กลยุทธ์ยืมซากคืนชีพ กับกลยุทธ์ซื้อหุ้นกลุ่มอุตฯที่ให้ผลตอบแทนแย่ที่สุดในปีที่ผ่านมา

มีกลยุทธ์การลงทุนแบบหนึ่งที่แนะนำให้นักลงทุนเลือกซื้อหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีผลตอบแทนแย่ที่สุดในปีที่ผ่านมา และถือเอาไว้หนึ่งปี พอครบปีก็ขายออกไปและทำเช่นเดิมซ้ำอีก กลยุทธ์นี้มีสมมติฐานที่ว่า การลงทุนแบบสวนกระแส (Contrarian) จะสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าการลงทุนแบบตามคนส่วนใหญ่ เพื่อพิสูจน์ความน่าเชื่อถือของกลยุทธ์นี้ มีนักวิเคราะห์กลยุทธ์หุ้นคนหนึ่งที่ชื่อว่า Kim Iskyan แห่ง True Wealth Publishing สิงคโปร์ ได้รวบรวมข้อมูลจาก Bloomberg ย้อนหลัง 10 ปี โดยใช้ดัชนี Bloomberg World Asia-Pacific เป็นตัวแทนตลาด และแยกกลุ่มอุตสาหกรรมออกเป็น 10 กลุ่ม นำมาทำตารางตามรูป โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนลงทุนดีที่สุดของปีจะใส่สีเขียวเอาไว้ ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนแย่ที่สุดก็เป็นสีแดง


จากภาพ จะเห็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดไม่สามารถรักษาแชมป์ในปีถัดไปได้เลย ดังนั้นกลยุทธ์ที่ซื้อหุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดในปีที่ผ่านมาโดยคาดว่าปีถัดไปจะยังคงดีเช่นเดิมนั้น เป็นกลยุทธ์ที่ใช้ไม่ได้ผล  มีบางปีกลุ่มที่ดีที่สุดกลายเป็นกลุ่มที่แย่ที่สุดในปีถัดไปเลย อย่างปี 2014 ที่หุ้นกลุ่มสินค้าปลีก (Consumer Discretionary) ให้ผลตอบแทน -3% ทั้งๆที่ปีก่อนหน้ามีผลตอบแทนถึง 25%

ส่วนกลยุทธ์ที่ซื้อหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนแย่ที่สุดในปีที่ผ่านมา กลับให้ผลตอบแทนสูงกว่าตลาด 7 ปีจากทั้งหมด 10 ปี (ยกเว้นปี 2012, 2013, 2014) และหากเราใช้กลยุทธ์นี้ทุกปีตั้งแต่ปี 2008 เราจะได้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 13% ขณะที่ตลาด (ดัชนี Bloomberg World Asia-Pacific) ได้ผลตอบแทนเพียง 6% ต่อปี หรือพูดได้ว่า กลยุทธ์นี้เอาชนะตลาดถึง 7% ต่อปีเลยทีเดียว สำหรับปี 2017 นี้ กลยุทธ์นี้จะแนะนำให้ซื้อหุ้นกลุ่มสาธารณูปโภค (Utilities Sector) และกลุ่มสุขภาพ (Healthcare) เพราะเมื่อปีที่แล้ว หุ้นสองกลุ่มนี้ให้ผลตอบแทน -9% แย่ที่สุดในตลาด

กลยุทธ์ซื้อหุ้นที่มีผลตอบแทนแย่ที่สุดในปีที่ผ่านมานี้ ดูๆไปก็เหมือนกับกลยุทธ์ที่ 14 จากคัมภีร์ 36 กลยุทธ์แห่งชัยชนะของจีน นั่นคือ กลยุทธ์ยืมซากคืนชีพ (借尸还魂 เจี้ยซือหวนหุน) ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ให้หาประโยชน์จากสิ่งที่ดูเหมือนตายไปแล้วหรือไร้ประโยชน์ ในกรณีนี้ หุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนแย่ที่สุดในปีที่ผ่านมาก็เหมือนกับซากศพที่ใครๆไม่สนใจ แต่เมื่อไปลงทุน ซากนั้นกลับกลายมีชีวิตขึ้นมา ให้ผลตอบแทนดีกว่าตลาดในปีต่อมานั่นเอง

*******************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
5 กุมภาพันธ์ 2560
*******************************

มาลงทุนหุ้นในประเทศเจ้าเหรียญทองโอลิมปิคกันดีมั้ย?

