กลยุทธ์พลิกฟื้นธุรกิจของกุชชี่

เมื่อกลางทศวรรษ 1990 โดเมนิโก เดอโซเล เข้ารับตำแหน่ง CEO ของ Gucci เขาต้องตัดสินใจว่าจะกอบกู้แบรนด์หรูแห่งนี้อย่างไร ระหว่างเดินหน้ากลยุทธ์ “รสนิยม ไม่ใช่กระแสนิยม” ต่อไป หรือต้องหากลยุทธ์อื่นที่จะช่วยให้บริษัทพลิกฟื้นกลับมายิ่งใหญ่กว่าเดิม

กุชชี่ (Gucci) แบรนด์สินค้าหรูหราระดับโลก ก่อตั้งขึ้นที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เมื่อปี 1923 เติบโตขึ้นมาด้วยคุณภาพของสินค้าที่เป็นเลิศและฝีมือการทำที่ประณีต ประสบความสำเร็จในอิตาลี และขยายไปทั่วโลก การเติบโตพุ่งทะยานในช่วงทศวรรษ 1970 เหล่าคนดังชั้นนำทั่วโลกต่างนิยมใช้สินค้าแบรนด์นี้ ไม่ว่าจะเป็น เจ้าหญิงเกรซ เคลลี และโซเฟีย ลอเรน ดาราชั้นนำ ต่างก็ถือกระเป๋ากุชชี่เสมอ หรือ ควีนอลิซาเบธแห่งอังกฤษ และเอเลนอร์ รูสเวลต์ อดีตสตรีหมายเลข 1 ของสหรัฐอเมริกา ก็ชื่นชอบร่มกุชชี่ ทำให้กุชชี่กลายเป็นสัญลักษณ์ของสถานะทางสังคมชั้นสูง เป็นที่ปรารถนาของสตรีทั้งหลาย ดังคำพูดของประธานคนที่สอง อัลโด กุชชี่ ที่ว่า “คุณภาพจะยังอยู่ในความทรงจำ แม้ว่าราคาจะถูกลืมเลือนไปแล้ว” หากเราจะเปรียบเทียบกับแบรนด์หรูคู่แข่งแล้ว กุชชี่ก็อยู่ในระดับสูงสุดเช่นเดียวกับ แอร์เมส

แต่ในช่วงปลายทศวรรษ 1970 จนถึงต้นทศวรรษ 1980 เกิดความขัดแย้งในครอบครัวกุชชี่ ถึงขั้นลูกชายฟ้องว่าพ่อโกงภาษี จน อัลโด กุชชี่ ประธานกุชชี่ต้องติดคุกที่สหรัฐอเมริกา ระหว่างที่ทะเลาะกันในครอบครัว แบรนด์กุชชี่ก็ตกต่ำลง เพราะผู้บริหารได้ขายลิขสิทธิ์การใช้แบรนด์ไปให้สินค้ากลาดเกลื่อนไปหมด จนมีผลิตภัณฑ์ในชื่อ Gucci ถึง 22,000 ชนิด ไม่ว่าจะเป็น รองเท้า ไพ่ ขวดเหล้าวิสกี้ จนทำให้กุชชี่กลายเป็นแบรนด์ราคาถูกและเกร่อไปหมด

กลางทศวรรษ 1980 มอริซิโอ กุชชี่ ทายาทคนหนึ่งของตระกูล ผู้มีหน้าตาหล่อเหลา บุคลิกมีเสน่ห์ ก็ได้ขึ้นเป็นประธานบริษัท พร้อมซื้อหุ้นจากคนอื่นๆในตระกูลได้สำเร็จ เขาได้ประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ทันทีว่า “กุชชี่เปรียบได้กับ รถแข่งชั้นเลิศระดับเฟอรารี่ แต่ถูกใช้งานเหมือนกับ รถบ้านคันเล็ก ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป กุชชี่จะมีคนขับคนใหม่ และด้วยเครื่องยนต์ ชิ้นส่วน และกลไกที่เหมาะสม เราจะคว้าชัยในการแข่งขัน” กุชชี่จะนำเสนอ “รสนิยม ไม่ใช่กระแสนิยม” เพื่อสร้างสรรค์สินค้าที่ “คุณจะไม่โยนทิ้งหลังสิ้นสุดฤดูกาล” “ครั้งหนึ่งการเป็นเจ้าของกุชชี่ถือเป็นสิทธิพิเศษ และเราจะทำให้มันเป็นเช่นนั้นอีกครั้ง”

ด้วยวิสัยทัศน์ที่น่าตื่นตาตื่นใจ ผนวกกับเสน่ห์แบบหนุ่มอิตาลีของมอริซิโอ ทั้งนายธนาคาร ผู้ถือหุ้น และผู้เกี่ยวข้อง ต่างก็เชื่อว่า มอริซิโอสามารถนำความยิ่งใหญ่กลับมาสู่กุชชี่ได้แน่นอน มอริซิโอจึงเริ่มดำเนินกลยุทธ์ตามวิสัยทัศน์นี้ทันที เขาลดจำนวนสินค้าที่ได้รับสิทธิให้ใช้ชื่อ Gucci จาก 22,000 ชนิด เหลือเพียง 7,000 ชนิด, ลดจำนวนแบบกระเป๋าถือจาก 350 แบบ เหลือ 100 แบบ, ปิดร้านกว่า 800 สาขาจาก 1,000 สาขา ฯลฯ ในด้านการตลาด มอริซิโอได้ให้ สปอนเซอร์ทีมชาติอิตาลีในกีฬาแข่งเรือใบ, เช่าอาคารหรูหราในมิลานเป็นสำนักงานใหญ่, ซื้อคฤหาสน์ยุคศตวรรษที่ 16 ทำเป็นศูนย์ฝึกอบรมพนักงาน ฯลฯ ในด้านสินค้า เขาได้ดึง ดอว์น เมลโล สุดยอดฝีมือจากธุรกิจค้าปลีกสินค้าหรู มาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ เปิดตัวสินค้ารุ่นใหม่ ที่นำเสนอ “รสนิยม ไม่ใช่กระแสนิยม”

อย่างไรก็ตาม ผลจากการดำเนินงานตามกลยุทธ์ของมอริซิโอ กลับกลายเป็นว่า กุชชี่ต้องขาดทุนมากมายยิ่งกว่าเดิม ในช่วงปี 1991-1993 กุชชี่ขาดทุนรวมกันถึง 102 ล้านดอลลาร์ เฉพาะปี 1992 ปีเดียว ขาดทุนถึง 50 ล้านดอลลาร์จากยอดขาย 200 ล้านดอลลาร์ จนผู้ถือหุ้นที่เข้ามาลงทุนอย่าง อินเวสต์คอร์ป หมดความอดทน จึงซื้อหุ้นจากมอริซิโอมาทั้งหมด และเปลี่ยนผู้บริหารครั้งใหญ่ เมื่อเดือนสิงหาคม 1993 นี่คือประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของกุชชี่ ที่ไม่มีคนในตระกูลกุชชี่ถือหุ้นหรือบริหารบริษัทอีกต่อไป

โดเมนิโก เดอ โซเล
โดเมนิโก เดอ โซเล

อินเวสต์คอร์ป ตัดสินใจแต่งตั้ง โดเมนิโก เดอ โซเล (Domenico De Sole) ขึ้นเป็น CEO คนใหม่ เดอโซเลเริ่มงานด้วยการเรียกตัวผู้บริหารทั่วโลกมาประชุมกันที่ฟลอเรนซ์เช่นเดียวกับที่มอริซิโอเคยทำ แต่ครั้งนี้ เดอโซเลไม่ได้เรียกมาประกาศวิสัยทัศน์ แต่เขาเรียกมาเพื่อรับฟังข้อมูล เขาต้องการแก้ปัญหา “ด้วยข้อมูล ไม่ใช่หลักการ” เขาต้องการเดินหน้าด้วยข้อมูลของจริง จากหน้างานจริง ไม่ใช่สัญชาตญาณ หลังจากรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลแล้ว เขาพบว่า ยอดขายของกุชชี่ไม่ได้มาจากสินค้ารสนิยมแบบที่มอริซิโอวาดฝันไว้ แต่มาจากสินค้ากระแสนิยมที่ลูกค้าซื้อแล้วเปลี่ยนตามฤดูกาล นอกจากนี้ ด้วยภาวะขาดทุนติดต่อกันหลายปี เดอโซเลไม่มีงบประมาณมากพอที่จะทำตลาดเพื่อยกระดับแบรนด์กลับไปเทียบเท่าเดิมเคียงข้างแอร์เมส

