ในช่วงศตวรรษที่ 18-19 ราชอาณาจักรสยามก็เป็นดินแดนที่มหาอำนาจตะวันตกพุ่งเป้าเข้ามามีอิทธิพลครอบครอง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงเห็นสัญญาณอันตรายนี้ตั้งแต่เนิ่นๆ ทรงยอมเจรจาเซ็นสนธิสัญญาเบอร์นี กับอังกฤษ ใน ค.ศ.1826 ถือว่าเป็นประเทศแรกๆในเอเชียที่เปิดการค้าเสรีกับตะวันตก และด้วยความที่สยามไม่ได้ถือนโยบายปิดประเทศเข้มข้นอย่างจีนและญี่ปุ่น สนธิสัญญานี้จึงไม่ได้เสียเปรียบอังกฤษ กลับกลายเป็นพ่อค้าอังกฤษเสียอีกที่ไม่พอใจกับสนธิสัญญาเพราะยังต้องเสียค่าธรรมเนียมปากเรือค่อนข้างแพง ซึ่งทำให้ภัยจากตะวันตกไม่ได้หายไป เพียงแต่ชะลอเวลาไปเท่านั้น อย่างที่พระองค์พระองค์ทรงตรัสกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เมื่อตอนทรงประชวรใกล้เสด็จสวรรคตในปี 1851 ว่า
“การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดีอย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิดควรจะเรียนเอาไว้ก็ให้เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว”
พอถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 อังกฤษซึ่งได้เข้ามากดดันให้แก้ไขสนธิสัญญาเดิม ตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 3 แล้ว จึงได้ส่ง เซอร์ จอห์น เบาว์ริง เข้ามาเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาเดิม เพื่อให้ได้เปรียบไทยมากขึ้น ในเวลานั้น อังกฤษเพิ่งเอาชนะจีนในสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 และทำสนธิสัญญานานกิงในปี 1842 ที่ได้เปรียบจีนมากมาย ฝ่ายสหรัฐอเมริกาก็ใช้เรือรบยิงปืนใหญ่กดดันให้ญี่ปุ่นเซ็นสนธิสัญญาคะนะงะวะเปิดประเทศสำเร็จในปี 1854 รัชกาลที่ 4 ทรงทราบดีว่า หากไม่ยอมแก้ไขสนธิสัญญาเดิม อังกฤษก็พร้อมใช้กำลังทหารเข้ายึดสยาม ดังนั้น จึงเปิดให้มีการเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาและลงนามกันในปี 1855 โดยสยามต้องเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้กับคนในสังกัดอังกฤษ, เปิดการค้าเสรี โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมปากเรือ เหลือแต่ภาษีขาเข้า ร้อยละ 3 และภาษีขาออกตามพิกัดภาษีที่ตกลงกันไว้ โดยเฉพาะฝิ่นที่อังกฤษไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า เพียงแต่ต้องขายให้เจ้าภาษีเท่านั้น
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงขึ้นครองราชย์ในปี 1868 ด้วยวัยเพียง 15 พรรษา ถ้าพูดภาษาสามัญชนก็คือ พระองค์ยังเป็นวัยรุ่นอยู่ ได้มีการแต่งตั้ง เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) (ต่อมาท่านได้เลื่อนยศเป็น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แม้รัชกาลที่ 5 จะขึ้นครองราชย์ในวัยเยาว์ พระองค์ก็ทรงเห็นความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปราชอาณาจักรสยามให้เข้มแข็ง ก้าวหน้าทัดเทียมกับประเทศตะวันตก ในปี 1870 ได้เสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา เพื่อเรียนรู้การปกครองอาณานิคมของอังกฤษและฮอลันดา ต่อมาในปี 1872 ก็ได้เสด็จประพาสอินเดียกับพม่าที่เป็นเมืองขึ้นอังกฤษ ทรงเล็งเห็นว่าจำเป็นต้องปฏิรูปประเทศอย่างเร่งด่วนเพื่อไม่ให้ตกเป็นอาณานิคมของตะวันตก แต่เวลานั้นพระองค์เป็นเพียงกษัตริย์ในนาม ไม่มีอำนาจเต็มในการบริหารราชการแผ่นดิน จึงไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก
ในปี 1873 เมื่อเจริญพระชนมายุครบ 20 พรรษา รัชกาลที่ 5 ทรงเข้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และทรงเริ่มบริหารบ้านเมืองด้วยพระองค์เองแล้ว แต่อำนาจการบริหารที่แท้จริงยังไม่ได้อยู่ในมือพระองค์ เพราะขุนนางตำแหน่งสำคัญๆยังเป็นผู้ได้รับการแต่งตั้งจากผู้สำเร็จราชการแต่เดิมทั้งนั้น อีกทั้งยังมีวังหน้า ที่ได้รับการคัดเลือกและแต่งตั้งโดยผู้สำเร็จราชการ ไม่ได้เป็นการคัดเลือกโดยพระองค์เลย จึงดูเหมือนว่า อำนาจบริหารแผ่นดินอยู่ในกลุ่มใหญ่ๆ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ นำโดยรัชกาลที่ 5, กลุ่มอำนาจเก่า นำโดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ และกลุ่มวังหน้า นำโดยกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ (พระนามเมื่อแรกประสูติ คือ พระองค์เจ้ายอร์ชวอชิงตัน) จะเห็นได้จาก บางตอนจากพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 5 ถึงสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ที่กล่าวว่า
“..ในเวลานั้น อายุพ่อเพียง ๑๕ ปีกับ ๑๐ วัน ไม่มีมารดา มีญาติฝ่ายมารดาก็ล้วนแต่โลเลเหลวไหล หรือไม่โลเลเหลวไหลก็มิได้ตั้งอยู่ในตำแหน่งราชการอันใดเป็นหลัก ฐาน ฝ่ายญาติข้างพ่อคือเจ้านายทั้งปวง ก็ตกอยู่ในอำนาจสมเด็จเจ้าพระยาและต้องรักษาตัวรักษาชีวิต อยู่ด้วยกันทุกองค์ ที่ไม่เอื้อเฟื้อต่อการอันใดเสียก็มีโดยมาก ฝ่ายข้าราชการจึงว่ามีผู้ใดที่ได้รักใคร่ สนิทสนมอยู่บ้างก็เป็นแต่ผู้น้อยโดยมาก ที่เป็นผู้ใหญ่ก็ไม่มีกำลังสามารถอาจจะอุดหนุนอันใดเปรียบ เหมือนคนที่ศีรษะขาดแล้ว จับเอาแต่ร่างกายขึ้นตั้งไว้ในที่สมมุติกษัตริย์…และความหนักของมงกุฎ อันเหลือที่คอจะทานไว้ได้ ทั้งมีศัตรูซึ่งมุ่งหมายอยู่โดยเปิดเผยรอบข้างทั้งภายในภายนอก…”
ปี 1874 ในวัย 21 พรรษา พระองค์ทรงเลือกใช้กลยุทธ์เริ่มปฏิรูปด้วยอำนาจที่คนยุคนั้นคาดคิดไม่ถึง นั่นคือ ทรงเริ่มจากอำนาจนิติบัญญัติ (ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คนมักใช้แต่อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ แต่มองข้ามอำนาจนิติบัญญัติไป) ด้วยการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of State) ซึ่งมีสมาชิก 12 คน เพื่อเป็นที่ปรึกษาในการบริหารราชการ และที่สำคัญคือ เป็นองค์กรร่างกฎหมาย เพื่อตราเป็นพระราชบัญญัติออกมา
มาตรการปฏิรูปแรกจากสภานี้ ก็คือ การออกกฎหมายจัดตั้ง หอรัษฎากรพิพัฒน์ เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการจัดเก็บภาษีอากร ดึงอำนาจการเก็บภาษีที่กระจัดกระจายจากขุนนางเจ้านายหลายๆส่วนเข้ามาไว้ที่เดียว ตามมาด้วยการออกกฎหมายเกษียณอายุลูกทาสลูกไทย เพื่อกำหนดค่าตัวลูกทาสตอนเป็นเด็ก และมีค่าตัวลดลงทุกปีจนพ้นเป็นไทได้หมดในปี 1905 และเพื่อสร้างทีมงานส่วนพระองค์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ทรงจัดตั้ง สภาที่ปฤกษาในพระองค์ (Privy Council) ประกอบด้วยสมาชิก 49 คน ทำหน้าที่ถวายคำปรึกษาส่วนพระองค์ สอดส่องเหตุการณ์สำคัญในบ้านเมือง และสืบสวนข้อเท็จจริงและถวายความเห็นในข้อราชการต่างๆ
เพียงเริ่มต้นปฏิรูปเท่านี้ กระแสต่อต้านการปฏิรูปก็พุ่งสูงขึ้นทันที อาจเป็นเพราะความเป็นห่วงที่เชื่อว่าการปฏิรูปอย่างรวดเร็วเกินไปจะเป็นอันตรายต่อบ้านเมือง หรือเป็นเพราะสูญเสียผลประโยชน์ที่มีแต่เดิมก็ตามแต่ ในที่สุด การปฏิรูปก็สะดุดลงไปบ้าง โดยเฉพาะเมื่อเกิดวิกฤติการณ์วังหน้าขึ้น
28 ธันวาคม 1874 เกิดเพลิงไหม้ขึ้นในวังหลวงจากโรงผลิตแก๊สอะเซทิลีนสำหรับเดินท่อจ่ายไปยังโคมไฟแสงสว่างในวัง ทหารวังหน้าจัดทีมเข้าไปหมายจะช่วยดับเพลิง แต่ทหารวังหลวงไม่ยินยอมด้วยความระแวงเกรงจะเป็นการก่อวินาศกรรมโดยฝ่ายวังหน้า จึงเกิดการปะทะขึ้น จากนั้น กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ (วังหน้า) เกรงว่าจะถูกจับกุมข้อหากบฏ จึงหลบหนีเข้าไปอยู่ในสถานกงสุลอังกฤษ เปิดโอกาสให้อังกฤษเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในประเทศ สมเด็จเจ้าพระยาฯ อดีตผู้สำเร็จราชการ ต้องเดินทางจากบ้านพักที่ราชบุรี เพื่อเข้าไปเจรจากับวังหน้าในสถานกงสุลอังกฤษ ในที่สุด วังหน้าทรงยอมออกจากสถานกงสุลกลับสู่วังพระองค์เอง วิกฤติวังหน้าครั้งนั้นจึงสิ้นสุดลง
แต่การปฏิรูปที่แท้จริงยังไม่ได้เริ่มขึ้น…
*******************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
10 มกราคม 2561
*******************************