กลยุทธ์ดูไฟชายฝั่ง กับ บทเรียนการปฏิรูปในศตวรรษที่ 19 ใครรุ่ง? ใครดับ? : ตอนที่ 3.2 การปฏิรูปของสยามสมัยรัชกาลที่ 5

เมื่อวิกฤติวังหน้าสิ้นสุดลงในปี 1874-75 การเร่งปฏิรูปโดยสมเด็จพระปิยมหาราช ก็ดูเหมือนหยุดชะงักลงชั่วคราว อาจเป็นเพราะในช่วงเวลาหลังจากนั้นเกิดเหตุความไม่สงบในพระราชอาณาจักรหลายแห่ง ทั้งเหตุการณ์จีนฮ่อเข้ามาปล้นเมืองบริเวณเชียงขวางและหลวงพระบาง (ขณะนั้นยังอยู่ภายใต้อาณาจักรสยาม) ในปี 1875-1876, 1877 และอีกครั้งในปี 1883-1887, เหตุจลาจลโดยกลุ่มอั้งยี่จีนที่เป็นกรรมกรเหมืองแร่ในภูเก็ตเมื่อปี 1876 เป็นต้น อีกทั้งในปี 1880 เกิดเหตุที่ทรงโทมนัสเป็นที่สุดเมื่อพระองค์ต้องสูญเสียสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ฯ จากเหตุการณ์เรือพระประเทียบล่มระหว่างเสด็จแปรพระราชฐานไปวังบางปะอิน

หรืออาจเป็นไปได้ว่า พระองค์ทรงเลือกใช้กลยุทธ์ ดูไฟชายฝั่ง (เก๋ออั้นกวนหั่ว 隔岸观火) กลยุทธ์ที่ 9 ใน 36 สุดยอดกลยุทธ์ก็ได้ กลยุทธ์นี้คือ การเฝ้ารออย่างสงบ เพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามเกิดความวุ่นวายแตกแยกภายในเอง ในกรณีนี้ไม่ได้เกิดความแตกแยกของฝ่ายที่คัดค้านการปฏิรูปแต่อย่างใด แต่เป็นการเฝ้ารอเวลาที่กำลังของฝ่ายคัดค้านการปฏิรูปลดลงจนไม่สามารถต่อต้านได้อีก ซึ่งเป็นการเฝ้ารอจนกระทั่ง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ถึงแก่พิราลัยในปี 1882 ซึ่งไม่มีการแต่งตั้งบรรดาศักดิ์ให้ผู้ใดเป็นถึงระดับ “สมเด็จเจ้าพระยา” อีก และต่อมา กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ (วังหน้า) เสด็จทิวงคตในปี 1885 พระองค์ก็ไม่ได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดดำรงตำแหน่งวังหน้าอีก โดยทรงเปลี่ยนเป็นการแต่งตั้ง มกุฎราชกุมาร (Crowd Prince) แทน

เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงมีอำนาจสมบูรณ์ในการบริหารราชการแผ่นดินแล้ว พระองค์ก็ได้ดำเนินการปฏิรูปสยามเข้าสู่ยุคใหม่อย่างมากมาย ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งของพระองค์ในช่วงปลายรัชกาล ว่า

“..ความเปลี่ยนแปลงที่เปลี่ยนไปใน 40 ปีนี้ เหมือนอย่างจะยิ่งกว่าห้าร้อยปี ที่จะได้พึงเปลี่ยนแปลงมาในพระราชพงศาวดารก็ไม่เท่า ด้วยเหตุฉะนี้ เราจึงมาสันนิษฐานว่า การที่เราได้อยู่ในราชสมบัตินานถึง 40 ปี อันประกอบด้วยเหตุการณ์เป็นอันมากนี้ นับว่าเป็นความดีโดยสถานหนึ่ง ซึ่งได้ดำเนินความคิดในการเปลี่ยนแปลงความปกครอง แลการบำรุงแผ่นดินอันเป็นที่รักของเรา โดยบรรทัดฐานอันหนึ่งอันเดียวกัน ให้ดำเนินไปโดยลำดับ…”

