บก.ขอเล่า : Economix เศรษฐกิจ สะกิดสมอง

สำหรับสำนักพิมพ์ลีฟรีชแล้ว เวลาเราเลือกหนังสือที่จะแปล เรามีหลักการอยู่ข้อหนึ่งว่า หาหนังสือที่อธิบายเรื่องที่เราควรที่จะรู้ (บางเรื่องถึงขั้นจำเป็นเลย) แต่คนทั่วไปคิดว่ามันยาก จนไม่อยากศึกษา มาอธิบายให้เข้าใจได้ง่าย อย่างการลงทุนในหุ้น เราก็เลือกเล่ม นั่งตกปลากับบัฟเฟตต์ (Gone Fishing with Buffet) ที่อธิบายการลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investing) ด้วยเรื่องเล่าของชายหนุ่มผู้ผิดหวังจากตลาดหุ้น กับชายชราลึกลับ หรือเล่ม WINK มั่งคั่งมากกว่าที่ตาเห็น ก็เป็นเรื่องราวของริชาร์ด ที่ตั้งคำถามว่า ทำไมพ่อของเขาขยันทำงานมาทั้งชีวิตแต่ไม่รวยซักที ซึ่งทำให้ผู้อ่านได้เปิดมุมมองใหม่ๆเกี่ยวกับความมั่งคั่ง

มาครั้งนี้ เราก็พบหนังสือเล่มนึงที่อธิบายเรื่องสำคัญมากในชีวิตเรื่องหนึ่งนั่นคือ เศรษฐกิจ ในรูปแบบการ์ตูน ที่ทำให้เราเข้าใจได้ง่ายขึ้น นั่นคือ หนังสือ Economix เศรษฐกิจ สะกิดสมอง เขียนโดย ไมเคิล กูดวิน นักเขียนชาวสหรัฐอเมริกา วาดรูปโดย แดน อี. เบอร์ แปลโดย วิรัตน์ รัตนเวชสิทธิ หรือ พี่ฉั่ว รุ่นพี่วิศวฯ ผู้เป็นวิศวกรอยู่ต่างประเทศ แต่มีงานอดิเรกเป็นนักแปลฝีมือเยี่ยม ที่หนุ่มกับผมคิดถึงเสมอเมื่อเจอหนังสือที่แปลไม่ง่าย

ปกหนังสือ Economix เศรษฐกิจ สะกิดสมอง

ไมเคิล ผู้เขียนเล่มนี้ เลือกที่จะบอกเล่าในรูปแบบหนังสือการ์ตูน เพราะเขาเชื่อว่า พวกเราคนธรรมดาทั่วไป สามารถเข้าใจเรื่องราวของเศรษฐกิจได้ จะได้ไม่ปล่อยให้เป็นเรื่องคนอื่น เช่น นักการเมือง ผู้เชี่ยวชาญ ฯลฯ จนทำให้เราในฐานะประชาชนตกอยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ เขาเขียนไว้ว่า

“เราเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย แทบทุกเรื่องที่เราลงคะแนนเสียงนั้น ล้วนแต่มี เศรษฐศาสตร์ เป็นส่วนสำคัญ จึงเป็นความรับผิดชอบของเรา ที่จะเข้าใจในสิ่งที่เราลงคะแนนไป”

