หัวเหว่ย ร่วมมือกับ ไลก้า : กลยุทธ์คบไกลตีใกล้

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2016 หัวเหว่ย (Huawei) ผู้ประกอบการโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของจีน ได้ประกาศความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับ ไลก้า (Leica) ผู้ผลิตกล้องถ่ายรูปชั้นนำของโลกจากเยอรมัน ที่จะพัฒนาการถ่ายรูปบนสมาร์ทโฟน สองเดือนต่อมา หัวเหว่ย ก็ออกโทรศัพท์รุ่น P9 ที่ไลก้าร่วมพัฒนากล้องถ่ายรูปเข้าสู่ตลาด สร้างความสั่นสะเทือนในวงการโทรศัพท์มือถือไปทั่วโลก

huawei_leica_distantneighbor

หากเราย้อนไปดูเส้นทางของหัวเหว่ยในธุรกิจโทรศัพท์มือถือ พบว่า เมื่อปี 2010 หัวเหว่ย มีส่วนแบ่งตลาดโทรศัพท์มือถือทั้งโลกอยู่ที่ 1.7% เป็นอันดับที่ 10 ของโลก ต่อจากนั้น ก็เติบโตอย่างก้าวกระโดด ไต่อันดับขึ้นมาจนเป็นอันดับ 3 ของโลกในปี 2012 ด้วยส่วนแบ่งตลาด 2.9% และยังคงเติบโตต่อเนื่องจนถึงปี 2015 ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มเป็น 8.2% ครองอันดับ 3 ของโลก ตามหลังอันดับสองอย่าง Apple ที่มีส่วนแบ่งตลาด 18.7% อยู่ 10%

กลยุทธ์ที่หัวเหว่ยใช้ในการเติบโตที่ผ่านมา นั่นคือ เป็นโทรศัพท์ราคาถูก ที่มีคุณภาพสินค้าคุ้มค่ากว่าราคา แต่หากหัวเหว่ยต้องการจะขึ้นเป็นอันดับสอง หรืออันดับหนึ่ง จำเป็นต้องมีกลยุทธ์ที่มากกว่านั้น เพราะ Samsung และ Apple ต่างมีชื่อเสียงในเรื่องนวัตกรรม ทำให้ขายสินค้าได้แพงกว่ามาก ผู้บริโภคยังไม่รู้สึกว่า แบรนด์ Huawei เป็นแบรนด์พรีเมียมแต่อย่างใด แล้วกลยุทธ์ใดที่จะทำให้หัวเหว่ยก้าวกระโดดต่อไปได้ล่ะ

การจับมือกับ Leica คือคำตอบเชิงกลยุทธ์ที่หัวเหว่ยเลือก เพราะในสมัยนี้ การถ่ายรูปด้วยโทรศัพท์มือถือเป็นฟังก์ชั่นการใช้งานหลักที่ผู้บริโภคใช้ ใครๆก็อยากถ่ายรูปออกมาให้สวย ถ้า Huawei พัฒนาเทคโนโลยีกล้องด้วยตัวเอง จะทำให้ดีแค่ไหน คนก็ยังไม่รับรู้ว่าเป็นระดับโลก แต่ ไลก้า เป็นแบรนด์ระดับโลกในด้านเลนส์ถ่ายภาพ เมื่อ หัวเหว่ย จับมือกับไลก้า คนรับรู้ทันทีว่านี่คือโทรศัพท์ที่คุณสมบัติการถ่ายรูปที่ดีที่สุด ในขณะเดียวกัน ไลก้า เองก็สามารถเข้าสู่ตลาดโทรศัพท์มือถือได้โดยไม่ต้องสร้างเทคโนโลยีทั้งหมดเอง เพียงแต่เอาแบรนด์ของตนเองมาต่อยอดกับ Huawei เท่านั้น