ในตลาดหุ้นมักมีนักวิเคราะห์พยายามจับคู่เหตุการณ์ต่างๆที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวกันมาพยากรณ์ว่า ตลาดหุ้นจะไปในทางทิศทางไหน ล่าสุด เมื่อเดือนสิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา มีการแข่งขันโอลิมปิคฤดูร้อนที่บราซิล ที่เรียกว่า ริโอ 2016 (Rio 2016) ปรากฏว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาได้กวาดเหรียญรางวัลสูงสุด เป็นเจ้าเหรียญทองโอลิมปิค โดยได้เหรียญทอง 46 เหรียญ ก็มีคนสนใจว่า จริงๆแล้วมีความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าเหรียญทองโอลิมปิคกับผลตอบแทนตลาดหุ้นของประเทศนั้นหรือเปล่า? ซึ่งผลการวิเคราะห์ในอดีตพบว่า มันมีความสัมพันธ์กันจริงๆ

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยแล้ว ตลาดหุ้นของประเทศเจ้าเหรียญทองโอลิมปิคทั้งฤดูร้อนและฤดูหนาว จะมีผลตอบแทนดีกว่า ดัชนี MSCI World ที่เป็นดัชนีตลาดหุ้นของโลก ในช่วงเวลาไม่กี่เดือนหลังโอลิมปิคสิ้นสุดลง ตัวอย่างเช่น โอลิมปิค ฤดูร้อน 1996 สหรัฐอเมริกาชนะเป็นเจ้าเหรียญทอง หนึ่งปีถัดมา (คือจาก 4 ส.ค. 1996 ถึง 4 ส.ค. 1997) ดัชนี MSCI World Index เพิ่มขึ้น 26% ขณะที่ ดัชนี S&P500 ซึ่งเป็นตัวแทนตลาดหุ้นสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 43% เอาชนะตลาดหุ้นโลกไปได้ถึง 17%

 

Screen Shot 2016-09-01 at 5.56.18 PM

ในปี 2008 โอลิมปิคฤดูร้อน ประเทศจีนเป็นเจ้าภาพ และเอาชนะเป็นเจ้าเหรียญทองไปได้ ปีต่อมาหลังโอลิมปิค ดัชนี MSCI World Index ตกลง 19% ขณะที่ ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิท (Shanghai Composite Index) ตัวแทนของตลาดหุ้นจีนกลับเพิ่มขึ้น 25% หมายความว่า เอาชนะตลาดหุ้นโลกไปได้ถึง 43%

จากตาราง ถ้าดูย้อนหลัง 20 ปี จากโอลิมปิค 10 ครั้ง ตลาดหุ้นของประเทศเจ้าเหรียญทองเอาชนะตลาดหุ้นโลกได้ 6 ครั้ง ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์เฉลี่ยอยู่ที่ 4%, ถ้าเราดูระยะเวลาหลังโอลิมปิคเพียง 3 เดือน จะพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วเจ้าเหรียญทองจะเอาชนะตลาดหุ้นโลกได้ราว 6% และถ้าเราดูที่ 6 เดือน ตัวเลขก็จะเป็น 6% เช่นกัน

ถ้าเราดูให้ละเอียดแล้ว จะพบว่า ตัวเลขที่ต่างกันมาก มีน้ำหนักจากโอลิมปิค 2008 ที่จีนเป็นเจ้าเหรียญทอง อย่างไรก็ตาม ถ้าเราถอดโอลิมปิค 2008 ออกไป ตัวเลขตลาดหุ้นเจ้าเหรียญทองก็ยังดีกว่าตลาดโลกอยู่ดี โดยเฉพาะถ้าเราดูที่ระยะเวลา 3 เดือนและ 6 เดือนหลังโอลิมปิค

ทำไมตลาดหุ้นประเทศเจ้าเหรียญทองถึงดีกว่าตลาดหุ้นโลกได้? เป็นไปได้ว่า การชนะเป็นเจ้าเหรียญทองน่าจะเป็นผลจากการที่ประเทศนั้นได้ลงทุนในกีฬามาก่อนหน้า ซึ่งประเทศที่จะมีเงินลงทุนในกีฬามักมาจากประเทศที่มีเศรษฐกิจกำลังเติบโต ซึ่งส่งผลให้ตลาดหุ้นหลังโอลิมปิคไม่กี่เดือนมีผลตอบแทนดีไปด้วย ดังนั้น ถ้าเราเชื่อทฤษฎีนี้ ก็คงต้องไปเลือกซื้อกองทุนที่อิงกับดัชนี S&P500 ของสหรัฐอเมริกา แต่บอกตามตรง ผมไม่รับประกันกำไรนะครับ

*******************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
26 สิงหาคม 2559
*******************************

เครดิตข้อมูลจาก http://www.truewealthpublishing.asia

 

ทำไม Prada แบรนด์หรูจากอิตาลี มาระดมทุนในตลาดหุ้นฮ่องกง

เมื่อเดือนมิถุนายน 2011 Prada แบรนด์หรูระดับโลกจากอิตาลี ได้เข้าระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงด้วยขายหุ้น IPO ได้เงินไปกว่า 2,140 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นี่เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่าเพราะเหตุใดยักษ์ใหญ่จากยุโรปถึงเลือกเข้าตลาดหุ้นในฮ่องกง แทนที่จะเป็นในอิตาลี บ้านเกิดของแบรนด์, ในอังกฤษ ศูนย์กลางการเงินในยุโรป หรือในสหรัฐอเมริการ ซึ่งตลาดหุ้นนิวยอร์กเป็นตลาดหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก

PradaShopinBeijing_CFP
ภาพร้าน Prada ในปักกิ่ง (Photo/CFP)

อันที่จริง Prada บริษัทที่ก่อตั้งขึ้นที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี มาตั้งแต่ปี 1913 ได้วางแผนจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ที่มิลาน เมื่อ ก.ย. 2011 แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ 9/11 ก็ต้องเลื่อนแผนออกไป จากนั้นก็ตามมาด้วยสงครามอ่าวครั้งที่ 2, การระบาดของโรค SARS และวิกฤติการเงินโลกเมื่อปี 2008 ทำให้แผนระดมทุนจากตลาดหุ้นของ Prada ต้องเลื่อนออกไปครั้งแล้วครั้งเล่า และในที่สุด Prada ก็เลือกที่จะระดมทุนจากตลาดหุ้นฮ่องกง เมื่อ มิ.ย. 2011 ด้วยการขายหุ้นให้กับนักลงทุนจำนวน 20% ของหุ้นทั้งหมด ราคา IPO ที่ 39.50 ดอลลาร์ฮ่องกง ได้เงินมา 2,140 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

นาย Patrizio Bertelli CEO ของ Prada ได้เขียนบทความลงในวารสาร Harvard Business Review ไว้ว่า เมื่อตอนทศวรรษ 1990s เขาเคยเชื่อว่า อนาคตของ Prada อยู่ที่การเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในยุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริกา แต่พอมาถึงทศวรรษ 2010s เขามั่นใจว่า อนาคตอยู่ที่ตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝั่งเอเชียและประเทศจีน ซึ่งเมื่อเราไปอ่านดูรายงานประจำปีของ Prada พบว่า ยอดขายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค (ไม่รวมญี่ปุ่น) ได้เพิ่มสัดส่วนจาก 18% ในปี 2009 มาเป็น 32% ในปี 2011 (และล่าสุดในปี 2014 กลายเป็น 38% แล้ว)

ด้วยตัวเลขการเติบโตอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นภูมิภาคที่สร้างรายได้สูงสุดดังกล่าว จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ Prada จึงเลือกมาระดมทุนจากตลาดหุ้นฮ่องกง เพื่อที่จะมาอยู่ในภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก และได้รับประโยชน์สำคัญอย่างน้อย 2 ประการ นั่นคือ ประการแรก เมื่อมาระดมทุนในตลาดหุ้นฮ่องกงที่ที่มีเศรษฐีเกิดใหม่จำนวนมาก ก็จะได้เงินจากการระดมทุนเป็นกอบเป็นกำ และยังได้ราคาดีกว่าไประดมทุนในยุโรปอีกด้วย (ราคา IPO ของ Prada เท่ากับ P/E ที่ 22.8 เท่า ขณะที่ค่า P/E เฉลี่ย ของหุ้นแบรนด์หรูในตลาดหุ้นยุโรปอยู่ที่ 20 เท่า) ประการที่สอง การระดมทุนในตลาดหุ้นฮ่องกงจะช่วยส่งเสริมให้คนจีนรู้จักและผูกพันกับแบรนด์ Prada มากยิ่งขึ้น

ไม่เพียงแต่ Prada เท่านั้นที่มาระดมทุนในตลาดหุ้นฮ่องกง ยังมีแบรนด์ดังจากตะวันตกอีกหลายแบรนด์เลือกมาระดมทุนที่นี่ เช่น L’Occitane บริษัทเครื่องสำอางชื่อดังจากฝรั่งเศส ระดมทุนไปได้ 708 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, Samsonite แบรนด์กระเป๋าเดินทางชั้นนำของสหรัฐอเมริกา ระดมทุนไป 1,250 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

จะเห็นว่า โลกเปลี่ยนไปเร็วมาก ภูมิภาคที่มีเงินเยอะและเติบโตสูงได้เปลี่ยนจากยุโรปและสหรัฐอเมริกา กลายมาเป็นฝั่งเอเชียแล้ว เชื่อได้ว่าในช่วงสิบกว่าปีนี้ ภูมิภาคที่จะมีบทบาทสำคัญในโลกก็จะรวมถึงกลุ่มอาเซียนของเราอีกด้วย เราจึงควรเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อคว้าโอกาสนี้ไว้ให้ได้ เพราะหลังจากเอเชียแล้ว Patrizio Bertelli ซีอีโอของ Prada ได้มองข้ามช็อตไปถึงทวีปแอฟริกาแล้วว่าภายใน 10-15 ปีข้างหน้า ทวีปแอฟริกาจะกลายเป็นตลาดที่ใหญ่อีกแห่งหนึ่งเลยทีเดียว โอกาสมาเร็วและไปเร็วเสมอสำหรับผู้ที่ไม่เตรียมตัวให้พร้อม

*******************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
7 สิงหาคม 2558
*******************************