กลยุทธ์ดูไฟชายฝั่ง กับ บทเรียนการปฏิรูปในศตวรรษที่ 19 ใครรุ่ง? ใครดับ? : ตอนที่ 3.2 การปฏิรูปของสยามสมัยรัชกาลที่ 5

เมื่อวิกฤติวังหน้าสิ้นสุดลงในปี 1874-75 การเร่งปฏิรูปโดยสมเด็จพระปิยมหาราช ก็ดูเหมือนหยุดชะงักลงชั่วคราว อาจเป็นเพราะในช่วงเวลาหลังจากนั้นเกิดเหตุความไม่สงบในพระราชอาณาจักรหลายแห่ง ทั้งเหตุการณ์จีนฮ่อเข้ามาปล้นเมืองบริเวณเชียงขวางและหลวงพระบาง (ขณะนั้นยังอยู่ภายใต้อาณาจักรสยาม) ในปี 1875-1876, 1877 และอีกครั้งในปี 1883-1887, เหตุจลาจลโดยกลุ่มอั้งยี่จีนที่เป็นกรรมกรเหมืองแร่ในภูเก็ตเมื่อปี 1876 เป็นต้น อีกทั้งในปี 1880 เกิดเหตุที่ทรงโทมนัสเป็นที่สุดเมื่อพระองค์ต้องสูญเสียสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ฯ จากเหตุการณ์เรือพระประเทียบล่มระหว่างเสด็จแปรพระราชฐานไปวังบางปะอิน

หรืออาจเป็นไปได้ว่า พระองค์ทรงเลือกใช้กลยุทธ์ ดูไฟชายฝั่ง (เก๋ออั้นกวนหั่ว 隔岸观火) กลยุทธ์ที่ 9 ใน 36 สุดยอดกลยุทธ์ก็ได้ กลยุทธ์นี้คือ การเฝ้ารออย่างสงบ เพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามเกิดความวุ่นวายแตกแยกภายในเอง ในกรณีนี้ไม่ได้เกิดความแตกแยกของฝ่ายที่คัดค้านการปฏิรูปแต่อย่างใด แต่เป็นการเฝ้ารอเวลาที่กำลังของฝ่ายคัดค้านการปฏิรูปลดลงจนไม่สามารถต่อต้านได้อีก ซึ่งเป็นการเฝ้ารอจนกระทั่ง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ถึงแก่พิราลัยในปี 1882 ซึ่งไม่มีการแต่งตั้งบรรดาศักดิ์ให้ผู้ใดเป็นถึงระดับ “สมเด็จเจ้าพระยา” อีก และต่อมา กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ (วังหน้า) เสด็จทิวงคตในปี 1885 พระองค์ก็ไม่ได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดดำรงตำแหน่งวังหน้าอีก โดยทรงเปลี่ยนเป็นการแต่งตั้ง มกุฎราชกุมาร (Crowd Prince) แทน

เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงมีอำนาจสมบูรณ์ในการบริหารราชการแผ่นดินแล้ว พระองค์ก็ได้ดำเนินการปฏิรูปสยามเข้าสู่ยุคใหม่อย่างมากมาย ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งของพระองค์ในช่วงปลายรัชกาล ว่า

“..ความเปลี่ยนแปลงที่เปลี่ยนไปใน 40 ปีนี้ เหมือนอย่างจะยิ่งกว่าห้าร้อยปี ที่จะได้พึงเปลี่ยนแปลงมาในพระราชพงศาวดารก็ไม่เท่า ด้วยเหตุฉะนี้ เราจึงมาสันนิษฐานว่า การที่เราได้อยู่ในราชสมบัตินานถึง 40 ปี อันประกอบด้วยเหตุการณ์เป็นอันมากนี้ นับว่าเป็นความดีโดยสถานหนึ่ง ซึ่งได้ดำเนินความคิดในการเปลี่ยนแปลงความปกครอง แลการบำรุงแผ่นดินอันเป็นที่รักของเรา โดยบรรทัดฐานอันหนึ่งอันเดียวกัน ให้ดำเนินไปโดยลำดับ…”

ในด้านการเมือง ทรงตั้ง เสนาบดีสภา ในปี 1888 ขึ้นมาเพื่อประชุมหารือราชการแผ่นดินโดยพระองค์เป็นประธานก่อน จนในที่สุด ในปี 1892 ทรงยกเลิกระบบจตุสดมภ์ เวียง วัง คลัง นา ที่ใช้บริหารราชการแผ่นดินมากว่า 400 ปีตั้งแต่สมัยพระบรมไตรโลกนาถ รวมถึงยกเลิกตำแหน่งสมุหนายกและตำแหน่งสมุหพระกลาโหม โดยเปลี่ยนเป็นระบบกระทรวง 12 กระทรวง ได้แก่ มหาดไทย, กลาโหม, ต่างประเทศ, วัง, พระนครบาล, เกษตราพาณิชการ, คลัง, ยุติธรรม, ยุทธนาธิการ, โยธาธิการ, ธรรมการและศึกษาธิการ, มุรธาธร การแบ่งส่วนราชการเช่นนี้ทำให้มีผู้รับผิดชอบบริหารในด้านต่างๆครอบคลุมราชการทุกด้าน โดยเฉพาะการพัฒนาประเทศ มีการแบ่งงานชัดเจน สามารถจัดสรรทรัพยากรได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ที่สำคัญเป็นการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่จบการศึกษาจากต่างประเทศเข้ามามีบทบาทในการบริหารประเทศ ทรงเริ่มดึงอำนาจหัวเมืองต่างๆเข้ามาสู่ส่วนกลางมากขึ้น โดยยกเลิกระบบเมืองเอก-โท-ตรี-จัตวา เปลี่ยนเป็นระบบ มณฑล-เมือง-อำเภอ-ตำบล-บ้าน แทน เพื่อให้ทันต่อการรุกคืบอิทธิพลของตะวันตกที่ต้องการยืดครองดินแดนสยาม, ทรงวางระบบศาลยุติธรรมยุคใหม่ ที่ปูทางไปสู่การยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในเวลาต่อมา

