บริหารการลงทุน CapEx สไตล์ FSG & Klopp เพียง 5 ปี รายได้ลิเวอร์พูลโตเท่าตัว

ทุกปี บริษัทที่ปรึกษาสัญชาติอังกฤษ ระดับโลก ดีลอยต์ (Deloitte) จะออกรายงานเกี่ยวกับธุรกิจฟุตบอล เรียกชื่อรายงานนี้ว่า Football Money League โดยจะรายงานข้อมูลรายได้และข้อมูลสำคัญๆในปีที่ผ่านมาของสโมสรฟุตบอลชั้นนำ 20 อันดับแรกในยุโรป การจัดอันดับในลีกการเงินฟุตบอลนี้จัดโดยเรียงลำดับจากรายได้ประจำปี โดยฉบับล่าสุดซึ่งเป็นรายงานปีที่ 23 แล้ว ได้ออกมาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ในชื่อว่า Deloitte Football Money League 2020: Eye on the prize (จับตาที่เงินรางวัล)

รายงานฉบับนี้มีเรื่องน่าสนใจหลายเรื่อง แต่ขอหยิบมาเฉพาะสโมสรอันดับ 7 ใน Football Money League ปีนี้ก่อน นั่นคือ สโมสรลิเวอร์พูล เพื่อมาวิเคราะห์ผลการบริหารทีมนับตั้งแต่ปี 2015 ที่ เจอร์เกน คล็อปป์ มาเป็นผู้จัดการทีม (คล็อปป์ รับตำแหน่งผู้จัดการทีมลิเวอร์พูลเมื่อ 8 ตุลาคม 2015 ก่อนหน้านั้นสโมสรลิเวอร์พูล มี แบรนดอน ร็อดเจอร์ เป็นผู้จัดการทีม)

 

จากรายงานของดีลอยต์ เมื่อมกราคม 2015 ลิเวอร์พูล อยู่อันดับ 9 ของ Football Money League มีรายได้ในปี 2014 อยู่ที่ 255.8 ล้านปอนด์ มาจาก รายได้วันแข่งขัน (Matchday) 51 ล้านปอนด์ หรือ 20% ของรายได้ทั้งหมด, รายได้จากลิขสิทธิ์ถ่ายทอด (Brodcast) 101 ล้านปอนด์ หรือ 39% ของรายได้ทั้งหมด และรายได้จากพาณิชย์ (Commercial) เช่น สปอนเซอร์, ขายสินค้า ที่ 124.1 ล้านปอนด์ หรือ 41% ของรายได้ทั้งหมด

เมื่อมาเทียบกับรายงานฉบับล่าสุด มกราคม 2020 สโมสรลิเวอร์พูล ขยับขึ้นมา 2 อันดับ มาอยู่อันดับ 7 ของ Football Money League มีรายได้ในปี 2019 อยู่ที่ 533 ล้านปอนด์ เพิ่มขึ้นจาก 5 ปีก่อนถึง 277.2 ล้านปอนด์ หรือเพิ่มขึ้น 108% เลยทีเดียว โดยมีรายได้วันแข่งขัน 83.3 ล้านปอนด์ เพิ่มขึ้นจากห้าปีก่อน 63%, รายได้จากลิขสิทธิ์ออกอากาศ 263.8 ล้านปอนด์ เพิ่มจากห้าปีก่อน 161% และรายได้จากพาณิชย์ 185.9 ล้านปอนด์ เพิ่มจากห้าปีก่อน 79%

รายได้รวมที่เพิ่มขึ้นมาเท่าตัวภายใน 5 ปีนั้น ในทางธุรกิจถือว่าเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของฝ่ายบริหาร ซึ่งก็มาจากการทำงานร่วมกันของเจ้าของบริษัท ซึ่งก็คือ จอห์น เฮนรี แห่ง เฟนเวย์สปอร์ตกรุ๊ป (FSG) กับ เจอร์เกน คล็อปป์ ผู้จัดการทีม รวมไปถึงฝ่ายบริหารคนอื่นทั้ง ประธานสโมสร ทอม เวอร์เนอร์, CEO ปีเตอร์ มัวร์ เป็นต้น