สารบัญหนังสือ Economix เศรษฐกิจ สะกิดสมอง

และเขาเลือกที่จะอธิบายเศรษฐกิจ ด้วยการเล่า ประวัติศาสตร์ โดยให้เหตุผลว่า เราไม่สามารถเข้าใจว่า เราอยู่ตรงไหน ถ้าไม่รู้ว่าเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร เขาเริ่มต้นบทแรกจากอดีตอันไกลโพ้น เพื่อนำมาสู่ มือที่มองไม่เห็น ของอดัม สมิธ ผู้อธิบายว่า ทำไมความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนของมนุษย์ จึงทำให้ราคาสินค้า/บริการ เข้าสู่ราคายุติธรรม จนกลายเป็นแนวคิดทุนนิยมเสรี ที่เป็นกระแสหลักของโลกปัจจุบัน แต่ไมเคิลยังย้ำว่า คนมัวแต่บูชา อดัม สมิธ จนไม่ได้ไปอ่านหนังสือของเขาจริงๆ ทำให้มองข้ามสิ่งที่ อดัม สมิธ เขียนไว้ว่า ตลาดนั้นไม่สมบูรณ์แบบ รัฐต้องเข้าไปแทรกแซงในเรื่องที่จำเป็น ที่สำคัญ อดัม สมิธ ได้ระบุไว้ด้วยว่า

“ไม่มีสังคมใดจะสามารถเจริญรุ่งเรืองและมีความสุขได้ ถ้าสมาชิกส่วนใหญ่ของสังคม (คนงาน) ยังยากจนและแร้นแค้น”

บางหน้า จาก บท มือที่มองไม่เห็น (อดีตอันไกลโพ้น ถึง 1820)

ไมเคิล กูดวิน ได้เล่าเรื่องราวประวัติเศรษฐกิจได้อย่างสนุกสนาน และเข้าถึงแก่นสาระของเศรษฐกิจจริงๆ เราจะเห็นว่า ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่ว่าดีต่างๆนานานั้น ได้เคยมีการนำมาใช้ปฏิบัติจริงและเห็นผลแล้ว เราจะได้เข้าใจว่า เวลามีคนมานำเสนอแนวคิดที่ว่าใหม่ ที่จะทำให้เรา ตาสว่าง นั้น จริงๆแล้ว เคยมีคนนำไปใช้แล้ว หากเราศึกษาดี ๆ ก็จะรู้ว่าผลลัพธ์ของจริงเป็นอย่างไร จะได้ไม่ถูกคนที่อ้างว่ารู้นั้น แหกตา

สำหรับหนังสือ Economix เศรษฐกิจ สะกิดสมอง ฉบับภาษาไทยนั้น ผมขอบอกด้วยความภูมิใจว่า เล่มไทยนั้น มีเนื้อหามากกว่าฉบับภาษาอังกฤษ นั่นเป็นเพราะว่า หนังสือเล่มนี้พิมพ์ในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2012 และต่อมา ผู้เขียน ได้มีการเขียนการ์ตูนเพิ่มเติมเพื่ออธิบายเรื่องราวเศรษฐกิจหลังจากปี 2012 ลงในเว็บไซต์ของเขา ทางสำนักพิมพ์ลีฟริชเราเห็นว่า เนื้อหาที่อยู่ในเว็บไซต์นั้นมีประโยชน์ต่อผู้อ่าน จึงได้ขอทางผู้เขียนนำเอาเนื้อหาจากเว็บไซต์ (แต่ไม่ปรากฏในฉบับภาษาอังกฤษ) มาแปลและตีพิมพ์ในฉบับภาษาไทย เพิ่มเติมอีก 10 หน้า จึงขอบอกตรงนี้ ผู้ซื้อหนังสือฉบับภาษาไทย จะได้เนื้อหาที่เพิ่มเติมมากกว่าต้นฉบับอังกฤษถึง 10 หน้าเลยทีเดียว

ข้อที่อยากบอกผู้อ่านชาวไทยเรื่องหนึ่งก็คือ ไมเคิล กูดวิน เขาเป็นคนอเมริกัน หนังสือเล่มนี้จึงเขียนในมุมมองของชาวอเมริกัน ทำให้หลาย ๆ เรื่องจึงแตกต่างจากเศรษฐกิจที่เราเจอในประเทศไทย ซึ่งนั่นไม่ได้ทำให้คุณค่าของหนังสือเล่มนี้ด้อยลงไป แต่ผมเชื่อว่าจะทำให้ผู้อ่านจะได้รับประโยชน์จากมุมมองของคนประเทศอื่น เพียงแต่ผู้อ่านพึงระลึกเรื่องนี้ไว้ด้วยจึงจะได้รับประโยชน์สูงสุด

