่านมีชื่อเสียงว่าเป็นคนใจกว้าง ชอบคบหาคนมีฝีมือ รับเลี้ยงดูแขกจำนวนมาก ว่ากันว่า แขกที่มาอาศัยอยู่บ้านท่านเมิ่งมีมากถึงกว่า 3,000 คน แขกเหล่านี้มีทุกชนชั้นจากทั่วทุกสารทิศ ครั้งหนึ่งมีอาคันตุกะเข้ามาขออยู่อาศัยกับท่านเมิ่ง ชื่อว่า เฝิงเซวียน แต่เมื่อเมิ่งฉางจวินถามว่า เขามีความสามารถอันใด เฝิงเซวียนกลับตอบว่า ไม่มีความสามารถอะไรเลย ถึงอย่างนั้น เมิ่งฉางจวินก็ยังต้อนรับให้เฝิงเซวียนมาอยู่กับท่าน

เฝิงเซวียนมาอยู่อาศัยกับท่านเมิ่งเป็นเวลานาน ไม่ได้ทำงานอะไรให้เห็นเป็นชิ้นเป็นอัน มีแต่เรียกร้องขอรถม้าและผลประโยชน์ วันหนึ่ง เมิ่งฉางจวินจึงมอบหมายภารกิจให้กับเฝิงเซวียน โดยให้เขาเดินทางไปเก็บเงินค่าที่นาและดอกเบี้ยเงินกู้จากบรรดาชาวบ้านที่เป็นลูกหนี้ของท่านเมิ่งที่เมืองเซวีย และขากลับให้เฝิงเซวียนเอาเงินที่เก็บมาได้หาซื้อของที่ท่านเมิ่งยังขาดอยู่กลับมาให้ด้วย

เมื่อเฝิงเซวียนเดินทางไปถึงเมืองเซวีย เขาเรียกประชุมบรรดาชาวบ้านในเมืองซึ่งต่างก็เป็นลูกหนี้ท่านเมิ่ง แล้วประกาศว่า เมิ่งฉางจวินมีเมตตาต่อชาวบ้านเมืองเซวีย เห็นว่าทุกคนต่างลำบากยากที่จะคืนเงินให้ท่านเมิ่งได้ ท่านเมิ่งจึงขอยกหนี้สินทั้งหมด ให้ทุกคนมีโอกาสทำมาหากินต่อไป บรรดาสัญญากู้เงินที่ติดค้างก็ให้เอามารวมกันแล้วเผาจนหมดสิ้น ชาวบ้านต่างสรรเสริญคุณความดีของท่านเมิ่งกันทั่วทุกคน

หลังเสร็จสิ้นภารกิจ เฝิงเซวียนกลับมาหาเมิ่งฉางจวิน แล้วรายงานสิ่งที่ตนทำลงไปให้ท่านเมิ่งฟัง พร้อมตบท้ายว่า ถึงแม้ข้าจะเก็บเงินมาไม่ได้ แต่ข้าได้ซื้อของที่ท่านขาดอยู่เรียบร้อยแล้ว นั่นคือ เมตตาธรรม ท่านเมิ่งฟังแล้วก็ไม่พอใจ แต่ก็ระงับใจและบอกให้เฝิงเซวียนกลับไปพักผ่อนตามปกติ

lordmengchang

ต่อมา ฉีอ๋อง เจ้าแคว้นฉีเกิดความระแวงในตัวเมิ่งฉางจวิน จึงปลดท่านเมิ่งออกจากตำแหน่ง และต้องหนีราชภัยไปเมืองเซวีย พอไปถึง ชาวเมืองต่างออกมาต้อนรับท่านเมิ่งกันเต็มไปหมด ทั้งหมดต่างซาบซึ้งน้ำใจที่ท่านเมิ่งเคยยกหนี้สินให้พวกเขา ถึงตอนนี้ เมิ่งฉางจวินก็นึกถึงเฝิงเซวียน และเชิญตัวมาขอบใจกับผลงานที่เขาทำเอาไว้ที่เมืองเซวีย แต่เฝิงเซวียนกลับตอบว่า นายท่านยังวางใจไม่ได้ โบราณกล่าวไว้ว่า กระต่ายเจ้าเล่ห์ต้องมีสามโพรง จึงจะรักษาชีวิตไว้ได้ ขณะนี้ท่านยังมีแค่โพรงเดียว ขอโอกาสให้ข้าได้หาโพรงให้กับท่านอีกสองโพรงเถิด ว่าแล้วเฝิงเซวียนก็เบิกทองคำและรถม้าจากท่านเมิ่งเพื่อดำเนินการขั้นต่อไป

