ตำนานบ้านดินอวี้ชางโหลว ลางดีหรือลางร้าย

เมื่อกว่า 700 ปีก่อน ในยุคราชวงศ์หยวน ที่มองโกลปกครองแผ่นดินจีนอยู่ ชาวจีนฮากกา 5 ตระกูล ที่อพยพหนีภัยสงครามจากตอนเหนือมายังมณฑลฝูเจี้ยนที่อยู่ทางตอนใต้ของจีน ทั้งห้าตระกูลเลือกที่จะลงหลักปักฐานในบริเวณเทือกเขาตำบลหนานจิ้ง ซึ่งห่างจากชายฝั่งทะเล ทำให้ห่างจากภัยโจรสลัดอีกด้วย

Yuchanglou
อวี้ชางโหลว

ทั้งห้าตระกูลประกอบด้วย แซ่หลิว, หลัว, จาง, ถาง และ ฟ่าน ได้ลงขันรวมเงินว่าจ้างผู้รับเหมามาก่อสร้าง บ้านดินถู่โหลว ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาวจีนฮากกา (หรือจีนแคะ) กล่าวคือ เป็นอาคารขนาดใหญ่หลายชั้น มีหลายครอบครัวอาศัยอยู่รวมกัน แบ่งเป็นห้องๆ คล้ายคอนโดมิเนียมในปัจจุบัน มีลักษณะค่อนข้างปิด ทำให้รักษาความปลอดภัยได้ง่าย สำหรับบ้านดินที่ทั้งห้าตระกูลร่วมมือกันสร้างนั้น เรียกกันว่า อวี้ชางโหลว ที่แปลว่า บ้านแห่งความมั่งคั่ง สูง 5 ชั้น แต่ละชั้นมี 54 ห้อง อาคารแบ่งเป็น 5 ส่วน มีบันไดแยกจากกัน เพื่อความเป็นส่วนตัวของแต่ละตระกูลทั้งห้าแม้อยู่ในอาคารเดียวกัน ครัวของแต่ละตระกูลอยู่ครึ่งหลังของอาคารซึ่งมีน้ำสะอาดเพียงพอสำหรับใช้งาน อาคารเป็นรูปวงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 54 เมตร ลานตรงกลางสร้างเป็นศาลบรรพบุรุษ การแบ่งอาคารเป็น 5 ส่วนก็เหมือนกับ 5 ธาตุของจีน นั่นคือ ทอง ไม้ น้ำ ไฟ และดิน

ระหว่างก่อสร้าง ทั้งห้าตระกูลได้จัดเวรแบ่งหน้าที่ผลัดกันทำอาหารส่งน้ำให้กับช่างก่อสร้าง ค่ำคืนหนึ่งในช่วงพระอาทิตย์ตกค่อนข้างเร็ว ผู้ที่รับผิดชอบทำอาหารส่งให้ช่างก่อสร้าง เมื่อเสร็จหน้าที่แล้ว คิดว่าไม่มีอะไรอีกที่ต้องทำต่อ จึงดับตะเกียงเข้านอนแต่หัววัน ครอบครัวถัดไปที่รับผิดชอบส่งอาหารก็คิดว่า เวรถัดไปของตนเป็นรุ่งเช้าอีกวัน จึงเข้านอนไปด้วยโดยไม่ได้คุยกับครอบครัวก่อนหน้า วันนั้นช่างก่อสร้างทำงานจนดึก แต่กลับต้องอดอาหารเพราะเจ้าบ้านเข้านอนกันหมดแล้ว ด้วยความหิว ก็เลยหงุดหงิด ไม่รู้ว่าเพราะความตั้งใจหรือจะแกล้งเจ้าของบ้าน ช่างก่อสร้างจึงก่อบ้านดินไม่สมดุล บางจุดเล็กไป บางจุดใหญ่ไป แต่พอวางคานเสร็จแล้ว ก็ยังคงดูไม่ออกว่าโครงสร้างไม่ได้สมดุล

ว่ากันว่า อวี้ชางโหลว แต่เดิมจะสร้าง 7 ชั้น แต่วันหนึ่งก่อนที่จะปูกระเบื้องหลังคาชั้น 7 มีคนจากภายนอกขึ้นไปไหว้บรรพบุรุษที่ฮวงซุ้ยบนภูเขาด้านหลังอวี้ชางโหลว แต่ลมพัดเอากระดาษเงินกระดาษทองที่กำลังเผาปลิวมาที่ชั้น 7 ของบ้าน ทุกๆคนช่วยกันดับไฟได้ทัน แต่คิดว่า เป็นลางร้ายที่เกิดไฟไหม้ในอาคารใหม่ที่ยังไม่มีใครย้ายมาอยู่ ดังนั้นจึงรื้อชั้น 6 และชั้น 7 ออกไป แล้วก็ปูกระเบื้องหลังคาบนชั้น 5 แทน

