กลยุทธ์โฟกัสของ Oppo

จากตัวเลขยอดขายในปี 2016 ที่รายงานโดย IDC ปรากฏว่า Oppo ได้ประกาศศักดาก้าวเป็นอันดับหนึ่งของตลาดสมาร์ตโฟนในประเทศจีน ด้วยส่วนแบ่งตลาด 16.8% แซงหน้า Xiaomi, Huawei, Apple ถือว่าเป็นก้าวย่างสำคัญของแบรนด์โทรศัพท์จากมณฑลกว่างตงแห่งนี้ (vivo อันดับ 4 ก็เป็นแบรนด์ภายใต้บริษัทแม่เดียวกันกับ Oppo นั่นคือ BBK Electronics) โดยในปีก่อนหน้า Oppo ยังอยู่อันดับที่ 4 ที่ส่วนแบ่งตลาดในจีนเพียง 8.2% เท่านั้น ภายในปีเดียว Oppo มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มมาเท่าตัว แล้ว Oppo ทำได้อย่างไร?

ChinaSmartPhoneMarketShare2016

กลยุทธ์ที่ Oppo เลือกใช้ก็คือ กลยุทธ์โฟกัส ซึ่งเป็นไปตามตำราพิชัยสงครามซุนวู บทที่ 6 ตื้นลึกหนาบาง เขียนไว้ว่า “เรารวมศูนย์ แต่ศัตรูกระจาย เรารวมเป็นหนึ่ง ศัตรูกระจายเป็นสิบ เอาสิบไปตีหนึ่งของศัตรู เราก็มากแต่ศัตรูน้อย เมื่อเอามากไปตีน้อยจึงเอาชนะได้โดยง่าย”

Oppo โฟกัสในทุกด้านของธุรกิจ ในด้านผลิตภัณฑ์ Oppo มุ่งเน้นพัฒนาโทรศัพท์ที่มีจุดเด่น 2 อย่างเท่านั้น นั่นคือ ถ่ายรูปสวย และแบตเตอรี่อยู่ได้นานด้วยการชาร์จสั้นกว่าคนอื่น การทุ่มเททรัพยากรการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปที่จุดเด่นสองอย่างที่เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ทำให้ Oppo สามารถตามทันผู้นำตลาดเดิมที่มีทรัพยากรในการพัฒนามากกว่าได้ แต่หาก Oppo คิดจะพัฒนาโทรศัพท์ให้เด่นในทุกด้าน ก็ย่อมสู้ผู้นำในตลาดโลกอย่าง Apple และ Samsung ได้ยาก

ในด้านการขาย ขณะที่คนอื่นทุ่มเทไปกับช่องทางออนไลน์ Oppo กลับมุ่งเน้นไปที่ช่องทางการขายดั้งเดิมพวกร้านค้าและตู้ขายมือถือ การมุ่งเน้นกลุ่มนี้ทำให้ Oppo สามารถให้ margin กับตัวแทนจำหน่าย Oppo ได้มากกว่าคู่แข่ง ทำให้เมื่อมีคนมาหาซื้อมือถือที่ร้าน ที่ร้านย่อมเชียร์ให้ซื้อ Oppo ที่ทำให้ร้านได้กำไรมากกว่านั่นเอง

ในด้านการโฆษณา ผมเคยคุยกับผู้บริหารด้านโฆษณาของ Oppo เขาบอกผมว่า โจทย์เขาชัดเจนมาก นั่นคือ กลุ่มเป้าหมายของเขาคือกลุ่มวัยรุ่น เขาจึงโฆษณาในรายการเรียลลิตี้ โดยเฉพาะการร้องเพลง ในเวลาไพรม์ไทม์ พรีเซ็นเตอร์ของเขาต้องเป็นคนดังที่สุดสำหรับวัยรุ่นในตอนนี้ เขาไม่สนใจลงโฆษณาที่ไม่ตรงตามโจทย์นี้เลย เมื่อโจทย์ชัดเจน ทีมงานก็ทำงานได้อย่างชัดเจน ส่งผลให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้รับสารที่ Oppo สื่อไปได้อย่างชัดเจนเช่นกัน อย่างในเมืองไทย Oppo โฆษณาในรายการร้องเพลงทั้ง The Voice Thailand และ The Mask Singer หน้ากากนักร้อง จนคนจดจำแบรนด์ได้ทั่วบ้านทั่วเมือง

