กลยุทธ์สร้างมาตรฐานของจิ๋นซีฮ่องเต้

เมื่อเดือนที่แล้ว ได้ไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ปิงหม่าหย่ง หรือพิพิธภัณฑ์หุ่นทหารดินเผาของจิ๋นซีฮ่องเต้ ที่เมืองซีอาน ประเทศจีน ระหว่างเดินชมความยิ่งใหญ่ของพิพิธภัณฑ์ ก็คิดตั้งคำถามไปด้วยว่า ทำไมอารยธรรมจีนจึงได้ยิ่งใหญ่และดำรงต่อเนื่องมายาวนานถึงปัจจุบัน ต่างจากอารยธรรมโบราณเช่น อียิปต์ กรีก โรมัน ที่เมื่อถึงจุดหนึ่งก็ล่มสลายและไม่สามารถกลับมาครองความยิ่งใหญ่ได้เช่นยุคก่อน

ORG_DSC09938
พิพิธภัณฑ์หุ่นทหารดินเผาจิ๋นซีฮ่องเต้ ที่ซีอาน

การจะตอบคำถามดังกล่าว ก็ต้องย้อนทวนไปที่จุดพลิกผันของประวัติศาสตร์จีนครั้งสำคัญ นั่นคือ การสามารถรวบรวมแผ่นดินจีนเข้าด้วยกันเป็นจักรวรรดิอันหนึ่งอันเดียวกันในยุคของจิ๋นซีฮ่องเต้ (ถ้าออกเสียงแบบจีนกลาง ต้องออกเสียงว่า ฉินสื่อหวงตี้) ก่อนหน้านั้นแผ่นดินจีนได้แตกแยกออกเป็นแคว้นต่างๆมากมายหลายร้อยปี เรียกกันว่ายุคชุนชิว (春秋) แม้ว่าในนามทุกแคว้นจะอยู่ภายใต้ราชวงศ์โจว แต่ในทางปฏิบัติ เจ้าครองแคว้นต่างๆได้บริหารแคว้นของตนอย่างอิสระ ไม่ได้ฟังคำสั่งจากกษัตริย์ราชวงศ์โจวแต่อย่างใด มีการรบราฆ่าฟันขยายอำนาจกันตลอดเวลา แคว้นใหญ่กลืนแคว้นเล็ก จากกว่าสองร้อยแคว้น เหลืออยู่เพียงเจ็ดแคว้น เข้าสู่ยุคที่เรียกกันว่า จ้านกว๋อ (战国) และในที่สุดเมื่อสถานการณ์สุกงอม ประกอบกับเกิดผู้นำที่เข้มแข็งและเฉลียวฉลาดอย่าง จิ๋นซีฮ่องเต้ ขึ้นเป็นเจ้าแคว้นฉิน จึงสามารถรวบรวมแผ่นดินจีนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้

Qin_InscribedWeight
ตุ้มน้ำหนักเหล็กมาตรฐาน สมัยจิ๋นซีฮ่องเต้

การรบเอาชนะกองทัพแคว้นต่างๆในสนามรบนั้นถือว่าเป็นเรื่องยากแล้ว แต่การบริหารแคว้นต่างๆที่มีแตกต่างกันแทบทุกด้านเป็นเรื่องยากยิ่งกว่า จิ๋นซีฮ่องเต้ทรงตัดสินใจใช้กลยุทธ์สร้างมาตรฐาน (Standardization) เพื่อบริหารแผ่นดินจีนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ในทุกๆด้าน ได้แก่ มาตฐานการชั่ง ตวง วัด เงินตรา ความกว้างของเกวียนและถนน ตัวอักษร ฯลฯ