ในที่สุด เดอโซเลตัดสินใจเด็ดขาดว่า จะไม่ทวงคืนตำแหน่งทางการตลาดแบรนด์หรูกลับมาเช่นเดิมแล้ว แต่เขาจะพาแบรนด์ กุชชี่ให้อยู่ในระดับแบรนด์หรูระดับกลางค่อนข้างสูง ใกล้เคียงกับ ปราดา และหลุยส์ วิตตอง เขาตั้งเป้าว่า “กุชชี่จะเป็นผู้นำแฟชั่นที่มอบสินค้าคุณภาพสูงในราคาที่คุ้มค่า” เมื่อเขามุ่งเป้าหมายไปที่ลูกค้ากระแสนิยม เขาก็แต่งตั้ง ทอม ฟอร์ด (Tom Ford) นักออกแบบวัย 32 ปีขึ้นเป็นผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ เพื่อนำเสนอสไตล์ใหม่ของกุชชี่ สินค้าที่น่าตื่นเต้นมากขึ้น นำสมัยมากขึ้น ออกใหม่ทุกฤดูกาล, ตกแต่งร้านสาขาใหม่ให้เข้ากับสไตล์ใหม่, เพิ่มงบโฆษณาขึ้นเท่าตัว ผลักดันทอม ฟอร์ด ขึ้นเป็นหน้าตาและตัวแทนของกุชชี่, สร้างสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์ชั้นเยี่ยมไม่กี่ราย สนับสนุนให้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อลดต้นทุนโดยรวม,​ยกเครื่องโครงสร้างต้นทุนครั้งใหญ่ และลดราคาสินค้ายกแผง 30% เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกถึงความคุ้มค่าอย่างชัดเจน

เพียงสามปีที่เดอโซเลขึ้นเป็น CEO กุชชี่ก็ได้รับตำแหน่ง บริษัทที่ยอดเยี่ยมแห่งปี และตลอดห้าปี (1995-2000) กุชชี่มีรายรับเพิ่มขึ้น 36% กำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 54% สร้างผลตอบแทนจากเงินลงทุนเฉลี่ย 34% (สูงกว่าอุตสาหกรรมที่อยู่ราว 10% เท่านั้น) มูลค่าของบริษัทเพิ่มขึ้นถึง 20 เท่า โดยคำนวณจากตอนกลางทศวรรษ 1990 ที่อินเวสต์คอร์ปเสนอขายกุชชี่ให้กับ LVMH ในราคา 400 ล้านดอลลาร์ แล้วถูกปฏิเสธ แต่พอปี 1999 มีข่าวว่า LVMH เสนอซื้อกุชชี่ทั้งกิจการที่ 8,000-9,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่ง เดอโซเล ไม่ต้องการขายหุ้นให้คู่แข่ง เขาจึงติดต่อให้กลุ่ม Pinault-Printemps-Redoute เข้ามาซื้อหุ้น 40% ในราคา 3,000 ล้านดอลลาร์แทน

สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากกรณีศึกษา “กุชชี่” นี้คือ นักกลยุทธ์ต้องคิดกลยุทธ์มาจากข้อมูลจริงๆ ไม่ใช่ใช้สัญชาตญาณตัวเองอย่างเดียว ต้องลงไปคลุกฝุ่นติดดิน ไม่ใช่วางแผนอยู่บนหอคอยงาช้าง และเมื่อตัดสินใจเลือกกลยุทธ์แล้ว ก็ต้องดำเนินกลยุทธ์นั้นไปทุกองคาพยพของบริษัทเพื่อผลักดันให้กลยุทธ์นั้นนำพาบริษัทไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้

************************************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
31 สิงหาคม 2558
************************************************

ข้อมูลจาก หนังสือ The Strategist โดย Cynthia A. Montgomery บทที่ 5: Turn Purpose into Reality

เมื่ออภิมหาเศรษฐีจีนเข้าซื้อกิจการฮอลลีวูด ตอน 2

นอกจากการเข้าไปซื้อโรงหนังอันดับ 2 ของอเมริกาแล้ว หวังเจี้ยนหลิน มหาเศรษฐีอันดับสองของจีน เจ้าของเครือต้าเหลียนหวันต้า (Dalian Wanda)  ยังได้เข้าไปลงทุนสร้างหนังฮอลลีวูด โดยร่วมทุนกับ Weinstein สตูดิโอหนังฮอลลีวูด สร้างหนังเรื่อง Southpaw นำแสดงโดย เจค กิลเลนฮาลล์, ฟอเรสท์ วิทเทคเกอร์ และราเชล แมคอดัมส์ ด้วยเงินลงทุนจากฝั่งจีนราว 30 ล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นเงินลงทุนด้านโปรดักชั่นส์ ส่วน Weinstein ลงทุนด้านการตลาดอีก 35 ล้านดอลลาร์ฯ เข้าฉายในสหรัฐอเมริกาเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทำเงินในสหรัฐฯไปได้ 32.8 ล้านดอลลาร์

ChinaHollywood

การลงทุนครั้งนี้ของหวังเจี้ยนหลิน ไม่ได้หวังเพียงแค่ผลตอบแทนทางการเงิน แต่เขาได้ส่งทีมงานเข้ามาเรียนรู้การผลิตภาพยนตร์จากฮอลลีวูด ตั้งแต่ โปรดักชั่นส์ โพสต์โปรดักชั่นส์ การตลาด ทุกๆขั้นตอน ในขณะเดียวกัน ฝ่าย Weinstein เองก็คาดหวังว่า กลุ่มต้าเหลียนหวันต้าจะช่วยให้หนังเรื่องนี้ได้รับการจัดจำหน่ายในจีนอย่างดี เพราะในจีนนั้น รัฐบาลอนุญาตให้ภาพยนตร์จากต่างประเทศเข้าฉายเพียงปีละ 34 เรื่องเท่านั้น แต่ตลาดภาพยนตร์ของจีนมีขนาดเป็นอันดับสองของโลก รองจากอเมริกาประเทศเดียวเท่านั้น ทำให้การร่วมทุนครั้งนี้เกิดประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย สร้าง Synergy อย่างชัดเจน

ไม่เพียงแต่กลุ่มต้าเหลียนหวันต้าของหวังเจี้ยนหลินเท่านั้น ที่สนใจเข้ามาลงทุนในฮอลลีวูด ยังมีกลุ่มทุนจีนอีกหลายกลุ่มเข้ามาลงทุน เช่น กลุ่ม Alibaba ของแจ็ค หม่า มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของจีน ก็ได้ร่วมลงทุนในภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ Mission Impossible Rogue Nation ที่นำแสดงโดย ทอม ครูส (แต่ไม่ได้เปิดเผยตัวเลขการลงทุน) ซึ่งคาดว่าจะทำเงินในจีนได้สูงถึง 250 ล้านดอลลาร์ หรือการที่ China Film Group ได้เข้าไปลงทุนบางส่วนในภาพยนตร์ Pixels ที่นำแสดงโดย อดัม แซนด์เลอร์ ฯลฯ

จะเห็นว่า กลยุทธ์การรุกอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮอลลีวูดของจีนครั้งนี้ ไม่ได้ไปเพียงบริษัทใดบริษัทหนึ่ง แต่ไปกันหลายๆกลุ่ม เป็นการแยกกันเดิน รวมกันตี เพื่อทำให้จีนกลายเป็นยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของโลก ไม่ใช่เพียงแค่เพราะว่ามีตลาดคนดูที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างเดียว แต่หากกลุ่มทุนจีนสามารถเรียนรู้การสร้างภาพยนตร์จากฮอลลีวูดได้จริงๆแล้วละก็ จีนก็จะสามารถสร้างหนังที่ถ่ายทอดวัฒนธรรมของจีนไปทั่วโลกได้ เป็นการใช้อำนาจแบบนุ่มนวล (Soft Power) ที่สหรัฐอเมริกาทำได้สำเร็จจนกลายเป็นมหาอำนาจของโลก ทั้งทางทหาร เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม จีนก็คงเล็งเห็นเรื่องนี้เช่นเดียวกัน จึงผลักดันให้ตนเองเป็นมหาอำนาจของโลกทางวัฒนธรรมให้ได้ผ่านอุตสาหกรรมภาพยนตร์นี้เอง ซึ่งจะทำสำเร็จหรือไม่ เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์