ในด้านการเมือง ทรงตั้ง เสนาบดีสภา ในปี 1888 ขึ้นมาเพื่อประชุมหารือราชการแผ่นดินโดยพระองค์เป็นประธานก่อน จนในที่สุด ในปี 1892 ทรงยกเลิกระบบจตุสดมภ์ เวียง วัง คลัง นา ที่ใช้บริหารราชการแผ่นดินมากว่า 400 ปีตั้งแต่สมัยพระบรมไตรโลกนาถ รวมถึงยกเลิกตำแหน่งสมุหนายกและตำแหน่งสมุหพระกลาโหม โดยเปลี่ยนเป็นระบบกระทรวง 12 กระทรวง ได้แก่ มหาดไทย, กลาโหม, ต่างประเทศ, วัง, พระนครบาล, เกษตราพาณิชการ, คลัง, ยุติธรรม, ยุทธนาธิการ, โยธาธิการ, ธรรมการและศึกษาธิการ, มุรธาธร การแบ่งส่วนราชการเช่นนี้ทำให้มีผู้รับผิดชอบบริหารในด้านต่างๆครอบคลุมราชการทุกด้าน โดยเฉพาะการพัฒนาประเทศ มีการแบ่งงานชัดเจน สามารถจัดสรรทรัพยากรได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ที่สำคัญเป็นการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่จบการศึกษาจากต่างประเทศเข้ามามีบทบาทในการบริหารประเทศ ทรงเริ่มดึงอำนาจหัวเมืองต่างๆเข้ามาสู่ส่วนกลางมากขึ้น โดยยกเลิกระบบเมืองเอก-โท-ตรี-จัตวา เปลี่ยนเป็นระบบ มณฑล-เมือง-อำเภอ-ตำบล-บ้าน แทน เพื่อให้ทันต่อการรุกคืบอิทธิพลของตะวันตกที่ต้องการยืดครองดินแดนสยาม, ทรงวางระบบศาลยุติธรรมยุคใหม่ ที่ปูทางไปสู่การยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในเวลาต่อมา

ในด้านเศรษฐกิจ ทรงปฏิรูปการจัดเก็บภาษีอย่างต่อเนื่องโดยเปลี่ยนจากระบบเจ้าภาษีนายอากร มาเป็นระบบราชการเก็บภาษีเอง, ทรงวางระบบจ่ายเงินเดือนข้าราชการ ตามตำแหน่งแน่นอน แทนเงินเบี้ยหวัดแต่เดิม รวมถึงมีบำนาญให้ข้าราชการที่เกษียณแล้ว, ทรงจัดทำงบประมาณแผ่นดินเป็นครั้งแรก เพื่อให้การใช้จ่ายเงินของราชการมีการวางแผนงานล่วงหน้าและเป็นระบบชัดเจน, ทรงจัดการเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินของเอกชนให้ชัดเจนด้วยการออกกฎหมายว่าด้วยโฉนดที่ดิน และตั้ง กรมที่ดิน ดูแลงานโฉนดที่ดิน, ด้านเอกชน มีการซื้อเครื่องจักรอุปกรณ์จากต่างประเทศจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่เป็นเครื่องจักรไอน้ำเพื่อการสีข้าว ที่เรียกว่า โรงสีไฟ ไม่ได้มีโรงงานผลิต อุตสาหกรรมต้นน้ำ ส่วนการเหมืองแร่ ก็ยังเป็นการให้สัมปทานกับบริษัทต่างประเทศทั้งนั้น จะว่าไป นายทุนที่เกิดขึ้นในยุคนี้ล้วนแต่เป็นนายทุนแบบนายหน้าทั้งสิ้น คือมีลักษณะซื้อมาขายไปเป็นส่วนใหญ่

ในด้านคมนาคมและสาธารณูปโภค ทรงจัดให้มีการไปรษณีย์​โทรเลข​ โทรศัพท์, สร้างทางรถไฟเชื่อมต่อหัวเมือง, ขุดคลองเพื่อขยายเมืองออกไป เพิ่มการขนส่งสินค้า และส่งเสริมการชลประทาน, สร้างถนน, ให้สัมปทานบริษัทเอกชนทำกิจการรถราง, ตั้งกรมศุขาภิบาลเพื่อจัดการขยะมูลฝอย และริเริ่มการประปาเพื่อหาน้ำสะอาดให้ประชาชน