800px-The_Zig_zag_building
เสาเอียง ใน อวี้ชางโหลว ที่อยู่มานานกว่า 700 ปี

ไม่นานนัก ทุกๆคนก็เริ่มสังเกตเห็นว่า เสาค้ำระเบียงชั้นสองและชั้นสูงกว่านั้นมันเอียง จนอาจจะพังลงได้ คนก็เริ่มกลัวกัน วันหนึ่ง เวลาย่ำค่ำ มีเสือเข้ามาในอาคาร คำรามเสียงดังก้อง เดินอยู่ที่ระเบียงชั้นล่าง และกระโดดขึ้นไปบนชั้นสอง เดินไปรอบๆระเบียง อย่างกับขุนนางระดับสูงเดินตรวจอาคาร จากนั้นก็กระโดดออกทางหน้าต่างด้านหลังขึ้นไปยังภูเขา นั่งลงมองมาทางบ้านอวี้ชางโหลว แล้วคำรามอย่างนุ่มนวล แต่ทุกคนในอาคารต่างได้ยินอย่างชัดเจน ก่อนจะวิ่งจากไป

คนตระกูลหลิวบอกว่า นี่คือ ลางดี เพราะเสือคำรามอย่างเป็นมงคล  เป็นการมาแสดงความยินดีที่อาคารสร้างเสร็จสมบูรณ์ ขณะที่อีกสี่ตระกูลบอกว่า เป็นลางร้าย เพราะมีเสือเข้ามาในบ้าน ถ้ามันเกิดขึ้นครั้งแรกได้ ก็ต้องเกิดครั้งต่อไปแน่นอน ทั้งสี่ตระกูลจึงตัดสินใจขายส่วนของตนเองให้กับตระกูลหลิว แล้วย้ายไปยังหมู่บ้านอื่น บางบ้านก็อพยพต่อมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หลังจากตระกูลหลิวครอบครองอาคารอวี้ชางโหลวทั้งหมดแล้ว พวกเขาเริ่มตรวจสอบสภาพอาคารอย่างละเอียด พบว่า ถึงแม้ว่าเสาจะเอียง แต่มันค้ำซึ่งกันและกัน โดยรวมแล้วยังแข็งแรง ไม่อันตราย พวกเขาจึงอาศัยในอาคารอวี้ชางโหลวต่อไปด้วยความสุข ตระกูลหลิวอาศัยอยู่ที่นี่มามากกว่า 700 ปี มีลูกหลานมากมาย มีฐานะมั่งคั่งร่ำรวยขึ้น มีคนในตระกูลสอบเข้ารับราชการได้ตำแหน่งใหญ่โตทั้งระหว่างราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง ในยุคสาธารณรัฐก็มีคนเป็นศาสตราจารย์และข้าราชการระดับสูง ถือว่าเป็นตระกูลหลิว สายที่ประสบความสำเร็จสายหนึ่งเลยทีเดียว

ปัจจุบัน อวี้ชางโหลว ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก มีชื่อเสียงว่าเป็นบ้านดินที่เอียง ดูเผินๆอาจรู้สึกว่าอันตราย นักท่องเที่ยวเรียกกันว่า Zig Zag Building แต่มันก็เป็นอย่างนี้มากว่า 700 ปี ตอนที่ผมไปเที่ยวที่นี่ ฟังไกด์เล่าเรื่องตำนานอวี้ชางโหลวให้ฟัง และอ่านหนังสือที่บันทึกเรื่องราวนี้ ก็คิดอยู่ว่า หากเราเป็นคนในห้าตระกูลนั้น เราจะคิดว่า บ้านที่เอียง กับ เสือเข้าบ้าน เป็นลางดี หรือลางร้ายกันแน่  แต่คนตระกูลหลิวเมื่อ 700 ปีก่อน ตัดสินใจเลือกที่จะเชื่อว่ามันคือลางดี เป็นมงคล สิ่งที่เขาทำต่อจากนั้น ก็คือ ตรวจสอบสภาพอาคารว่ายังปลอดภัย แล้วก็มุ่งมั่นสร้างครอบครัว ณ บ้านแห่งความมั่งคั่งแห่งนี้ จนประสบความสำเร็จ ข้อคิดที่ผมได้จากการท่องเที่ยวบ้านอวี้ชางโหลว ก็คือ บางครั้งชีวิตเรา ก็ต้องเลือกที่จะเชื่อว่า ลางที่เราพบเห็นเป็นลางดี เป็นมงคล แล้วมุ่งมั่นต่อไปจนประสบความสำเร็จนั่นเอง

*******************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
15 สิงหาคม 2559
*******************************

การซ้อมรบมิลเลนเนียมชาเลนจ์ 2002: เมื่อกลยุทธ์ตัดสินใจโดยการคิดวิเคราะห์ ปะทะ การใช้สัญชาตญาณ

