วีรกรรมสะพานหลูติ้ง

ในช่วงแรกของการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เหตุการณ์สำคัญที่สุดเหตุการณ์หนึ่งก็คือ การถอยทัพหนีการล้อมปราบจากรัฐบาลก๊กมินตั๋งของเจียงไคเช็ค ที่เรียกกันว่า การเดินทางไกล (Long March) พรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องเดินทางไกลถึง 25,000 ลี้ หรือ 12,500 กิโลเมตร ในช่วงระยะเวลาประมาณ 1 ปี ระหว่างตุลาคม 1934 ถึง ตุลาคม 1935 ครั้งนั้นกองทัพจีนแดงของพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งมีกำลังพลน้อยกว่ารัฐบาลก๊กมินตั๋งอย่างมาก จำเป็นต้องหนีจากฐานที่มั่นเดิม ผ่าน 11 มณฑล และพื้นที่ทุรกันดารมากมาย ว่ากันว่า ทหารจีนแดงตอนเริ่มต้นเดินทางไกลจำนวน 100,000 คนเมื่อจบภารกิจเดินทางไกลกลับเหลือเพียง 8,000 คนเท่านั้น  แต่ภายใต้ความสูญเสียมากมายขนาดนั้น เหมาเจ๋อตุงกลับประกาศชัยชนะโดยบอกว่า ไม่เคยมีครั้งไหนในประวัติศาสตร์โลก ที่มีการเดินทัพทางไกลขนาดนี้ ได้พิสูจน์ความเป็นวีรชนคนกล้าของกองทัพแดง พรรคก๊กมินตั๋งทุ่มทรัพยากรล้อมปราบกองทัพแดงมากมายขนาดนั้น แต่ยังไม่สามารถพิชิตกองทัพแดงได้ ที่สำคัญที่สุด พรรคคอมมิวนิสต์ได้โฆษณาป่าวประกาศนโยบายปลดแอกมวลชนต่อประชาชน 200 ล้านคนใน 11 มณฑล ด้วยการเดินทางไปทั่วแผ่นดินจีน

มีวีรกรรมมากมายเกิดขึ้นระหว่างการเดินทางไกล แต่วีรกรรมที่ผมประทับใจที่สุด นั่นคือ วีรกรรมยึดสะพานหลู่ติ้ง เพื่อข้ามแม่น้ำต้าตู้เหอ ในเดือนพฤษภาคม 1935 ตอนนั้นกองทัพแดงของพรรคคอมมิวนิสต์ได้ถอยทัพมาถึงแม่น้ำต้าตู้เหอ และต้องรีบข้ามแม่น้ำใหญ่สายนี้ไปให้ได้ มิฉะนั้น กองทัพก๊กมินตั๋งของเจียงไคเช็คต้องทำลายกองทัพแดงอย่างสิ้นเชิง แม่น้ำสายนี้เป็นสายน้ำเชี่ยวกราก สองฟากฝั่งเป็นหน้าผา มีวังวนแก่งหินที่เป็นอันตรายเต็มไปหมด แต่ที่นั่นมีสะพานข้ามแม่น้ำแห่งเดียวคือ สะพานหลูติ้ง ยาวประมาณ 110 เมตร สร้างด้วยโซ่เหล็กขนาดใหญ่ 13 เส้น ปูไม้กระดานสำหรับเดิน สร้างขึ้นเมื่อปี 1701 แต่เมื่อกองทัพแดงไปถึง กองทัพที่อยู่ฝ่ายเจียงไคเช็คได้ถอดไม้กระดานปูพื้นเก็บไปเสียแล้ว เหลือเพียงโซ่เหล็กเท่านั้น

ภารกิจของกองทัพแดงตอนนั้นคือ ต้องข้ามสะพานหลูติ้ง และยึดฐานที่มั่นฝั่งตรงข้ามให้ได้ ก่อนที่กองทัพใหญ่ของเจียงไคเช็คจะมาถึง นี่คือภารกิจที่แทบเป็นไปไม่ได้ เพราะอีกฝั่งของโซ่เหล็ก กองทัพท้องถิ่นที่อยู่ฝ่ายเจียงไคเช็คได้วางกำลังพร้อมยิงใส่ทหารกองทัพแดงที่พยายามข้ามมา กองทัพแดงประกาศรับสมัครหน่วยกล้าตายจำนวน 22 คน รับภารกิจไต่โซ่เหล็กข้ามแม่น้ำ ฝ่าดงกระสุนไปยึดฐานที่มั่นอีกฝั่งแม่น้ำให้ได้ เพื่อให้ทหารอีกหนึ่งกองร้อยรีบเอาไม้กระดานปูสะพานข้ามไป นี่คือภารกิจที่มีโอกาสตายมากกว่ารอด มีแต่คนที่บ้าบิ่นเท่านั้นที่จะยอมรับภารกิจเช่นนี้