ในด้านสังคม ทรงยกเลิกระบบไพร่ เปลี่ยนมาเป็นการจ้างข้าราชการแทน ทำให้ราษฎรมีเวลาทำมาหากินให้กับตนเองได้เต็มที่ ก่อให้เกิดผลดีทางเศรษฐกิจอย่างยิ่ง, ทรงเลิกทาส, ทรงเปลี่ยนระบบปฏิทินจันทรคติ มาเป็นปฏิทินสุริยคติ เพื่อให้สอดคล้องกับสากล, ทรงยกเลิกการมอบคลานเข้าเฝ้า และให้จัดสถานที่ทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังพระราชนิพนธ์ตอนหนึ่งว่า “วันนี้เปลี่ยนธรรมเนียมออฟฟิศใหม่ ใช้ยืนและนั่งเก้าอี้อย่างฝรั่ง”

โดยสรุปแล้ว การปฏิรูปแผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ทำให้สยามรอดพ้นจากการล่าอาณานิคมของตะวันตกมาได้ ไม่ตกเป็นอาณานิคมอย่างประเทศเพื่อนบ้านอย่าง พม่า เวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชา และสามารถดำรงความเป็นประเทศชั้นนำของภูมิภาค ก็เพราะว่า การปฏิรูปนั้นดำเนินการโดยผู้มีอำนาจสูงสุด มีวิสัยทัศน์ แม้ในตอนแรกท่านจะไม่มีอำนาจเต็ม แต่ท่านก็อดทนรอจนสามารถรวบรวมอำนาจเพียงพอต่อการปฏิรูป อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการปฏิรูปเมจิของญี่ปุ่น พบว่า มีความแตกต่างกัน โดยญี่ปุ่นเป็นการปฏิรูปแบบนองเลือด มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม และขึ้นเป็นมหาอำนาจใหม่แห่งเอเชีย ส่วนสยามปฏิรูปอย่างสงบ ค่อยเป็นค่อยไป ในเกือบทุกด้าน แต่ไม่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้สยามยังคงเป็นประเทศเกษตรกรรม ไม่ได้กลายเป็นประเทศอุตสาหกรรม ไม่ได้มีอุตสาหกรรมต้นน้ำที่จะทำให้ประเทศผู้ผลิตไปได้ มีแต่นายทุนใหม่ประเภทซื้อมาขายไปเกือบทั้งนั้น

*******************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
23 มกราคม 2561
*******************************

บทเรียนการปฏิรูปในศตวรรษที่ 19 ใครรุ่ง? ใครดับ? : ตอนที่ 3.1 การปฏิรูปของสยามสมัยรัชกาลที่ 5

ในช่วงศตวรรษที่ 18-19 ราชอาณาจักรสยามก็เป็นดินแดนที่มหาอำนาจตะวันตกพุ่งเป้าเข้ามามีอิทธิพลครอบครอง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงเห็นสัญญาณอันตรายนี้ตั้งแต่เนิ่นๆ ทรงยอมเจรจาเซ็นสนธิสัญญาเบอร์นี กับอังกฤษ ใน ค.ศ.1826 ถือว่าเป็นประเทศแรกๆในเอเชียที่เปิดการค้าเสรีกับตะวันตก และด้วยความที่สยามไม่ได้ถือนโยบายปิดประเทศเข้มข้นอย่างจีนและญี่ปุ่น สนธิสัญญานี้จึงไม่ได้เสียเปรียบอังกฤษ กลับกลายเป็นพ่อค้าอังกฤษเสียอีกที่ไม่พอใจกับสนธิสัญญาเพราะยังต้องเสียค่าธรรมเนียมปากเรือค่อนข้างแพง ซึ่งทำให้ภัยจากตะวันตกไม่ได้หายไป เพียงแต่ชะลอเวลาไปเท่านั้น อย่างที่พระองค์พระองค์ทรงตรัสกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เมื่อตอนทรงประชวรใกล้เสด็จสวรรคตในปี 1851 ว่า
“การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดีอย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิดควรจะเรียนเอาไว้ก็ให้เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว”

พอถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 อังกฤษซึ่งได้เข้ามากดดันให้แก้ไขสนธิสัญญาเดิม ตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 3 แล้ว จึงได้ส่ง เซอร์ จอห์น เบาว์ริง เข้ามาเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาเดิม เพื่อให้ได้เปรียบไทยมากขึ้น ในเวลานั้น อังกฤษเพิ่งเอาชนะจีนในสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 และทำสนธิสัญญานานกิงในปี 1842 ที่ได้เปรียบจีนมากมาย ฝ่ายสหรัฐอเมริกาก็ใช้เรือรบยิงปืนใหญ่กดดันให้ญี่ปุ่นเซ็นสนธิสัญญาคะนะงะวะเปิดประเทศสำเร็จในปี 1854 รัชกาลที่ 4 ทรงทราบดีว่า หากไม่ยอมแก้ไขสนธิสัญญาเดิม อังกฤษก็พร้อมใช้กำลังทหารเข้ายึดสยาม ดังนั้น จึงเปิดให้มีการเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาและลงนามกันในปี 1855 โดยสยามต้องเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้กับคนในสังกัดอังกฤษ, เปิดการค้าเสรี โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมปากเรือ เหลือแต่ภาษีขาเข้า ร้อยละ 3 และภาษีขาออกตามพิกัดภาษีที่ตกลงกันไว้ โดยเฉพาะฝิ่นที่อังกฤษไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า เพียงแต่ต้องขายให้เจ้าภาษีเท่านั้น

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงขึ้นครองราชย์ในปี 1868 ด้วยวัยเพียง 15 พรรษา ถ้าพูดภาษาสามัญชนก็คือ พระองค์ยังเป็นวัยรุ่นอยู่ ได้มีการแต่งตั้ง เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) (ต่อมาท่านได้เลื่อนยศเป็น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แม้รัชกาลที่ 5 จะขึ้นครองราชย์ในวัยเยาว์ พระองค์ก็ทรงเห็นความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปราชอาณาจักรสยามให้เข้มแข็ง ก้าวหน้าทัดเทียมกับประเทศตะวันตก ในปี 1870 ได้เสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา เพื่อเรียนรู้การปกครองอาณานิคมของอังกฤษและฮอลันดา ต่อมาในปี 1872 ก็ได้เสด็จประพาสอินเดียกับพม่าที่เป็นเมืองขึ้นอังกฤษ ทรงเล็งเห็นว่าจำเป็นต้องปฏิรูปประเทศอย่างเร่งด่วนเพื่อไม่ให้ตกเป็นอาณานิคมของตะวันตก แต่เวลานั้นพระองค์เป็นเพียงกษัตริย์ในนาม ไม่มีอำนาจเต็มในการบริหารราชการแผ่นดิน จึงไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก

ในปี 1873 เมื่อเจริญพระชนมายุครบ 20 พรรษา รัชกาลที่ 5 ทรงเข้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และทรงเริ่มบริหารบ้านเมืองด้วยพระองค์เองแล้ว แต่อำนาจการบริหารที่แท้จริงยังไม่ได้อยู่ในมือพระองค์ เพราะขุนนางตำแหน่งสำคัญๆยังเป็นผู้ได้รับการแต่งตั้งจากผู้สำเร็จราชการแต่เดิมทั้งนั้น อีกทั้งยังมีวังหน้า ที่ได้รับการคัดเลือกและแต่งตั้งโดยผู้สำเร็จราชการ ไม่ได้เป็นการคัดเลือกโดยพระองค์เลย จึงดูเหมือนว่า อำนาจบริหารแผ่นดินอยู่ในกลุ่มใหญ่ๆ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ นำโดยรัชกาลที่ 5, กลุ่มอำนาจเก่า นำโดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ และกลุ่มวังหน้า นำโดยกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ (พระนามเมื่อแรกประสูติ คือ พระองค์เจ้ายอร์ชวอชิงตัน) จะเห็นได้จาก บางตอนจากพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 5 ถึงสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ที่กล่าวว่า
“..ในเวลานั้น อายุพ่อเพียง ๑๕ ปีกับ ๑๐ วัน ไม่มีมารดา มีญาติฝ่ายมารดาก็ล้วนแต่โลเลเหลวไหล หรือไม่โลเลเหลวไหลก็มิได้ตั้งอยู่ในตำแหน่งราชการอันใดเป็นหลัก ฐาน ฝ่ายญาติข้างพ่อคือเจ้านายทั้งปวง ก็ตกอยู่ในอำนาจสมเด็จเจ้าพระยาและต้องรักษาตัวรักษาชีวิต อยู่ด้วยกันทุกองค์ ที่ไม่เอื้อเฟื้อต่อการอันใดเสียก็มีโดยมาก ฝ่ายข้าราชการจึงว่ามีผู้ใดที่ได้รักใคร่ สนิทสนมอยู่บ้างก็เป็นแต่ผู้น้อยโดยมาก ที่เป็นผู้ใหญ่ก็ไม่มีกำลังสามารถอาจจะอุดหนุนอันใดเปรียบ เหมือนคนที่ศีรษะขาดแล้ว จับเอาแต่ร่างกายขึ้นตั้งไว้ในที่สมมุติกษัตริย์…และความหนักของมงกุฎ อันเหลือที่คอจะทานไว้ได้ ทั้งมีศัตรูซึ่งมุ่งหมายอยู่โดยเปิดเผยรอบข้างทั้งภายในภายนอก…”