เมื่อปี 2002 กระทรวงกลาโหม สหรัฐอเมริกา ได้ทดลองเกมการรบครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ทุ่มงบกว่า 250 ล้านดอลลาร์ โดยเรียกการซ้อมรบผ่านเกมจำลองครั้งนี้ว่า มิลเลนเนียมชาเลนจ์ 2002 (Millennium Challenge 2002) เกมจำลองการรบครั้งนี้เป็นการสมมติสถานการณ์การต่อสู้ระหว่าง ฝ่ายสหรัฐอเมริกา หรือ Blue Team กับฝ่ายกองกำลังเถื่อน หรือ Red Team โดยฝ่ายสหรัฐฯ หรือ Blue Team มีอุปกรณ์ไฮเทคอย่างพร้อมพรัก ไม่ว่าจะเป็น ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ ดาวเทียม อุปกรณ์ข่าวกรองต่างๆ ทำให้ได้รับข้อมูลข่าวกรองในปริมาณมหาศาลอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน มีขั้นตอนการทำงานที่สมเหตุสมผล เป็นระบบ และแม่นยำ พวกเขาได้รับของเล่นทุกชิ้นในคลังสรรพาวุธของกระทรวงกลาโหมเลยทีเดียว ส่วนฝ่ายกองกำลังเถื่อน หรือ Red Team นำโดยนายพลแวนไรเปอร์ สมมติว่าเป็นกองกำลังกบฏของประเทศในแถบอ่าวเปอร์เซีย ที่สนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย และเป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐฯ ตามประวัติการรบแล้ว นายพลแวนไรเปอร์เป็นนายทหารผู้ซึ่งเชื่อมั่นว่า สงครามนั้นทำนายล่วงหน้าไม่ได้ โดยเขายึดแนวคิดของนโปเลียนว่า “แม่ทัพไม่เคยรู้บางสิ่งอย่างแน่ชัด ไม่เคยเห็นศัตรูอย่างแจ่มแจ้ง และไม่เคยรู้ว่าอย่างชัดเจนว่าตัวเองกำลังอยู่ที่ไหน” เขาเกลียดการตัดสินใจที่อาศัยการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบตามที่กระทรวงกลาโหมพยายามพิสูจน์ในการซ้อมรบครั้งนี้ เพราะว่ามันใช้เวลานานเกินไป จึงไม่เหมาะต่อการนำไปใช้ในสถานการณ์สงครามอย่างยิ่ง เราพอจะพูดได้ว่า การซ้อมรบครั้งนี้เป็นการพิสูจน์กลยุทธ์การทำสงครามระหว่าง ฝ่ายที่เน้นการรวบรวมข้อมูลให้ชัดเจนเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์และตัดสินใจอย่างเป็นระบบ กับฝ่ายที่เน้นสัญชาตญาณนำการรบ นั่นเอง

MilleniumChallenge2002

เกมการรบครั้งนี้ ใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์ (Computer Simulation) เพื่อจำลองเหตุการณ์ขึ้นมาอย่างสมจริงจนคนในห้องซ้อมรบมองไม่ออกว่าเป็นเรื่องสมมติ การซ้อมรบครั้งนี้ใช้เวลา 2 สัปดาห์ครึ่ง ในวันแรกของการซ้อมรบ ทีมสหรัฐฯได้ส่งกองกำลังหลายหมื่นนาย พร้อมกองเรือบรรทุกเครื่องบินเข้าสู่อ่าวเปอร์เซีย เพื่อล้อมกองกำลังทีมสีแดงของแวนไรเปอร์ เมื่อแสดงแสนยานุภาพให้เห็นอย่างชัดเจนแล้ว ก็ยื่นข้อเสนอให้แวนไรเปอร์ยอมจำนน ทีมสหรัฐฯมีข้อมูลชัดเจนว่าทีมแวนไรเปอร์ฯมีจุดอ่อนตรงไหน ตั้งใจจะทำอะไรต่อไป และเริ่มตัดเสาส่งคลื่นไมโครเวฟและระบบไฟเบอร์ออปติกของแวนไรเปอร์ เพราะคิดว่าจะบีบให้แวนไรเปอร์ไปสื่อสารด้วยดาวเทียมและโทรศัพท์มือถือ แต่ปรากฏว่า แวนไรเปอร์ไม่ได้ทำอย่างนั้นเลย เขาสื่อสารด้วยเมสเสนเจอร์ขี่มอเตอร์ไซค์ หรือใส่ในข้อความบทสวดมนต์ส่งผ่านในมัสยิด การนำเครื่องบินขึ้นก็ทำโดยใช้ระบบไฟสัญญาณ แบบยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยไม่ใช่ระบบสื่อสารวิทยุที่ล่มไปแล้ว พอวันที่สอง แวนไรเปอร์ ส่งกองเรือลำเล็กๆ เข้าไปในอ่าวเปอร์เซีย เพื่อติดตามเรือทีมสหรัฐฯ และระดมยิงนาน 1 ชั่วโมงด้วยขีปนาวุธขนาดเล็กอย่างที่ไม่ทันได้ตั้งตัว จนทำให้ เรือ 16 ลำของทีมสหรัฐต้องจมไปนอนก้นอ่าวเปอร์เซีย ถ้าการซ้อมรบครั้งนี้เกิดขึ้นจริง ทหารอเมริกันจะต้องเสียชีวิตกว่า 20,000 คนก่อนที่กองทัพของเขาจะทันยิงปืนด้วยซ้ำ และจะกลายเป็นโศกนาฏกรรมของกองทัพสหรัฐนับตั้งแต่เพิร์ลฮาร์เบอร์เลยทีเดียว