เฝิงเซวียนเดินทางไปยังแคว้นเว่ย เพื่อเข้าเฝ้าเว่ยอ๋อง เจ้าแคว้นเว่ย แล้วกราบทูลว่า คุณชายเมิ่ง อัจฉริยะแห่งยุค ได้ถูกปลดจากตำแหน่งในแคว้นฉีแล้ว หากเจ้าแคว้นใดได้คุณชายเมิ่งไปทำงานด้วย แคว้นนั้นย่อมก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจในไม่ช้า เจ้าแคว้นเว่ยฟังแล้วรีบบอกเฝิงเซวียนว่า พระองค์ต้องการให้คุณชายเมิ่งมาทำงานด้วย ว่าแล้วก็รีบส่งของกำนัลพร้อมคณะมาเชิญท่านเมิ่งไปทำงานด้วย ท่านเมิ่งก็ปฏิเสธคำเชิญนั้นถึงสามครั้งสามครา ข่าวนี้ก็ไปถึงฉีอ๋อง พระองค์เกิดเกรงกลัวที่จะสูญเสียเมิ่งฉางจวินให้กับแคว้นเว่ย จึงรีบแต่งตั้งเมิ่งฉางจวินกลับสู่ตำแหน่งเดิม พร้อมพระราชทานเงินทองของกำนัลจำนวนมากเพื่อดึงให้ท่านเมิ่งอยู่กับแคว้นฉีต่อไป ถึงตอนนี้ เฝิงเซวียนถือว่าเขาได้สร้างโพรงที่สองให้กับเจ้านายของเขาแล้ว

เพื่อสร้างโพรงที่สาม เฝิงเซวียนขอให้ท่านเมิ่งกราบทูลขอให้ฉีอ๋องพระราชทานสร้างศาลบรรพบุรุษให้เมิ่งฉางจวินที่เมืองเซวีย เมื่อสร้างแล้ว ฉีอ๋องก็ต้องส่งทหารมาปกป้องคุ้มครองศาลบรรพบุรุษที่สร้างขึ้น (เมิ่งฉางจวิน มีชื่อเดิมว่า เถียนเหวิน แซ่เถียนเช่นเดียวกับฉีอ๋อง) เมื่อสร้างศาลเสร็จ เฝิงเซวียนจึงบอกกับเมิ่งฉางจวินว่า บัดนี้ โพรงทั้งสามได้สร้างเสร็จแล้ว ท่านสามารถนอนหลับอย่างเป็นสุขได้แล้ว

ข้อคิดจากเรื่องนี้ก็คือ ในบางสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะหากแผนการหลักพลาด แล้วจะพ่ายแพ้ทั้งกระดาน เป็นภัยถึงชีวิต การเตรียมแผนสำรองไว้เพียงแผนเดียวอาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องสร้างแผนสำรองเพิ่มอีก เพื่อความปลอดภัย ดังสุภาษิตที่ว่า กระต่ายเจ้าเล่ห์ต้องมีโพรงสามโพรง (狡兔三窟 เจี่ยวทู่ซานคู)

*******************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
22 มกราคม 2560
*******************************

เสียกรุงครั้งที่ 2 เพราะไม่มีแผนสำรอง

เรามักได้ยินว่า กรุงศรีอยุธยาเสียกรุงแก่พม่าครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2310 นั้น เป็นเพราะผู้นำประเทศขณะนั้นอ่อนแอ พระเจ้าเอกทัศ กษัตริย์ผู้ครองกรุงศรีอยุธยาขณะนั้น เป็นคนไม่เก่ง ไม่เอาไหน เล่าต่อๆกันว่า หากนายทหารคนใดจะยิงปืนใหญ่ ต้องมาขออนุญาตก่อนเพราะเกรงว่าสนมจะตกใจ ทำให้กองทัพพม่าที่เคยสันนิษฐานว่า มาอย่างกองโจร ไม่ได้นำทัพมาโดยกษัตริย์ กลับสามารถตีกรุงศรีฯจนแตกและทำลายเมืองอันยิ่งใหญ่นี้จนล่มสลายลงไปได้

bkn-atucaaenft8

แต่ต่อมา เมื่อศึกษาหลักฐานประวัติศาสตร์หลายๆแหล่ง โดยเฉพาะหลักฐานข้างพม่า จะพบว่า เรื่องราวอาจไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะ พม่าไม่ได้มาอย่างกองโจร แต่เป็นการยกทัพโดยวางยุทธศาสตร์มาอย่างดี โดยยกมาสองทัพใหญ่ มาตั้งแต่ พ.ศ. 2308 ทัพแรกนำโดย เนเมียวสีหบดี ยกทัพมาจากเชียงใหม่ (ขณะนั้นเชียงใหม่ตกเป็นของฝั่งพม่า) อีกทัพนำโดย มังมหานรธา ยกทัพมาทางด่านเจดีย์สามองค์ (กาญจนบุรี) ตีเมืองรายทางไปตลอด กวาดต้อนทรัพยากร ผู้คน สมบัติ เสบียง มาตลอดทาง จนกระทั่ง ทั้งสองทัพมาบรรจบกันล้อมกรุงศรีอยุธยาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2309

ขณะที่กรุงศรีอยุธยาใช่ว่าจะประมาทจนไม่ได้ทำอะไรเลย จริงๆแล้ว พระเจ้าเอกทัศได้เตรียมการตั้งรับด้วยการโปรดให้รวบรวมประชาชนและเสบียงเข้ามาไว้ในพระนคร จนสามารถตั้งรับพม่าได้ยาวนานถึง 14 เดือน แต่ปัญหาก็คือ ยุทธศาสตร์หลัก ของกรุงศรีอยุธยานั้น กลับเป็นยุทธศาสตร์ที่เคยใช้มานับร้อยปีก่อนหน้านั้น นั่นคือ การรวบรวมทรัพยากร ไพร่พล เสบียง มาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา เพื่อตั้งรับการล้อมของพม่า รอกระทั่งถึงฤดูน้ำหลากราวๆเดือนสิบสอง น้ำจะท่วมรอบกรุงศรีอยุธยาจนพม่าจะต้องถอยทัพกลับไปเอง การส่งทัพไปต่อสู้กับพม่าตามหัวเมืองนั้น เป็นเพียงการส่งกำลังย่อยออกไป เพื่อตัดกำลัง ไม่ได้เป็นยุทธศาสตร์ที่จะป้องกันไม่ให้พม่ามาล้อมกรุง