หากเราย้อนดูปัจจัยสำคัญที่ทำให้สโมสรลิเวอร์พูลมีรายได้เพิ่มขึ้นมาเท่าตัวภายในห้าปี นอกจากผลงานการแข่งขันแล้ว ในแง่บริหารเงินก็มีประเด็นน่าสนใจหลายประการ กลุ่ม FSG เข้ามาเป็นเจ้าของสโมสรลิเวอร์พูลเมื่อ 15 ต.ค. 2010 โดยเข้ามาสะสางปัญหาทางการเงินของสโมสรที่ผู้ถือหุ้นคนเก่าสร้างเอาไว้ กว่าที่จะได้เริ่มลงทุนอะไรใหม่ๆให้สโมสรก็ใช้เวลานับปี

ประเด็นที่น่าสนใจที่ผมเห็นคือ การใช้เงินลงทุน Capital Expenditure หรือที่เรียกสั้นๆว่า CapEx (แคปเอ็กซ์) เพราะการลงทุนแบบนี้จะสะท้อนถึงแผนการในระยะยาวของฝ่ายบริหาร ถ้าลงทุนในสิ่งที่เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน (Competitive Advantage) ก็จะส่งผลดีในระยะยาว แต่ถ้าลงทุนสะเปะสะปะ เงินที่ลงทุนไปก็จะสูญเปล่า ดีไม่ดีจะบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของสโมสรด้วย

สโมสรลิเวอร์พูลในยุค FSG กับคล็อป เริ่มลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ที่สร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยเริ่มจาก ลงทุนขยายอัฒจันทร์ Main Stand ใช้เงินไปราว 110 ล้านปอนด์ โดยเริ่มสร้างในปี 2014 มาเสร็จใช้งานได้ในปี 2016 ส่งผลให้เพิ่มจำนวนที่นั่งทั้งสนามมาอีก 8,500 ที่ หรือประมาณ 19% ทำให้ปัจจุบันสนามแอนฟิลด์มีที่นั่งทั้งหมด 53,394 ที่นั่ง (ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของสโมสรในพรีเมียร์ลีก) เมื่อจำนวนที่นั่งเพิ่มขึ้นมา 19% แต่รายได้วันแข่งเพิ่ม 63% แปลว่าความนิยมแฟนบอลเพิ่มขึ้น จำนวนแมตช์แข่งขันมากขึ้น ส่วนราคาบัตรนั้น สโมสรตรึงราคาไว้หลายปีแล้ว (ไม่นับราคาในตลาดมือสองที่เพิ่มพรวดๆ) ได้ใจแฟนบอลไปมาก

เมื่อ Main Stand เสร็จในปี 2016 ฝ่ายบริหารสโมสรก็ใช้เงินลงทุนสร้าง Club Superstore ที่สนาม ขนาด 1,800 ตารางเมตร ต่อเนื่องทันที ร้านค้าสโมสรที่มีขนาดใหญ่ขึ้น สวยงามขึ้น ย่อมเพิ่มรายได้จากพาณิชย์ ขึ้นไปอีก ร้านใหม่เสร็จภายในปีเดียว เริ่มเปิดในปี 2017

ถัดจากขยายอัฒจันทร์กับร้านประจำสโมสร ฝ่ายบริหารลิเวอร์พูล ได้ลงทุนสร้างสนามซ้อมแห่งใหม่ ที่ เคิร์กบี้ ขนาด 9,200 ตารางเมตร ด้วยเงินลงทุนสูงถึง 50 ล้านปอนด์ ซึ่งคาดว่าจะเสร็จเริ่มใช้งานกลางปี 2020 นี้ แปลว่าฤดูกาลหน้า ทีมจะย้ายสนามซ้อมจากเมลวู้ดมายังเคิร์กบี้ ซึ่งมีอุปกรณ์การฝึกซ้อมทันสมัยครบครัน สโมสรใช้คำว่า state-of-the-art facilities การลงทุนในสนามซ้อมนี้ ไม่ได้ส่งผลต่อรายได้ของสโมสรโดยตรง แต่เป็นการมองการณ์ไกลของฝ่ายบริหาร เพราะจะส่งผลดีต่อผลงานของทีม เมื่อนักเตะได้ซ้อมในสนามที่ทันสมัยย่อมได้เปรียบกว่าซ้อมในอุปกรณ์เก่าๆอย่างเดียว อีกทั้งยังเป็นการสร้างทีมเยาวชนขึ้นมาให้สโมสรด้วย