วันรุ่งขึ้น นายทหารผู้ดูแลปฏิบัติการซ้อมรบครั้งนี้ ตัดสินใจให้เริ่มทุกอย่างใหม่ทั้งหมด เรือรบทั้ง 16 ลำที่จมอยู่ใต้ก้นอ่าวเปอร์เซีย ถูกชุบชีวิตขึ้นมาใหม่อีกครั้ง เมื่อทีมแวนไรเปอร์ยิงขีปนาวุธใส่ทีมสหรัฐฯ ผลปรากฏว่า ระบบป้องกันขีปนาวุธจะยิงมันตกทุกลูก เขาถูกห้ามใช้เรดาร์เพื่อไม่ให้แทรกแซงฝ่ายสหรัฐฯได้ พูดง่ายๆคือ การซ้อมรบรอบที่สองนี้ถูกเขียนบทไว้หมดแล้ว ทำให้ทีมสหรัฐฯเป็นฝ่ายชนะไปอย่างเด็ดขาดในรอบสองนี้ กระทรวงกลาโหม สหรัฐฯ ประกาศความสำเร็จของนโยบายการรบแบบใหม่ที่ใช้ข่าวสารข้อมูลปริมาณมหาศาลและการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบเป็นปัจจัยสู่ชัยชนะ ตามบทที่พวกเขาตั้งไว้ตั้งแต่ก่อนซ้อมรบ

เพื่อให้ได้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์ เราต้องมองข้ามผลการซ้อมรบอย่างเป็นทางการ แต่หันกลับไปศึกษาความสำเร็จของแวนไรเปอร์ที่ถล่มทีมสหรัฐฯได้ในช่วงสองวันแรก แวนไรเปอร์ให้ข้อคิดไว้ว่า “ถ้าให้เปรียบเทียบระหว่างการคิดวิเคราะห์กับการตัดสินใจตามสัญชาตญาณแล้ว คงไม่มีแบบไหนดีหรือแย่กว่ากันหรอก แต่ปัญหาจะเกิดเมื่อคุณใช้วิธีที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์” ในระหว่างการสู้รบจริงๆ ผู้นำต้องตัดสินใจเดี๋ยวนั้น ไม่สามารถนั่งรอข้อมูลวิเคราะห์ให้ชัดเจนแล้วค่อยตัดสินใจ “ถ้าคุณเอาแต่หมกมุ่นอยู่กับการหาข้อมูล ดีไม่ดีคุณจะจมกองข้อมูล”

*********************************************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
21 กุมภาพันธ์ 2559
*********************************************************

ข้อมูลจาก หนังสือ Blink โดย Malcolm Gladwell บทที่ 4: Paul Van Riper’s Big Victory – Creating Structure for Spontaneity
เครดิตภาพประกอบจาก http://archive.defense.gov

กลยุทธ์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้า ตอน 2

ตอนที่ 1 ผมได้เขียนเล่าเหตุการณ์นับจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้จนมาถึงการมีพระรัตนตรัยครบทั้งสามประการ โดยทิ้งท้ายว่า “..พระพุทธศาสนา..จำเป็นต้องมี อุบาสก อุบาสิกา มาด้วยจึงจะมีกำลังพร้อมจะขยายพุทธจักรออกไป แล้วพระพุทธองค์ทรงดำเนินกลยุทธ์อย่างไร..”

Chadil3

การได้อุบาสกที่ถึงพระรัตนตรัยคนแรกนั้นเป็นเรื่องบังเอิญ ไม่ใช่การวางแผน แต่ข้อคิดที่ได้จากพุทธประวัติตอนนี้คือ บางครั้งแม้เราไม่ได้วางแผนไว้ แต่เมื่อโอกาสเข้ามา เราต้องมีความพร้อมที่จะสร้างประโยชน์จากโอกาสนั้นเต็มที่ เรื่องตอนนี้ก็คือ มีลูกเศรษฐีคนหนึ่งชื่อ ท่านยสะ เบื่อหน่ายความฟุ้งเฟ้อวุ่นวายในบ้าน จึงเดินเข้ามาในป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พร้อมกับบ่นว่า ที่นี่ขัดข้อง ที่นี่วุ่นวาย ไปตลอดทาง แล้วพบกับพระพุทธเจ้าโดยบังเอิญ พระองค์จึงตรัสว่า ที่นี่ไม่ขัดข้อง ที่นี่ไม่วุ่นวาย ท่านยสะจึงหยุดและนั่งฟัง พระพุทธเจ้าจึงสอน อนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ เมื่อฟังจบ ท่านยสะก็มีดวงตาเห็นธรรม ฝ่ายเศรษฐีบิดาของท่านยสะได้ออกมาตามหาบุตรชายจนพบ และพระพุทธเจ้าจึงได้สอน อนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ อีกครั้งให้ท่านฟัง เมื่อฟังจบ ท่านก็มีดวงตาเห็นธรรม และเปล่งวาจาแสดงตนขอนับถือพระรัตนตรัย (พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์) เป็นที่พึ่งตลอดชีวิต ท่านจึงเป็น อุบาสกคนแรกที่เปล่งวาจาถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ฝ่ายท่านยสะเมื่อฟังคำสอนอีกรอบ ก็ได้ทบทวนและสำเร็จเป็นพระอรหันต์ จึงขอบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา บิดาของท่านยสะจึงนิมนต์ไปฉันที่บ้านของท่าน เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปฉันที่บ้านเศรษฐี ท่านก็ได้สอน อนุปุพพิกถา และอริยสัจ ๔ เช่นเดียวกัน ทำให้มารดาและภรรยาเดิมของท่านยสะ ได้ดวงตาเห็นธรรม และแสดงตนเป็นอุบาสิกาผู้ถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต เป็นอุบาสิการสองท่านแรกในพระพุทธศาสนา การมีครบทั้งพระสงฆ์ อุบาสก และอุบาสิการ ถือว่าทีมงานในการเผยแผ่พระศาสนามีครบทีมแล้วนั่นเอง