แต่ครั้งนี้ พม่าได้เตรียมแผนเด็ดมาอุดช่องโหว่ของการมาตีกรุงศรีอยุธยาแบบเดิมแล้ว ก่อนถึงฤดูน้ำหลาก แม่ทัพพม่าได้วางแผนสำรวจที่ดอนตามโคกตามวัดที่จะวางกำลังไว้ในช่วงน้ำหลาก มีการจัดหาเรือมาใช้ในกองทัพจำนวนมาก พอถึงฤดูฝน พม่าให้ทหารปลูกข้าวตามบริเวณใกล้เคียง สร้างป้อมค่ายในที่น้ำท่วมไม่ถึงและติดต่อถึงกันได้สะดวก ถึงตอนนี้ ผู้นำของกรุงศรีอยุธยารู้แล้วว่า แพลนเอ กำลังล้มเหลว และพวกเขาไม่ได้คิดถึง แผนสำรอง หรือ แผนฉุกเฉิน  (Contingency Plan) ไว้เลย ได้แต่พยายามยกทัพเรือไปโจมตีค่ายพม่า ซึ่งพบแต่ความล้มเหลว

ขณะที่ ยอดนักยุทธศาสตร์ อย่างสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือพระเจ้าตากสิน ซึ่งในขณะนั้นท่านเป็นพระยาตาก ท่านกลับเตรียมแผนสำรอง (Contingency Plan) ของท่านไว้อยู่แล้ว พอพ้นหน้าน้ำหลาก พม่าไม่ถอยทัพ ท่านก็รู้แน่ว่า แผนหลักของกรุงศรีฯล้มเหลว และเหล่าบรรดาผู้นำของกรุงศรีฯไม่ได้เตรียมแผนอื่นไว้เลย ท่านไม่จำเป็นต้องรอดูผลก็รู้แน่ว่า กรุงศรีอยุธยาจะต้องแตกพ่ายแพ้แก่พม่าอย่างแน่นอน ถ้ารออยู่ในกรุงต่อไป ก็คือการรอวันตายเท่านั้น ดังนั้น เมื่อถึงต้นเดือนมกราคม 2310 ท่านจึงเริ่มแผนสอง หรือ แพลนบี ของท่านทันที ด้วยการยกทัพตีฝ่าออกจากกรุงศรีฯ มุ่งหน้าภาคตะวันออก ซึ่งปลอดภัยจากทัพพม่า เข้ายึดเมืองจันทบุรีและหัวเมืองทางภาคตะวันออก รวบรวมไพร่พลทรัพยากร ยกทัพเรือกลับมายึดกรุงศรีฯได้ จนสามารถสถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี กอบกู้เอกราชจากพม่าและรวบรวมแผ่นดินไทยให้กลับมาเป็นปึกแผ่นเป็นผลสำเร็จ

บทเรียนสำคัญจากเหตุการณ์การเสียกรุงครั้งที่ 2 สำหรับนักกลยุทธ์นั้น ก็คือ อย่าเตรียมแผนการหลักไว้เพียงแผนเดียว จำเป็นต้องมี แผนสำรอง (Contingency Plan) ไว้ในกรณีแผนหลักล้มเหลวไว้ด้วย ไม่ฉะนั้น จะตกอยู่ในสถานะพลาดตาเดียวพ่ายแพ้ทั้งกระดาน นั่นเอง

*******************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
16 มกราคม 2560
*******************************

 

 

เงินถุงแดง Emergency Fund ของสยาม

ในการวางแผนการเงิน (Financial Planning) นั้น มีหลักสำคัญเกี่ยวกับการบริหารสภาพคล่องของเราว่า จะต้องมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน (Emergency Fund) ไว้เท่ากับค่าใช้จ่าย 3-6 เดือนของเรา เพื่อว่าหากเกิดเรื่องฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็น อุบัติเหตุ ล้มป่วยไม่สบาย ตกงาน หรือเหตุอื่นใดที่จำเป็นต้องใช้เงินทันที เราก็จะมีเงินใช้ โดยไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินให้เป็นภาระซ้ำเติมการเงินของเราอีก หลายคนมักประมาทเงินก้อนนี้และมองว่า การเก็บเงินก้อนนี้ไว้เป็นการเสียโอกาสที่จะนำไปลงทุนสร้างผลตอบแทนสูงๆกัน แต่เชื่อเถอะว่า เงิน Emergency Fund นี้สำคัญในยามฉุกเฉินจริงๆ โดยขอยกตัวอย่างการเงินระดับชาติในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้ง วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ที่ไทยถูกฝรั่งเศสเอาเรือปืนมาปิดอ่าวไทย