ผลลัพธ์ของกลยุทธ์นี่ทำให้ในปี 2016 หัวเหว่ย มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มมาอีก 1% กลายเป็น 9.3% ตามติด Apple ที่ส่วนแบ่งตลาดลดลงเหลือเพียง 12.5% ห่างกันเพียง 3% เท่านั้น ภายในเวลา 1 ปี ช่องว่างระหว่างเบอร์ 2 กับเบอร์ 3 ลดลงจาก 10% เหลือเพียง 3% เท่านั้น ขณะที่ ผู้บริโภครับรู้ว่าแบรนด์ Huawei ไม่ใช่แบรนด์ของถูกอย่างเดียวแล้ว นับว่า เป็นผลลัพธ์ที่ดีกว่าที่หลายคนคาดทีเดียว นั่นทำให้ Huawei ขยับหมากไปอีกขั้นด้วยการประกาศตั้ง ศูนย์วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ Leica ที่ประเทศเยอรมัน ในชื่อว่า Max Berek Innovation Lab เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการถ่ายภาพบนโทรศัพท์มือถือ รวมไปถึงเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) และ VR (Virtual Reality) ในเดือนกันยายน 2016 ส่งผลให้ทั่วโลกจับตาดูว่า ปี 2017 นี้ Huawei กับ Leica จะเปิดตัวสินค้าใหม่ตัวไหนเข้ามาสั่นสะเทือนตลาดโลกอีกครั้ง

หากเรามองจังหวะการเคลื่อนไหวเชิงกลยุทธ์ของ Huawei ด้วยสายตานักพิชัยสงคราม เราจะนึกออกทันทีว่า หัวเหว่ย กำลังใช้กลยุทธ์ที่ 23 ของตำรา 36 กลยุทธ์สู่ชัยชนะ ซึ่งเป็นคัมภีร์พิชัยสงครามโบราณของจีน นั่นคือ กลยุทธ์ คบไกลตีใกล้ (遠交近攻 หยวนเจียวจิ้นกง) กลยุทธ์นี้มีที่มาจากในยุคจ้านกว๋อ เว่ยหร่าง สมุหนายกแคว้นฉิน เสนอต่อ ฉินเจาเซียงอ๋อง ว่า แคว้นใกล้เคียงแข็งขืนต่อแคว้นฉินก็เพราะมีแคว้นฉีที่อยู่ไกลหนุนหลังอยู่ เราจึงควรยกทัพไปโจมตีแคว้นฉีที่อยู่ไกลก่อน เพื่อให้ทุกแคว้นหวาดกลัว ไม่กล้าเป็นพันธมิตรกับฉี แต่ ฟ่านซุย ขุนนางอีกคนรีบคัดค้าน บอกว่า การโจมตีแคว้นฉีที่อยู่ไกลทำได้ยาก กองทัพต้องเดินทางไกลและเหนื่อยยาก หากข้าศึกรวมตัวกันโจมตีแคว้นเรา กองทัพจะถอนทัพกลับมาไม่ทัน ดังนั้น แคว้นฉินควรผูกมิตรกับแคว้นไกล โจมตีแคว้นใกล้ ฉินเจาเซียงอ๋อง เห็นด้วยกับฟ่านซุย จึงปลดเว่ยหร่าง และแต่งตั้ง ฟ่านซุย ขึ้นเป็นสมุหนายก ขับเคลื่อนกลยุทธ์คบไกลตีใกล้ และด้วยกลยุทธ์นี้ ทำให้แคว้นฉินทยอยเอาชนะแคว้นใกล้ก่อน และในที่สุดก็รวมประเทศจีนได้สำเร็จ

คำว่า คบไกลตีใกล้ ในเรื่องของหัวเหว่ย ไม่ได้หมายถึง หัวเหว่ย แบรนด์จีน ไปคบกับ ไลก้า แบรนด์เยอรมัน ที่อยู่ไกล แต่ไกลในที่นี้คืออยู่คนละธุรกิจกัน หัวเหว่ย ในธุรกิจมือถือ ไปคบกับ ไลก้า จากธุรกิจเลนส์ถ่ายภาพ เพื่อไปตี ใกล้ นั่นคือ ตลาดมือถือ นั่นเอง ข้อคิดในเรื่องนี้คือ การคิดหากลยุทธ์เพื่อชัยชนะ บางครั้งเราต้องมองไปยังธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่ธุรกิจที่เราอยู่ เพื่อดูว่า เราจะสามารถสร้างพันธมิตร สร้างโอกาสจากธุรกิจอื่น เพื่อมาเสริมธุรกิจของเราได้หรือไม่ นั่นเอง

*******************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
29 มกราคม 2560
*******************************

การตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ครั้งใหญ่ในแวดวงการ์ตูนไทย