ปี 1874 ในวัย 21 พรรษา พระองค์ทรงเลือกใช้กลยุทธ์เริ่มปฏิรูปด้วยอำนาจที่คนยุคนั้นคาดคิดไม่ถึง นั่นคือ ทรงเริ่มจากอำนาจนิติบัญญัติ (ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คนมักใช้แต่อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ แต่มองข้ามอำนาจนิติบัญญัติไป) ด้วยการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of State) ซึ่งมีสมาชิก 12 คน เพื่อเป็นที่ปรึกษาในการบริหารราชการ และที่สำคัญคือ เป็นองค์กรร่างกฎหมาย เพื่อตราเป็นพระราชบัญญัติออกมา
มาตรการปฏิรูปแรกจากสภานี้ ก็คือ การออกกฎหมายจัดตั้ง หอรัษฎากรพิพัฒน์ เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการจัดเก็บภาษีอากร ดึงอำนาจการเก็บภาษีที่กระจัดกระจายจากขุนนางเจ้านายหลายๆส่วนเข้ามาไว้ที่เดียว ตามมาด้วยการออกกฎหมายเกษียณอายุลูกทาสลูกไทย เพื่อกำหนดค่าตัวลูกทาสตอนเป็นเด็ก และมีค่าตัวลดลงทุกปีจนพ้นเป็นไทได้หมดในปี 1905 และเพื่อสร้างทีมงานส่วนพระองค์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ทรงจัดตั้ง สภาที่ปฤกษาในพระองค์ (Privy Council) ประกอบด้วยสมาชิก 49 คน ทำหน้าที่ถวายคำปรึกษาส่วนพระองค์ สอดส่องเหตุการณ์สำคัญในบ้านเมือง และสืบสวนข้อเท็จจริงและถวายความเห็นในข้อราชการต่างๆ
เพียงเริ่มต้นปฏิรูปเท่านี้ กระแสต่อต้านการปฏิรูปก็พุ่งสูงขึ้นทันที อาจเป็นเพราะความเป็นห่วงที่เชื่อว่าการปฏิรูปอย่างรวดเร็วเกินไปจะเป็นอันตรายต่อบ้านเมือง หรือเป็นเพราะสูญเสียผลประโยชน์ที่มีแต่เดิมก็ตามแต่ ในที่สุด การปฏิรูปก็สะดุดลงไปบ้าง โดยเฉพาะเมื่อเกิดวิกฤติการณ์วังหน้าขึ้น

28 ธันวาคม 1874 เกิดเพลิงไหม้ขึ้นในวังหลวงจากโรงผลิตแก๊สอะเซทิลีนสำหรับเดินท่อจ่ายไปยังโคมไฟแสงสว่างในวัง ทหารวังหน้าจัดทีมเข้าไปหมายจะช่วยดับเพลิง แต่ทหารวังหลวงไม่ยินยอมด้วยความระแวงเกรงจะเป็นการก่อวินาศกรรมโดยฝ่ายวังหน้า จึงเกิดการปะทะขึ้น จากนั้น กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ (วังหน้า) เกรงว่าจะถูกจับกุมข้อหากบฏ จึงหลบหนีเข้าไปอยู่ในสถานกงสุลอังกฤษ เปิดโอกาสให้อังกฤษเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในประเทศ สมเด็จเจ้าพระยาฯ อดีตผู้สำเร็จราชการ ต้องเดินทางจากบ้านพักที่ราชบุรี เพื่อเข้าไปเจรจากับวังหน้าในสถานกงสุลอังกฤษ ในที่สุด วังหน้าทรงยอมออกจากสถานกงสุลกลับสู่วังพระองค์เอง วิกฤติวังหน้าครั้งนั้นจึงสิ้นสุดลง