แต่สำหรับกองทัพแดงขณะนั้น ไม่ได้เป็นเรื่องยากที่จะหาหน่วยกล้าตาย 22 คนเพื่อปฏิบัติภารกิจนั้น ทั้ง 22 คนถือปืนประจำตัว พกลูกระเบิดมือคนละ 12 ลูก สะพายดาบทหารม้า มุ่งหน้าไต่โซ่เหล็กไปข้างหน้า ท่ามกลางห่ากระสุนที่ยิงต่อสู้กัน หน่วยกล้าตาย 4 คนร่วงลงจากสะพานตกลงไปในแม่น้ำเชี่ยวกรากลอยลับหายไป ส่วนข้าศึกอีกฝั่งเริ่มจุดไฟเผาสะพานไม่ให้ข้ามมาได้ หน่วยกล้าตายที่เหลือฝ่าไฟเข้าไปจนยึดสะพานอีกฝั่งไว้ได้ ทำให้กองกำลังที่เหลือปูสะพานและยกทัพนับหมื่นข้ามสะพานมาได้

ชัยชนะเหนือสะพานหลูติ้งของกองทัพแดง ได้รับการโจษจันไปทั่วแผ่นดินจีน ภาพวาดหน่วยกล้าตายทั้ง 22 คนที่กำลังข้ามสะพานได้รับการเผยแพร่ไปทั่วประเทศ (ภาพวาดประกอบบทความนี้ ผมถ่ายรูปจากพิพิธภัณฑ์เชิดชูนายพล หยางเฉิงอู่ ผู้เป็นหัวหน้าปฏิบัติการข้ามสะพานหลูติ้ง ที่เมืองฉางทิง มณฑลฝูเจี้ยน เมื่อเดือนมีนาคม 2016 นี้) การพิชิตภารกิจเสี่ยงตายเช่นนี้ทำให้ทหารกองทัพแดงแทบจะกลายเป็นกองทัพที่ทุกคนเชื่อกันว่า ไม่มีใครจะพิชิตเขาได้อีกแล้ว ขวัญกำลังใจของทหารพุ่งสูงถึงขีดสุด แม้ว่าอยู่ระหว่างถอยทัพหนีการล้อมปราบ แต่ขวัญกำลังใจทหารไม่ได้ลดน้อยถอยลง มีแต่เพิ่มพูนขึ้น เหมาเจ๋อตุงไม่พลาดที่จะโฆษณาป่าวประกาศความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่นี้ ถือเป็นจุดพลิกผันของพรรคคอมมิวนิสต์ จากเดิมมีแต่ล่าถอยเสียเปรียบก๊กมินตั๋ง แต่คราวนี้ทุกคนในกองทัพเชื่อว่า พวกเขาไม่มีวันแย่ไปกว่านี้อีกแล้ว มีแต่ดีขึ้นและขยายตัวขึ้น

เรื่องนี้คือตัวอย่างของการใช้กลยุทธ์ที่ 36 นั่นคือ หนีคือสุดยอดกลยุทธ์ ที่สอนเราว่า การถอยหนีไม่ใช่ความพ่ายแพ้ ในการล่าถอยกลับเต็มไปด้วยพลังที่จะฟื้นตัวเอาชนะกลับมาได้ นั่นเอง

*******************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
26 สิงหาคม 2559
*******************************

กลยุทธ์ต้องพลิกแพลงตามสถานการณ์ ไม่ใช่ยึดติดตามตำรา

ตำราพิชัยสงครามซุนวู บทที่สอง ว่าด้วยการทำศึก เขียนไว้ว่า “เมื่อรบพึงชนะโดยเร็ว ยืดเยื้อทหารจะอ่อนเปลี้ย ขวัญกำลังใจจะเสีย…การทำศึกยืดเยื้อไม่เคยเป็นผลดีต่อประเทศชาติ” นั่นหมายความว่า ถ้าจะรบ ต้องรบให้ชนะอย่างรวดเร็ว อย่าทำศึกยืดเยื้อ แต่เมื่อครั้งสงครามจีน-ญี่ปุ่น (ปี 1937-1945) ญี่ปุ่นบุกเข้าจีนอย่างรวดเร็ว ยึดดินแดงจีนไปได้มาก เหมาเจ๋อตุงกลับเสนอให้ทำสงครามยืดเยื้อจึงจะชนะ ถามว่า เหมาเจ๋อตุงไม่รู้เรื่องตำราพิชัยสงครามหรือ ย่อมไม่ใช่ แต่นั่นเป็นเพราะเหมาเจ๋อตุงเป็นสุดยอดนักกลยุทธ์ จึงรู้ว่าต้องพลิกแพลงตามสถานการณ์