ด้วยกลยุทธ์โฟกัสอย่างนี้ ทรัพยากรของ Oppo จึงทุ่มเทไปยังจุดที่เขามุ่งเน้นจุดเดียว ทำให้เกิดพลังมหาศาลตามที่ซุนวูว่าไว้”เรารวมศูนย์ แต่ศัตรูกระจาย เรารวมเป็นหนึ่ง ศัตรูกระจายเป็นสิบ เอาสิบไปตีหนึ่งของศัตรู เราก็มากแต่ศัตรูน้อย เมื่อเอามากไปตีน้อยจึงเอาชนะได้โดยง่าย” จนทำให้ Oppo ก้าวขึ้นอันดับหนึ่งในประเทศจีนได้นั่นเอง

*******************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
24 เมษายน 2560
*******************************

เครดิตภาพจาก China Daily Asia

กลยุทธ์ต้องพลิกแพลงตามสถานการณ์ ไม่ใช่ยึดติดตามตำรา

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บทที่สอง ว่าด้วยการทำศึก เขียนไว้ว่า “เมื่อรบพึงชนะโดยเร็ว ยืดเยื้อทหารจะอ่อนเปลี้ย ขวัญกำลังใจจะเสีย…การทำศึกยืดเยื้อไม่เคยเป็นผลดีต่อประเทศชาติ” นั่นหมายความว่า ถ้าจะรบ ต้องรบให้ชนะอย่างรวดเร็ว อย่าทำศึกยืดเยื้อ แต่เมื่อครั้งสงครามจีน-ญี่ปุ่น (ปี 1937-1945) ญี่ปุ่นบุกเข้าจีนอย่างรวดเร็ว ยึดดินแดงจีนไปได้มาก เหมาเจ๋อตุงกลับเสนอให้ทำสงครามยืดเยื้อจึงจะชนะ ถามว่า เหมาเจ๋อตุงไม่รู้เรื่องตำราพิชัยสงครามหรือ ย่อมไม่ใช่ แต่นั่นเป็นเพราะเหมาเจ๋อตุงเป็นสุดยอดนักกลยุทธ์ จึงรู้ว่าต้องพลิกแพลงตามสถานการณ์

unk-serf

ตอนที่ญี่ปุ่นเข้าโจมตีจีนอย่างรวดเร็ว ทัพเจียงไคเช็คแตกพ่ายไม่เป็นกระบวน ชนชั้นนำจีนมีความเห็นออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายแรกคิดว่าจีนต้องพ่ายแพ้แน่ๆ อีกฝ่ายหนึ่งกลับคิดว่าจีนประเทศใหญ่ คนเยอะ ถ้าจะเอาชนะญี่ปุ่น ต้องใช้กลยุทธ์รบเร็วแตกหักเร็ว จึงจะชนะญี่ปุ่นเด็ดขาด ฝ่ายแรกนั้นก็เป็นพวกสิ้นหวัง แต่ฝ่ายหลังก็เป็นนักยุทธศาสตร์ตามตำรา โดยไม่คำนึงถึงสภาพความเป็นจริงตอนนั้นเลย