ผมตรวจทานหนังสือเล่มนี้อยู่หลายรอบมาก ตรวจทีไรก็มักพบจุดที่ควรแก้ไขแทบทุกครั้ง ทำให้มั่นใจพอสมควรว่า หนังสือเล่มนี้ได้ผ่านการทำงานที่พิถีพิถันอย่างยิ่ง แต่หากยังมีข้อผิดพลาดประการใด ก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

ใครสนใจหนังสือเล่มนี้ สามารถสั่งซื้อได้ที่ เว็บไซต์ สำนักพิมพ์ลีฟริช https://www.liverich.co.th/product/economix/ หรือซื้อได้ที่ร้านซีเอ็ด และร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป

ขอปิดท้าย บก.ขอเล่า เล่มนี้ ด้วยคำนิยมต่อหนังสือเล่มนี้จาก โจเอล บากาน ผู้เขียนหนังสือ The Corporation ดังนี้

“กูดวินได้ทำเรื่องที่เหมือนจะเป็นไปไม่ได้ เขาได้ทำให้เศรษฐศาสตร์เข้าใจง่ายและสนุก”

บก.ขอเล่า : มาเรียนรู้การสับตะไคร้กับ Subscribed โมเดลธุรกิจพิชิตอนาคต

ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก จนทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย กลับมีบริษัทหลายแห่งทำรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น Netflix, Spotify, Apple, Microsoft ซึ่งหากเราดูให้ดีแล้ว ธุรกิจเหล่านี้มีโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ที่เหมือนกัน นั่นคือ โมเดลการบอกรับสมาชิก หรือ Subscription Model

Subscription Model นั้น มีรายได้จากสมาชิกอย่างสม่ำเสมอ และเพิ่มขึ้นตามจำนวนสมาชิกที่สมัครเพิ่มเข้ามา ในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี ลูกค้าเริ่มชะลอการจับจ่ายใช้สอย ทำให้ยอดซื้อสินค้าบริการลดลง แต่การบอกเลิกการเป็นสมาชิกต้องใช้ความพยายามมากกว่า ทำให้อัตราการบอกเลิกการเป็นสมาชิกไม่ได้สูงเหมือนกับยอดขายสินค้าบริการในโมเดลธุรกิจแบบดั้งเดิม

ความสำคัญของโมเดลธุรกิจแบบบอกรับสมาชิก (Subscription Model) นี้ ทำให้ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจสื่อและบันเทิงอย่าง ดิสนีย์ ต้องหันมาเปิดแพลตฟอร์ม Disney+ แข่งกับ Netflix และทำให้ในช่วงโควิดระบาด ต้องปิดสวนสนุกทั่วโลก ส่งผลให้ผลประกอบการขาดทุน แต่ยอดสมาชิก Disney+ กลับกระโดดขึ้นมาที่ 60 ล้านราย ทะลุเป้าที่เคยตั้งไว้ว่าจะถึง 60 ล้านรายภายใน 3 ปี ณ ตอนนี้เลย และทำให้ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ Mulan ที่เดิมมีแผนจะเข้าฉายเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่ต้องเลื่อนไปเพราะโควิด พอตอนนี้ดิสนีย์เปลี่ยนใจมาเป็นไม่ฉายในโรงหนังในอเมริกาแล้ว แต่จะให้ชมใน Disney+ เลย

