ในช่วงศตวรรษที่ 17-19 ญี่ปุ่นปกครอบด้วยระบอบโชกุน ที่อำนาจการบริหารบ้านเมืองอยู่ที่ โชกุนตระกูลโทกุกะวะ โดยจักรพรรดิเป็นเพียงผู้นำเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น ไม่มีอำนาจบริหารใดๆ ระบอบโชกุนบริหารประเทศด้วยการปิดประเทศ การค้าขายกับต่างชาติเป็นระบบผูกขาดผ่านโชกุน และทำได้เฉพาะที่ เมืองนางาซากิ เท่านั้น ประชาชนในญี่ปุ่นจะถูกระบุให้อยู่ในชนชั้น 1 ใน 4 ชนชั้น (ซามูไร ชาวนา ช่างฝีมือ และพ่อค้า) ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงชนชั้นได้ ซึ่งมีการกำหนดบทบาทหน้าที่ของแต่ละชนชั้นอย่างชัดเจน ด้วยระบบอันเข้มงวดเช่นนี้ ทำให้ญี่ปุ่นเกิดความสงบทางการเมือง อำนาจอยู่ในมือของตระกูลโทกุกาวะ ได้ยาวนานกว่า 268 ปี
แต่เมื่อกระแสอิทธิพลของตะวันตกรุกคืบเข้ามาในช่วงศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปี 1853 พลเรือจัตวา แมทธิว เพอร์รี่ ได้นำเรือรบที่ทันสมัยของสหรัฐอเมริกา ที่คนญี่ปุ่นเรียกกันว่า เรือดำ เข้ามาเทียบท่าถึงอ่าวเอโดะที่เมืองหลวง โดยไม่สนใจคำสั่งของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ให้เขานำเรือไปที่นางาซากิ ยิ่งไปกว่านั้น นายพลเพอร์รี่กลับหันปากกระบอกปืนไปยังตัวเมือง แล้วยิงปืนใหญ่ โดยอ้างว่า เพื่อฉลองวันชาติสหรัฐฯ จนทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นตกตะลึงในแสนยานุภาพเรือรบสหรัฐฯที่ญี่ปุ่นไม่สามารถต่อสู้ได้ จึงจำเป็นต้องยอมเจรจาสนธิสัญญาเปิดประเทศที่เสียเปรียบต่อสหรัฐฯ (ยุคนั้นประเทศในเอเชียต่างถูกมหาอำนาจตะวันตกกดดันให้เปิดประเทศตามสนธิสัญญาที่เสียเปรียบอย่างยิ่ง อย่างในประเทศไทย ก็ต้องเซ็นสนธิสัญญาบาวริ่งกับอังกฤษในปี 1855 ส่วนจีนที่ไม่ยอมเจรจาก็เกิดสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 และต้องพ่ายแพ้เสียดินแดนให้ตะวันตก)
หลังเปิดประเทศตามสนธิสัญญาที่เสียเปรียบ รัฐบาลโชกุนโทุกุกะวะซึ่งเรียกกันว่า รัฐบาลบาคุฟุ ก็สูญเสียความมั่นคงอย่างรุนแรง เพราะคนขาดความเชื่อมั่นว่าระบอบนี้จะนำพาชาติให้รอดพ้นจากตะวันตกได้ การค้าขายกับต่างชาติที่ก้าวกระโดดจากการเปิดประเทศ กลับทำให้ระบบเงินตราของญี่ปุ่นตอนนั้นเกิดปัญหารุนแรง เกิดกระแสเงินไหลออกจากประเทศ โดยเฉพาะการไหลออกของทองคำ จากการแห่กันเก็งกำไร (Arbritage) ของฝรั่งจากอัตราแลกเปลี่ยนทองคำในประเทศกับต่างประเทศที่แตกต่างกันมากเกินไป แม้ว่าจะมีพ่อค้าร่ำรวยเพิ่มขึ้นจากการค้าต่างประเทศ แต่จำกัดเฉพาะในวงแคบๆเท่านั้น คนส่วนใหญ่กลับเผชิญปัญหาเงินเฟ้อ อัตราว่างงานพุ่งสูงขึ้น ผสมกับเกิดทุพภิกขภัยทางการเกษตร จนเกิดการลุกฮือของชาวนาขึ้นหลายครั้ง