วิกฤติครั้งนั้นเริ่มต้นเมื่อ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2436 เรือรบฝรั่งเศส 2 ลำ คือ เรือแองกองสตัง (Inconstant) และเรือโกเมต (Comete) ถูกส่งเข้ามาในสยาม อ้างว่าจะให้ความคุ้มครองชาวฝรั่งเศสในกรุงเทพฯ เพราะขณะนั้นมีข้อพิพาทแถวชายแดนอินโดจีน แต่รัฐบาลสยามปฏิเสธเพราะมีเรือรบลาลูแตง (La Lutin) ของฝรั่งเศสจอดอยู่ในกรุงเทพฯอยู่แล้วหนึ่งลำ ตอนนั้น นายเดอเวล รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสรับปากทูตไทยที่ปารีสว่าจะระงับการเดินทางของเรือรบทั้งสองลำ แต่ผู้บัญชาการฝ่ายฝรั่งเศสที่สยามอ้างว่าไม่ได้รับการแจ้งจากรัฐบาลฝรั่งเศส จึงใช้เรือเมล์ ฌอง บับติสต์ เซย์ เป็นเรือนำร่อง นำเรือรบเข้ามา เมื่อผ่านถึงป้อมพระจุลฯ ฝ่ายไทยจึงยิงปืนเสือหมอบเตือนไป 2 นัด แต่ฝรั่งเศสไม่หยุด จึงเกิดการยิงปืนใหญ่ต่อสู้กัน เรือนำร่องฝรั่งเศสถูกยิงเกยตื้น แต่เรือรบฝรั่งเศสทั้ง  2 ลำ ผ่านป้อมพระจุลฯ ทะลุมาจอดหน้าสถานทูตฝรั่งเศสที่ถนนเจริญกรุง บางรัก กรุงเทพ ได้ตอนหัวค่ำ (ซึ่งอยู่ในวิสัยที่สามารถเคลื่อนที่มายิงปืนใหญ่ใส่พระบรมมหาราชวังที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ประทับอยู่ได้) ผลจากการต่อสู้วันนั้น ทหารฝรั่งเศสตาย 3 นาย บาดเจ็บ 3 นาย ฝ่ายไทย ทหารตาย 8 นาย บาดเจ็บ 34 นาย

o4hd56hh6Y3oripQb8i-o

20 กรกฎาคม 2436 ฝรั่งเศสยื่นข้อเรียกร้องต่อไทย 6 ข้อ โดยมีใจความสำคัญคือ ให้ดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง (หมายถึงอาณาจักรล้านช้าง หรือลาวในปัจจุบัน) และเกาะแก่งบนแม่น้ำโขง เป็นของฝรั่งเศส และที่สำคัญอีกข้อหนึ่งคือ สยามต้องจ่ายเงินค่าปรับชดใช้ค่าเสียหายให้ฝรั่งเศส 3 ล้านฟรังก์ หรือประมาณ 22,000 ชั่ง ทั้งหมดนี้สยามต้องตอบภายใน 48 ชั่วโมง มิฉะนั้น จะปิดอ่าวไทยและเมืองชายทะเลของสยาม ฝ่ายไทยรีบส่งโทรเลขให้ทูตไทยในปารีสเพื่อเจรจากับรัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส ขณะเดียวกันก็ขอคำปรึกษาจากอังกฤษในทำนองให้มาคานอำนาจกับฝรั่งเศส แต่อังกฤษกลับนิ่งเฉย ในที่สุด 22 กรกฎาคม 2436 รัฐบาลสยามจึงตอบกลับฝรั่งเศสโดยยอมเป็นส่วนใหญ่ แต่ขอเจรจาในรายละเอียด พร้อมยืนยันว่าจะจ่ายเงิน 3 ล้านฟรังก์โดยทันที แต่ฝรั่งเศสไม่พอใจที่ไทยต่อรอง จึงประกาศตัดสัมพันธ์ทางทูตกับสยาม และให้กองเรือรบฝรั่งเศสปิดอ่าวไทยทันที จนในที่สุด 29 กรกฎาคม 2436 สยามต้องยอมรับคำขาดของฝรั่งเศสและรีบจ่ายเงิน 3 ล้านฟรังก์ให้ฝรั่งเศสโดยเร็วที่สุด