นับตั้งแต่กฎหมายลิขสิทธิ์มีผลบังคับใช้ในไทยเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ทำให้แวดวงการ์ตูนญี่ปุ่นหรือที่เรียกกันว่า มังงะ (Manga) ในไทยต้องซื้อลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องตามกฎหมายเพื่อมาตีพิมพ์ในไทย มาถึงปีสองปีที่ผ่านมา แวดวงการ์ตูนญี่ปุ่นในบ้านเราก็มาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง เมื่อพฤติกรรมคนอ่านรุ่นใหม่ๆนิยมอ่านฟรีในอินเตอร์เน็ต และหากจะซื้อก็จะซื้อฉบับรวมเล่มมากกว่าจะซื้อรายสัปดาห์ จนทำให้ การ์ตูนญี่ปุ่นรายสัปดาห์อย่าง Boom ของเนชั่นก็ปิดตัวไปเมื่อปี 2557 และล่าสุด การ์ตูน Viva! Friday ของวิบูลย์กิจก็ประกาศปิดตัวลงอีกเล่ม


สำนักพิมพ์วิบูลย์กิจเป็นสำนักพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือการ์ตูนลิขสิทธิ์จากญี่ปุ่นมานาน ตอนเรียนหนังสือ ผมจำได้ว่าผมจะตามอ่านของรุ่นพี่ร่วมหอพักทุกสัปดาห์ เพราะอดใจรอรวมเล่มไม่ไหว และที่ไม่ซื้อเองเพราะถ้าจำไม่ผิดราคาเล่มละ35บาทสมัยนั้น มันแพงสำหรับนิสิตที่ได้เงินจากที่บ้านวันละราวๆ50-60บาท

การตัดสินใจปิดการ์ตูนรายสัปดาห์และหันไปทำฉบับรวมเล่มเพียงอย่างเดียว เป็นการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ครั้งสำคัญของสำนักพิมพ์. เพียงแต่ไม่แน่ใจว่าเป็นกลยุทธ์ที่เพียงพอและทำให้ธุรกิจนี้อยู่รอดหรือเปล่า เพราะอย่างที่ว่าไว้คนอ่านปัจจุบันนั้นหันไปอ่านฟรีในเน็ตและอ่านอีบุ๊คในแอพฯต่างๆอีก รายได้จากการ์ตูนรวมเล่มไม่แน่ว่าจะพอดูแลสำนักพิมพ์ได้ เรื่องนี้คล้ายๅกับธุรกิจเพลงเมื่อหลายปีก่อนที่ถูกซีดีเถื่อนและการฟังเพลงฟรีในเน็ตถล่มจนเจ๊งไปหมด จนต้องดิ้นรนเปลี่ยนโมเดลธุรกิจขนานใหญ่แต่ก็ไม่ได้มีกำไรเยอะเหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว ตอนนี้ทั้งแกรมมี่และอาร์เอสผู้นำตลาดก็หันไปเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ดิจิตอลเพื่อหาเงินจากธุรกิจทีวีกันหมด

อันที่จริง หากวิบูลย์กิจประเมินสถานการณ์ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ อาจต้องหันไปทำการ์ตูนทีวีก่อนน่าจะมีสถานะดีกว่าตอนนี้ เพียงแต่ว่าตอนนี้ธุรกิจการ์ตูนทีวีก็มีโรสมีเดียเป็นเจ้าใหญ่ไปแล้ว. แนวทางรอดของวิบูลย์กิจคงต้องหันมาดูว่าตัวเองมี Competitive Advantage อะไรบ้าง แล้วเลือกสนามใหม่ที่จะเข้าไปเล่นแล้วทำให้ตนเองสามารถส่งมอบคุณค่าที่ดีกว่าให้ลูกค้าและทำกำไรให้ตนเองได้

แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันถือว่า วิบูลย์กิจได้เลือกใช้กลยุทธ์ที่ 36 ของสามสิบหกกลยุทธ์สู่ชัยชนะของจีนแล้ว นั่นคือ “หนีคือยอดกลยุทธ์”
****************************************************

พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย

Celestial Strategist

28 กรกฎาคม 2558

*****************************************************

เครดิตภาพประกอบจาก หนังสือพิมพ์ New)108 ฉบับ 28 ก.ค. 2558