และเมื่อสนามซ้อมแห่งใหม่จะเสร็จในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ฝ่ายบริหารก็เริ่มโครงการลงทุนสำคัญต่อไปทันที คือแผนการขยายอัฒจันทร์ฝั่งถนนแอนฟิลด์ ซึ่งจะทำให้สนามมีความจุเพิ่มอีก 7,000 ที่นั่ง รวมเป็น 61,000 ที่นั่ง (เพิ่มขึ้นอีก 14% และจะกลายสนามใหญ่เป็นอันดับ 3 ในพรีเมียร์ลีกด้วย) ซึ่งอยู่ระหว่างรับฟังความเห็นชุมชนอยู่ หากผ่านการอนุมัติก็พร้อมที่จะก่อสร้างทันที

จะเห็นว่า ก้าวย่างของการลงทุน CapEx ของฝ่ายบริหารสโมสร ล้วนแล้วแต่เลือกลงทุนในสิ่งที่สร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับสโมสรทั้งสิ้น ทำให้เชื่อได้ว่า สโมสรจะสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจให้กับเจ้าของไปอีกนาน

ที่เล่ามานี้ ยังไม่ได้กล่าวถึง การบริหารเชิงพาณิชย์ของสโมสร ซึ่งไม่ใช่เรื่องของการลงทุน CapEx แต่เป็นฝีมือการบริหารเพื่อเพิ่มรายได้ ที่เมื่อไม่นานมานี้ สโมสรได้ประกาศเปลี่ยนสปอนเซอร์ผู้ผลิตเสื้อผ้าจาก New Balance มาเป็น Nike ในฤดูกาลหน้า (2020/21) ซึ่งเงื่อนไขสำคัญก็คือ การที่สโมสรจะได้รับส่วนแบ่ง 20% จากยอดขายสินค้าที่มีตราสโมสร (กรณีรองเท้าได้ 5%) จากการประเมินเชื่อกันว่า รายได้ที่เดิมเคยได้รับจาก New Balance ปีละ 25 ล้านปอนด์ จะเพิ่มขึ้นเป็น 75 ล้านปอนด์ต่อปี ซึ่งหมายความว่า สโมสรจะมีรายได้เพิ่มอีก 50 ล้านปอนด์เลยทีเดียว แต่จะเป็นไปตามคาดหรือไม่ก็ต้องติดตามกันต่อไป

**********************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
20 มกราคม 2020
**********************************

 

Proactive อุปนิสัยสำคัญสู่ชัยชนะ กับ No Excuse Culture ของ เจอร์เกน คล็อปป์

เมื่อ 29 ธันวาคม 2019 ที่ผ่านมา ผมได้ทำตามความฝันข้อหนึ่งในชีวิต คือ การไปดูบอลที่สนามแอนฟิลด์ เมืองลิเวอร์พูล วันนั้นเป็นการแข่งขันระหว่าง ลิเวอร์พูล กับ วูล์ฟ แฮมป์ตันฯ ซึ่งเป็นการแข่งขันแมตช์ที่ 9 ของทีมลิเวอร์พูลในเดือนธันวาคมเดือนเดียว นับเป็นโปรแกรมการแข่งขันสุดโหด เพราะต้องลงเตะทุกสามวันติดต่อกันแรมเดือน

ทุกแมตช์ที่มีการเตะในบ้าน ทางสโมสรจะมีการจัดทำ Program Book ให้กับแฟนบอลที่มาชมได้ซื้ออ่านกัน ในวันที่ผมไปชมนั้น หน้าปกเป็น นาบี เกอิต้า ที่เล่นได้โดดเด่นในช่วงเดือนธันวาคม แต่เนื้อหาในเล่ม ที่ผมประทับใจมาก คือ คอลัมน์ From the Boss โดย เจอร์เกน คล็อปป์ ผู้จัดการทีมลิเวอร์พูล โดยเขาได้เขียนตอนหนึ่งว่า

“มีคนมากมายพร้อมที่จะวิจารณ์จากข้างนอกถึงผลกระทบของการเดินทางไปโดฮา (ไปแข่งชิงแชมป์สโมสรโลก ที่ลิเวอร์พูลคว้าแชมป์กลับมา) ที่มีต่อการลุ้นแชมป์พรีเมียร์ลีก ผมสามารถตอบได้ตรงนี้เลย โดยไม่ต้องดูผลลัพธ์ ว่า ไม่มีผลเลย! เพราะว่าพวกเราไม่อนุญาตให้มันมามีผลกับเรา นักฟุตบอลของเรากลุ่มนี้รู้ว่าพวกเขาต้องกำหนดวาระ และมาตรฐานของพวกเขาเอง