ด้านมาตรฐานชั่งตวงวัด มีการจัดทำหน่วยชั่งตวงวัดมาตรฐานกระจายไปทั่วประเทศ พร้อมพระราชโองการให้ทุกคนใช้มาตรฐานเดียวกัน ทำให้เวลาซื้อขายขนส่งสินค้า คำนวณราคาเปรียบเทียบกันได้โดยง่าย ไม่ต้องแปลงหน่วยไปมาให้ซับซ้อน ทุ่นเวลาไปได้มาก ที่สำคัญสำหรับรัฐก็คือ จำเป็นสำหรับการเก็บภาษี เพราะยุคนั้นจ่ายภาษีเป็นผลผลิตทางการเกษตร ไม่ใช่จ่ายด้วยเงินตรา การมีมาตรฐานเดียวกันย่อมทำให้การควบคุมการเก็บภาษีมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ด้านเงินตรา ทรงกำหนดมาตรฐานเงินตราแบบเดียว ยกเลิกการใช้เงินตราของแคว้นต่างๆแต่เดิม เช่น เดิมแคว้นฉู่ใช้เบี้ยหอยสำริดกับแผ่นทองคำสี่เหลี่ยม, แคว้นฉีใช้เหรียญเหล็กรูปมีด ฯลฯ และให้มาใช้เงินตรารูปแบบเดียวกัน คือ เหรียญวงกลม เจาะรูตรงกลางเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส เรียกว่า เหรียญป้านเหลี่ยง (半兩) น้ำหนัก 7.5 กรัม การใช้เงินตรารูปแบบเดียวกันเพิ่มประสิทธิภาพในการค้าขายอย่างมาก ไม่ต้องเสียเวลามาคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนเงินหลายสกุล ไม่ต้องศึกษาการดูเหรียญจริงเหรียญปลอมหลายๆแบบ และทำให้รัฐควบคุมปริมาณเงินในระบบได้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็สะท้อนความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการหล่อเหรียญกษาปณ์จากโลหะของจีนยุคนั้นด้วย

ด้านภาษา จิ๋นซีฮ่องเต้ได้กำหนดให้ใช้ตัวอักษรจีนมาตรฐานเดียวกันทั้งอาณาจักร อัครมหาเสนาบดีหลี่ซือจึงได้ประดิษฐ์อักษรเสี่ยวจ้วน (小篆) ขึ้นจำนวนราวๆ 3,300 ตัวอักษร เพื่อใช้เป็นอักษรมาตรฐานในงานราชการ  การสร้างมาตรฐานทางภาษาก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการสั่งการของรัฐบาลกลางไปยังส่วนต่างๆทั่วราชอาณาจักร รวมไปถึงสามารถส่งเสริมการศึกษาของบัณฑิตทั่วประเทศให้เรียนรู้ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น

LcPBng5WSKa9LJVUdSwlWg
รถม้าสำริดจำลอง เชื่อว่าเป็นลักษณะรถม้าที่จิ๋นซีฮ่องเต้นั่งตรวจราชการไปทั่วราชอาณาจักร

ด้านมาตรฐานของถนนและเกวียน มีการกำหนดความกว้างมาตรฐานของเกวียน ส่งผลให้สามารถกำหนดความกว้างมาตรฐานของถนนได้ นอกจากนั้น มาตรฐานความกว้างของเกวียน ทำให้การขนส่งเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะเมื่อเกวียนกว้างเท่ากัน รถม้าที่ใช้ลากก็มีขนาดมาตรฐานเดียวกัน การเปลี่ยนรถม้าระหว่างการขนส่งก็ทำได้สะดวก เมื่อกำหนดมาตรฐานของเกวียนแล้ว จิ๋นซีฮ่องเต้จึงได้สร้างเครือข่ายถนนครั้งใหญ่ของจีน โดยแบ่งเป็น 3 ขนาด คือ ทางหลวงขนาดใหญ่ ซึ่งจะเราจะเรียกว่า ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ ก็ได้ เพราะกว้างถึง 69 เมตร, ทางหลวงขนาดรองลงมา กว้าง 34.5 เมตร และถนนทั่วไป กว้าง 11.5 เมตร ตลอดรัชกาลพระองค์ได้สร้างถนนมาตรฐานความยาวรวมมากกว่า 5,200 ไมล์ เทียบกับโรมันในยุคใกล้เคียงกันที่สร้างถนนหน้ากว้าง 8.5 เมตร เพียง 3,750 ไมล์เท่านั้น นับว่าจีนก้าวหน้าไปกว่าโรมันมาก การสร้างเมกะโปรเจ็กต์ขยายเครือข่ายถนนในยุคจิ๋นซี นอกจากเป็นการเพิ่มความรวดเร็วในการยกทัพไปยังดินแดนต่างๆซึ่งเป็นประโยชน์ด้านความมั่งคนแล้ว ยังเป็นการสร้างเครือข่ายการคมนาคมขนส่งที่ทำให้เกิดการเดินทางและซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าเชื่อมโยงไปทั่วราชอาณาจักร และด้วยกลยุทธ์สร้างมาตรฐานถนนและเกวียน จึงทำให้ต้นทุนโดยรวมของระบบเศรษฐกิจลดลงอีกด้วย