มีข้อสังเกตในการสอนของพระพุทธเจ้าว่า ตอนที่สอนปัญจวัคคีย์ซึ่งเป็นนักบวชอยู่แล้ว ท่านสอนเริ่มจาก อริยสัจ ๔ เลย เพราะท่านเหล่านั้นเป็นนักบวชมีความต้องการจะหลุดพ้นทุกข์อยู่แล้ว มีความพร้อมที่จะฟังคำสอนระดับแก่นได้เลย ส่วนคราวที่สอนชาวบ้านนั้น พระองค์ทรงเริ่มจาก อนุปุพพิกถา ซึ่งเป็นคำสอนเริ่มตั้งแต่เรื่อง ทาน, ศีล, สวรรค์, โทษของกาม, ประโยชน์ของการออกจากกาม เมื่อผู้ฟังพร้อมแล้ว พระองค์จึงสอนอริยสัจ ๔ ที่เป็นธรรมะขั้นสูงต่อไป อันนี้ไม่ใช่เรื่องกลยุทธ์ แต่เป็นเทคนิคการสอนของพระพุทธเจ้า ที่ไม่ได้เอาแต่สอนสิ่งที่เราอยากสอน แต่ประเมินความพร้อมของผู้ฟังด้วย

จากนั้น เพื่อนๆของท่านยสะก็ได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้าและได้ออกบวชตามอีก ๕๔ คน โดยต่างก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น ถึงตอนนี้ พระพุทธเจ้าท่านประเมินแล้วว่า พระศาสนามีกำลังที่จะเผยแผ่ออกไปยังมหาชน ท่านจึงตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ครั้งสำคัญอีกครั้ง โดยบอกกับพระอรหันต์ทั้ง ๖๑ องค์ (ปัญจวัคคีย์ ๕ รวมกับท่านยสะและเพื่อนอีก ๕๔) ว่า ท่านทั้งหลาย จงออกจาริกไปประกาศพระศาสนา แก่คนทั้งหลาย เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ของคนเหล่านั้น แต่ว่าให้ไปทางละ ๑ รูป แยกกันไป ส่วนพระองค์จะไปยังอุรุเวลาเสนานิคมเพื่อแสดงธรรมต่อไป ตรงนี้จะเห็นได้ชัดว่า พระองค์ได้ประกาศภารกิจ (Mission) ที่ชัดเจนให้กับทีมงานทั้งหมด นั่นคือ ให้ไปประกาศพระศาสนาเพื่อประโยชน์ของคนที่ฟัง ไม่ใช่ไปเพื่อประโยชน์แก่ตัวพระองค์หรือศาสนาเอง เมื่อ Mission ชัดเจนแล้ว พระองค์ยังกำหนดนโยบายจัดสรรทรัพยากรด้วยว่า ให้ไปแยกกัน ไปเส้นทางละหนึ่งองค์ คาดว่าเพื่อให้พระธรรมได้แผ่ออกไปได้กว้างขวางและรวดเร็วที่สุด และพระองค์ยังระบุด้วยว่า ให้ไปสอนพระธรรมอย่างไร เพื่อให้คำสอนของทุกองค์เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนพระองค์เองซึ่งเป็นผู้นำสูงสุดนั้น ตัดสินใจที่จะไปสอนที่เมืองอุรุเวลาเสนานิคม นั่นแปลว่า เมืองนี้ต้องเป็นที่ตั้งสำคัญทางยุทธศาสตร์การเผยแผ่พระศาสนาแน่นอน

ที่เมืองอุรุเวลาเสนานิคม พระพุทธเจ้าตั้งใจไปสอนชฎิล ๓ พี่น้อง ซึ่งเป็นนักบวชที่มีลูกศิษย์รวมกันถึง ๑,๐๐๐​ คน หากพระพุทธเจ้าสามารถชักชวนทั้งหมดมาได้ พระพุทธศาสนาก็จะมีฐานที่มั่นคงมากเลยทีเดียว ที่สำคัญคือ เมืองๆนี้เป็นเส้นทางไปสู่กรุงราชคฤห์ เมืองหลวงแคว้นมคธ ที่เป็นมหาอำนาจในแผ่นดินอินเดียขณะนั้น หากพระองค์สามารถวางรากฐานในเมืองหลวงของประเทศมหาอำนาจก็ย่อมทำให้มีความมั่นคงและเกิดความสามารถในการแข่งขัน (Competitive Advantage) เพียงพอที่จะขยายพุทธจักรออกไปได้อีกกว้างไกล