พวกเขารู้ว่า พวกเขามีความสามารถที่จะตัดสินเองว่า จะเข้าไปสู่เกมการแข่งขันด้วยความเหนื่อยล้า หรือเราเลือกที่จะสดชื่นทั้งกายและใจ มันคือทางเลือกที่เราสามารถเลือกได้เอง เรามีพลังที่จะตัดสินใจเลือกวิธีการของเราเอง…

การพูดถึงหัวข้อพวกนี้ ย่อมแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากการใช้มันเป็นข้ออ้าง และนักบอลของเราเหล่านี้มี วัฒนธรรมไร้ข้ออ้าง (No Excuse Culture) ไหลเวียนอยู่ในตัวพวกเขา

เราจะพลาด เราจะแพ้บางเกมส์ แน่นอน เราจะเจออย่างนั้น นี่ไม่ใช่เป็นเพราะความล้มเหลวของเรา แต่เพราะคุณภาพของคู่แข่งที่สูงมาก แต่เราจะไม่ใช้ปัจจัยภายนอกมาอธิบาย ไม่ว่ามันจะดูสมเหตุสมผลขนาดไหน

แนวทางของเราคือมันเป็นเรื่องของโอกาสเสมอ การคว้าแชมป์สโมสรโลกฟีฟ่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสโมสรคือโอกาส และเราคว้ามันได้ การกลับมาสู่การแข่งขันต่อเข้มเข้นอย่างยิ่งในพรีเมียร์ลีกภายใต้ ตารางการแข่งขันที่แน่น คือโอกาสสำหรับเราที่จะแสดงผลงานถ้าเราเลือกที่จะเผชิญอย่างนั้น และเราจะทำเช่นนั้น

นั่นคือสิ่งที่ผมเห็นจากนักเตะของเราตั้งแต่เรากลับมารวมทีมเมื่อกรกฎาคมและสิงหาคมที่ผ่านมา เรากำหนดวาระของเราเอง เราตัดสินใจว่ามันเป็นไปได้ มันคือของขวัญของเราที่จะมอง “ความกดดัน” ที่เราสมควรจะเจอ ในแง่บวก ไม่ใช่แง่ลบ”

อ่านบทความตอนนี้ของคล็อปป์แล้ว ผมคิดถึงเรื่อง 7 อุปนิสัยของผู้มีประสิทธิภาพสูง ของสตีเฟน โควีย์ อันโด่งดัง ทันที โควีย์ได้ศึกษาปัจจัยสู่ความสำเร็จของคน ตลอด 200 ปีที่ผ่านมา และได้สรุปออกมาเป็น อุปนิสัย 7 ข้อ โดยข้อแรกก็คือ Proactive ซึ่งก็คือ ต้องเป็นฝ่ายเริ่มต้นทำก่อน ไม่ใช่รอตั้งรับ

โควีย์อธิบายว่า เมื่อมีสถานการณ์ใดๆเกิดขึ้น คนที่ประสบความสำเร็จจะมีอิสระที่จะเลือกวิธีการตอบสนองต่อสถานการณ์นั้น ไม่ใช่รอให้คนอื่นมาบอกมาทำให้เรา หรือปล่อยเป็นฝ่ายถูกกระทำ (Reactive) เช่น ในสถานการณ์ของลิเวอร์พูลที่ต้องเจอการแข่งขัน 9 นัดภายในเดือนเดียว หากปล่อยเป็นฝ่ายถูกกระทำ ก็คือ การไปโทษว่า สมาคมฟุตบอลอังกฤษผู้จัดพรีเมียร์ลีก กับ ฟีฟ่าผู้จัดการแข่งชิงแชมป์สโมสรโลก ไม่ยอมคุยกันหรือจัดตารางแข่งขันให้ดี จนทำให้เกิดการแข่งที่แน่นเกินไป หรืออาจรู้สึกเหนื่อยกับการที่ต้องเจอตารางแข่งขันเช่นนี้ แต่การเป็นคนโปรแอกทีฟ ก็จะมองแบบที่คล็อปป์มอง นั่นคือ นี่คือโอกาสที่จะคว้าแชมป์สโมสรโลกเป็นครั้งแรกของสโมสร และเป็นโอกาสที่จะพิสูจน์ตนเองว่า พร้อมที่จะคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกให้ได้เป็นครั้งแรกของสโมสร