*********************************
เขียนโดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
6 สิงหาคม 2558
*********************************

 

 

เมื่ออภิมหาเศรษฐีจีนเข้าซื้อกิจการฮอลลีวูด

เมื่อปี 2012 หวังเจี้ยนหลิน อภิมหาเศรษฐีชาวจีนอันดับสองของจีน (อันดับหนึ่งคือ แจ็ค หม่า เจ้าของอาลีบาบา) เจ้าของกิจการอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่กลุ่ม Dalian Wanda จากจีน รวมถึงเป็นเจ้าของกิจการโรงภาพยนตร์ที่ครองส่วนแบ่งตลาด 14% ของจำนวนโรงภาพยนตร์ทั้งหมดในจีน ได้ทุ่มเงิน สองพันหกร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เข้าซื้อกิจการ AMC Entertainment Holding Inc. ซึ่งเป็นเจ้าของโรงภาพยนตร์ที่ใหญ่อันดับสองในสหรัฐอเมริกา

WangAMCMGMLionsGateหวังให้สัมภาษณ์เมื่อต้นปีกับทาง Bloomberg ว่า เขาอยู่ระหว่างการเจรจาซื้อหุ้นส่วนใหญ่ใน Lions Gate Entertainment Corp. สตูดิโอฮอลลีวู้ดผู้สร้างหนังเรื่อง The Hunger Games และเขากระตือรือร้นที่จะลงทุนใน MGM Inc. ผู้สร้างหนังชุดเจมส์บอนด์ และ Hobbit อีกด้วย เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าซื้อสตูดิโอใหญ่ของฮอลลีวู้ด เขาได้ซื้อที่ดินบน Wilshire Boulevard ย่าน Beverly Hills เป็นเงิน หนึ่งพันสองร้อยล้านดอลลาร์ฯ เพื่อจะสร้างสำนักงานใหญ่สำหรับอาณาจักรภาพยนตร์ของเขาในอเมริกา เขาบอกว่า มีสตูดิโอฮอลลีวู้ดหลายแห่งเข้ามาเสนอขายเขา แต่เขาสนใจเฉพาะรายใหญ่ และเขาต้องการเข้าควบคุมกิจการด้วย

ปัจจุบัน ยอดขายตั๋วหนังในจีนเติบโตปีละกว่า 40% โดยในปี 2014 ประมาณว่ามียอดขายราว สี่พันเก้าร้อยล้านดอลลาร์ฯ ขณะที่ยอดขายตั๋วหนังในสหรัฐอเมริกาในปี 2014 โตเพียง 1% เท่ากับ หนึ่งหมื่นเก้าร้อยล้านดอลลาร์ฯ ถ้าแนวโน้มเป็นอย่างนี้ต่อไป หวังเชื่อว่า จีนจะแซงหน้าอเมริกาในฐานะตลาดภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดของโลกภายในปี 2017 หรืออีก 2 ปีข้างหน้าเท่านั้นเอง กลยุทธ์การเข้าซื้อกิจการสตูดิโอภาพยนตร์ในฮอลลีวูดก็เพื่อที่เขาจะได้มีความเชี่ยวชาญ, คอนเทนต์ และช่องทางจัดจำหน่ายที่จำเป็นในการทำให้เขาสามารถเอาชนะในตลาดภาพยนตร์นี้ได้

กลยุทธ์การเข้าซื้อสตูดิโอฮอลลีวูดโดยต่างชาตินั้น ญี่ปุ่นเคยทำมาแล้วในทศวรรษ 80 ขณะนั้นกระแสความสำเร็จของเศรษฐกิจญี่ปุ่นแรงมาก จนคนอเมริกันกลัวว่าญี่ปุ่นจะแซงอเมริกาในเวลาไม่นั้น ครั้งนั้น โซนี่ จากญี่ปุ่น ได้เข้าซื้อกิจการสตูดิโอโคลัมเบียพิคเจอร์ส แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น Sony Pictures ครั้งนั้นโซนี่ใช้เงินไป สี่พันเก้าร้อยล้านดอลลาร์ฯ แต่ต่อมา เมื่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นตกสู่ภาวะชะงักงัน กระแสญี่ปุ่นครองโลกจึงซาลงไป จนกระทั่งไม่กี่ปีที่ผ่านมา กระแสจีนครองโลกก็แรงขึ้นมา จนมาถึงปัจจุบัน

คงต้องติดตามกันต่อไปว่า จีนจะสามารถเข้ายึดครองตลาดภาพยนตร์ ซึ่งถือว่าเป็นการใช้อำนาจแบบนุ่มนวล เพื่อส่งอิทธิพลต่อคนในโลกอย่างยิ่ง ได้หรือไม่? ผมเองเชื่อว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอน เพราะเรื่องอย่างนี้มันไม่ได้ทำได้เพียงเพราะว่ามีเงินเยอะเท่านั้น แต่ต้องมีบุคลากรที่มีความสามารถ, วัฒนธรรมองค์กรที่ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์, และที่สำคัญต้องมีการบริหารเชิงกลยุทธ์ที่เยี่ยมยอด จึงจะเอาชนะฮอลลีวูด ที่ถือว่าเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดต่อคนทั้งโลกได้

*********************************
เขียนโดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
Celestial Strategist
5 สิงหาคม 2558
*********************************

 

 

จาก ปัจจัยชี้ขาดชัยชนะห้าประการของ ซุนวู สู่ Five Competitive Forces ของพอร์เตอร์

เป็นเรื่องน่าสนใจอย่างยิ่งเมื่อตำราพิชัยสงครามเมื่อกว่า 2,500 ปีก่อนของจีน กล่าวถึงปัจจัยชี้ขาดชัยชนะห้าประการ ขณะเดียวกัน เมื่อสามสิบกว่าปีก่อน ปรมาจารย์กลยุทธ์ธุรกิจของอเมริกา ก็บอกว่า มีพลังห้าประการที่กำหนดกลยุทธ์ (The Five Competitive Forces that Shape Strategy) แล้วเลข 5 ของทั้งสองท่านมีความเหมือนหรือความต่างกันอย่างไร

778px-Bamboo_book_-_binding_-_UCR

เมื่อกว่า 2,500 ปีก่อน ซุนวู แม่ทัพใหญ่แห่งแคว้นอู๋ ผู้นำทัพที่มีจำนวนทหารและทรัพยากรด้อยกว่าไปพิชิตแคว้นฉู่ มหาอำนาจในยุคนั้น ได้เขียนตำราพิชัยสงคราม 13 บท ที่ถือว่าเป็นสุดยอดของตำราพิชัยสงครามตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ในบทแรก ซุนวูบอกว่า การสงคราม (หรือการแข่งขัน ในความหมายปัจจุบัน) เป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องความเป็นความตาย ไม่ศึกษาให้ถ่องแท้ไม่ได้  มีปัจจัยสำคัญห้าประการที่จะชี้ขาดชัยชนะ ได้แก่

  1. วิถี ซึ่งจะนำพาให้ประชาชนร่วมเป็นร่วมตายไปกับประมุขของรัฐ หากเราจะประยุกต์มาใช้กับการบริหารธุรกิจปัจจุบัน เราสามารถใช้คำว่า ภารกิจ (Mission) และ วิสัยทัศน์ (Vision) ได้ เพราะเป็นสิ่งที่จะทำให้คนในองค์กรร่วมแรงร่วมใจต่อสู้กับการแข่งขันทางธุรกิจได้
  2. ฟ้า ซึ่งกำหนดกลางวัน-กลางคืน, ร้อน-หนาว, และการเปลี่ยนแปลงแห่งฤดูกาล ในยุคปัจจุบัน ปัจจัยข้อนี้คือ สภาวะแวดล้อมและจังหวะเวลา (Timing) ของธุรกิจ เศรษฐกิจ การเมือง และต่างๆ ที่ส่งผลต่อการแข่งขัน
  3. ดิน หมายถึง ตำแหน่งที่ตั้งของสมรภูมิ ใกล้หรือไกล มั่นคงหรือท้าทาย ที่ราบหรือที่ลาดชัน ในยุคปัจจุบัน ย่อมหมายถึง ตำแหน่งที่ตั้งของธุรกิจ
  4. แม่ทัพ แม่ทัพต้องประกอบด้วยคุณลักษณะ 5 ประการ คือ ฉลาด เชื่อถือได้ เมตตา กล้าหาญ และเข้มงวด ในยุคปัจจุบันย่อมหมายถึง ผู้บริหาร ซึ่งต้องมีคุณลักษณะทั้ง 5 ประการที่ว่านี้เช่นกัน
  5. วินัย หมายถึง วินัยกองทัพ, การจัดทัพ และการควบคุมจัดส่งยุทโธปกรณ์ ในยุคปัจจุบัน เราควรใช้คำว่า วัฒนธรรมองค์กร