unk-serf

ตอนที่ญี่ปุ่นเข้าโจมตีจีนอย่างรวดเร็ว ทัพเจียงไคเช็คแตกพ่ายไม่เป็นกระบวน ชนชั้นนำจีนมีความเห็นออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายแรกคิดว่าจีนต้องพ่ายแพ้แน่ๆ อีกฝ่ายหนึ่งกลับคิดว่าจีนประเทศใหญ่ คนเยอะ ถ้าจะเอาชนะญี่ปุ่น ต้องใช้กลยุทธ์รบเร็วแตกหักเร็ว จึงจะชนะญี่ปุ่นเด็ดขาด ฝ่ายแรกนั้นก็เป็นพวกสิ้นหวัง แต่ฝ่ายหลังก็เป็นนักยุทธศาสตร์ตามตำรา โดยไม่คำนึงถึงสภาพความเป็นจริงตอนนั้นเลย

เหมาเจ๋อตงได้ออกหนังสือตอนนั้นในชื่อว่า “ว่าด้วยสงครามยืดเยื้อ” วิเคราะห์สถานการณ์ตอบโต้ความเห็นทั้งสองฝ่าย และเสนอว่า ถ้าจีนจะชนะ ต้องทำสงครามยืดเยื้อ โดยเหมาได้ชี้แจงว่า ตอนนั้นญี่ปุ่นเป็นประเทศจักรวรรดินิยมอันดับต้นๆของโลก ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากเพื่อขยายอำนาจ แต่ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศเล็ก กำลังคน ทรัพยากร มีน้อย ทนสู้สงครามยาวนานไม่ได้ เหตุที่ญี่ปุ่นคิดก่อสงครามขยายอาณาจักรก็เพื่อแก้ปัญหานี้ คือจะได้ทรัพยากรจากประเทศที่ญี่ปุ่นเข้ายึด แต่เหมาบอกว่า สงครามกลับจะทำลายทรัพยากรที่ญี่ปุ่นต้องการต่างหาก และการสนับสนุนจากฝ่ายประเทศฟาสต์ซิสต์ต่อญี่ปุ่นนั้นจะเสื่อมถอยลงเรื่อยๆ ในขณะที่ประเทศจีนนั้น เหมาวิเคราะห์ว่า เป็นประเทศที่อ่อนแอทั้งทางทหาร เศรษฐกิจ และการจัดตั้งทางการเมือง แต่ความอ่อนแอเหล่านี้ได้ถึงจุดต่ำสุดแล้ว พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้รวมพลังคนจีนที่ต้องการฟื้นฟูปลดแอกประเทศจนเกิดพลังที่เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญ ประเทศจีนเป็นประเทศใหญ่โต ทรัพยากรมาก คนมาก ทหารมาก ยืนหยัดทำสงครามเป็นเวลานานได้ พูดง่ายๆก็คือ ญี่ปุ่นเปรียบเสมือนดวงตะวันกำลังตกดิน ส่วนจีนเปรียบเสมือนดวงอาทิตย์แรกขึ้น ด้วยการวิเคราะห์นี้ เหมาเจ๋อตงจึงเชื่อมั่นว่า จีนต้องทำสงครามยืดเยื้อจึงจะเอาชนะญี่ปุ่นได้ ซึ่งตรงข้ามกับตำราพิชัยสงครามซุนวูเลยทีเดียว

ผลลัพธ์ของสงครามจีน-ญี่ปุ่นอันยืดเยื้อยาวนานเกือบสิบปีครั้งนั้น สิ้นสุดด้วยความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่น เมื่อญี่ปุ่นไม่อาจรุกคืบยึดจีนได้ทั้งประเทศตามที่คาดหวัง แต่กลับไปเปิดสงครามทางฝั่งแปซิฟิคกับสหรัฐอเมริกา จนถูกอเมริกาทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมาและนางาซากิจนต้องยอมแพ้สงคราม พรรคคอมมิวนิสต์จีนใช้โอกาสหลังญี่ปุ่นพ่ายแพ้ รุกคืบยึดพื้นที่ เอาชนะกองทัพของเจียงไคเช็คจนเจียงต้องหนีไปเกาะไต้หวัน และเหมาเจ๋อตงก็ได้ประกาศก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนได้สำเร็จในวันที่ 1 ตุลาคม 1949 นั่นเป็นเครื่องพิสูจน์ความเป็นสุดยอดนักกลยุทธ์ของเหมาเจ๋อตง ผู้ไม่ยึดติดกับตำรา แต่พลิกแพลงยุทธศาสตร์ตามสถานการณ์ อย่างแท้จริง

**********************************************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
20 สิงหาคม 2558
**********************************************************