กลยุทธ์เดินหน้าก้าวข้ามโควิด-19 ของสิงคโปร์

บทความที่เขียนโดย รัฐมนตรีที่เป็นประธานคณะทำงานบริหารสถานการณ์โควิด-19 ของสิงคโปร์ ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ The Strait Times เมื่อปลาย มิ.ย. ที่ผ่านมา ทำให้เราเห็นกลยุทธ์ที่ชัดเจนของสิงคโปร์ที่จะเดินหน้าหาทางออกสถานการณ์โรคระบาดที่ทั่วโลกเผชิญมาปีครึ่งแล้ว

อ่านแล้ว เห็นภาพชัดเจนว่า สิงคโปร์จะเดินหน้าประเทศต่อไปอย่างไร ดูเหมือนว่าภายในไตรมาส 3 นี้ สิงคโปร์น่าจะเปิดประเทศได้แล้ว แผนนี้มีความเสี่ยง แต่ก็เชื่อว่าเป็นความเสี่ยงที่คำนวณมาแล้ว (Calculated Risk)

สิงคโปร์ สรุปว่า โควิด-19 จะไม่หายไป เพราะมันจะกลายพันธุ์ไปเรื่อย ๆ แต่เราต้องอยู่กับมันให้ได้ ให้เหมือนกับไข้หวัดใหญ่

แผนของสิงคโปร์ คือ

1) วัคซีนคือกุญแจสำคัญ เป้าหมายสิงคโปร์คือ

(1.1) ประชากรอย่างน้อย 2 ใน 3 ต้องได้ฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส ภายในต้น ก.ค. ซึ่งตอนนี้ทำได้ตามแผนอยู่ ฉีดเข็มแรกไปแล้ว 60% ของประชากร

(1.2) ประชากรอย่างน้อย 2 ใน 3 ต้องได้ฉีดวัคซีนครบ 2 โดส ภายในวันชาติสิงคโปร์ (9 ส.ค.) ซึ่งตอนนี้วัคซีนมีพร้อมตามแผน

(ข้อสังเกตของผม สิงคโปร์ใช้วัคซีนไฟเซอร์ กับ โมเดอร์นา เป็นวัคซีนหลัก ฉีดฟรี แต่มีคนสิงคโปร์จำนวนหนึ่งที่ระแวงวัคซีน mRNA เพราะเพิ่งใช้กับมนุษย์ จึงต้องการฉีดวัคซีนเชื้อตายอย่าง ซิโนแวค ซึ่งเป็นวัคซีนทางเลือกที่นั่น ใครอยากฉีด ต้องจ่ายเงินเอง)

2) ตรวจโควิดง่ายขึ้น : สิงคโปร์จะตรวจคนทุกคนที่เดินทางเข้าสิงคโปร์ และจะใช้ตรวจในสิงคโปร์เพื่อทำให้ทุกกิจกรรมในสิงคโปร์ปลอดภัยจากการระบาด โดยการตรวจแบบ Antigen Rapid Tests ที่รู้ผลภายใน 2 นาที โดยไม่ต้องสวอป จะตรวจแบบนี้ที่สนามบิน ท่าเรือ อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล สถาบันการศึกษา เพื่อตรวจพนักงานและผู้มาเยี่ยมเยือน เขาจะไม่เน้นการตรวจแบบ PCR ที่รู้ผลช้าใช้เวลาหลายชั่วโมง

(ดูเหมือนบ้านเรา ทางสาธารณสุขไม่ค่อยยอมรับการตรวจแบบ rapid test แต่ถ้าจะให้เดินหน้ากิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ คงต้องพิจารณาให้ใช้ rapid test เหมือนที่ภูเก็ตใช้ในการเปิดเกาะ)

3) การรักษาผู้ป่วยโควิด ทำได้ดีขึ้น มียารักษาหลายตัวที่ได้ผลดีขึ้น

4) ความรับผิดชอบต่อสังคมยังสำคัญมาก ทุกคนยังต้องระมัดระวัง รับผิดชอบตัวเอง ถ้ารู้สึกไม่สบาย ก็ต้องเลี่ยงเข้าชุมชน

ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่ New Normal นั่นคือ

1) ผู้ติดเชื้อโควิด สามารถรักษาตัวที่บ้าน เพราะการได้วัคซีนแล้วจะทำให้อาการไม่รุนแรง

2) ไม่จำเป็นตรวจติดตามและกักตัวผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อ แต่ละคนให้ตรวจเชื้อได้ด้วยตนเองอย่างรวดเร็วและง่าย ถ้าผล rapid test เป็นบวก ก็จะไปยืนยันด้วยการตรวจ PCR และกักตัวต่อไป

3) จะไม่รายงานผู้ติดเชื้อรายวัน แต่จะเน้นรายงานเฉพาะผู้ป่วยหนัก จำนวนผู้ป่วยใน ICU จำนวนผู้ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ให้เหมือนกับการรายงานผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่

4) ผ่อนคลายมาตรการสำหรับการรวมตัวของคน เช่น งานพาเหรดวันชาติ วันปีใหม่ ธุรกิจจะได้ไม่กระทบ

5) จะเปิดให้มีการเดินทางอีกครั้ง อย่างน้อยกับประเทศที่ควบคุมโควิดได้ดี และกลับมาปกติ จะดูวัคซีนพาสปอร์ต นักเดินทางที่ฉีดวัคซีนแล้วจะตรวจเชื้อที่สนามบิน ถ้าไม่พบเชื้อ ก็ไม่ต้อง quarantine

แผนของสิงคโปร์ก็ประมาณนี้ครับ น่าสนใจมาก ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ถ้าไปได้ดี เศรษฐกิจเขาจะพลิกฟื้นกลับมาได้เร็วมาก ถ้าพลาด ก็ต้องเจอสถานการณ์ระบาดหนักอีกครั้ง

อ่านบทความเต็มได้ที่ https://www.straitstimes.com/opinion/living-normally-with-covid-19

**********************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
3 กรกฎาคม 2021
**********************************

สถานการณ์ประเทศไทย : ไข้หวัดใหญ่ สเปน 1918-1920 vs โควิด-19 2020

เมื่อปี 1919-1920 หรือราวร้อยปีก่อน โลกเคยเจอการระบาดของไข้หวัดใหญ่ครั้งร้ายแรง เรียกกันว่า ไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish Flu) ครั้งนั้นมีผู้ติดเชื้อทั่วโลกไป 500 ล้านราย และประมาณกันว่า มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกราว 17-50 ล้านราย ครั้งนั้นเรียกว่า ไข้หวัดใหญ่สเปน เพราะเริ่มระบาดจากประเทศสเปน

จากข้อมูลที่มีเผยแพร่ไม่กี่วันที่ผ่านมา พบว่า ประเทศไทยก็ประสบภาวะโรคระบาดไข้หวัดใหญ่เช่นกัน มีหลักฐานเป็น แจ้งความกระทรวงมหาดไทย ลงในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๔๖๒ เล่ม ๓๖ หน้า ๑๑๙๓ โดยสรุปความว่า ในปี พ.ศ. 2462 ประเทศไทยของเรา มีประชากร 9,207,355 คน มีป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ 2,317,662 ราย คิดเป็น 25.2% ของประชากร และมีผู้เสียชีวิตจำนวน 80,223 ราย คิดเป็นอัตรา 3.5% ของผู้ป่วย

แจ้งความกระทรวงมหาดไทย ลงใน ราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๔๖๒ เล่ม ๓๖ หน้า ๑๑๙๓ ได้รายงานตัวเลขผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต ทั้ง 17 มณฑลของไทย รวมกันมีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ (Influenza) 2,317,662 ราย และตาย 80,223 ราย ตัวเลขประชากรจากการสำรวจสำมะโนครัวเมื่อ พ.ศ. 2462 อยู่ที่ 9,207,355 คน