ซุนวูบอกว่า แม่ทัพที่รู้และเข้าใจปัจจัยทั้งห้าประการนี้ ย่อมมีชัยชนะ แม่ทัพที่ไม่รู้ก็จะพ่ายแพ้

ข้ามเวลามายังปี 1979 ปีนั้นเป็นปีที่ศาสตราจารย์ ไมเคิล อี. พอร์เตอร์ แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาดได้ตีพิมพ์บทความชื่อว่า How Competitive Forces Shape Strategy ลงในนิตยสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนมีนาคม 1979 บทความนั้นได้นำเสนอการวิเคราะห์โครงสร้างอุตสาหกรรมด้วยโมเดลพลังการแข่งขันห้าประการ (The Five Competitive Forces Model) โมเดลนี้ได้รับความสนใจและนำไปใช้อย่างมากมายจนถือได้ว่าเป็นโมเดลที่นักบริหารเชิงกลยุทธ์ทุกคนต้องรู้จัก และใช้ในการวิเคราะห์โครงสร้างการแข่งขันของอุตสาหกรรม
FiveForces

 

พลังห้าประการนั้น ประกอบด้วย

  1. การคุกคามจากคู่แข่งขันรายใหม่
  2. อำนาจต่อรองของซัพพลายเออร์
  3. อำนาจต่อรองของลูกค้า
  4. การคุกคามจากสินค้าทดแทน
  5. การแข่งขันระหว่างคู่แข่งขันในปัจจุบัน

พอร์เตอร์บอกว่า โดยเนื้อแท้แล้ว หน้าที่ของนักกลยุทธ์ก็คือทำความเข้าใจและรับมือกับการแข่งขัน แต่การทำความเข้าใจการแข่งขันนั้น จะต้องเข้าใจโครงสร้างของอุตสาหกรรมก่อน ด้วยการวิเคราะห์พลังการแข่งขันทั้งห้าประการ นักกลยุทธ์ธุรกิจผู้เข้าใจว่าพลังที่ส่งผลต่อการแข่งขันไม่ได้มาจากคู่แข่งในปัจจุบันเพียงอย่างเดียว ก็จะพบพลังจากด้านอื่นๆ และสามารถกำหนดกลยุทธ์การแข่งขันที่นำชัยชนะมาสู่องค์กรได้

จากที่ว่ามา แม้ว่าปัจจัยชี้ขาดห้าประการของซุนวูกับพลังการแข่งขันห้าประการของพอร์เตอร์นั้น ไม่ได้มีเนื้อหาเหมือนกันในแต่ละข้อ เพราะซุนวูพูดถึงปัจจัยทั้งภายในและภายนอกที่จะชี้ขาดชัยชนะ ส่วนพอร์เตอร์นั้นพูดถึงการวิเคราะห์โครงสร้างอุตสาหกรรมด้วยพลังห้าประการ ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก และสอดคล้องกับข้อ 2 ฟ้า และข้อ 3 ดินของซุนวู  ส่วนปัจจัยภายในนั้น พอร์เตอร์ได้พูดถึงในอีกเรื่องก็คือ ความสามารถในการแข่งขัน (Competitive Advantage) แต่ทั้งสองคนต่างก็กล่าวตรงกันว่า กลยุทธ์การเอาชนะจะต้องมีการศึกษาทำความเข้าใจสภาวะการแข่งขันให้ถ่องแท้เสียก่อนจึงจะประสบความสำเร็จได้

********************************
เขียนโดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
Celestial Strategist
3 สิงหาคม 2558
********************************

ภาพประกอบ

  • ตำราพิชัยสงคราซุนวู ฉบับไม้ไผ่ จาก “Bamboo book – binding – UCR” by vlasta2, bluefootedbooby on flickr.com
  • แผนภูมิ The Five Forces That Shape Industry Competition จาก บทความ The Five Competitive Forces That Shape Strategy โดย Michael E. Porter ในวารสาร Harvard Business Review ฉบับ January 2008

กลยุทธ์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้า ตอน 2

ตอนที่ 1 ผมได้เขียนเล่าเหตุการณ์นับจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้จนมาถึงการมีพระรัตนตรัยครบทั้งสามประการ โดยทิ้งท้ายว่า “..พระพุทธศาสนา..จำเป็นต้องมี อุบาสก อุบาสิกา มาด้วยจึงจะมีกำลังพร้อมจะขยายพุทธจักรออกไป แล้วพระพุทธองค์ทรงดำเนินกลยุทธ์อย่างไร..”

Chadil3

การได้อุบาสกที่ถึงพระรัตนตรัยคนแรกนั้นเป็นเรื่องบังเอิญ ไม่ใช่การวางแผน แต่ข้อคิดที่ได้จากพุทธประวัติตอนนี้คือ บางครั้งแม้เราไม่ได้วางแผนไว้ แต่เมื่อโอกาสเข้ามา เราต้องมีความพร้อมที่จะสร้างประโยชน์จากโอกาสนั้นเต็มที่ เรื่องตอนนี้ก็คือ มีลูกเศรษฐีคนหนึ่งชื่อ ท่านยสะ เบื่อหน่ายความฟุ้งเฟ้อวุ่นวายในบ้าน จึงเดินเข้ามาในป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พร้อมกับบ่นว่า ที่นี่ขัดข้อง ที่นี่วุ่นวาย ไปตลอดทาง แล้วพบกับพระพุทธเจ้าโดยบังเอิญ พระองค์จึงตรัสว่า ที่นี่ไม่ขัดข้อง ที่นี่ไม่วุ่นวาย ท่านยสะจึงหยุดและนั่งฟัง พระพุทธเจ้าจึงสอน อนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ เมื่อฟังจบ ท่านยสะก็มีดวงตาเห็นธรรม ฝ่ายเศรษฐีบิดาของท่านยสะได้ออกมาตามหาบุตรชายจนพบ และพระพุทธเจ้าจึงได้สอน อนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ อีกครั้งให้ท่านฟัง เมื่อฟังจบ ท่านก็มีดวงตาเห็นธรรม และเปล่งวาจาแสดงตนขอนับถือพระรัตนตรัย (พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์) เป็นที่พึ่งตลอดชีวิต ท่านจึงเป็น อุบาสกคนแรกที่เปล่งวาจาถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ฝ่ายท่านยสะเมื่อฟังคำสอนอีกรอบ ก็ได้ทบทวนและสำเร็จเป็นพระอรหันต์ จึงขอบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา บิดาของท่านยสะจึงนิมนต์ไปฉันที่บ้านของท่าน เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปฉันที่บ้านเศรษฐี ท่านก็ได้สอน อนุปุพพิกถา และอริยสัจ ๔ เช่นเดียวกัน ทำให้มารดาและภรรยาเดิมของท่านยสะ ได้ดวงตาเห็นธรรม และแสดงตนเป็นอุบาสิกาผู้ถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต เป็นอุบาสิการสองท่านแรกในพระพุทธศาสนา การมีครบทั้งพระสงฆ์ อุบาสก และอุบาสิการ ถือว่าทีมงานในการเผยแผ่พระศาสนามีครบทีมแล้วนั่นเอง

มีข้อสังเกตในการสอนของพระพุทธเจ้าว่า ตอนที่สอนปัญจวัคคีย์ซึ่งเป็นนักบวชอยู่แล้ว ท่านสอนเริ่มจาก อริยสัจ ๔ เลย เพราะท่านเหล่านั้นเป็นนักบวชมีความต้องการจะหลุดพ้นทุกข์อยู่แล้ว มีความพร้อมที่จะฟังคำสอนระดับแก่นได้เลย ส่วนคราวที่สอนชาวบ้านนั้น พระองค์ทรงเริ่มจาก อนุปุพพิกถา ซึ่งเป็นคำสอนเริ่มตั้งแต่เรื่อง ทาน, ศีล, สวรรค์, โทษของกาม, ประโยชน์ของการออกจากกาม เมื่อผู้ฟังพร้อมแล้ว พระองค์จึงสอนอริยสัจ ๔ ที่เป็นธรรมะขั้นสูงต่อไป อันนี้ไม่ใช่เรื่องกลยุทธ์ แต่เป็นเทคนิคการสอนของพระพุทธเจ้า ที่ไม่ได้เอาแต่สอนสิ่งที่เราอยากสอน แต่ประเมินความพร้อมของผู้ฟังด้วย