การเป็นคนโปรแอกทีฟแบบนี้ ไม่ได้หมายความว่า ผลลัพธ์จะต้องชนะหรือสำเร็จเสมอไป แต่การที่ไม่ไปโทษสิ่งภายนอก จะทำให้เรามามุ่งมั่นกับสิ่งที่เราสามารถกระทำได้ ทำให้การเข้าสู่การแข่งขันจะเข้าด้วยความมุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จ ไม่ใช่การที่พร้อมจะไปโทษนั่นโทษนี่หรือหาข้ออ้างหากไม่สำเร็จ ผมว่า วิธีคิดของคล็อปป์ที่ปลูกฝังให้เกิดขึ้นในทีมลิเวอร์พูลว่า ทุกสถานการณ์คือโอกาส และวัฒนธรรมไร้ข้ออ้าง คือตัวอย่างของการสร้างความสำเร็จขึ้นสำหรับคนทุกคน

**********************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
13 มกราคม 2020
**********************************

กฎคืนหลัง (back-pass Law) จุดเปลี่ยนฟุตบอลพรีเมียร์ลีก เครื่องพิสูจน์แนวคิดสำนักนิติธรรมฝ่าเจีย

ปัญหาใหญ่ข้อหนึ่งซึ่งมักพบในองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะขนาดเล็กอย่างครอบครัว หรือจะใหญ่โตระดับประเทศ นั่นคือ ทำอย่างไรจึงจะทำให้คนในองค์กรประพฤติไปในทิศทางเดียวกัน ปัญหานี้มีการคิดค้นแนวทางแก้ปัญหามาตั้งแต่ยุคโบราณ ในแผ่นดินจีนตั้งแต่ยุคสองพันกว่าปีก่อนก็ได้เกิดแนวคิดแก้ปัญหานี้ออกเป็น 2 สำนัก สำนักหนึ่งเรียกว่า สำนักคุณธรรม หรือ หรูเจีย (儒家) ซึ่งมี ขงจื้อ เป็นเจ้าสำนัก โดยมีแนวคิดหลักว่า จะต้องสั่งสอนให้คนเป็นคนดีมีคุณธรรม เมื่อสมาชิกในองค์กรเป็นคนดีแล้ว ก็ย่อมจะประพฤติในแนวทางที่ดี เกิดประโยชน์ต่อองค์กร ส่วนอีกสำนักหนึ่งคือ สำนักนิติธรรม หรือ ฝ่าเจีย (法家) นำโดยหันเฟย ที่เสนอแนวทางว่า ต้องมีกฎหมายออกมาให้ชัดเจน ใครทำผิดกฎหมาย ต้องถูกลงโทษ บังคับใช้กฎหมายกับทุกคน อย่างเที่ยงธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ เมื่อทำเช่นนี้แล้ว องค์กรจะขับเคลื่อนไปได้อย่างเข้มแข็ง ในยุคจ้านกว๋อ รัฐฉินได้ใช้แนวคิดสำนักนิติธรรมบริหารประเทศ เริ่มจากการปฏิรูปซางยาง ทำให้รัฐฉินก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจ และในที่สุดก็รวมแผ่นดินจีนได้ในยุคของจิ๋นซีฮ่องเต้