ในด้านเศรษฐกิจ ทรงปฏิรูปการจัดเก็บภาษีอย่างต่อเนื่องโดยเปลี่ยนจากระบบเจ้าภาษีนายอากร มาเป็นระบบราชการเก็บภาษีเอง, ทรงวางระบบจ่ายเงินเดือนข้าราชการ ตามตำแหน่งแน่นอน แทนเงินเบี้ยหวัดแต่เดิม รวมถึงมีบำนาญให้ข้าราชการที่เกษียณแล้ว, ทรงจัดทำงบประมาณแผ่นดินเป็นครั้งแรก เพื่อให้การใช้จ่ายเงินของราชการมีการวางแผนงานล่วงหน้าและเป็นระบบชัดเจน, ทรงจัดการเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินของเอกชนให้ชัดเจนด้วยการออกกฎหมายว่าด้วยโฉนดที่ดิน และตั้ง กรมที่ดิน ดูแลงานโฉนดที่ดิน, ด้านเอกชน มีการซื้อเครื่องจักรอุปกรณ์จากต่างประเทศจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่เป็นเครื่องจักรไอน้ำเพื่อการสีข้าว ที่เรียกว่า โรงสีไฟ ไม่ได้มีโรงงานผลิต อุตสาหกรรมต้นน้ำ ส่วนการเหมืองแร่ ก็ยังเป็นการให้สัมปทานกับบริษัทต่างประเทศทั้งนั้น จะว่าไป นายทุนที่เกิดขึ้นในยุคนี้ล้วนแต่เป็นนายทุนแบบนายหน้าทั้งสิ้น คือมีลักษณะซื้อมาขายไปเป็นส่วนใหญ่

ในด้านคมนาคมและสาธารณูปโภค ทรงจัดให้มีการไปรษณีย์​โทรเลข​ โทรศัพท์, สร้างทางรถไฟเชื่อมต่อหัวเมือง, ขุดคลองเพื่อขยายเมืองออกไป เพิ่มการขนส่งสินค้า และส่งเสริมการชลประทาน, สร้างถนน, ให้สัมปทานบริษัทเอกชนทำกิจการรถราง, ตั้งกรมศุขาภิบาลเพื่อจัดการขยะมูลฝอย และริเริ่มการประปาเพื่อหาน้ำสะอาดให้ประชาชน

ในด้านสังคม ทรงยกเลิกระบบไพร่ เปลี่ยนมาเป็นการจ้างข้าราชการแทน ทำให้ราษฎรมีเวลาทำมาหากินให้กับตนเองได้เต็มที่ ก่อให้เกิดผลดีทางเศรษฐกิจอย่างยิ่ง, ทรงเลิกทาส, ทรงเปลี่ยนระบบปฏิทินจันทรคติ มาเป็นปฏิทินสุริยคติ เพื่อให้สอดคล้องกับสากล, ทรงยกเลิกการมอบคลานเข้าเฝ้า และให้จัดสถานที่ทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังพระราชนิพนธ์ตอนหนึ่งว่า “วันนี้เปลี่ยนธรรมเนียมออฟฟิศใหม่ ใช้ยืนและนั่งเก้าอี้อย่างฝรั่ง”

โดยสรุปแล้ว การปฏิรูปแผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ทำให้สยามรอดพ้นจากการล่าอาณานิคมของตะวันตกมาได้ ไม่ตกเป็นอาณานิคมอย่างประเทศเพื่อนบ้านอย่าง พม่า เวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชา และสามารถดำรงความเป็นประเทศชั้นนำของภูมิภาค ก็เพราะว่า การปฏิรูปนั้นดำเนินการโดยผู้มีอำนาจสูงสุด มีวิสัยทัศน์ แม้ในตอนแรกท่านจะไม่มีอำนาจเต็ม แต่ท่านก็อดทนรอจนสามารถรวบรวมอำนาจเพียงพอต่อการปฏิรูป อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการปฏิรูปเมจิของญี่ปุ่น พบว่า มีความแตกต่างกัน โดยญี่ปุ่นเป็นการปฏิรูปแบบนองเลือด มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม และขึ้นเป็นมหาอำนาจใหม่แห่งเอเชีย ส่วนสยามปฏิรูปอย่างสงบ ค่อยเป็นค่อยไป ในเกือบทุกด้าน แต่ไม่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้สยามยังคงเป็นประเทศเกษตรกรรม ไม่ได้กลายเป็นประเทศอุตสาหกรรม ไม่ได้มีอุตสาหกรรมต้นน้ำที่จะทำให้ประเทศผู้ผลิตไปได้ มีแต่นายทุนใหม่ประเภทซื้อมาขายไปเกือบทั้งนั้น

*******************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
23 มกราคม 2561
*******************************