จากนั้น เพื่อนๆของท่านยสะก็ได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้าและได้ออกบวชตามอีก ๕๔ คน โดยต่างก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น ถึงตอนนี้ พระพุทธเจ้าท่านประเมินแล้วว่า พระศาสนามีกำลังที่จะเผยแผ่ออกไปยังมหาชน ท่านจึงตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ครั้งสำคัญอีกครั้ง โดยบอกกับพระอรหันต์ทั้ง ๖๑ องค์ (ปัญจวัคคีย์ ๕ รวมกับท่านยสะและเพื่อนอีก ๕๔) ว่า ท่านทั้งหลาย จงออกจาริกไปประกาศพระศาสนา แก่คนทั้งหลาย เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ของคนเหล่านั้น แต่ว่าให้ไปทางละ ๑ รูป แยกกันไป ส่วนพระองค์จะไปยังอุรุเวลาเสนานิคมเพื่อแสดงธรรมต่อไป ตรงนี้จะเห็นได้ชัดว่า พระองค์ได้ประกาศภารกิจ (Mission) ที่ชัดเจนให้กับทีมงานทั้งหมด นั่นคือ ให้ไปประกาศพระศาสนาเพื่อประโยชน์ของคนที่ฟัง ไม่ใช่ไปเพื่อประโยชน์แก่ตัวพระองค์หรือศาสนาเอง เมื่อ Mission ชัดเจนแล้ว พระองค์ยังกำหนดนโยบายจัดสรรทรัพยากรด้วยว่า ให้ไปแยกกัน ไปเส้นทางละหนึ่งองค์ คาดว่าเพื่อให้พระธรรมได้แผ่ออกไปได้กว้างขวางและรวดเร็วที่สุด และพระองค์ยังระบุด้วยว่า ให้ไปสอนพระธรรมอย่างไร เพื่อให้คำสอนของทุกองค์เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนพระองค์เองซึ่งเป็นผู้นำสูงสุดนั้น ตัดสินใจที่จะไปสอนที่เมืองอุรุเวลาเสนานิคม นั่นแปลว่า เมืองนี้ต้องเป็นที่ตั้งสำคัญทางยุทธศาสตร์การเผยแผ่พระศาสนาแน่นอน

ที่เมืองอุรุเวลาเสนานิคม พระพุทธเจ้าตั้งใจไปสอนชฎิล ๓ พี่น้อง ซึ่งเป็นนักบวชที่มีลูกศิษย์รวมกันถึง ๑,๐๐๐​ คน หากพระพุทธเจ้าสามารถชักชวนทั้งหมดมาได้ พระพุทธศาสนาก็จะมีฐานที่มั่นคงมากเลยทีเดียว ที่สำคัญคือ เมืองๆนี้เป็นเส้นทางไปสู่กรุงราชคฤห์ เมืองหลวงแคว้นมคธ ที่เป็นมหาอำนาจในแผ่นดินอินเดียขณะนั้น หากพระองค์สามารถวางรากฐานในเมืองหลวงของประเทศมหาอำนาจก็ย่อมทำให้มีความมั่นคงและเกิดความสามารถในการแข่งขัน (Competitive Advantage) เพียงพอที่จะขยายพุทธจักรออกไปได้อีกกว้างไกล

หลังจากที่พระพุทธเจ้าสามารถสอนให้ชฎิลทั้งสามพี่น้องพร้อมบริวารอีกพันคนมาบวชเป็นพระภิกษุแล้ว พระองค์จึงมุ่งหน้าสู่กรุงราชคฤห์ และด้วยขบวนพระสงฆ์ถึงพันรูป ย่อมทำให้เกิดข่าวใหญ่ไปทั้งเมืองว่าพระพุทธเจ้าพร้อมพระสงฆ์เดินทางมาเผยแผ่ศาสนาที่นี่ แต่แทนที่พระองค์จะเข้าไปในตัวเมือง พระองค์เลือกที่จะอยู่ที่สวนตาลนอกเมือง ทำให้พระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งได้รับทราวข่าวของพระองค์ ตัดสินใจพาบริวารจำนวนมากทั้งขุนนาง พราหมณ์ คฤหบดี มาเฝ้าพระพุทธเจ้าที่สวนตาลแห่งนั้น คนที่มากับคณะพระเจ้าพิมพิสารไม่ได้นับถือพระพุทธเจ้าทั้งหมด ยังมีจำนวนมากที่มีข้อสงสัย ด้วยเหตุว่า ถึงแม้พระพุทธเจ้าจะเป็นเจ้าชายจากเมืองกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ แต่แคว้นสักกะเป็นเพียงแคว้นเล็กๆ ไม่ใช่แคว้นใหญ่ และอยู่ภายใต้อิทธิพลของแคว้นมหาอำนาจอีกแห่งนั่นคือแคว้นโกศล ซึ่งเป็นคู่แข่งโดยตรงกับแคว้นมคธของพระเจ้าพิมพิสาร จะให้คนของพระเจ้าพิมพิสารนับถือพระองค์ในทันทีคงไม่ใช่เรื่องง่าย ถึงตรงนี้ เราจะเห็นชัดเจนว่า แผนกลยุทธ์ของพระองค์ได้แสดงผลออกมา นั่นคือ พระองค์ก็ถามชฎิลคนพี่ว่า ทำไมจึงละทิ้งลัทธิเดิมของตนเสีย ท่านจึงตอบว่าธรรมะของพระพุทธเจ้าประเสริฐอย่างไร และได้ซบศีรษะลงที่พระบาทของพระพุทธเจ้าเพื่อแสดงความเคารพสูงสุด คนที่อยู่ ณ ที่นั้นก็คิดได้ว่า ขนาดชฎิลที่เป็นหัวหน้าสำนักที่มีบริวารนับพัน ยังยอมละทิ้งความเชื่อเดิมและหันมาหาศาสนาพุทธ แสดงว่า พระพุทธเจ้าต้องมีดีไม่ธรรมดาเลย ทำให้เปิดใจรับฟังคำสอน จากนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าได้สอนธรรมะ ทุกคนจึงตั้งใจฟัง เมื่อฟังจบ ทุกคนก็หันมานับถือศาสนาพุทธทั้งสิ้น ถือว่าพระองค์ได้เอาชนะใจชนชั้นนำในกรุงราชคฤห์เรียบร้อยแล้ว

พระเจ้าพิมพิสารเกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าอย่างยิ่ง จึงได้ถวายสวนไผ่ทางทิศเหนือของกรุงราชคฤห์ สร้างให้เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าและพระสาวก เรียกว่า พระเวฬุวัน เกิดเป็นวัดครั้งแรกในพระพุทธศาสนา ณ จุดนี้ ถือได้ว่า พระพุทธศาสนาได้ลงหลักปักฐานอย่างมั่นคงในชมพูทวีปแล้ว พร้อมที่จะเผยแผ่พระธรรม ขยายพุทธจักร ต่อไป เพื่อประโยชน์สุขของคนทั้งหลาย อย่างไม่แยกชนชั้นวรรณะยากดีมีจนทั้งปวง ความสำเร็จนี้เป็นผลจากการบริหารเชิงกลยุทธ์ของพระพุทธเจ้าตั้งแต่วันที่พระองค์ตัดสินใจจะเผยแผ่คำสอนหลังตรัสรู้นั่นเอง

*******************************************************************
เขียนโดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย Celestial Strategist
31 กรกฎาคม 2558
*******************************************************************

กลยุทธ์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้า ตอน 1

เนื่องในโอกาสวันอาสาฬหบูชา ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๘ อันเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา จึงขอเขียนข้อสังเกตจากการศึกษาพุทธประวัติว่า พระพุทธเจ้าทรงวางกลยุทธ์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาไว้อย่างไร จึงสามารถวางรากฐานให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มั่นคงสืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้กว่าสองพันหกร้อยกว่าปีแล้ว ข้อเขียนดังต่อไปนี้จึงเป็นการนำเอาหลักการบริหารเชิงกลยุทธ์ ซึ่งเป็นหลักทางโลก มาอธิบายเหตุการณ์พุทธประวัติ ซึ่งเป็นเรื่องทางธรรมและเป็นของสูงสำหรับพุทธศาสนิกชน ดังนั้น หากเกิดข้อผิดพลาดประการใด ผมต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