ในโลกยุคปัจจุบัน ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า แนวคิดไหนจึงจะส่งผลดีที่สุดต่อองค์กร ซึ่งมีกรณีศึกษาหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือ การปรับปรุงเกมฟุตบอลให้เปลี่ยนจาก เกมรับที่น่าเบื่อในยุคปลายทศวรรษ ’80 ให้กลายเป็นเกมที่สนุกยิ่งขึ้นในต้นทศวรรษ ’90 เรื่องของเรื่องก็คือ การทำทีมฟุตบอลในยุคปลายทศวรรษ ’80 ได้เน้นกลยุทธ์ตั้งรับเป็นหลัก เพราะโค้ชต้องการเน้นที่ผลลัพธ์การแข่งขัน โดยไม่สนใจว่าเกมจะสนุกหรือไม่ ส่งผลให้ฟุตบอลโลก 1990 มีการยิงประตูเฉลี่ยกันเพียง 2.21 ประตูต่อเกมเท่านั้น ซึ่งต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์บอลโลก และที่แย่ไปกว่านั้นคือ เมื่อทีมใดทีมหนึ่งนำอยู่ กองหลังก็จะครองบอลไว้ เมื่อฝ่ายตรงข้ามพยายามมาแย่งบอล ก็จะส่งบอลคืนโกล์ โกล์ก็จะรับบอล หยิบบอลขึ้นมา และส่งไปให้กองหลัง กองหลังก็จะทำซ้ำๆอีก ไม่ได้พยายามเปิดเกมบุกไปข้างหน้าเลย หรือในฟุตบอลยุโรป 1992 เดนมาร์กได้กลายเป็นแชมป์บอลยุโรปได้ด้วยกลยุทธ์นี้ โดยเฉพาะใน 5 นาทีสุดท้ายซึ่งตอนนั้นเดนมาร์กนำเยอรมันอยู่ 2:0 ปีเตอร์ ชไมเคิล นายประตูทีมเดนมาร์ก ได้พูดถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “ทุกครั้งที่เราเข้าไปในแดนของเยอรมันและหาคนที่จะส่งบอลให้ไม่ได้ เราก็จะหันกลับและส่งบอลกลับมาที่ผม และผมก็หยิบลูกบอลขึ้นมา นี่เราเอาชนะการแข่งขันด้วยการเล่นแบบนี้ได้ยังไง?!” ก่อนหน้านั้นที่น่าเกลียดคือ เกมยูโรเปี้ยนคัพระหว่าง กลาสโกว์เรนเจอร์ กับ ไดนาโมเคียฟ เมื่อปี 1987 ขณะที่ เรนเจอร์นำอยู่ 2-1 แกรม ซูเนสส์ มิดฟิลด์ของเรนเจอร์ ได้บอลในแดนไดนาโมเคียฟ แต่เขากลับหันหลังกลับแล้วส่งบอลยาว 70 หลา กลับมาหาผู้รักษาประตูฝ่ายเขา!!

ความพยายามที่จะชักชวนให้แต่ละทีมเล่นเกมให้สนุกด้วยความสมัครใจนั้นแทบไม่ได้ผล ในที่สุด ฟีฟ่าจึงประกาศแก้ไขกฎคืนหลัง (back-pass law) แต่เดิมผู้รักษาประตูหรือโกล์สามารถใช้มือรับลูกบอลที่เตะกลับมาจากผู้เล่นทีมเดียวกัน แต่กฎใหม่ไม่สามารถทำได้ เว้นแต่การรับบอลจากการโหม่ง, หัวไหล่, เข่า หรือทุ่มลูกกลับมา กฎนี้บังคับให้โกล์ต้องใช้เท้ามากขึ้นกว่าแต่ก่อน

กฎคืนหลังแบบใหม่นี้ ได้เริ่มใช้งานจริงในฤดูกาล 1992/93 ซึ่งเป็นปีแรกของการตั้งฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ในปีก่อนหน้า แชมป์ลีกสูงสุด (ตอนนั้นคือ ดิวิชั่น 1) คือทีมลีดส์ยูไนเต็ด เป็นทีมที่เล่นสไตล์โยนยาวไปให้ศูนย์หน้าร่างใหญ่เข้าทำประตู โฮเวิร์ด วิลกินสัน ผู้จัดการทีมลีดส์ยูไนเต็ด ประกาศตอนต้นฤดูกาลว่า “ถ้ากฎใหม่มาจากแนวคิดว่าจะทำให้เกมฟุตบอลดีขึ้น ผลที่ออกมาจะพิสูจน์ให้เห็นว่ามันเป็นตรงกันข้าม กฎใหม่เหมือนกับอาหารจากสวรรค์สำหรับโค้ชที่ชอบเกมโยนยาวเลยล่ะ” แต่ผลที่ออกมากลับไม่ได้เป็นอย่างนั้น ลีดส์ยูไนเต็ด กลายเป็นทีมที่เกิดความเสียหายมากที่สุดเมื่อเริ่มใช้กฎส่งกลับแบบใหม่ เพราะแต่เดิมกองหลังจะส่งบอลกลับมาให้โกล์รับ จากนั้น โกล์ก็จับบอลแล้วเตะยาวไปข้างหน้าจนถึงแดนหลังของฝ่ายตรงข้ามเพื่อเข้าทำประตู แต่พอมีกฎใหม่ โกล์ไม่สามารถรับบอลจากกองหลังแล้วมาโยนเตะได้ แต่ต้องเตะบอลจากพื้นซึ่งไปไกลเพียงตอนกลางสนามเท่านั้น แทคติกที่ลีดส์เคยใช้ได้ผลจนเป็นแชมป์ กลับไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป จบฤดูกาลนั้น ลีดส์กลายมาอยู่อันดับที่ 17 แทบตกชั้นเลยทีเดียว