ด้วยกลยุทธ์การสร้างมาตรฐานนี้ ทำให้ระยะเวลาเพียง 11 ปีที่จิ๋นซีฮ่องเต้ขึ้นครองราชย์ สามารถรวมแผ่นดินจีนได้อย่างเป็นปึกแผ่น แต่ด้วยความเด็ดขาดโหดเหี้ยมภายใต้การปกครองของพระองค์ทำให้เกิดกบฏขึ้นมาหลายแห่งในช่วงปลายรัชสมัยของพระองค์ และทำให้ที่สุดแล้ว ราชวงศ์ฉินมีฮ่องเต้ปกครองเพียง 2 พระองค์ รวมระยะเวลาเพียง 15 ปีเท่านั้น แต่ราชวงศ์ฮั่นที่ปกครองแผ่นดินจีนต่อจากราชวงศ์ฉิน ก็ยังคงใช้กลยุทธ์สร้างมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นราชวงศ์ที่ได้รับประโยชน์จากกลยุทธ์ดังกล่าวจนสามารถครองแผ่นดินจีนได้ยาวนานถึงกว่า 400 ปี

ในยุคต่อๆมา กลยุทธ์การสร้างมาตรฐาน (Standardization Strategy) ยังคงเป็นกลยุทธ์ที่ใช้อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา เพราะอุตสาหกรรมใดที่สร้างมาตรฐานกลางได้มักเติบโตรุ่งเรือง เพราะกลยุทธ์นี้ทำให้เกิดประสิทธิภาพสูง ต้นทุนต่อหน่วยต่ำ ตัวอย่างเช่นเรื่องมาตรฐานหน่วยการวัด ประเทศส่วนใหญ่ได้ตกลงที่จะใช้มาตรฐาน SI (หรือที่เรียกกันว่ามาตรฐานเมตริก) เป็นมาตรฐานกลางของโลก ทำให้คนส่วนใหญ่ใช้หน่วยวัดเดียวกัน ไม่ต้องปวดหัวกับการแปลงหน่วย (ที่น่าแปลกคือ ประเทศสหรัฐอเมริการ ยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจของโลกกลับไม่ยอมใช้มาตรฐานกลางของโลก ทำให้ยังคงความไม่มีประสิทธิภาพค้างในระบบเศรษฐกิจโลก)

ในแง่บริหารธุรกิจ หลายบริษัทได้ใช้กลยุทธ์การสร้างมาตรฐาน เพื่อลดต้นทุนโดยรวมของบริษัท เช่น สายการบินเซาท์เวสต์แอร์ไลน์ (South West Airline) ต้นตำรับสายการบินต้นทุนต่ำของโลก เลือกที่จะบินโดยเครื่องบินรุ่นเดียว (ปัจจุบันคือ โบอิ้ง 737 รุ่นเดียว 752 ลำ) เพื่อลดต้นทุนการบำรุงรักษาโดยรวม เพราะนักบินฝึกบินเครื่องแบบเดียว ช่างบำรุงรักษาเรียนรู้ซ่อมบำรุงเครื่องแบบเดียว อะไหล่ต่างๆก็เตรียมไว้สำหรับเครื่องแบบเดียว ฯลฯ​ ด้วยต้นทุนบำรุงรักษาต่ำกว่าคู่แข่งทำให้สามารถลดราคาให้ผู้โดยสารได้ จึงทำให้ความสามารถในการทำกำไรไม่แพ้คู่แข่งแม้ราคาจะถูกกว่า

หรืออย่าง Starbucks ที่สร้างมาตรฐานของกาแฟและบรรยากาศของร้าน ที่ไม่ว่าจะเข้าร้านสตาร์บัคส์สาขาไหน ก็จะได้รับรสชาติกาแฟและบรรยากาศในร้านแบบเดียวกันทุกแห่ง ทำให้ลูกค้าไม่ว่าจะไปที่ไหน ก็จะเลือกร้านสตาร์บัคส์เพราะรู้ว่าจะได้รับบริการมาตรฐานเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจยุคใหม่มีการใช้กลยุทธ์ตอบสนองเฉพาะราย (Customization Strategy) เพื่อเอาใจลูกค้าบางกลุ่มที่ไม่ได้ต้องการได้รับสินค้าบริการเหมือนๆกับคนอื่น เพียงแต่กลยุทธ์นี้มักทำให้ต้นทุนสูงกว่ากลยุทธ์สร้างมาตรฐาน ดังนั้นการเลือกใช้กลยุทธ์ใด จำเป็นต้องตัดสินใจเลือกให้ดีว่าแบบไหนจะเหมาะสมกับธุรกิจของเรามากกว่า และบางครั้งอาจจะผสมผสานทั้งสองกลยุทธ์เข้าด้วยกันก็สามารถทำได้เช่นกัน

************************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
19 กุมภาพันธ์ 2019
************************************