BuddhaAndPanjavakki030

ย้อนกลับไปช่วงเวลานั้น ในคืนวันเพ็ญเดือนหก พระจันทร์เพ็ญในกลุ่มดาวฤกษ์วิสาขะ เจ้าชายสิทธัตถะผู้ซึ่งออกบวชเพื่อแสวงหาความหลุดพ้นมาได้หกปีแล้ว ได้ประทับนั่งใต้ต้นโพธิ์ และได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พ้นจากทุกข์อย่างสิ้นเชิง เมื่อตรัสรู้แล้ว พระองค์ได้ทบทวนความรู้ที่พระองค์ได้ค้นพบมาอยู่หลายสัปดาห์ และต้องตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ (Strategic Decision) ครั้งสำคัญ นั่นคือ พระองค์ต้องเลือกว่า จะนำเอาความรู้ที่ค้นพบไปสอนให้คนอื่นๆได้เข้าใจและปฏิบัติตาม (ภาษาพระเรียกว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า) หรือเลือกจะไม่สอนผู้อื่นด้วยเห็นว่าพระธรรมที่ค้นพบยากเกินกว่าคนทั่วไปจะเข้าและปฏิบัติตามได้ (ภาษาพระเรียกว่า พระปัจเจกพุทธเจ้า) ในที่สุด พระองค์ทรงพิจารณาแล้วเห็นว่า มนุษย์นั้นเทียบได้กับบัวสี่เหล่า มีถึงสามเหล่าที่มีโอกาสจะเข้าถึงนิพพานได้ จึงตัดสินใจเลือกเป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั่นคือ จะนำเอาพระธรรมที่ค้นพบไปสอนผู้อื่น นั่นเอง

เมื่อตัดสินใจเชิงกลยุทธ์เรียบร้อยแล้ว ขั้นต่อมา พระองค์จำเป็นต้องกำหนดแผนกลยุทธ์เพื่อสถาปนาพระศาสนาให้มั่นคงขึ้นมาก่อน ทรงทราบว่า ศาสนาจะเกิดขึ้นมาได้จะต้องมีองค์ประกอบสำคัญ ๓ ประการ นั่นคือ พระพุทธ (ผู้ตรัสรู้), พระธรรม (คำสั่งสอน) และพระสงฆ์ (ผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนจนประสบความสำเร็จ) เรียกว่า พระรัตนตรัย ซึ่งขณะนั้นมีเพียงสองประการเท่านั้น คือ พระพุทธ และพระธรรม จำเป็นต้องมีพระสงฆ์จึงจะครบองค์ประกอบของศาสนา

คำถามเชิงกลยุทธ์ ณ ขณะนั้นคือ ใครเป็นผู้ที่เหมาะสมที่จะเป็นพระสงฆ์กลุ่มแรกของพระศาสนา ใครที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะปฏิบัติตามคำสอนพระองค์ได้ ตอนแรกพระองค์คิดถึงอาจารย์ทั้งสองของพระองค์ นั่นคือ อาฬารดาบส และอุททกดาบส แต่ทรงทราบว่า ทั้งสองมรณภาพเสียแล้ว ในที่สุด พระองค์เลือกที่จะไปสอนปัญจวัคคีย์ นักบวชห้าคนผู้ซึ่งเคยดูแลพระองค์สมัยที่พยายามบรรลุธรรมด้วยการทรมานร่างกายตนเองแต่เมื่อพระองค์เลิกวิธีนั้น ทั้งห้าไม่เห็นด้วยกับวิธีใหม่ของพระองค์จึงหลีกไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เหตุที่พระองค์เลือกปัญจวัคคีย์คงมีหลายเหตุผล ไม่ว่าจะเป็น ทั้งห้าออกบวชมานาน น่าจะมีความพร้อมที่จะเข้าใจพระธรรมที่พระองค์ค้นพบได้, เป็นการตอบแทนคนทั้งห้าที่เคยดูแลพระองค์ และอีกประการสำคัญที่มองในแง่ความน่าเชื่อถือก็คือ หากคนที่เคยติดตามดูแลพระองค์มายังไม่เชื่อในคำสอนของพระองค์ ก็คงยากที่จะไปชักชวนคนอื่นมานับถือศาสนาของพระองค์

เมื่อพระองค์เดินทางไปหาปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน และได้พบกับนักบวชทั้งห้าตรงกับวันเพ็ญเดือนแปด ซึ่งพระจันทร์เพ็ญในกลุ่มดาวฤกษ์อาสาฬหะ พระองค์ก็ได้แสดงปฐมเทศนา ซึ่งในทางกลยุทธ์แล้ว เป็นคำสอนที่สำคัญ เพราะจะเป็นหลักที่อ้างอิงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาตลอดไป พระองค์จึงสอนเรื่องเส้นทางสู่ความพ้นทุกข์ว่า ไม่สามารถไปด้วยทางสุดโต่งทั้งสองทางได้ ต้องไปด้วยทางสายกลาง นั่นคือ มรรคมีองค์แปด จากนั้นได้เข้าสู่แก่นของพระพุทธศาสนา นั่นคือ อริยสัจ ๔ ความจริงทั้งสี่ประการ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อันเป็นหลักคิดที่เป็นเหตุเป็นผลเป็นวิทยาศาสตร์จริงๆ ไม่ได้อ้างอิงอำนาจเหนือธรรมชาติ หรืออำนาจเทวดาพระเจ้าใดๆเพื่อมาทำให้คนฟังเชื่อถือเลย ตอนท้ายของการสอนครั้งนั้น พระองค์ทรงอธิบายลักษณะอาการของความรู้ที่พระองค์ค้นพบว่าเป็นอย่างไร พระองค์จึงมั่นใจว่าตรัสรู้แล้ว เมื่อสอนจบ พระโกญฑัญญะก็เกิดดวงตาเห็นธรรม ขอบวชต่อพระพุทธเจ้า เป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา ณ วันนั้น ศาสนาพุทธจึงสถาปนาขึ้นด้วยมีครบองค์ประกอบทั้งสามประการ นั่นคือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์

แต่พระพุทธศาสนาจะยังตั้งมั่นไม่ได้ หากไม่มีชาวบ้านมานับถือ เพราะพระสงฆ์นั้นเป็นผู้ละทางโลกไปแล้ว ไม่สะดวกในการทำหน้าที่หลายประการที่จำเป็นต่อการเผยแผ่พระศาสนา จำเป็นต้องมี อุบาสก อุบาสิกา มาด้วยจึงจะมีกำลังพร้อมจะขยายพุทธจักรออกไป แล้วพระพุทธองค์ทรงดำเนินกลยุทธ์อย่างไร ไว้ติดตามตอนหน้านะครับ

*******************************************************************
เขียนโดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย Celestial Strategist
30 กรกฎาคม 2558
*******************************************************************

จักรวาลภาพยนตร์มาร์เวล: สุดยอดกลยุทธ์สั่นสะเทือนวงการหนังซุปเปอร์ฮีโร่

ช่วงปลายทศวรรษ ’90 มาร์เวล (Marvel) ค่ายการ์ตูนซุปเปอร์ฮีโร่ยักษ์ใหญ่ เจ้าของลิขสิทธ์คาแรคเตอร์ดังๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Spider Man, Captain America, X-Men, Iron Man, Thor, Hulk ฯลฯ ตกอยู่ในภาวะขาดทุนเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย แต่แล้วในทศวรรษต่อมา เริ่มต้นจากปี 2008 ทางมาร์เวลก็ได้สร้างภาพยนตร์ Iron Man ออกฉาย เป็นจุดเริ่มต้นของสุดยอดกลยุทธ์สั่นสะเทือนวงการภาพยนตร์ซุปเปอร์ฮีโร่ นั่นคือ จักรวาลภาพยนตร์มาร์เวล (Marvel Cinematic Universe)