โดยรวมแล้ว กฎใหม่สร้างแรงกดดันให้กองหลังทำผิดพลาดได้ง่ายเมื่อลังเลว่าจะส่งคืนโกล์หรือจะเตะทิ้งดี ส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ เพราะมันสร้างแรงจูงใจให้ทำเกมบุกเพรสซิ่งฝ่ายตรงข้ามเพื่อกดดันให้กองหลังทำผิดพลาด ส่งผลให้โค้ชพยายามขยับเกมรับให้พ้นจากแนวหลังเพื่อป้องกันความผิดพลาด ทำให้เกมตรงกลางเปิดมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้จังหวะเกมเร็วขึ้นกว่าเดิม และสร้างความสนุกให้กับผู้ชมมากยิ่งขึ้น

ทีมที่คว้าโอกาสทองจากการเปลี่ยนกฎนี้ ก็คือ ทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ซึ่งเพิ่งได้ ปีเตอร์ ชไมเคิล มาเป็นโกล์มือหนึ่งของทีม ชไมเคิลเป็นโกล์ร่างยักษ์สูง 191 ซม. ที่สามารถขว้างบอลได้ไกลและแม่นยำ ชอบตะโกนสั่งการเพื่อนร่วมทีม และเป็นโกล์ที่มีส่วนร่วมในเกมรุกของทีม หลายครั้งที่ทีมตามอยู่ ช่วงใกล้หมดเวลา หากทีมได้ลูกเตะมุม ชไมเคิลจะขึ้นไปสร้างโอกาสทำประตู เขาเคยถูกเป่าฟาวล์ล้ำหน้า ซึ่งน่าจะเป็นโกล์คนแรกที่ทำฟาวล์ข้อนี้ บทบาทของผู้รักษาประตูหลังเปลี่ยนกฎได้เปลี่ยนไปจากคนที่ช่วยทีมในเกมรับอย่างเดียว กลายเป็นตำแหน่งที่มีส่วนร่วมทั้งเกมรับและเกมรุก อย่างที่ชไมเคิลโชว์ผลงานให้เห็น ส่งผลให้สโมสรฟุตบอลในอังกฤษต้องนำเข้าโกล์จากต่างประเทศเข้ามา เพราะโกล์อังกฤษไม่ถนัดกับบทบาทใหม่ จนทำให้ในฤดูกาลที่สองของพรีเมียร์ลีก มีโกล์ที่เป็นชาวต่างชาติถึง 10 ทีมจากทีมทั้งหมด 20 ทีมเลยทีเดียว

ตัวอย่างการเปลี่ยนกฎคืนหลังนี้เป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการใช้แนวคิดสำนักนิติธรรม ฝ่าเจีย ที่ต้องประกาศใช้กฎเกณฑ์นำไปสู่การปรับพฤติกรรมคนในองค์กรไปในแนวทางที่ผู้นำองค์กรต้องการ อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์จีนได้พิสูจน์ให้เห็นหลายต่อหลายครั้งว่า การใช้แต่แนวคิดฝ่าเจีย ด้วยการใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดเพียงอย่างเดียว มักทำให้องค์กรอยู่ได้ไม่นาน ราชวงศ์ฉินที่รวมแผ่นดินจีนได้กลับปกครองอยู่ได้เพียง 15 ปีเท่านั้น แต่ราชวงศ์ฮั่นที่ใช้แนวคิดสำนักคุณธรรม หรูเจีย ของขงจื้อ กลับปกครองแผ่นดินได้นานถึงสี่ร้อยกว่าปี ดังนั้น การบริหารองค์กรใดๆจำเป็นต้องใช้แนวคิดสำนักนิติธรรม ควบคู่กับสำนักคุณธรรม ไปด้วยกัน จึงจะยั่งยืน

************************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
2 มีนาคม 2561
************************************

ทีมฟุตบอลพรีเมียร์อังกฤษ ทำเงินเป็นอันดับ 1 ของลีกในยุโรป

เป็นที่รู้กันดีว่า ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษได้รับความนิยมสูงสุดในหมู่แฟนบอลชาวไทย แต่หากเรามาดูผลประกอบการของสโมสรเหล่านี้ พวกเขายังเป็นลีกอันดับหนึ่งหรือไม่