ปัญหาใหญ่ขณะนั้นคือ ไทยจะหาเงิน 3 ล้านฟรังก์ที่ไหนมาจ่ายฝรั่งเศสโดยทันที ในตอนนั้น รัฐบาลไทยยังอยู่ระหว่างการปฏิรูปการจัดเก็บภาษี เงินรายได้เข้าคลังยังน้อยกว่าที่ควรจะเป็นมาก รัชกาลที่ 5 เคยเขียนเล่าให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ความตอนหนึ่งว่า “…ในเวลาครึ่งปีต่อมา เงินภาษีอากรก็ลดเกือบหมดทุกอย่าง ลดลงไปเป็นลำดับ จนถึงปีมะแม ตรีศก (พ.ศ. 2414) เงินแผ่นดินที่เคยได้อยู่ปีละ 50,000-60,000 ชั่งนั้น เหลือจำนวนอยู่ 40,000 ชั่ง…” หากเราประมาณเอาว่า รายได้แผ่นดินสมัยนั้นอยู่ประมาณ 50,000 ชั่ง เงิน 3 ล้านฟรังก์ซึ่งเทียบเท่ากับ 22,000 ชั่งในตอนนั้น ก็เป็นสัดส่วนสูงถึง 40-50% ของรายได้แผ่นดินต่อปีเลยทีเดียว หรือหากคิดตามสูตรวางแผนการเงิน เงินค่าปรับที่เราต้องจ่ายอยู่ก็ราวๆค่าใช้จ่ายของรัฐบาลสยามราวๆ 5-6 เดือน  (คิดว่ารัฐบาลขณะนั้นมีค่าใช้จ่ายเท่ากับรายได้พอดี) ซึ่งก็ตรงตามสูตรเลยทีเดียว โดยหากรัฐบาลไทยไม่มีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินเอาไว้และต้องเอาเงินรายได้แผ่นดินปีนั้นมาจ่ายก็แทบจะไม่เหลือเงินใช้จ่ายเลย นั่นย่อมทำให้ฝรั่งเศสและเหล่ามหาอำนาจตะวันตกที่จ้องจะยึดไทยอยู่ สามารถเอาเปรียบไทยได้อีกจนอาจต้องสูญเสียเอกราชไปก็ได้ ดูตัวอย่างได้จากเมื่อครั้งอังกฤษรุกรานพม่าเมื่อ พ.ศ. 2369 อังกฤษเรียกร้องค่าปฏิกรรมสงครามจากพม่าสูงถึง 2 ล้านปอนด์ พม่าไม่มี Emergency Fund เก็บเอาไว้ ทำให้ราชวงศ์อลองพญาซวดเซจนในที่สุดก็ต้องสูญเสียเอกราชให้อังกฤษในที่สุด

โชคดีของสยามที่ยังมีเงินถุงแดง ของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 3 เก็บสะสมไว้อยู่ เงินถุงแดงซึ่งเป็นเงินเก็บหอมรอมริบของรัชกาลที่ 3 ตั้งแต่เมื่อพระองค์ยังไม่ขึ้นครองราชย์ ทรงพระปรีชาในการค้าขายเรือสำเภาจนมีเงินกำไรสะสมจำนวนมาก ส่วนหนึ่งพระองค์ได้เก็บเอาไว้ในถุงแดง และเคยมีพระราชดำรัสว่า “เอาไว้ไถ่บ้านไถ่เมือง” ในที่สุดเมื่อพระองค์จากไปเป็นเวลา 43 ปี เงินนี้ก็ได้นำมาใช้ไถ่บ้านไถ่เมืองจริงๆ เงินในถุงแดงนั้นเป็นเหรียญรูปนกอินทรีกางปีกของเม็กซิโก ซึ่งเป็นเงินที่ได้รับการยอมรับในการค้าขายระหว่างประเทศในยุคนั้น  ในวันที่ 22 สิงหาคม 2436 สยามได้จ่ายเงินเหรียญจากท้องพระคลังจำนวน 801,282 เหรียญ คิดเป็นเงินบาท 1,605,235 บาทกับอีก 8 อัฐ มีนำ้หนักรวมกันถึง 23 ตัน โดยนำไปให้ฝรั่งเศสที่เรือ ว่ากันว่า ตอนลำเลียงโดยล้อเลื่อนทางถนน ทำให้เกิดรอยล้อยุบเป็นร่องบนถนนเลยทีเดียว

กล่าวได้ว่า การที่ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของตะวันตกมาได้นั้น ส่วนสำคัญก็เพราะเงินถุงแดงที่รัชกาลที่ 3 ทรงมองการณ์ไกลเก็บสะสมไว้เป็น Emergency Fund ของสยาม นั่นเอง ดังนั้น เราควรนำเอาบทเรียนเรื่องนี้มาใช้กับชีวิตของเราด้วยการเตรียมเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินเอาไว้ตามสูตรการวางแผนการเงินนั่นเอง

*******************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
5 กันยายน 2559
*******************************

 

วีรกรรมสะพานหลูติ้ง

ในช่วงแรกของการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เหตุการณ์สำคัญที่สุดเหตุการณ์หนึ่งก็คือ การถอยทัพหนีการล้อมปราบจากรัฐบาลก๊กมินตั๋งของเจียงไคเช็ค ที่เรียกกันว่า การเดินทางไกล (Long March) พรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องเดินทางไกลถึง 25,000 ลี้ หรือ 12,500 กิโลเมตร ในช่วงระยะเวลาประมาณ 1 ปี ระหว่างตุลาคม 1934 ถึง ตุลาคม 1935 ครั้งนั้นกองทัพจีนแดงของพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งมีกำลังพลน้อยกว่ารัฐบาลก๊กมินตั๋งอย่างมาก จำเป็นต้องหนีจากฐานที่มั่นเดิม ผ่าน 11 มณฑล และพื้นที่ทุรกันดารมากมาย ว่ากันว่า ทหารจีนแดงตอนเริ่มต้นเดินทางไกลจำนวน 100,000 คนเมื่อจบภารกิจเดินทางไกลกลับเหลือเพียง 8,000 คนเท่านั้น  แต่ภายใต้ความสูญเสียมากมายขนาดนั้น เหมาเจ๋อตุงกลับประกาศชัยชนะโดยบอกว่า ไม่เคยมีครั้งไหนในประวัติศาสตร์โลก ที่มีการเดินทัพทางไกลขนาดนี้ ได้พิสูจน์ความเป็นวีรชนคนกล้าของกองทัพแดง พรรคก๊กมินตั๋งทุ่มทรัพยากรล้อมปราบกองทัพแดงมากมายขนาดนั้น แต่ยังไม่สามารถพิชิตกองทัพแดงได้ ที่สำคัญที่สุด พรรคคอมมิวนิสต์ได้โฆษณาป่าวประกาศนโยบายปลดแอกมวลชนต่อประชาชน 200 ล้านคนใน 11 มณฑล ด้วยการเดินทางไปทั่วแผ่นดินจีน