จักรวาลภาพยนตร์มาร์เวลกลยุทธ์ Marvel Cinematic Universe หรือที่เรียกย่อๆว่า MCU นั้น คือการผลิตภาพยนตร์ซุปเปอร์ฮีโร่หลายๆเรื่องของมาร์เวลที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน โดยเริ่มต้นจากซุปเปอร์ฮีโร่แต่ละคน แล้วนำหลายๆคนมารวมกันในหนังอีกเรื่อง และเรื่องต่อๆมาก็มีความเกี่ยวเนื่องกันอีก เรียกได้ว่าเป็นแฟรนไชส์ภาพยนตร์ เริ่มต้นจากเรื่อง Iron Man (2008), The Incredible Hulk (2008), Iron Man 2 (2010), Thor (2011), Captain America (2011), The Avengers (2012), Iron Man 3 (2013), Thor: The Dark World (2013), Captain America: Winter Soldier (2014), Guadian of the Galaxy (2014), The Avengers: Age of Ultron (2015), Ant Man (2015) และยังมีแผนการผลิตภาพยนตร์ในจักรวาลนี้อีกหลายเรื่อง โดยประธานบริษัท Marvel Studios ได้พูดกับ Bloomberg เมื่อที่แล้วว่ามีแผนสร้างภาพยนตร์จนถึงปี 2028 เลยทีเดียว นอกจากการสร้างหนังแล้ว แฟรนไชส์ MCU ยังรวมถึงการสร้างซีรีส์ทางโทรทัศน์ในเรื่อง Agents of S.H.I.E.L.D. และ Agent Carter อีกด้วย

การสร้างจักรวาลมาร์เวลขึ้นมานี้ ทำให้ยอดขายตั๋วหนังของมาร์เวลทำลายสถิติสูงสุดครั้งแล้วครั้งเล่า ยอดขายตั๋วทั่วโลกของหนัง 12 เรื่อง ทำเงินมากกว่า 8.78 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เฉพาะหนังเรื่อง The Avengers (2012) เรื่องเดียวก็ทำรายได้ไปกว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯแล้ว นี่ยังไม่นับรวมยอดขายสินค้าลิขสิทธิ์จากคาแรกเตอร์ในภาพยนตร์เหล่านี้อีก นับว่ากลยุทธ์ MCU นี้สร้างรายได้ให้กับมาร์เวลอย่างเป็นกอบเป็นกำอย่างที่ไม่เคยมีสตูดิโอไหนทำได้มาก่อน ก่อนหน้านี้ ภาพยนตร์ที่เป็นแฟรนไชส์มักสร้างเป็นไตรภาค ที่สร้างมากกว่า 3 ภาคมีเพียงไม่กี่ชุด เช่น แฮร์รี่ พอตเตอร์ (8 ภาค) ทำเงินรวม 7.7 พันล้านดอลลาร์ฯ, เจมส์ บอนด์ (25 ภาค) ทำเงินรวม 6.1 ล้านดอลลาร์ ฯลฯ

กลยุทธ์ MCU นี้ถือว่าเป็นกลยุทธ์ชั้นเลิศตามแนวคิดของศาสตราจารย์ ไมเคิล พอร์เตอร์ เพราะมาร์เวลเลือกแข่งขันที่จะแตกต่าง (Compete to be Unique) มีระบบการทำงานที่เริ่มตั้งแต่การเขียนบท การคัดเลือกนักแสดง และทุกๆขั้นตอนการสร้างภาพยนตร์แต่ละเรื่องที่ต้องสอดคล้องต่อเนื่องกัน ผู้กำกับภาพยนตร์แต่ละเรื่องจะต้องมาพูดคุยกันเพื่อวางแผนให้ทิศทางของหนังแต่ละเรื่องสอดประสานอย่างลงตัว ด้วยการทำงานเป็นระบบเช่นนี้ เป็นเรื่องยากอย่างยิ่งที่สตูดิโอคู่แข่งจะลอกเลียนแบบกลยุทธ์ให้ประสบความสำเร็จได้

คู่แข่งอย่างค่าย DC Comics ร่วมกับ Warner Bros. ได้ลอกเลียนแบบกลยุทธ์ของมาร์เวล ด้วยการวางแผนสร้างภาพยนตร์แฟรนไชส์เร่ิมจาก Man of Steel (2013) ซึ่งทำเงินไป 668 ล้านดอลลาร์ ตามมาด้วย Batman v Superman: Dawn of Justice ที่จะฉายในปี 2016 และมีการประกาศว่าจะมีภาพยนตร์ในจักรวาลของ DC Comics อีก 9 เรื่องตามมา ถ้าถาม ณ เวลานี้ เรายังตอบไม่ได้ว่า กลยุทธ์ลอกเลียนแบบ (Copycat) ของ DC จะประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่หากมองในสายตาของนักกลยุทธ์ พอจะคาดการณ์ได้ว่า ยากเหลือเกินที่ DC จะประสบความสำเร็จได้เหมือนกับที่มาร์เวลทำ เพราะมันไม่ใช่เพียงแค่ลอกเลียนแผนงานเท่านั้น แต่ต้องเป็นการทำงานทั้งระบบร่วมกัน ซึ่งทาง DC ยังล้าหลังมาร์เวลอยู่เกือบสิบปีเลยทีเดียว

**********************************************************
เขียนโดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
Celestial Strategist
29 ก.ค. 2558
**********************************************************

กลยุทธ์ทางธุรกิจไม่ใช่การทำลายล้างคู่แข่ง

เราอาจเคยได้ยินคนบางคนบอกว่า กลยุทธ์การแข่งขันทางธุรกิจก็เหมือนกับกลยุทธ์การเอาชนะสงคราม นั่นมีส่วนถูกเพียงบางส่วนเท่านั้น แต่ที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงก็คือ การเอาชนะสงครามเป็นการเอาชนะด้วยการทำให้ศัตรูพ่ายแพ้ไป เป็น Zero-Sum Game นั่นคือ มีคนชนะแล้วต้องมีคนแพ้ แต่การแข่งขันทางธุรกิจนั้น หากเราชนะ ไม่ได้หมายความว่าคนอื่นต้องแพ้เสมอไป เราสามารถชนะโดยไม่ต้องทำให้คู่แข่งแพ้ก็ได้ ด้วยการชนะในตลาดที่แตกต่าง ในสินค้าหรือบริการที่แตกต่าง

ลองมาดูตัวอย่างในบ้านเราก็ได้ ผู้นำในธุรกิจห้างสรรพสินค้าเมืองไทยที่ถือได้ว่าเป็นคู่แข่งโดยตรง ก็คือ เซ็นทรัล กับ เดอะมอลล์ ทั้งคู่ถือได้ว่าเป็นห้างสรรพสินค้าชั้นนำของไทยด้วยกันทั้งคู่ มีการแข่งขันเปิดห้าง เปิดสาขา จัดแคมเปญการตลาด แข่งกันดึงร้านแฟลกชิปสโตร์ของแบรนด์ชั้นนำทั้งไทยและต่างประเทศมาไว้ที่ห้างตัวเองก่อน แต่ผลของการแข่งขันมาหลายสิบปี ไม่ได้ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพ่ายแพ้ ขาดทุน แต่อย่างใดเลย ทั้งคู่ต่างก็กำไรมโหฬารด้วยกันทั้งคู่ ถามว่ากลยุทธ์ทางธุรกิจที่ทั้งสองฝ่ายใช้เหมือนกันหรือไม่ ตอบได้ว่า ไม่เหมือนกัน เซ็นทรัลเน้นการขยายสาขาอย่างสม่ำเสมอ เปิดทั่วกรุงเทพ และขยายไปยังต่างจังหวัด รวมไปถึงเข้าไปซื้อกิจการห้างดังในยุโรป ส่วนทางเดอะมอลล์ไม่ได้เน้นการขยายสาขาไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศบ่อยนัก แต่ทุกครั้งที่กลุ่มเดอะมอลล์เปิดห้างเพิ่มก็เป็นการสร้างแลนด์มาร์คใหม่ๆให้กับเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นการร่วมทุนกับสยามพิวรรรธน์เปิดห้าง สยามพารากอน, การเปิดห้าง Emporium ตรงสุขุมวิท และเพิ่งเปิดห้าง EmQuartier ตรงฝั่งตรงข้าม อีกทั้งกำลังพัฒนาโครงการใหม่ที่หัวหินและภูเก็ต ซึ่งจะเป็นครั้งแรกของไทย ที่ร้านหรูอย่าง หลุยส์วิตตอง จะไปเปิดร้านที่ต่างจังหวัด