หลังจากที่พระพุทธเจ้าสามารถสอนให้ชฎิลทั้งสามพี่น้องพร้อมบริวารอีกพันคนมาบวชเป็นพระภิกษุแล้ว พระองค์จึงมุ่งหน้าสู่กรุงราชคฤห์ และด้วยขบวนพระสงฆ์ถึงพันรูป ย่อมทำให้เกิดข่าวใหญ่ไปทั้งเมืองว่าพระพุทธเจ้าพร้อมพระสงฆ์เดินทางมาเผยแผ่ศาสนาที่นี่ แต่แทนที่พระองค์จะเข้าไปในตัวเมือง พระองค์เลือกที่จะอยู่ที่สวนตาลนอกเมือง ทำให้พระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งได้รับทราวข่าวของพระองค์ ตัดสินใจพาบริวารจำนวนมากทั้งขุนนาง พราหมณ์ คฤหบดี มาเฝ้าพระพุทธเจ้าที่สวนตาลแห่งนั้น คนที่มากับคณะพระเจ้าพิมพิสารไม่ได้นับถือพระพุทธเจ้าทั้งหมด ยังมีจำนวนมากที่มีข้อสงสัย ด้วยเหตุว่า ถึงแม้พระพุทธเจ้าจะเป็นเจ้าชายจากเมืองกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ แต่แคว้นสักกะเป็นเพียงแคว้นเล็กๆ ไม่ใช่แคว้นใหญ่ และอยู่ภายใต้อิทธิพลของแคว้นมหาอำนาจอีกแห่งนั่นคือแคว้นโกศล ซึ่งเป็นคู่แข่งโดยตรงกับแคว้นมคธของพระเจ้าพิมพิสาร จะให้คนของพระเจ้าพิมพิสารนับถือพระองค์ในทันทีคงไม่ใช่เรื่องง่าย ถึงตรงนี้ เราจะเห็นชัดเจนว่า แผนกลยุทธ์ของพระองค์ได้แสดงผลออกมา นั่นคือ พระองค์ก็ถามชฎิลคนพี่ว่า ทำไมจึงละทิ้งลัทธิเดิมของตนเสีย ท่านจึงตอบว่าธรรมะของพระพุทธเจ้าประเสริฐอย่างไร และได้ซบศีรษะลงที่พระบาทของพระพุทธเจ้าเพื่อแสดงความเคารพสูงสุด คนที่อยู่ ณ ที่นั้นก็คิดได้ว่า ขนาดชฎิลที่เป็นหัวหน้าสำนักที่มีบริวารนับพัน ยังยอมละทิ้งความเชื่อเดิมและหันมาหาศาสนาพุทธ แสดงว่า พระพุทธเจ้าต้องมีดีไม่ธรรมดาเลย ทำให้เปิดใจรับฟังคำสอน จากนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าได้สอนธรรมะ ทุกคนจึงตั้งใจฟัง เมื่อฟังจบ ทุกคนก็หันมานับถือศาสนาพุทธทั้งสิ้น ถือว่าพระองค์ได้เอาชนะใจชนชั้นนำในกรุงราชคฤห์เรียบร้อยแล้ว

พระเจ้าพิมพิสารเกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าอย่างยิ่ง จึงได้ถวายสวนไผ่ทางทิศเหนือของกรุงราชคฤห์ สร้างให้เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าและพระสาวก เรียกว่า พระเวฬุวัน เกิดเป็นวัดครั้งแรกในพระพุทธศาสนา ณ จุดนี้ ถือได้ว่า พระพุทธศาสนาได้ลงหลักปักฐานอย่างมั่นคงในชมพูทวีปแล้ว พร้อมที่จะเผยแผ่พระธรรม ขยายพุทธจักร ต่อไป เพื่อประโยชน์สุขของคนทั้งหลาย อย่างไม่แยกชนชั้นวรรณะยากดีมีจนทั้งปวง ความสำเร็จนี้เป็นผลจากการบริหารเชิงกลยุทธ์ของพระพุทธเจ้าตั้งแต่วันที่พระองค์ตัดสินใจจะเผยแผ่คำสอนหลังตรัสรู้นั่นเอง

*******************************************************************
เขียนโดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย Celestial Strategist
31 กรกฎาคม 2558
*******************************************************************

กลยุทธ์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้า ตอน 1

เนื่องในโอกาสวันอาสาฬหบูชา ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๘ อันเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา จึงขอเขียนข้อสังเกตจากการศึกษาพุทธประวัติว่า พระพุทธเจ้าทรงวางกลยุทธ์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาไว้อย่างไร จึงสามารถวางรากฐานให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มั่นคงสืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้กว่าสองพันหกร้อยกว่าปีแล้ว ข้อเขียนดังต่อไปนี้จึงเป็นการนำเอาหลักการบริหารเชิงกลยุทธ์ ซึ่งเป็นหลักทางโลก มาอธิบายเหตุการณ์พุทธประวัติ ซึ่งเป็นเรื่องทางธรรมและเป็นของสูงสำหรับพุทธศาสนิกชน ดังนั้น หากเกิดข้อผิดพลาดประการใด ผมต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