กลุ่มไดเมียว (เจ้าเมือง) จากแคว้นซัตสึมะ และแคว้นโชชู จึงได้ก่อตั้งพันธมิตรซัตโซ ขึ้นในปี 1866 ร่วมกับกลุ่มซามูไรรุ่นใหม่ นำโดย ซากะโมโตะ เรียวมะ (คอซีรีย์และการ์ตูนญี่ปุ่นคงคุ้นชื่อเขากันอย่างดี) มีเป้าหมายเพื่อ ดึงอำนาจบริหารประเทศจากรัฐบาลบาคุฟุของโชกุนตระกูลโทกุกะวะ กลับสู่จักรพรรดิญี่ปุ่น และปฏิรูปประเทศ แต่เส้นทางนี้ไม่ได้จบโดยสันติ กลุ่มรัฐบาลบาคุฟุและผู้คัดค้านไม่ยินยอม เกิดการลอบสังหารซากะโมโตะ เรียวมะ และต่อมา เกิดสงครามกลางเมืองขึ้น ที่เรียกว่า สงครามโบชิน ระหว่างปี 1868-1869 ในที่สุดสงครามก็จบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายนิยมจักรพรรดิ การปฏิรูปเมจิจึงได้ถือกำเนิดขึ้น มีการเชิญจักรพรรดิย้ายที่ประดับจากเมืองเกียวโต มายังเอโดะ และเปลี่ยนชื่อเมืองเอโดะ เป็น โตเกียว
การปฏิรูปเมจิ หลายครั้งมักใช้คำว่า การฟื้นฟูยุคเมจิ (Meiji Restoration) เพราะเป้าหมายที่ประกาศคือ การฟื้นฟูอำนาจขององค์สมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่น แต่ผมคิดว่า ควรใช้คำว่า ปฏิรูป จะเหมาะสมกว่า เพราะเนื้อหาที่แท้จริง เป็นการปฏิรูปที่กระทบทุกมิติของประเทศ ภายใต้คำขวัญว่า “ประเทศมั่งคั่ง กองทัพแข็งแกร่ง” ส่วนการบอกว่า อำนาจกลับคืนสู่องค์พระจักรพรรดินั้น ดูจะไม่เป็นอย่างนั้น เพราะอำนาจที่แท้จริงในการบริหารประเทศได้กลับไปสู่กลุ่มชนชั้นนำ หรือเรียกว่า คณาธิปไตย จะตรงความหมายมากกว่า เราลองมาดูเนื้อหาการปฏิรูปเมจิกัน
ในด้านการเมือง ได้ยกเลิกอำนาจปกครองของแคว้นต่างๆ โดยจัดตั้งรัฐบาลกลาง แล้วดึงอำนาจการบริหารประเทศจากท้องถิ่นมาสู่ส่วนกลาง, จัดตั้งรัฐสภา โดยมีการส่งตัวแทนจากแคว้นต่างๆเข้ามามีบทบาทในการออกกฎหมาย, , จัดตั้งกระทรวง 8 กระทรวงเพื่อบริหารประเทศ, ประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกของญี่ปุ่น จะเห็นว่านี่คือการดึงอำนาจในมือโชกุนโทกุกะวะและไดเมียวทั่วประเทศ เข้ามาสู่โครงสร้างใหม่ ที่นำแนวคิดระบอบการปกครองของตะวันตกมาใช้ แต่เน้นการรวมศูนย์อำนาจมาที่รัฐบาลกลางที่เป็นตัวแทนของกลุ่มชนชั้นนำในยุคนั้น