พอเห็นตัวเลขดังกล่าว ทำให้ผมคิดไปถึง รายงานการคาดการณ์การระบาดและมาตรการในระยะที่ 3 โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของ ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ที่มีการเผยแพร่อย่างไม่เป็นทางการออกมาเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ในรายงานดังกล่าว ได้คาดการณ์สถานการณ์เป็น 3 ฉากทัศน์ (scenario ต่อไปผมขอใช้ scenario แทนนะครับ เพราะน่าจะเข้าใจง่ายกว่า) ได้แก่ รุนแรงที่สุด, ชะลอการระบาดได้พอสมควร และ ควบคุมโรคได้ดี

คาดการณ์ 3 ซีนาริโอ ที่จะเกิดขึ้น จากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จากรายงานของ กระทรวงสาธารณสุข เมื่อต้น มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา

Scenario รุนแรงที่สุด นั้น คาดการณ์ว่า จะมีผู้ติดเชื้อแสดงอาการในปี 2563 จำนวน 16.8 ล้านคน ประชากรไทยปัจจุบันมีจำนวน 66.5 ล้านคน หากไม่ป้องกันใดๆ ซึ่งก็น่าจะคล้ายกับเมื่อร้อยปีก่อน เอาสถิติเก่าที่มีผู้ติดเชื้อ 25.2% ของประชากร คูณ 66.5 ล้านคน ก็จะได้จำนวนผู้ติดเชื้อ 16.6 ล้านคน ใกล้เคียงกับที่ กระทรวงสาธารณสุขคาดการณ์ในรายงานฯดังกล่าว ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อแสดงอาการในปี 2563 เท่ากับ 16.8 ล้านคน

และถ้าเราดูอัตราการตายจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ทั่วโลก ณ ตอนนี้ อยู่ที่ 4-5% เทียบกับสถิติของไข้หวัดใหญ่ในไทยเมื่อร้อยปีก่อน ที่มีอัตราการตาย 3.5% ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด ก็ถือว่าใกล้เคียงกันมาก

กราฟแสดงจำนวนผู้ป่วยจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แบ่งเป็น 3 scenario ถ้าเป็นแบบร้อยปีก่อน ผู้ป่วยจะพุ่งไป 16.7 ล้านคน แต่ถ้าเราคุมได้ดี จะกลายเป็นเส้นสีเขียว ที่จะไประบาดสูงสุดปีหน้า 2564 ซึ่งตอนนั้น ยารักษา และวัคซีนป้องกัน น่าจะพัฒนาสำเร็จแล้ว

แต่ผมว่า เราคงไม่ได้มุ่งหน้าที่ scenario ร้ายแรงแบบนั้น เพราะ ณ พ.ศ.นี้ ความรู้ทางการแพทย์ได้พัฒนาไปมาก ทำให้มีองค์ความรู้ที่จะหาทางบรรเทาวิกฤติ ผสมผสานกับการร่วมมือร่วมแรงใจกันลดการระบาดของโรค ด้วยมาตรการหลายประการ จึงทำให้เราหวังว่า สถานการณ์จะเป็นไปตาม Scenario ที่ 3 คือควบคุมโรคได้ดี นั่นคือ มีผู้ติดเชื้อแสดงอาการในปี 2563 ที่ 9,100 คน แต่การระบาดสูงสุดจะไปเกิดในปีหน้าที่อาจมีผู้ติดเชื้อสูงถึง 398,000 คน หรือ 0.6% ของประชากร แต่ ณ เวลานั้น ยารักษาโรค รวมถึง วัคซีนป้องกันโรค อาจจะพัฒนาสำเร็จแล้วก็ได้

จากข้อมูลที่ว่ามา ผมอยากให้เตรียมตัวรับวิกฤตินี้แบบยาวๆ อย่าคิดว่ามันจะผ่านไปอย่างรวดเร็วภายในเดือนสองเดือน แต่ถ้าทุกคนร่วมแรงร่วมใจกัน เราจะช่วยกันทำให้ความรุนแรงของวิกฤติลดต่ำลงจนระบบสาธารณสุขของเรารองรับได้ แล้วในที่สุด เราจะผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกันครับ

******************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
30 มีนาคม 2020
******************************