BuddhaAndPanjavakki030

ย้อนกลับไปช่วงเวลานั้น ในคืนวันเพ็ญเดือนหก พระจันทร์เพ็ญในกลุ่มดาวฤกษ์วิสาขะ เจ้าชายสิทธัตถะผู้ซึ่งออกบวชเพื่อแสวงหาความหลุดพ้นมาได้หกปีแล้ว ได้ประทับนั่งใต้ต้นโพธิ์ และได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พ้นจากทุกข์อย่างสิ้นเชิง เมื่อตรัสรู้แล้ว พระองค์ได้ทบทวนความรู้ที่พระองค์ได้ค้นพบมาอยู่หลายสัปดาห์ และต้องตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ (Strategic Decision) ครั้งสำคัญ นั่นคือ พระองค์ต้องเลือกว่า จะนำเอาความรู้ที่ค้นพบไปสอนให้คนอื่นๆได้เข้าใจและปฏิบัติตาม (ภาษาพระเรียกว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า) หรือเลือกจะไม่สอนผู้อื่นด้วยเห็นว่าพระธรรมที่ค้นพบยากเกินกว่าคนทั่วไปจะเข้าและปฏิบัติตามได้ (ภาษาพระเรียกว่า พระปัจเจกพุทธเจ้า) ในที่สุด พระองค์ทรงพิจารณาแล้วเห็นว่า มนุษย์นั้นเทียบได้กับบัวสี่เหล่า มีถึงสามเหล่าที่มีโอกาสจะเข้าถึงนิพพานได้ จึงตัดสินใจเลือกเป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั่นคือ จะนำเอาพระธรรมที่ค้นพบไปสอนผู้อื่น นั่นเอง

เมื่อตัดสินใจเชิงกลยุทธ์เรียบร้อยแล้ว ขั้นต่อมา พระองค์จำเป็นต้องกำหนดแผนกลยุทธ์เพื่อสถาปนาพระศาสนาให้มั่นคงขึ้นมาก่อน ทรงทราบว่า ศาสนาจะเกิดขึ้นมาได้จะต้องมีองค์ประกอบสำคัญ ๓ ประการ นั่นคือ พระพุทธ (ผู้ตรัสรู้), พระธรรม (คำสั่งสอน) และพระสงฆ์ (ผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนจนประสบความสำเร็จ) เรียกว่า พระรัตนตรัย ซึ่งขณะนั้นมีเพียงสองประการเท่านั้น คือ พระพุทธ และพระธรรม จำเป็นต้องมีพระสงฆ์จึงจะครบองค์ประกอบของศาสนา

คำถามเชิงกลยุทธ์ ณ ขณะนั้นคือ ใครเป็นผู้ที่เหมาะสมที่จะเป็นพระสงฆ์กลุ่มแรกของพระศาสนา ใครที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะปฏิบัติตามคำสอนพระองค์ได้ ตอนแรกพระองค์คิดถึงอาจารย์ทั้งสองของพระองค์ นั่นคือ อาฬารดาบส และอุททกดาบส แต่ทรงทราบว่า ทั้งสองมรณภาพเสียแล้ว ในที่สุด พระองค์เลือกที่จะไปสอนปัญจวัคคีย์ นักบวชห้าคนผู้ซึ่งเคยดูแลพระองค์สมัยที่พยายามบรรลุธรรมด้วยการทรมานร่างกายตนเองแต่เมื่อพระองค์เลิกวิธีนั้น ทั้งห้าไม่เห็นด้วยกับวิธีใหม่ของพระองค์จึงหลีกไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เหตุที่พระองค์เลือกปัญจวัคคีย์คงมีหลายเหตุผล ไม่ว่าจะเป็น ทั้งห้าออกบวชมานาน น่าจะมีความพร้อมที่จะเข้าใจพระธรรมที่พระองค์ค้นพบได้, เป็นการตอบแทนคนทั้งห้าที่เคยดูแลพระองค์ และอีกประการสำคัญที่มองในแง่ความน่าเชื่อถือก็คือ หากคนที่เคยติดตามดูแลพระองค์มายังไม่เชื่อในคำสอนของพระองค์ ก็คงยากที่จะไปชักชวนคนอื่นมานับถือศาสนาของพระองค์

เมื่อพระองค์เดินทางไปหาปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน และได้พบกับนักบวชทั้งห้าตรงกับวันเพ็ญเดือนแปด ซึ่งพระจันทร์เพ็ญในกลุ่มดาวฤกษ์อาสาฬหะ พระองค์ก็ได้แสดงปฐมเทศนา ซึ่งในทางกลยุทธ์แล้ว เป็นคำสอนที่สำคัญ เพราะจะเป็นหลักที่อ้างอิงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาตลอดไป พระองค์จึงสอนเรื่องเส้นทางสู่ความพ้นทุกข์ว่า ไม่สามารถไปด้วยทางสุดโต่งทั้งสองทางได้ ต้องไปด้วยทางสายกลาง นั่นคือ มรรคมีองค์แปด จากนั้นได้เข้าสู่แก่นของพระพุทธศาสนา นั่นคือ อริยสัจ ๔ ความจริงทั้งสี่ประการ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อันเป็นหลักคิดที่เป็นเหตุเป็นผลเป็นวิทยาศาสตร์จริงๆ ไม่ได้อ้างอิงอำนาจเหนือธรรมชาติ หรืออำนาจเทวดาพระเจ้าใดๆเพื่อมาทำให้คนฟังเชื่อถือเลย ตอนท้ายของการสอนครั้งนั้น พระองค์ทรงอธิบายลักษณะอาการของความรู้ที่พระองค์ค้นพบว่าเป็นอย่างไร พระองค์จึงมั่นใจว่าตรัสรู้แล้ว เมื่อสอนจบ พระโกญฑัญญะก็เกิดดวงตาเห็นธรรม ขอบวชต่อพระพุทธเจ้า เป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา ณ วันนั้น ศาสนาพุทธจึงสถาปนาขึ้นด้วยมีครบองค์ประกอบทั้งสามประการ นั่นคือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์