ในด้านเศรษฐกิจ มีการออกกฎหมายปฏิรูปภาษีที่ดิน เปิดให้เอกชนเป็นเจ้าของที่ดินได้เป็นครั้งแรก, สร้างรถไฟไปทั่วประเทศ ระยะเวลาเพียง 18 ปี สร้างทางรถไฟไปถึง 2,250 กิโลเมตร, วางระบบโทรเลขเชื่อมโยงเมืองใหญ่ทั่วประเทศ, สนับสนุนให้เกิดบริษัทเอกชน โดยได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาล, ก่อตั้งธนาคารตามแบบตะวันตก, มีการสร้างท่าเรือ เหมืองแร่ ลงทุนสร้างโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก ทำให้ญี่ปุ่นเข้าสู่ “การปฏิวัติอุตสาหกรรม” เป็นประเทศแรกของเอเชียด้วยตนเอง
ในด้านสังคม ได้ยกเลิกระบบชนชั้นทั้งสี่ ทำให้คนทุกชนชั้นสามารถเลือกอาชีพได้ตามที่ตั้งใจ, เปิดโรงเรียนสอนหนังสือแบบตะวันตก ทำให้คนเข้ารับการศึกษาได้อย่างทั่วถึง นี่คือการปลดปล่อยศักยภาพของคนให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างเต็มที่ ทำให้ญี่ปุ่นก้าวกระโดดไปไกลกว่าประเทศอื่นๆในเอเชีย
ในด้านการทหาร ยกเลิกกองทัพท้องถิ่นของแต่ละแคว้น, ยกเลิกระบบซามูไร ที่ตอนนั้นมีกว่า 1.9 ล้านคน โดยค่อยเป็นค่อยไป จากที่ซามูไรทุกคนได้เงินเดือนจากรัฐ จึงเป็นภาระที่หนักมากของรัฐบาล จึงทยอยปรับเป็นได้พันธบัตรรัฐบาลแทนในที่สุด, จัดตั้งกองทัพของรัฐบาลกลาง ตามรูปแบบกองทัพสมัยใหม่ โดยชายญี่ปุ่นทุกคนเมื่ออายุครบ 21 ปี ต้องเป็นทหารรับใช้ชาติ 4 ปี, มีการพัฒนาและผลิตอาวุธยุคใหม่ด้วยตนเอง จนสามารถทำสงครามรบชนะทั้งกับจีน (ปี 1894-1895) และรัสเซีย (ปี 1904-1905)
ผลจากการปฏิรูปเมจิ ทำให้ในปี 1912 เมื่อจักรพรรดิเมจิได้สวรรคต ถือเป็นสัญลักษณ์การสิ้นสุดยุคเมจิ ประเทศญี่ปุ่นได้กลายเป็นประเทศมหาอำนาจใหม่แห่งเอเชีย ได้ยกเลิกสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมที่ทำกับประเทศตะวันตกทั้งหมด เป็นการปฏิรูปที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ปัจจัยที่ทำให้การปฏิรูปเมจิประสบความสำเร็จแตกต่างจากการปฏิรูปร้อยวันของจีน อยู่ที่ แกนนำการปฏิรูปได้เข้ายึดอำนาจจากกลุ่มอำนาจเก่าได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และแกนนำเหล่านี้มีวิสัยทัศน์ มีความรู้ความสามารถ ทุ่มเท จนการปฏิรูปก้าวหน้าไปตามทิศทางที่วางไว้ ไม่ได้ทำแบบครึ่งๆกลางๆ แต่ข้อด้อยของการปฏิรูปเมจิที่เห็นได้ชัดคือ เส้นทางปฏิรูปเต็มไปด้วยความรุนแรงนองเลือด มีทั้งการสู้รบในสงครามกลางเมือง และการลอบสังหารเหล่าผู้นำการปฏิรูป นั่นเอง
*******************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
3 มกราคม 2561
*******************************