ลองมาดูฝั่งธุรกิจสถานีโทรทัศน์กัน ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ช่อง 3 กับช่อง 7 ต่างก็ขับเคี่ยวต่อสู้แย่งชิงผู้ชมโทรทัศน์มาโดยตลอด ช่อง 7 มุ่งเน้นไปที่ผู้ชมต่างจังหวัดกลุ่มแมส ส่วนช่อง 3 ก็เน้นที่ลูกค้าในกรุงเทพและหัวเมืองต่างๆ โดยมองเห็นได้ชัดจากรูปแบบละครไพรม์ไทม์ของทั้งสองช่องที่แตกต่างกัน ตอนนั้นหากดูเฉพาะเรตติ้งดูเหมือนว่าช่อง 7 จะมีผู้ชมมากกว่าค่อนข้างมาก แต่หากดูที่เม็ดเงินซื้อโฆษณา ช่อง 3 ก็สูสีกับช่อง 7 ผลการแข่งขันมายาวนานก็ไม่ได้ทำให้ช่องใดช่องหนึ่งพ่ายแพ้ไป แต่กลับให้ทั้งคู่สร้างกำไรมหาศาลจนติดอันดับมหาเศรษฐีคนแรกๆของไทยด้วยกันทั้งคู่ (อย่างไรก็ตาม เมื่อเราเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอล จำนวนช่องฟรีทีวีเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทั้งสองช่องต่างก็ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ตามสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไป)

เรื่องนี้ปรมาจารย์กลยุทธ์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ไมเคิล พอร์เตอร์ ได้เน้นให้เห็นว่า การแข่งขันทางธุรกิจมีความซับซ้อน หลากหลาย และมีมิติต่างๆมากมาย หากเราคิดแต่จะเอาชนะด้วยการทำลายล้างคู่แข่ง แปลว่าเรามองการแข่งขันเพียงมิติเดียว ย่อมทำให้เราเลือกกลยุทธ์ที่ผิดๆจนพ่ายแพ้ตัวเองไป วิธีการมองแบบนี้เรียกว่า การเอาชนะด้วยการเป็นที่หนึ่ง (Compete to be the Best) แต่ลองคิดดูให้ดีว่า ในโลกธุรกิจมันมีผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ดีที่สุด ที่เป็นอันดับหนึ่ง จริงๆหรือ มันไม่มี มันมีแต่สินค้าที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้ากลุ่มนี้ สำหรับตลาดตรงนั้น ฯลฯ ดังนั้น ศาสตราจารย์พอร์เตอร์จึงแนะนำว่า เราต้องคิดเอาชนะด้วยความแตกต่าง (Compete to be Unique) จึงเป็นหนทางไปสู่การกำหนดกลยุทธ์ที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง

************************************************

โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย Celestial Strategist

26 กรกฎาคม 2558

โฆษณาในโรงหนัง: กลยุทธ์การสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพย์สิน


ธุรกิจโรงภาพยนตร์เป็นธุรกิจที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่ากลยุทธ์ส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อความอยู่รอดและความยิ่งใหญ่ของธุรกิจ ย้อนกลับไปราว 40 ปีก่อน โรงภาพยนตร์ในยุคนั้นจะเป็นโรงภาพยนตร์แบบ Stand Alone ขนาดใหญ่ แต่บะแห่งมีโรงเดียว เวลามีหนังเข้ามาก็จะฉายเพียงเรื่องเดียวนานหลายวัน ต่อมาเกิดนวัตกรรมใหม่คือ วีดิโอเทป ที่ประสบความสำเร็จมาก คนนิยมดูหนังจากวีดิโอที่บ้านทำให้คนออกมาดูหนังที่โรงหนังน้อยลง

โรงหนังปรับตัวด้วยการทำโรงหนังให้เล็กลงและย้ายเข้าไปอยู่ในห้าง เรียกว่า มินิเธียเตอร์ แต่ละแห่งมีโรงหนังหลายโรง แต่ละโรงกี่มีขนาดเล็กสอดคล้องกับจำนวนคนที่มาดูหนัง ที่สำคัญสามารถฉายพร้อมกันได้หลายเรื่องในเวลาเดียวกัน ตอบสนองความต้องการของผู้ชมได้ตรงประเด็น จึงประสบความสำเร็จมาก ยุคนั้นทุกห้างต้องมีมินิเธียเตอร์เพื่อดึงวัยรุ่นวัยหนุ่มสาวเข้าห้าง

ราวปี 2538 คุณวิชา พูลวรลักษณ์ ได้เปิดศักราชใหม่ของธุรกิจโรงภาพยนตร์ด้วยการเปิด Major Cineplex ที่ปิ่นเกล้า เป็นการนำยุค Stand Alone ของโรงหนังกลับมาอีกครั้ง แต่คราวนี้ แต่ละแห่งไม่ได้มีโรงหนังแค่โรงเดียว แต่มีเป็น 10 โรง ที่มีขนาดแตกต่างกัน ตอบโจทย์ของผู้ชมได้อย่างตรงเป้าและครบถ้วน เช่น คุณภาพของเสียงในโรงหนังที่ดีกว่ามินิเธียเตอร์มาก ลูกค้าที่มาชมได้รับประสบการณ์การดูหนังที่ดีกว่าดูวีดิโอที่บ้านอย่างเทียบไม่ติด มีร้านอาหารและเครื่องดื่มหลากหลายให้นั่งระหว่างรอชมภาพยนตร์ ฯลฯ ยุคทองของโรงหนังก็กลับมา แต่คราวนี้เป็นเกมของรายใหญ่เท่านั้น เพราะขนาดการลงทุนของ Cineplex ใหญ่เกินกว่าที่รายเล็กจะไปเล่นด้วยได้ Major จึงได้ขยายกิจการ Cineplex ออกไปมากมาย รวมถึงแบบที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าด้วย (ในรูปแบบที่ใหญ่กว่ามินิเธียเตอร์มาก) จนปัจจุบัน (ข้อมูล ณ 31 ธ.ค. 2557) ครอบคลุมทั่วประเทศ 76 สาขา 513 โรง จนมีส่วนแบ่งตลาดธุรกิจโรงหนังถึง 70%

หลังจากประสบความสำเร็จอย่างสูงกับการสร้าง Cineplex กลุ่มเมเจอร์ก็เริ่มกลยุทธ์เพิ่มมูลค่าจากทรัพย์สิน ด้วยเห็นว่ามีคนเข้าออกโรงหนังในเครือหลายล้านคนต่อปี จึงเริ่มเปิดพื้นที่สื่อโฆษณาในโรงหนัง ทั้งป้ายในศูนย์ และที่สำคัญคือโฆษณาก่อนหนังเริ่มฉาย ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คนดูมีสมาธิจดจ่อกับจอภาพยนตร์มากที่สุด โฆษณาในโรงหนังจึงเติบโตอย่างรวดเร็วจนปัจจุบันสร้างรายได้พันกว่าล้านบาทต่อปี โดยแทบไม่มีต้นทุนเพิ่มเติมมากมายอะไรเลย เพียงแค่จัดตั้งทีมขายโฆษณาและระบบจัดการสื่อโฆษณาเท่านั้น

หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 26-29 ก.ค. 2558 ได้ลงบทวิเคราะห์สื่อโรงภาพยนตร์. ชี้ให้เห็นว่า ปีนี้ สื่อในโรงหนังครึ่งปีแรกเติบโตสวนกระแสเศรษฐกิจ ด้วยตัวเลขโตกว่า 20% เมื่อเจาะลึกลงไป พบว่า การเติบโตมาจากโรงหนังในต่างจังหวัด. ซึ่งเป็นผลจากกลยุทธ์บุกขยายสาขาต่างจังหวัดที่เมเจอร์ใช้ในช่วง4-5 ปีที่ผ่านมา

จากกรณีศึกษานี้จะเห็นว่า ด้วยฝีมือการบริหารเชิงกลยุทธ์ชั้นเลิศของเครือเมเจอร์ทำให้กลุ่มนี้ก้าวขึ้นมาเป็นธุรกิจขนาดใหญ่และทรงอิทธิพลอย่างสูงในประเทศไทยโดยมีมูลค่าหุ้นตามราคาตลาดอยู่ที่ 26,763 ล้านบาท ภายในระยะเวลาเพียงไม่ถึง20ปีเท่านั้น

 

************************************************

เขียนโดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย Celestial Strategist

25 ก.ค.2558