เหมาเจ๋อตงได้ออกหนังสือตอนนั้นในชื่อว่า “ว่าด้วยสงครามยืดเยื้อ” วิเคราะห์สถานการณ์ตอบโต้ความเห็นทั้งสองฝ่าย และเสนอว่า ถ้าจีนจะชนะ ต้องทำสงครามยืดเยื้อ โดยเหมาได้ชี้แจงว่า ตอนนั้นญี่ปุ่นเป็นประเทศจักรวรรดินิยมอันดับต้นๆของโลก ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากเพื่อขยายอำนาจ แต่ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศเล็ก กำลังคน ทรัพยากร มีน้อย ทนสู้สงครามยาวนานไม่ได้ เหตุที่ญี่ปุ่นคิดก่อสงครามขยายอาณาจักรก็เพื่อแก้ปัญหานี้ คือจะได้ทรัพยากรจากประเทศที่ญี่ปุ่นเข้ายึด แต่เหมาบอกว่า สงครามกลับจะทำลายทรัพยากรที่ญี่ปุ่นต้องการต่างหาก และการสนับสนุนจากฝ่ายประเทศฟาสต์ซิสต์ต่อญี่ปุ่นนั้นจะเสื่อมถอยลงเรื่อยๆ ในขณะที่ประเทศจีนนั้น เหมาวิเคราะห์ว่า เป็นประเทศที่อ่อนแอทั้งทางทหาร เศรษฐกิจ และการจัดตั้งทางการเมือง แต่ความอ่อนแอเหล่านี้ได้ถึงจุดต่ำสุดแล้ว พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้รวมพลังคนจีนที่ต้องการฟื้นฟูปลดแอกประเทศจนเกิดพลังที่เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญ ประเทศจีนเป็นประเทศใหญ่โต ทรัพยากรมาก คนมาก ทหารมาก ยืนหยัดทำสงครามเป็นเวลานานได้ พูดง่ายๆก็คือ ญี่ปุ่นเปรียบเสมือนดวงตะวันกำลังตกดิน ส่วนจีนเปรียบเสมือนดวงอาทิตย์แรกขึ้น ด้วยการวิเคราะห์นี้ เหมาเจ๋อตงจึงเชื่อมั่นว่า จีนต้องทำสงครามยืดเยื้อจึงจะเอาชนะญี่ปุ่นได้ ซึ่งตรงข้ามกับตำราพิชัยสงครามซุนวูเลยทีเดียว

ผลลัพธ์ของสงครามจีน-ญี่ปุ่นอันยืดเยื้อยาวนานเกือบสิบปีครั้งนั้น สิ้นสุดด้วยความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่น เมื่อญี่ปุ่นไม่อาจรุกคืบยึดจีนได้ทั้งประเทศตามที่คาดหวัง แต่กลับไปเปิดสงครามทางฝั่งแปซิฟิคกับสหรัฐอเมริกา จนถูกอเมริกาทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมาและนางาซากิจนต้องยอมแพ้สงคราม พรรคคอมมิวนิสต์จีนใช้โอกาสหลังญี่ปุ่นพ่ายแพ้ รุกคืบยึดพื้นที่ เอาชนะกองทัพของเจียงไคเช็คจนเจียงต้องหนีไปเกาะไต้หวัน และเหมาเจ๋อตงก็ได้ประกาศก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนได้สำเร็จในวันที่ 1 ตุลาคม 1949 นั่นเป็นเครื่องพิสูจน์ความเป็นสุดยอดนักกลยุทธ์ของเหมาเจ๋อตง ผู้ไม่ยึดติดกับตำรา แต่พลิกแพลงยุทธศาสตร์ตามสถานการณ์ อย่างแท้จริง

**********************************************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
20 สิงหาคม 2558
**********************************************************

ยุทธศาสตร์พระนเรศวร ตำราพิชัยสงครามซุนวู และการกระจายการลงทุน

เมื่อวาน ผมได้มีโอกาสไปไหว้อนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ทุ่งภูเขาทอง อยุธยา ตรงริมถนนด้านหน้า มีซุ้มติดประวัติและเรื่องราวของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชอยู่หลายซุ้ม ซุ้มหนึ่งเขียนถึง ยุทธศาสตร์การสงครามของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตอนหนึ่งเขียนว่า “หลักการรวมกำลัง อำนาจกำลังรบให้เหนือกว่า ณ ตำบลและเวลาที่จะให้บรรลุผลแตกหัก ความเหนือกว่าจะเป็นผลมาจากการผสมผสานองค์ประกอบของอำนาจกำลังรบอย่างเหมาะสมกับเวลาและสถานที่ และในรูปแบบที่ผู้บังคับบัญชาเลือก เพื่อครองความริเริ่มช่วยให้กำลังที่เสียเปรียบด้านจำนวน สามารถบรรลุผลแตกหักทั้งการปฏิบัติการทัพและการปฏิบัติการรบ” นี่แสดงให้เห็นว่า พระองค์ท่านนิยมหลักการมุ่งเน้น (Concentration) เพราะในขณะนั้น กำลังรบของพระองค์มีจำนวนน้อยกว่ากำลังรบของหงสาวดี ท่านจึงใช้หลักการมุ่งเน้นกำลังของท่านมายังตำแหน่งที่ต้องการรบแตกหัก จึงจะเอาชนะหงสาวดีได้ ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ผมคิดถึงหลักการลงทุนว่าด้วย การกระจายความเสี่ยง (Diversification) กับ การมุ่งเน้น (Concentration) ขึ้นมาทันที