แต่พระพุทธศาสนาจะยังตั้งมั่นไม่ได้ หากไม่มีชาวบ้านมานับถือ เพราะพระสงฆ์นั้นเป็นผู้ละทางโลกไปแล้ว ไม่สะดวกในการทำหน้าที่หลายประการที่จำเป็นต่อการเผยแผ่พระศาสนา จำเป็นต้องมี อุบาสก อุบาสิกา มาด้วยจึงจะมีกำลังพร้อมจะขยายพุทธจักรออกไป แล้วพระพุทธองค์ทรงดำเนินกลยุทธ์อย่างไร ไว้ติดตามตอนหน้านะครับ

*******************************************************************
เขียนโดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย Celestial Strategist
30 กรกฎาคม 2558
*******************************************************************

การตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ครั้งใหญ่ในแวดวงการ์ตูนไทย

นับตั้งแต่กฎหมายลิขสิทธิ์มีผลบังคับใช้ในไทยเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ทำให้แวดวงการ์ตูนญี่ปุ่นหรือที่เรียกกันว่า มังงะ (Manga) ในไทยต้องซื้อลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องตามกฎหมายเพื่อมาตีพิมพ์ในไทย มาถึงปีสองปีที่ผ่านมา แวดวงการ์ตูนญี่ปุ่นในบ้านเราก็มาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง เมื่อพฤติกรรมคนอ่านรุ่นใหม่ๆนิยมอ่านฟรีในอินเตอร์เน็ต และหากจะซื้อก็จะซื้อฉบับรวมเล่มมากกว่าจะซื้อรายสัปดาห์ จนทำให้ การ์ตูนญี่ปุ่นรายสัปดาห์อย่าง Boom ของเนชั่นก็ปิดตัวไปเมื่อปี 2557 และล่าสุด การ์ตูน Viva! Friday ของวิบูลย์กิจก็ประกาศปิดตัวลงอีกเล่ม


สำนักพิมพ์วิบูลย์กิจเป็นสำนักพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือการ์ตูนลิขสิทธิ์จากญี่ปุ่นมานาน ตอนเรียนหนังสือ ผมจำได้ว่าผมจะตามอ่านของรุ่นพี่ร่วมหอพักทุกสัปดาห์ เพราะอดใจรอรวมเล่มไม่ไหว และที่ไม่ซื้อเองเพราะถ้าจำไม่ผิดราคาเล่มละ35บาทสมัยนั้น มันแพงสำหรับนิสิตที่ได้เงินจากที่บ้านวันละราวๆ50-60บาท

การตัดสินใจปิดการ์ตูนรายสัปดาห์และหันไปทำฉบับรวมเล่มเพียงอย่างเดียว เป็นการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ครั้งสำคัญของสำนักพิมพ์. เพียงแต่ไม่แน่ใจว่าเป็นกลยุทธ์ที่เพียงพอและทำให้ธุรกิจนี้อยู่รอดหรือเปล่า เพราะอย่างที่ว่าไว้คนอ่านปัจจุบันนั้นหันไปอ่านฟรีในเน็ตและอ่านอีบุ๊คในแอพฯต่างๆอีก รายได้จากการ์ตูนรวมเล่มไม่แน่ว่าจะพอดูแลสำนักพิมพ์ได้ เรื่องนี้คล้ายๅกับธุรกิจเพลงเมื่อหลายปีก่อนที่ถูกซีดีเถื่อนและการฟังเพลงฟรีในเน็ตถล่มจนเจ๊งไปหมด จนต้องดิ้นรนเปลี่ยนโมเดลธุรกิจขนานใหญ่แต่ก็ไม่ได้มีกำไรเยอะเหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว ตอนนี้ทั้งแกรมมี่และอาร์เอสผู้นำตลาดก็หันไปเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ดิจิตอลเพื่อหาเงินจากธุรกิจทีวีกันหมด

อันที่จริง หากวิบูลย์กิจประเมินสถานการณ์ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ อาจต้องหันไปทำการ์ตูนทีวีก่อนน่าจะมีสถานะดีกว่าตอนนี้ เพียงแต่ว่าตอนนี้ธุรกิจการ์ตูนทีวีก็มีโรสมีเดียเป็นเจ้าใหญ่ไปแล้ว. แนวทางรอดของวิบูลย์กิจคงต้องหันมาดูว่าตัวเองมี Competitive Advantage อะไรบ้าง แล้วเลือกสนามใหม่ที่จะเข้าไปเล่นแล้วทำให้ตนเองสามารถส่งมอบคุณค่าที่ดีกว่าให้ลูกค้าและทำกำไรให้ตนเองได้

แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันถือว่า วิบูลย์กิจได้เลือกใช้กลยุทธ์ที่ 36 ของสามสิบหกกลยุทธ์สู่ชัยชนะของจีนแล้ว นั่นคือ “หนีคือยอดกลยุทธ์”
****************************************************

พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย

Celestial Strategist

28 กรกฎาคม 2558

*****************************************************

เครดิตภาพประกอบจาก หนังสือพิมพ์ New)108 ฉบับ 28 ก.ค. 2558