มีวีรกรรมมากมายเกิดขึ้นระหว่างการเดินทางไกล แต่วีรกรรมที่ผมประทับใจที่สุด นั่นคือ วีรกรรมยึดสะพานหลู่ติ้ง เพื่อข้ามแม่น้ำต้าตู้เหอ ในเดือนพฤษภาคม 1935 ตอนนั้นกองทัพแดงของพรรคคอมมิวนิสต์ได้ถอยทัพมาถึงแม่น้ำต้าตู้เหอ และต้องรีบข้ามแม่น้ำใหญ่สายนี้ไปให้ได้ มิฉะนั้น กองทัพก๊กมินตั๋งของเจียงไคเช็คต้องทำลายกองทัพแดงอย่างสิ้นเชิง แม่น้ำสายนี้เป็นสายน้ำเชี่ยวกราก สองฟากฝั่งเป็นหน้าผา มีวังวนแก่งหินที่เป็นอันตรายเต็มไปหมด แต่ที่นั่นมีสะพานข้ามแม่น้ำแห่งเดียวคือ สะพานหลูติ้ง ยาวประมาณ 110 เมตร สร้างด้วยโซ่เหล็กขนาดใหญ่ 13 เส้น ปูไม้กระดานสำหรับเดิน สร้างขึ้นเมื่อปี 1701 แต่เมื่อกองทัพแดงไปถึง กองทัพที่อยู่ฝ่ายเจียงไคเช็คได้ถอดไม้กระดานปูพื้นเก็บไปเสียแล้ว เหลือเพียงโซ่เหล็กเท่านั้น

ภารกิจของกองทัพแดงตอนนั้นคือ ต้องข้ามสะพานหลูติ้ง และยึดฐานที่มั่นฝั่งตรงข้ามให้ได้ ก่อนที่กองทัพใหญ่ของเจียงไคเช็คจะมาถึง นี่คือภารกิจที่แทบเป็นไปไม่ได้ เพราะอีกฝั่งของโซ่เหล็ก กองทัพท้องถิ่นที่อยู่ฝ่ายเจียงไคเช็คได้วางกำลังพร้อมยิงใส่ทหารกองทัพแดงที่พยายามข้ามมา กองทัพแดงประกาศรับสมัครหน่วยกล้าตายจำนวน 22 คน รับภารกิจไต่โซ่เหล็กข้ามแม่น้ำ ฝ่าดงกระสุนไปยึดฐานที่มั่นอีกฝั่งแม่น้ำให้ได้ เพื่อให้ทหารอีกหนึ่งกองร้อยรีบเอาไม้กระดานปูสะพานข้ามไป นี่คือภารกิจที่มีโอกาสตายมากกว่ารอด มีแต่คนที่บ้าบิ่นเท่านั้นที่จะยอมรับภารกิจเช่นนี้

แต่สำหรับกองทัพแดงขณะนั้น ไม่ได้เป็นเรื่องยากที่จะหาหน่วยกล้าตาย 22 คนเพื่อปฏิบัติภารกิจนั้น ทั้ง 22 คนถือปืนประจำตัว พกลูกระเบิดมือคนละ 12 ลูก สะพายดาบทหารม้า มุ่งหน้าไต่โซ่เหล็กไปข้างหน้า ท่ามกลางห่ากระสุนที่ยิงต่อสู้กัน หน่วยกล้าตาย 4 คนร่วงลงจากสะพานตกลงไปในแม่น้ำเชี่ยวกรากลอยลับหายไป ส่วนข้าศึกอีกฝั่งเริ่มจุดไฟเผาสะพานไม่ให้ข้ามมาได้ หน่วยกล้าตายที่เหลือฝ่าไฟเข้าไปจนยึดสะพานอีกฝั่งไว้ได้ ทำให้กองกำลังที่เหลือปูสะพานและยกทัพนับหมื่นข้ามสะพานมาได้

ชัยชนะเหนือสะพานหลูติ้งของกองทัพแดง ได้รับการโจษจันไปทั่วแผ่นดินจีน ภาพวาดหน่วยกล้าตายทั้ง 22 คนที่กำลังข้ามสะพานได้รับการเผยแพร่ไปทั่วประเทศ (ภาพวาดประกอบบทความนี้ ผมถ่ายรูปจากพิพิธภัณฑ์เชิดชูนายพล หยางเฉิงอู่ ผู้เป็นหัวหน้าปฏิบัติการข้ามสะพานหลูติ้ง ที่เมืองฉางทิง มณฑลฝูเจี้ยน เมื่อเดือนมีนาคม 2016 นี้) การพิชิตภารกิจเสี่ยงตายเช่นนี้ทำให้ทหารกองทัพแดงแทบจะกลายเป็นกองทัพที่ทุกคนเชื่อกันว่า ไม่มีใครจะพิชิตเขาได้อีกแล้ว ขวัญกำลังใจของทหารพุ่งสูงถึงขีดสุด แม้ว่าอยู่ระหว่างถอยทัพหนีการล้อมปราบ แต่ขวัญกำลังใจทหารไม่ได้ลดน้อยถอยลง มีแต่เพิ่มพูนขึ้น เหมาเจ๋อตุงไม่พลาดที่จะโฆษณาป่าวประกาศความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่นี้ ถือเป็นจุดพลิกผันของพรรคคอมมิวนิสต์ จากเดิมมีแต่ล่าถอยเสียเปรียบก๊กมินตั๋ง แต่คราวนี้ทุกคนในกองทัพเชื่อว่า พวกเขาไม่มีวันแย่ไปกว่านี้อีกแล้ว มีแต่ดีขึ้นและขยายตัวขึ้น