DiversificaitonConcentration

หนึ่งในบทเรียนการลงทุนเบื้องต้นที่มักสอนกันอย่างแพร่หลายก็คือ “อย่าใส่ไข่ทุกฟองไว้ในตะกร้าใบเดียว (Don’t put all your eggs in one basket)” ความหมายของประโยคนี้ก็คือ อย่าใส่เงินลงทุน (ไข่) ของเราทั้งหมดไว้ในการลงทุน (ตะกร้า) ตัวเดียว เช่น หุ้นตัวเดียว ฯลฯ ก็เพราะว่า หากเกิดเหตุการณ์ด้านลบที่ไม่คาดฝันกับการลงทุนตัวนั้น (ตะกร้าหล่น ไข่แตก) เราก็ยังมีไข่ในตะกร้าใบอื่น (เงินลงทุนในการลงทุนตัวอื่น เช่น หุ้นตัวอื่น เงินฝาก อสังหาฯ) ไม่เสียหายไปทั้งหมด นี่คือหลักกระจายความเสี่ยง (Diversification)

แต่ปรมาจารย์การลงทุนอย่าง วอเรน บัฟเฟตต์ และ ปีเตอร์ ลินช์ ไม่ได้มองเช่นนั้น  บัฟเฟตต์กลับหยิบยกสุภาษิตเก่าแก่ที่บอกว่า “ให้ใส่ไข่ทุกฟองในตะกร้าใบเดียว แล้วจับตาดูตะกร้าใบนั้นให้ดีๆ (Keep all your eggs in one basket, but watch that basket closely.)” เพราะบัฟเฟตต์มองว่า การกระจายความเสี่ยงด้วยการลงทุนไปให้ในหุ้นหลายๆตัวมากเกินไปเป็นอุปสรรคขวางกั้นการได้รับผลตอบแทนที่ดี แต่การลงทุนในตะกร้าใบเดียวแล้วเอาใจใส่เฝ้ามองให้ดีกลับจะให้ผลตอบแทนสูงกว่า นี่ก็คือหลักการมุ่งเน้น (Concentration)

ปีเตอร์ ลินช์ มองว่า การกระจายการลงทุนมากเกินไปเป็นจุดด้อยของการลงทุน เขาเขียนไว้ในหนังสือว่า “คนทั่วไปสามารถลงทุนแบบมุ่งเน้นในบริษัทไม่กี่บริษัท ขณะที่ผู้จัดการกองทุนรวมถูกบังคับให้กระจายการลงทุน การถือหุ้นจำนวนมากเกินไป ทำให้สูญเสียประโยชน์จากการมุ่งเน้น การลงทุนให้ถูกตัวเพียงไม่กี่ครั้งก็ทำกำไรมหาศาลคุ้มค่าการลงทุนตลอดชีวิตแล้ว” ซึ่งหมายความว่า ปีเตอร์ ลินช์ ก็นิยมหลักการมุ่งเน้น (Concentration) เช่นเดียวกัน

