เป็นที่ทราบกันในหมู่นักวางแผนการเงิน นักลงทุน หรือผู้คนในแวดวงการเงิน ว่า การเอาเงินทั้งหมดที่มีอยู่ไปใส่ในที่ๆเดียวนั้นเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่ง ภาษิตนักการเงินเรียกว่า “อย่าเอาไข่ทั้งหมดใส่ในตะกร้าใบเดียว” เพราะถ้าตะกร้าใบนั้นตกพื้น ไข่ทั้งหมดที่เรามีอยู่ก็จะแตกไปหมดด้วย ดังนั้น เงินลงทุนของเราจึงควรจัดสรรไปยังสินทรัพย์ต่างๆตามสัดส่วนที่เหมาะสมกับแต่ละคน ว่าแต่ว่าสัดส่วนที่เหมาะสมควรจะเป็นอย่างไร เราลองมาดูตัวอย่างว่าคนรวยๆเขาจัดสรรเงินลงทุนกันอย่างไรดีกว่า
บริษัท CapGemini ได้จัดทำรายงาน World Wealth Report ว่าด้วย เศรษฐีเงินล้านทั่วโลก มากว่า 20 ปีแล้ว คำว่า เศรษฐีเงินล้าน นั้น ไม่ใช่ล้านบาท แต่หมายถึง ล้านดอลลาร์ โดย CapGemini เรียกคนกลุ่มนี้ตามภาษาทางการว่า กลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสุทธิสูง (High Net Worth Individuals: HNWIs) ซึ่งหมายถึง ผู้ที่มีสินทรัพย์ลงทุนสุทธิตั้งแต่ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯขึ้นไป (โดยไม่รวมถึงสินทรัพย์ที่เป็นบ้านที่ใช้อยู่อาศัย ของสะสม และของที่ใช้บริโภคอุปโภค) ถ้าคิดเป็นไทยก็ต้องมีเงินลงทุนตั้งแต่ 35 ล้านบาทขึ้นไป สำหรับรายงานปี 2016 นี้ ทาง CapGemini บอกว่า เป็นปีแรกที่เศรษฐีเงินล้านของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคมีจำนวนและมูลค่าความมั่งคั่งแซงภูมิภาคอเมริกาเหนือไปแล้ว ซึ่งหลักๆก็เป็นเศรษฐีจากจีนและญี่ปุ่น
ในรายงาน World Wealth Report 2016 บอกว่า เศรษฐีเงินล้านในโลกนี้ โดยเฉลี่ย จัดสรรเงินลงทุนไปอยู่ใน หุ้น 25%, เงินสดและเทียบเท่าเงินสด (พวกเงินฝากทั้งหลาย) 24%, ตราสารหนี้ 18%, อสังหาริมทรัพย์ (ไม่รวมบ้านหลังที่ใช้พักอาศัย) 18% และการลงทุนทางเลือก (พวก Hedge Fund, ตราสารอนุพันธ์, เงินตราต่างประเทศ, สินค้าโภคภัณฑ์ ฯลฯ) 16% จากข้อมูลดังกล่าว สรุปได้ว่า เศรษฐีเงินล้านในโลกนี้ ต่างเข้าใจและปฏิบัติตามกฎการกระจายความเสี่ยงด้วยการจัดสรรเงินลงทุนไปในสินทรัพย์ต่างๆได้ดีทีเดียว เขาไม่ได้เอาเงินลงทุนใส่ใน หุ้น ตราสารหนี้ ที่อยู่ในตลาดการเงิน เท่านั้น แต่เขาใส่ใน สินทรัพย์จับต้องได้ อย่าง อสังหาริมทรัพย์ ด้วย เพราะเคยมีตัวอย่างให้เห็นแล้ว เวลาเกิดวิกฤติใหญ่ๆ หุ้นหรือตราสารหนี้ซึ่งเป็นการลงทุนในตลาดการเงิน หรือเรียกว่า เงินลงทุนกระดาษ paper investment ต่างก็ร่วงไปด้วยกัน อสังหาริมทรัพย์กลับเป็นสินทรัพย์ที่ไว้ใจได้มากกว่าด้วยซ้ำไป
ที่น่าสังเกตคือ เศรษฐีถือเงินสดในสัดส่วนค่อนข้างสูง ราวๆ 1 ใน 4 ของเงินลงทุนทั้งหมดเลยทีเดียว ทั้งๆที่เงินสดนั้นแทบไม่ได้ให้ผลตอบแทนเลย ในระยะยาว การถือเงินสดจะมีมูลค่าลดลงเพราะอัตราเงินเฟ้อสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเสียอีก แต่ทำไมเศรษฐีในโลกนี้ถึงถือเงินสดราว 1 ใน 4 ล่ะ นั่นเป็นเพราะว่า แม้เงินสดหรือเงินฝากจะแทบไม่มีผลตอบแทน แต่วันใดก็ตาม ที่ตลาดเกิดข่าวร้าย ไม่ว่าจะเป็น หุ้นตกหนัก ราคาที่ดินร่วง นั่นย่อมเป็นโอกาสซื้อครั้งสำคัญที่จะสร้างผลตอบแทนมโหฬาร แต่โอกาสนั้นจะมีให้สำหรับผู้ที่มีเงินสดในมือเท่านั้น เศรษฐีผู้ฉลาดในเรื่องการหาเงิน จึงถือเงินสดไว้พอสมควร เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับโอกาสซื้อสินทรัพย์ลงทุนในช่วงลด แลก แจก แถม ซึ่งจะมาเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจนั่นเอง
ข้อคิดสำหรับคนที่ยังไม่ได้เป็นเศรษฐีเงินล้าน ก็คือ เราต้องมีการกระจายสินทรัพย์ลงทุน อย่าเชื่อมั่นตนเองจนเทเงินไปที่สินทรัพย์อันใดอันหนึ่งจนหมด หากเราคาดการณ์ถูก เราก็ได้กำไรเยอะก็จริง แต่หากคาดผิด เงินของเราอาจสูญไปเลยก็ได้ สำหรับการถือเงินสดนั้น คนที่ยังมีเงินลงทุนไม่มากนัก การถือเงินสดไว้ถึงหนึ่งในสี่ ก็อาจจะเป็นสัดส่วนสูงเกินไป เพราะทำให้เราเสียโอกาสสร้างผลตอบแทนขยายพอร์ตลงทุนของเรา ก็คงต้องปรับให้เหมาะสมกับแต่ละคน ซึ่งเราก็ต้องศึกษาหาความรู้ในเรื่องนี้จึงจะกำหนดได้เหมาะสม หรืออีกวิธีหนึ่งก็อาจไปปรึกษา นักวางแผนการเงิน ที่มีความรู้จริงๆ ซึ่งจะให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับคนแต่ละคนได้ดี
ปล. ท่านใดสนใจติดต่อนักวางแผนการเงินเก่งๆ สามารถส่งข้อความหลังไมค์มาสอบถามผมได้นะครับ
*******************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
23 สิงหาคม 2559
*******************************