เรื่องนี้คือตัวอย่างของการใช้กลยุทธ์ที่ 36 นั่นคือ หนีคือสุดยอดกลยุทธ์ ที่สอนเราว่า การถอยหนีไม่ใช่ความพ่ายแพ้ ในการล่าถอยกลับเต็มไปด้วยพลังที่จะฟื้นตัวเอาชนะกลับมาได้ นั่นเอง

*******************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
26 สิงหาคม 2559
*******************************

ตำนานบ้านดินอวี้ชางโหลว ลางดีหรือลางร้าย

เมื่อกว่า 700 ปีก่อน ในยุคราชวงศ์หยวน ที่มองโกลปกครองแผ่นดินจีนอยู่ ชาวจีนฮากกา 5 ตระกูล ที่อพยพหนีภัยสงครามจากตอนเหนือมายังมณฑลฝูเจี้ยนที่อยู่ทางตอนใต้ของจีน ทั้งห้าตระกูลเลือกที่จะลงหลักปักฐานในบริเวณเทือกเขาตำบลหนานจิ้ง ซึ่งห่างจากชายฝั่งทะเล ทำให้ห่างจากภัยโจรสลัดอีกด้วย

Yuchanglou
อวี้ชางโหลว

ทั้งห้าตระกูลประกอบด้วย แซ่หลิว, หลัว, จาง, ถาง และ ฟ่าน ได้ลงขันรวมเงินว่าจ้างผู้รับเหมามาก่อสร้าง บ้านดินถู่โหลว ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาวจีนฮากกา (หรือจีนแคะ) กล่าวคือ เป็นอาคารขนาดใหญ่หลายชั้น มีหลายครอบครัวอาศัยอยู่รวมกัน แบ่งเป็นห้องๆ คล้ายคอนโดมิเนียมในปัจจุบัน มีลักษณะค่อนข้างปิด ทำให้รักษาความปลอดภัยได้ง่าย สำหรับบ้านดินที่ทั้งห้าตระกูลร่วมมือกันสร้างนั้น เรียกกันว่า อวี้ชางโหลว ที่แปลว่า บ้านแห่งความมั่งคั่ง สูง 5 ชั้น แต่ละชั้นมี 54 ห้อง อาคารแบ่งเป็น 5 ส่วน มีบันไดแยกจากกัน เพื่อความเป็นส่วนตัวของแต่ละตระกูลทั้งห้าแม้อยู่ในอาคารเดียวกัน ครัวของแต่ละตระกูลอยู่ครึ่งหลังของอาคารซึ่งมีน้ำสะอาดเพียงพอสำหรับใช้งาน อาคารเป็นรูปวงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 54 เมตร ลานตรงกลางสร้างเป็นศาลบรรพบุรุษ การแบ่งอาคารเป็น 5 ส่วนก็เหมือนกับ 5 ธาตุของจีน นั่นคือ ทอง ไม้ น้ำ ไฟ และดิน

ระหว่างก่อสร้าง ทั้งห้าตระกูลได้จัดเวรแบ่งหน้าที่ผลัดกันทำอาหารส่งน้ำให้กับช่างก่อสร้าง ค่ำคืนหนึ่งในช่วงพระอาทิตย์ตกค่อนข้างเร็ว ผู้ที่รับผิดชอบทำอาหารส่งให้ช่างก่อสร้าง เมื่อเสร็จหน้าที่แล้ว คิดว่าไม่มีอะไรอีกที่ต้องทำต่อ จึงดับตะเกียงเข้านอนแต่หัววัน ครอบครัวถัดไปที่รับผิดชอบส่งอาหารก็คิดว่า เวรถัดไปของตนเป็นรุ่งเช้าอีกวัน จึงเข้านอนไปด้วยโดยไม่ได้คุยกับครอบครัวก่อนหน้า วันนั้นช่างก่อสร้างทำงานจนดึก แต่กลับต้องอดอาหารเพราะเจ้าบ้านเข้านอนกันหมดแล้ว ด้วยความหิว ก็เลยหงุดหงิด ไม่รู้ว่าเพราะความตั้งใจหรือจะแกล้งเจ้าของบ้าน ช่างก่อสร้างจึงก่อบ้านดินไม่สมดุล บางจุดเล็กไป บางจุดใหญ่ไป แต่พอวางคานเสร็จแล้ว ก็ยังคงดูไม่ออกว่าโครงสร้างไม่ได้สมดุล