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บทที่ 6 ตื้นลึกหนาบาง เขียนไว้ว่า “เรารวมศูนย์ แต่ศัตรูกระจาย เรารวมเป็นหนึ่ง ศัตรูกระจายเป็นสิบ เราจึงเหนือกว่าศัตรูอยู่สิบต่อหนึ่งในพื้นที่แห่งนั้น เมื่อจึงเอาชนะได้โดยง่าย” นี่ก็คือ หลักการมุ่งเน้น (Concentration) นั่นเอง ถ้าเราปรับมาใช้กับการลงทุน ก็จะตรงกับแนวคิดของบัฟเฟตต์และปีเตอร์ ลินช์ ว่า การลงทุนแบบมุ่งเน้น ทำให้เรามีเงินทุนตั้งต้นที่สามารถสร้างกำไรในเยอะกว่าการกระจายเงินลงทุนไปทั่ว ประเด็นสำคัญคือ เราต้องเลือกการลงทุนนั้นให้ดี ต้องมั่นใจว่าชนะ หรือได้กำไรแน่ๆ แล้วทุ่มเงินลงทุนลงไป ทำอย่างนี้ กำไรที่ได้ย่อมมากกว่าการกระจายการลงทุนหลายเท่า ถ้าใช้สูตรแบบซุนวู คือรวมสิบมาไว้ที่แห่งเดียว ก็ย่อมได้กำไรมากกว่าสิบเท่า นั่นเอง

 

***********************************************************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
13 สิงหาคม 2558
***********************************************************************

จาก ปัจจัยชี้ขาดชัยชนะห้าประการของ ซุนวู สู่ Five Competitive Forces ของพอร์เตอร์

เป็นเรื่องน่าสนใจอย่างยิ่งเมื่อตำราพิชัยสงครามเมื่อกว่า 2,500 ปีก่อนของจีน กล่าวถึงปัจจัยชี้ขาดชัยชนะห้าประการ ขณะเดียวกัน เมื่อสามสิบกว่าปีก่อน ปรมาจารย์กลยุทธ์ธุรกิจของอเมริกา ก็บอกว่า มีพลังห้าประการที่กำหนดกลยุทธ์ (The Five Competitive Forces that Shape Strategy) แล้วเลข 5 ของทั้งสองท่านมีความเหมือนหรือความต่างกันอย่างไร

778px-Bamboo_book_-_binding_-_UCR

เมื่อกว่า 2,500 ปีก่อน ซุนวู แม่ทัพใหญ่แห่งแคว้นอู๋ ผู้นำทัพที่มีจำนวนทหารและทรัพยากรด้อยกว่าไปพิชิตแคว้นฉู่ มหาอำนาจในยุคนั้น ได้เขียนตำราพิชัยสงคราม 13 บท ที่ถือว่าเป็นสุดยอดของตำราพิชัยสงครามตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ในบทแรก ซุนวูบอกว่า การสงคราม (หรือการแข่งขัน ในความหมายปัจจุบัน) เป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องความเป็นความตาย ไม่ศึกษาให้ถ่องแท้ไม่ได้  มีปัจจัยสำคัญห้าประการที่จะชี้ขาดชัยชนะ ได้แก่

  1. วิถี ซึ่งจะนำพาให้ประชาชนร่วมเป็นร่วมตายไปกับประมุขของรัฐ หากเราจะประยุกต์มาใช้กับการบริหารธุรกิจปัจจุบัน เราสามารถใช้คำว่า ภารกิจ (Mission) และ วิสัยทัศน์ (Vision) ได้ เพราะเป็นสิ่งที่จะทำให้คนในองค์กรร่วมแรงร่วมใจต่อสู้กับการแข่งขันทางธุรกิจได้
  2. ฟ้า ซึ่งกำหนดกลางวัน-กลางคืน, ร้อน-หนาว, และการเปลี่ยนแปลงแห่งฤดูกาล ในยุคปัจจุบัน ปัจจัยข้อนี้คือ สภาวะแวดล้อมและจังหวะเวลา (Timing) ของธุรกิจ เศรษฐกิจ การเมือง และต่างๆ ที่ส่งผลต่อการแข่งขัน
  3. ดิน หมายถึง ตำแหน่งที่ตั้งของสมรภูมิ ใกล้หรือไกล มั่นคงหรือท้าทาย ที่ราบหรือที่ลาดชัน ในยุคปัจจุบัน ย่อมหมายถึง ตำแหน่งที่ตั้งของธุรกิจ
  4. แม่ทัพ แม่ทัพต้องประกอบด้วยคุณลักษณะ 5 ประการ คือ ฉลาด เชื่อถือได้ เมตตา กล้าหาญ และเข้มงวด ในยุคปัจจุบันย่อมหมายถึง ผู้บริหาร ซึ่งต้องมีคุณลักษณะทั้ง 5 ประการที่ว่านี้เช่นกัน
  5. วินัย หมายถึง วินัยกองทัพ, การจัดทัพ และการควบคุมจัดส่งยุทโธปกรณ์ ในยุคปัจจุบัน เราควรใช้คำว่า วัฒนธรรมองค์กร