แต่การปฏิรูปที่แท้จริงยังไม่ได้เริ่มขึ้น…

*******************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
10 มกราคม 2561
*******************************

บทเรียนการปฏิรูปในศตวรรษที่ 19 ใครรุ่ง? ใครดับ? : ตอนที่ 1 ปฏิรูปร้อยวันของจีน

ในช่วงไม่นานที่ผ่าน เราได้ยินคำว่า ปฏิรูป กันบ่อยครั้ง จนหลายต่อหลายครั้งก็สงสัยว่า การปฏิรูปนั้นเป็นอย่างไรกันแน่ ย้อนหลังไปในประวัติศาสตร์โลก มีการปฏิรูปเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง บางทีก็สำเร็จ บางทีก็ไม่สำเร็จ จึงน่าสนใจที่จะศึกษาดูว่า เราได้บทเรียนอะไรบ้างจากการปฏิรูปในอดีต โดยอยากหยิบยกกระแสการปฏิรูปในช่วงศตวรรษที่ 19 ของประเทศในเอเชียมาเล่าสู่กันฟัง

หลังจากที่ยุโรปได้เข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 จนถึงกลางศตวรรษที่ 19 ประเทศในยุโรปต่างพัฒนาจนเศรษฐกิจเข้มแข็ง ก่อให้เกิดการขยายอิทธิพลทางการค้าไปทั่วโลก และเมื่อมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ เหล่ามหาอำนาจยุโรปก็แผ่ขยายอำนาจยึดอาณานิคมไปทั่วโลก ประเทศในเอเชียหลายประเทศถูกยึดครอง หลายประเทศเล็งเห็นภัยที่เกิดขึ้นและความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปประเทศ บางประเทศปฏิรูปสำเร็จ บางปฏิรูปไม่สำเร็จ เรามาดูกรณีศึกษาบางประเทศเริ่มจาก การปฏิรูปร้อยวันของจีน

ช่วงศตวรรษที่ 19 ประเทศจีนอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ชิง มีฮ่องเต้เป็นคนแมนจู ซึ่งเป็นชนเผ่าทางตอนตะวันออกเฉียงเหนือของจีน และได้เข้าโค่นล้มราชวงศ์หมิงที่มีฮ่องเต้เป็นชาวฮั่นของจีนในศตวรรษที่ 17 ยุคต้นของราชวงศ์ชิงนั้นมีฮ่องเต้แมนจูที่มีความสามารถโดดเด่น โดยเฉพาะยุค คัง-ยง-เฉียน ที่เป็นยุคทองของชิง มีฮ่องเต้ที่เปรื่องปราดติดต่อกัน 3 พระองค์ คือ คังซี ยงเจิ้ง และเฉียนหลง ครอบคลุมระยะเวลานานถึง 138 ปี (ค.ศ. 1661-1799) แต่หลังจากนั้น ความเจริญของอาณาจักรจีนก็ถูกประเทศตะวันตกทิ้งห่างไปเรื่อยๆ เนื่องจากนโยบายปิดประเทศ จนตกขบวนรถการปฏิรูปอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18 ต่อมายังพ่ายแพ้ในสงครามฝิ่นในกลางศตวรรษที่ 19 จนถูกต่างชาติเข้าบังคับให้เปิดประเทศแบบเอาเปรียบ เข้ายึดดินแดนจำนวนมาก สูญเสียอธิปไตย กลายเป็นสังคมกึ่งอาณานิคม แต่ราชวงศ์ชิงยังไม่คิดปฏิรูปใดๆ จนเกิด กบฏไท่ผิงเทียนกว๋อ เข้ายึดดินแดนทางตอนใต้ ราชวงศ์ชิงใช้เวลาปราบปรามกว่า 14 ปี จนมีคนล้มตายไปถึง 20-30 ล้านคน ถึงเวลานั้น ชนชั้นนำบางส่วนจึงเริ่มขบวนการเรียนรู้วิทยาการตะวันตก ภายใต้การคัดค้านจากกลุ่มขุนนางหัวโบราณที่ยังคิดว่าประเทศจีนยังคงยิ่งใหญ่ ส่วนพวกตะวันตกยังล้าหลังจีนอยู่ แต่ขบวนการนี้ก็ไม่ได้ปฏิรูปอะไรเป็นชิ้นเป็นอันนัก มีแต่นำเทคโนโลยีจากตะวันตกเข้ามาพัฒนาประเทศเท่านั้น