ว่ากันว่า อวี้ชางโหลว แต่เดิมจะสร้าง 7 ชั้น แต่วันหนึ่งก่อนที่จะปูกระเบื้องหลังคาชั้น 7 มีคนจากภายนอกขึ้นไปไหว้บรรพบุรุษที่ฮวงซุ้ยบนภูเขาด้านหลังอวี้ชางโหลว แต่ลมพัดเอากระดาษเงินกระดาษทองที่กำลังเผาปลิวมาที่ชั้น 7 ของบ้าน ทุกๆคนช่วยกันดับไฟได้ทัน แต่คิดว่า เป็นลางร้ายที่เกิดไฟไหม้ในอาคารใหม่ที่ยังไม่มีใครย้ายมาอยู่ ดังนั้นจึงรื้อชั้น 6 และชั้น 7 ออกไป แล้วก็ปูกระเบื้องหลังคาบนชั้น 5 แทน

800px-The_Zig_zag_building
เสาเอียง ใน อวี้ชางโหลว ที่อยู่มานานกว่า 700 ปี

ไม่นานนัก ทุกๆคนก็เริ่มสังเกตเห็นว่า เสาค้ำระเบียงชั้นสองและชั้นสูงกว่านั้นมันเอียง จนอาจจะพังลงได้ คนก็เริ่มกลัวกัน วันหนึ่ง เวลาย่ำค่ำ มีเสือเข้ามาในอาคาร คำรามเสียงดังก้อง เดินอยู่ที่ระเบียงชั้นล่าง และกระโดดขึ้นไปบนชั้นสอง เดินไปรอบๆระเบียง อย่างกับขุนนางระดับสูงเดินตรวจอาคาร จากนั้นก็กระโดดออกทางหน้าต่างด้านหลังขึ้นไปยังภูเขา นั่งลงมองมาทางบ้านอวี้ชางโหลว แล้วคำรามอย่างนุ่มนวล แต่ทุกคนในอาคารต่างได้ยินอย่างชัดเจน ก่อนจะวิ่งจากไป

คนตระกูลหลิวบอกว่า นี่คือ ลางดี เพราะเสือคำรามอย่างเป็นมงคล  เป็นการมาแสดงความยินดีที่อาคารสร้างเสร็จสมบูรณ์ ขณะที่อีกสี่ตระกูลบอกว่า เป็นลางร้าย เพราะมีเสือเข้ามาในบ้าน ถ้ามันเกิดขึ้นครั้งแรกได้ ก็ต้องเกิดครั้งต่อไปแน่นอน ทั้งสี่ตระกูลจึงตัดสินใจขายส่วนของตนเองให้กับตระกูลหลิว แล้วย้ายไปยังหมู่บ้านอื่น บางบ้านก็อพยพต่อมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หลังจากตระกูลหลิวครอบครองอาคารอวี้ชางโหลวทั้งหมดแล้ว พวกเขาเริ่มตรวจสอบสภาพอาคารอย่างละเอียด พบว่า ถึงแม้ว่าเสาจะเอียง แต่มันค้ำซึ่งกันและกัน โดยรวมแล้วยังแข็งแรง ไม่อันตราย พวกเขาจึงอาศัยในอาคารอวี้ชางโหลวต่อไปด้วยความสุข ตระกูลหลิวอาศัยอยู่ที่นี่มามากกว่า 700 ปี มีลูกหลานมากมาย มีฐานะมั่งคั่งร่ำรวยขึ้น มีคนในตระกูลสอบเข้ารับราชการได้ตำแหน่งใหญ่โตทั้งระหว่างราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง ในยุคสาธารณรัฐก็มีคนเป็นศาสตราจารย์และข้าราชการระดับสูง ถือว่าเป็นตระกูลหลิว สายที่ประสบความสำเร็จสายหนึ่งเลยทีเดียว

ปัจจุบัน อวี้ชางโหลว ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก มีชื่อเสียงว่าเป็นบ้านดินที่เอียง ดูเผินๆอาจรู้สึกว่าอันตราย นักท่องเที่ยวเรียกกันว่า Zig Zag Building แต่มันก็เป็นอย่างนี้มากว่า 700 ปี ตอนที่ผมไปเที่ยวที่นี่ ฟังไกด์เล่าเรื่องตำนานอวี้ชางโหลวให้ฟัง และอ่านหนังสือที่บันทึกเรื่องราวนี้ ก็คิดอยู่ว่า หากเราเป็นคนในห้าตระกูลนั้น เราจะคิดว่า บ้านที่เอียง กับ เสือเข้าบ้าน เป็นลางดี หรือลางร้ายกันแน่  แต่คนตระกูลหลิวเมื่อ 700 ปีก่อน ตัดสินใจเลือกที่จะเชื่อว่ามันคือลางดี เป็นมงคล สิ่งที่เขาทำต่อจากนั้น ก็คือ ตรวจสอบสภาพอาคารว่ายังปลอดภัย แล้วก็มุ่งมั่นสร้างครอบครัว ณ บ้านแห่งความมั่งคั่งแห่งนี้ จนประสบความสำเร็จ ข้อคิดที่ผมได้จากการท่องเที่ยวบ้านอวี้ชางโหลว ก็คือ บางครั้งชีวิตเรา ก็ต้องเลือกที่จะเชื่อว่า ลางที่เราพบเห็นเป็นลางดี เป็นมงคล แล้วมุ่งมั่นต่อไปจนประสบความสำเร็จนั่นเอง

*******************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
15 สิงหาคม 2559
*******************************