ซุนวูบอกว่า แม่ทัพที่รู้และเข้าใจปัจจัยทั้งห้าประการนี้ ย่อมมีชัยชนะ แม่ทัพที่ไม่รู้ก็จะพ่ายแพ้

ข้ามเวลามายังปี 1979 ปีนั้นเป็นปีที่ศาสตราจารย์ ไมเคิล อี. พอร์เตอร์ แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาดได้ตีพิมพ์บทความชื่อว่า How Competitive Forces Shape Strategy ลงในนิตยสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนมีนาคม 1979 บทความนั้นได้นำเสนอการวิเคราะห์โครงสร้างอุตสาหกรรมด้วยโมเดลพลังการแข่งขันห้าประการ (The Five Competitive Forces Model) โมเดลนี้ได้รับความสนใจและนำไปใช้อย่างมากมายจนถือได้ว่าเป็นโมเดลที่นักบริหารเชิงกลยุทธ์ทุกคนต้องรู้จัก และใช้ในการวิเคราะห์โครงสร้างการแข่งขันของอุตสาหกรรม
FiveForces

 

พลังห้าประการนั้น ประกอบด้วย

  1. การคุกคามจากคู่แข่งขันรายใหม่
  2. อำนาจต่อรองของซัพพลายเออร์
  3. อำนาจต่อรองของลูกค้า
  4. การคุกคามจากสินค้าทดแทน
  5. การแข่งขันระหว่างคู่แข่งขันในปัจจุบัน

พอร์เตอร์บอกว่า โดยเนื้อแท้แล้ว หน้าที่ของนักกลยุทธ์ก็คือทำความเข้าใจและรับมือกับการแข่งขัน แต่การทำความเข้าใจการแข่งขันนั้น จะต้องเข้าใจโครงสร้างของอุตสาหกรรมก่อน ด้วยการวิเคราะห์พลังการแข่งขันทั้งห้าประการ นักกลยุทธ์ธุรกิจผู้เข้าใจว่าพลังที่ส่งผลต่อการแข่งขันไม่ได้มาจากคู่แข่งในปัจจุบันเพียงอย่างเดียว ก็จะพบพลังจากด้านอื่นๆ และสามารถกำหนดกลยุทธ์การแข่งขันที่นำชัยชนะมาสู่องค์กรได้

จากที่ว่ามา แม้ว่าปัจจัยชี้ขาดห้าประการของซุนวูกับพลังการแข่งขันห้าประการของพอร์เตอร์นั้น ไม่ได้มีเนื้อหาเหมือนกันในแต่ละข้อ เพราะซุนวูพูดถึงปัจจัยทั้งภายในและภายนอกที่จะชี้ขาดชัยชนะ ส่วนพอร์เตอร์นั้นพูดถึงการวิเคราะห์โครงสร้างอุตสาหกรรมด้วยพลังห้าประการ ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก และสอดคล้องกับข้อ 2 ฟ้า และข้อ 3 ดินของซุนวู  ส่วนปัจจัยภายในนั้น พอร์เตอร์ได้พูดถึงในอีกเรื่องก็คือ ความสามารถในการแข่งขัน (Competitive Advantage) แต่ทั้งสองคนต่างก็กล่าวตรงกันว่า กลยุทธ์การเอาชนะจะต้องมีการศึกษาทำความเข้าใจสภาวะการแข่งขันให้ถ่องแท้เสียก่อนจึงจะประสบความสำเร็จได้

********************************
เขียนโดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
Celestial Strategist
3 สิงหาคม 2558
********************************

ภาพประกอบ

  • ตำราพิชัยสงคราซุนวู ฉบับไม้ไผ่ จาก “Bamboo book – binding – UCR” by vlasta2, bluefootedbooby on flickr.com
  • แผนภูมิ The Five Forces That Shape Industry Competition จาก บทความ The Five Competitive Forces That Shape Strategy โดย Michael E. Porter ในวารสาร Harvard Business Review ฉบับ January 2008