ปกหนังสือ Subscribe โมเดลธุรกิจพิชิตอนาคต

หนังสือ Subscribed โมเดลธุรกิจพิชิตอนาคต เขียนโดย Tien Tzuo (เทียน จั่ว) เป็นหนังสือที่เจาะลึกโมเดลธุรกิจ Subscription จากคนที่รู้จริง เพราะเทียนจั่ว เป็นผู้ก่อตั้ง Zuora ซอฟต์แวร์ธุรกิจสำหรับบริษัทที่ใช้โมเดลธุรกิจแบบบอกรับสมาชิก โดยมีลูกค้าคือบริษัทที่ใช้โมเดลธุรกิจแบบนี้มากกว่า 1,000 แห่ง ไม่ว่าจะเป็น DAZN, Financial Times, HBO Nordics, Autodesk, Zendesk ฯลฯ คนที่ทำธุรกิจประเภทนี้จะรู้ดีว่า การจัดการระบบงานหลังบ้านเป็นเรื่องวุ่นวายขนาดไหน การที่ Zuora ของเทียนจั่วสามารถทำซอฟต์แวร์ช่วยเหลือบริษัทลูกค้าเหล่านี้ได้ แปลว่า เขาเข้าใจระบบบริหารจัดการโมเดลธุรกิจแบบบอกรับสมาชิกอย่างรู้จริง จึงรับประกันได้ว่า หนังสือ Subscribed โมเดลธุรกิจพิชิตอนาคต ที่เขาเขียนขึ้น จึงเป็นตัวจริง ของจริง สำหรับธุรกิจแบบนี้จริงๆ

ขอเล่าเกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับชื่อผู้เขียน ในฐานะ บก. นิดนึง ชื่อผู้เขียนในภาษาอังกฤษคือ Tien Tzuo พอจะทับศัพท์มาเป็นชื่อไทย ก็จะต้องใส่วรรณยุกต์ให้ด้วย (ไม่เหมือนกับภาษาอังกฤษที่ไม่มีวรรณยุกต์ในรูปอักษร) เจ้าตัวเป็นคนอเมริกันเชื้อสายจีนไต้หวัน ซึ่งทับศัพท์ภาษาจีนเป็นอังกฤษด้วยระบบเวดไจลส์ ต่างจากระบบพินอินที่นิยมใช้ในจีนแผ่นดินใหญ่ ผมเลยไปค้นว่าชื่อภาษาจีนจริงๆของเขาคืออะไร พบว่าชื่อจีนเขาคือ 左軒霆 จั่วซวานถิง แต่พอเป็นอเมริกัน ชื่อสามพยางค์คงยาวไป เขาเลยตัดเหลือ Tien Tzuo ก็ต้องไปค้นการทับศัพท์แบบไวดไจลส์เพิ่มเติม และตัดสินใจทับศัพท์ภาษาไทยว่า เทียน จั่ว

ปกหนังสือเล่มนี้ เป็นปกรูปแบบเดียวกับฉบับภาษาอังกฤษ เพราะทาง Tien Tzuo ได้แจ้งมาว่า อยากให้ปกหนังสือทุกภาษาของเขา เป็นปกแบบเดียวกัน และให้เราในฐานะสำนักพิมพ์ที่ได้ลิขสิทธิ์แปล จะต้องส่งแบบปกหนังสือกลับไปให้เขาอนุมัติก่อนที่จะจัดพิมพ์ เมื่อเราจัดส่งปกฉบับภาษาไทยให้เขาไป เขาก็ตอบมาว่า เขาชอบปกฉบับแปลไทย (ก็ต้องชอบสิครับ เพราะเหมือนปกภาษาอังกฤษเป๊ะๆ)

ตอนนี้สำนักพิมพ์ลีฟริช เปิดจำหน่ายหนังสือเล่มนี้แล้วนะครับ โดยมีโปรโมชั่นพิเศษลด 15% พร้อมส่งฟรี เมื่อสั่งซื้อภายในวันที่ 14 สิงหาคม 2563 สั่งซื้อได้ที่ https://www.liverich.co.th/product/subscribed/

******************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
11 สิงหาคม 2020
******************************