เมื่อเราพูดถึงเรื่องการเงินแล้ว คนส่วนใหญ่มักคิดว่า คนที่มีความรู้มากกว่าจะประสบความสำเร็จเรื่องการเงินมากกว่าคนที่รู้น้อยกว่า แต่ในโลกความเป็นจริง ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะเวลาคนเราตัดสินใจในเรื่องเงิน เราไม่ได้ตัดสินใจด้วยความรู้อย่างเดียว แต่เราใช้อารมณ์ความรู้สึกเข้ามาตัดสินใจด้วย ทำนองด้วยกับที่เรารู้ว่า คนไอคิวสูงไม่จำเป็นต้องประสบความสำเร็จในชีวิต หากเขาไม่มีอีคิว ความฉลาดทางอารมณ์ มากำกับด้วย

เมื่อกลางปี 2020 ท่ามกลางการระบาดของโควิดระลอกแรก ผมได้อ่านหนังสือ จิตวิทยาว่าด้วยเงิน The Psychology of Money โดย มอร์แกน เฮาเซิล ตอนนั้นหนังสือฉบับอังกฤษยังไม่ได้ตีพิมพ์ แต่ทางตัวแทนหนังสือได้ส่งมาให้อ่านก่อน เพียงแค่อ่านบทนำ โค้ชหนุ่มกับผมก็ตัดสินใจขอซื้อลิขสิทธิ์มาแปลทันที บทนำของเล่มนี้มีชื่อว่า “การเผยให้เห็นความจริงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดบนโลก” ผู้เขียนเล่าเรื่องของ ริชาร์ด ฟัสโคน ผู้จบจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และจบโท MBA ทำงานเป็นผู้บริหาร Merrill Lynch ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานสูง แต่เมื่อเจอวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2008 เขาก็ต้องล้มละลาย กับ อีกคน โรนัลด์ รี้ด ผู้ทำงานซ่อมรถ และเป็นภารโรงมาตลอดชีวิต โรนัลด์ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและเสียชีวิตในวัย 92 ปี ที่น่าประหลาดใจคือ เขามีความมั่งคั่งสุทธิอยู่ถึง 8 ล้านดอลลาร์ หรือราวๆ 260 ล้านบาท (เขาทำพินัยกรรมไว้ว่า ให้ลูกเลี้ยง 2 ล้านดอลลาร์ ส่วนอีก 6 ล้านดอลลาร์ มอบให้กับโรงพยาบาลและห้องสมุดท้องถิ่น)
โรนัลด์ รี้ด ไม่เคยถูกล็อตเตอรี่ ไม่เคยได้รับมรดกก้อนโต แต่เขาออมเงินจากอาชีพภารโรง และลงทุนในหุ้น จากนั้นก็รอคอยให้เงินทำงานจนมีมูลค่ามากกว่า 8 ล้านดอลลาร์
นี่คือตัวอย่างจริงที่แสดงให้เห็นว่า ในเรื่องของเงินแล้ว ภารโรงผู้ไม่ได้เรียนจบสูง ไม่ได้มีตำแหน่งหน้าที่การงานพิเศษ สามารถเอาชนะผู้บริหารสถาบันการเงินที่จบจากมหาวิทยาลัยอันดับต้น ๆ ของโลกได้ ดังนั้น เมื่อมาถึงเรื่องเงินแล้ว ความรู้ไม่ได้ทำให้ประสบความสำเร็จเสมอไป รู้อะไรไม่สำคัญเท่าทำอย่างไร และการตัดสินใจลงมือทำเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีนั้นเป็นเรื่องที่สอนกันได้ยากยิ่ง
แม้จะสอนกันยาก แต่หากรู้ก่อน เราก็อาจมีสติกำกับไม่ให้พลาดได้ ดังนั้น การได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ที่ผู้เขียนได้สรุปเรื่องสำคัญ 20 ข้อที่ทำให้เกิดพฤติกรรมทางการเงินที่ไม่ดี แล้วเรียกรวมกันว่า จิตวิทยาว่าด้วยเงิน ก็สามารถช่วยให้เราระมัดระวังไม่ให้ทำผิดพลาดเกี่ยวกับเงินได้
กลับมาเรื่องซื้อลิขสิทธิ์ แม้ว่าเราจะตัดสินใจอย่างรวดเร็วที่จะซื้อ แต่ก็มีสำนักพิมพ์อื่นในไทยสนใจเช่นกัน เราจึงต้องสู้ราคา และในที่สุดเราก็ได้ลิขสิทธิ์มา โค้ชหนุ่มก็ได้เลือก หม่อน ธนิน ผู้ทำงานด้านการเงินอยู่แล้ว และเคยมีประสบการณ์การแปลหนังสือซีรีย์ Rich Dad มาหลายเล่ม มาแปลเล่มนี้ เพราะเชื่อว่า สามารถถ่ายทอดเนื้อหามาเป็นภาษาไทยได้อย่างครบถ้วนและกลมกล่อม
หลังจากหนังสือเล่มนี้ในเวอร์ชันภาษาอังกฤษ วางแผง ก็ติดอันดับหนังสือขายดีทันที เมื่อมาในไทย ก็ติดอันดับหนังสือขายดีทั้งคิโนะคุนิยะ และเอเชียบุ๊คส์ ขายดียาวนานข้ามปี จนถึงวันนี้ก็ยังขายดีอยู่
หน้าปกหนังสือ เราตัดสินใจใช้รูปเดียวกับปกฉบับอังกฤษ เพราะเราเชื่อว่า มีนักอ่านที่สนใจเล่มนี้ แต่อยากอ่านภาษาไทย รอคอยอยู่จำนวนมาก ถ้าหน้าปกทำนองเดียวกัน ก็น่าจะช่วยให้หาเล่มนี้เจอง่ายขึ้น โทนสีปกก็เป็นโทนเดียวกับเมืองนอก คือสีเขียว เข้าใจว่า มาจากสีธนบัตรดอลลาร์สหรัฐ แต่พอมาไทย ผมก็คิดว่า ตรงกับคำว่า เขียวเหนี่ยวทรัพย์ ที่กำลังนิยมในบ้านเราพอดี
หนังสือเล่มนี้มีขนาดกำลังดีครับ 272 หน้า อ่านได้เพลิน ๆ ไม่เครียด เพราะผู้เขียนใช้วิธีเล่าเรื่องในการอธิบายประเด็นต่าง ๆ ทำให้อ่านได้ลื่นไหล เรื่องที่เล่าก็ไม่ใช่มีแต่เรื่องเกี่ยวกับการเงิน แต่ยังมีเรื่องอื่นอีก เช่น เรื่องของชายผู้ซึ่งพยายามรักษาโรคซิฟิลิสด้วยไข้มาลาเรีย มาอธิบายเรื่องการตั้งเป้าแบบสมเหตุสมผลแทนที่จะยึดเหตุผล เป็นต้น
ผมขอสรุปปิดท้ายคุณภาพของหนังสือเล่มนี้ ด้วยคำของ The Wall Street Journal ที่เขียนไว้ว่า “หนึ่งในหนังสือการเงินที่ดีที่สุดและสดใหม่ที่สุดในรอบหลายปี”
เล่มนี้พลาดไม่ได้จริง ๆ ครับ
ช่วงนี้ กำลังเปิด พรีออเดอร์หนังสือ “The Psychology of Money จิตวิทยาว่าด้วยเงิน” เริ่มจัดส่งหนังสือ 29 มี.ค. 65 สั่งจองได้ที่:
เว็บไซต์ https://bit.ly/3vsPacb
******************************
เขียนโดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
1 มีนาคม 2022
******************************