qing-dynasty-china-19th-century-27-638.jpg

ต่อมาในปี 1895 จีนได้พ่ายแพ้สงครามกับญี่ปุ่น ก็เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า อาณาจักรจีนนั้นไม่ได้ยิ่งใหญ่เหมือนในอดีตอีกต่อไป พ่ายแพ้ทั้งกับมหาอำนาจตะวันตก และพ่ายแพ้ให้กับญี่ปุ่น ประเทศเล็กๆที่ได้ปฏิรูปประเทศสำเร็จในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 (เรียกว่า ปฏิรูปเมจิ รายละเอียดจะเล่าในครั้งต่อไป) เมื่อเป็นเช่นนี้ กลุ่มบัณฑิตของจีนนำโดย คังโหยว่เหวย ได้เสนอนโยบายปฏิรูปประเทศ ต่อฮ่องเต้กวงซู่ และฮ่องเต้ก็ได้ประกาศพระราชโองการกำหนดนโยบายเพื่อปฏิรูปประเทศ ในเดือนมิถุนายน 1898 เนื้อหาการปฏิรูปได้แก่ ส่งเสริมการประกอบธุรกิจแบบใหม่ สนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรม จัดตั้งหน่วยงานเพื่อเร่งรัดการพัฒนารถไฟและการทำเหมืองแร่ ยกเลิกการเขียนบทกวีในการสอบจอหงวนแต่หันมาสอบความรู้สถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบันแทน ตั้งโรงเรียนศึกษาวิทยาการตะวันตก ปลดขุนนางส่วนเกิน ลดขนาดกองทัพแบบเก่า และพัฒนากองทัพแบบใหม่ แต่เนื่องจากเนื้อหาการปฏิรูปไปกระทบผลประโยชน์ของชนชั้นนำ จึงเกิดการต่อต้านคัดค้านอย่างรุนแรง ที่สำคัญคือ เป็นการดำเนินการที่แสดงให้เห็นว่าอำนาจกลับมาอยู่ในมือฮ่องเต้ จากแต่เดิมอยู่ภายใต้ซูสีไทเฮา

ในที่สุด เพียง 103 วันหลังการประกาศพระราชโองการปฏิรูป ซูสีไทเฮาทรงเข้ายึดอำนาจ กังขังฮ่องเต้กวงซู่ ประหารชีวิตกลุ่มปฏิรูป และยกเลิกนโยบายปฏิรูปทั้งหมด การปฏิรูปร้อยวันจึงประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง หลังจากนั้น ประเทศจีนก็ดิ่งเหวลงอย่างไม่ฉุดไม่ขึ้น แม้ว่าต่อมาในปี 1911 เกิดปฏิวัติซินไฮ่ โค่นล้มราชวงศ์ชิง เปลี่ยนเป็น ระบอบสาธารณรัฐ แต่ก็ไม่สามารถทำให้ประเทศจีนฟื้นคืนมาได้ รัฐบาลกลางแทบไม่มีอำนาจบริหาร ต่อมาเกิดการรุกรานจากญี่ปุ่น และเกิดสงครามชิงแผ่นดินระหว่างก๊กมินตั๋ง และพรรคคอมมิวนิสต์ กว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะยึดอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จและก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ก็ล่วงเข้าไปจนถึงปี 1949 ผ่านการปฏิวัติ ปฏิรูป หลายต่อหลายครั้ง จนกระทั่งศตวรรษที่ 21 จีนใหม่จึงกลับมาเป็นมหาอำนาจของโลกได้อีกครั้ง

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การปฏิรูปร้อยวันของจีนที่ล้มเหลว มาจาก การประกาศการปฏิรูปมาจากผู้ที่ไม่มีอำนาจอย่างแท้จริง แม้ว่าฮ่องเต้กวงซู่จะเป็นฮ่องเต้ก็จริง แต่อำนาจทางการเมืองที่แท้จริงอยู่ในมือซูสีไทเฮามากกว่า ฮ่องเต้กวงซู่อาศัยการปฏิรูปเพื่อดึงอำนาจจากมือซูสีไทเฮากลับมาที่พระองค์ แต่โลกความเป็นจริงมันไม่ง่ายเช่นนั้น การปฏิรูปไม่ได้เป็นพลังที่จะทำให้ผู้นำมีอำนาจมากขึ้น ในทางกลับกัน การปฏิรูปกลับต้องการอำนาจทางการเมืองที่เข้มแข็งจากผู้นำ จึงจะทำให้การปฏิรูปนั้นสำเร็จ

*******************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
31 ธันวาคม 2560
*******************************