Screen Shot 2015-08-19 at 12.27.50 AM

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา Deloitte ได้ออกรายงาน Annual Review of Football Finance สำหรับข้อมูลงบการเงิน ฤดูกาล 2013/14 โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจอยู่หลายเรื่อง ขอเริ่มจาก รายได้รวมของทีมฟุตบอลของแต่ละลีกในยุโรป ปรากฏว่า ทีมพรีเมียร์ลีกอังกฤษทำเงินเป็นอันดับ 1 ในยุโรป เป็นจำนวน 3,898 ล้านยูโร มีอัตราเติบโตสูงถึง 32% โดยมีลีกบุนเดสลีกาของเยอรมันทำเงินมาเป็นอันดับ 2 ที่ 2,275 ล้านยูโร (เติบโต 13%), อันดับ 3 จึงเป็นลาลีกาของสเปน ทำเงินได้ 1,933 ล้านยูโร (เติบโตเพียง 3%)

สาเหตุที่พรีเมียร์ลีกอังกฤษ มีอัตราการเติบโตสูงถึง 32% นั้น มาจาก ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลที่สูงถึง 1,760 ล้านยูโร (คิดเป็น 54% ของรายได้ทั้งหมด) ซึ่งเป็นปีแรกของแพกเกจลิขสิทธิ์ปัจจุบัน ที่ผมเคยเขียนเล่าไปแล้วว่าราคาสูงมากๆ เช่นเดียวกับ บุนเดสลีกาที่ได้เงินจากลิขสิทธิ์ถ่ายทอดจากแพคเกจปัจจุบันเป็นปีแรกเช่นกัน ดังนั้น จะเห็นว่า ธุรกิจฟุตบอลนั้น รายได้ที่สำคัญที่สุดคือ ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดทางโทรทัศน์ ซึ่งจะเป็นตัวชี้ขาดว่าจะกำไรหรือไม่ เชื่อมั้ยว่า ปัจจุบัน รายได้จากการขายตั๋วชมฟุตบอลของทีมพรีเมียร์ลีกมีสัดส่วนเพียง 19% ของรายได้ทั้งหมดเท่านั้นเอง

สำหรับสาเหตุที่ลาลีกาสเปนทำเงินได้อันดับสามนั้น สาเหตุสำคัญน่าจะมาจากการกระจุกตัวของรายได้อยู่เพียงไม่กี่ทีม ในฤดูกาล 2013/14 มีทีมที่มีรายได้สูงขึ้นเพียงสองทีมจากมาดริดเท่านั้น ส่วนอีก 18 ทีม รายได้กลับลดลง อย่างไรก็ตาม ทางการสเปนได้สนับสนุนธุรกิจฟุตบอลด้วยการออกกฎหมายว่า ตั้งแต่ฤดูกาล 2016/17 เป็นต้นไป ลิขสิทธิ์ฟุตบอลสเปนในประเทศจะต้องขายรวมกันทั้งลีก ด้วยหวังว่าจะทำให้รายได้ลิขสิทธิ์รวมจะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านยูโร ที่ผ่านมา ลิขสิทธิ์บอลสเปนค่อนข้างวุ่นวาย เพราะมีการขายลิขสิทธิ์แยกกัน อย่างทีมบาร์เซโลนาขายลิขสิทธิ์แยกจากทีมอื่น เชื่อกันว่า หลังจากกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ ลาลีกาจะสามารถแซงบุนเดสลีกาไปเป็นลีกทำเงินอันดับสองของยุโรปได้

ในแง่การทำกำไรของทีมพรีเมียร์ลีกอังกฤษในฤดูกาล 2013/14 นั้น ภาพรวมของลีกดูดีทีเดียว เพราะมีเพียงทีมเดียวเท่านั้นที่ขาดทุนจากการดำเนินงาน แต่เมื่อเรามาเจาะรายละเอียด พบว่า ทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด สามารถสร้างกำไรจากการดำเนินงานได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ สูงถึง 117 ล้านปอนด์ ขณะที่ทั้งพรีเมียร์ลีกรวมกัน สร้างกำไรจากการดำเนินงานเท่ากับ 614 ล้านปอนด์ หมายความว่า แมนยูทีมเดียวทำกำไรเท่ากับ 19% ของทั้งลีกรวมกัน นั่นทำให้แมนยูมีฐานะการดำเนินงานที่แข็งแกร่งมาก จนยากที่ทีมอื่นจะสู้ได้

โดยสรุปแล้ว กลยุทธ์การทำกำไรของทีมฟุตบอลยุโรปในปัจจุบัน มาจากการสร้างความนิยมของลีกให้สูงขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดทางโทรทัศน์ ไปทั่วโลกนั่นเอง

*************************************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
19 สิงหาคม 2558
*************************************************