ในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 16-18 กรุงศรีอยุธยามีชื่อเสียงในหมู่นักเดินทางและพ่อค้าระหว่างประเทศว่าเป็นเมืองท่าที่มั่งคั่งที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคนี้ แต่เวลาคนไทยพูดถึงอยุธยา เรามักจะสนใจเฉพาะเรื่องการสงครามมากกว่า ซึ่งนั่นอธิบายความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรอยุธยาเพียงแค่มิติเดียว และมองข้ามปัจจัยสำคัญที่ทำให้อยุธยากลายเป็นอาณาจักรชั้นนำในภูมิภาคนี้ นั่นคือ ปัจจัยทางเศรษฐกิจ ผมจึงคิดว่าการศึกษาอยุธยาในแง่ของเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศมีความน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว
จากงานวิจัยของ ดร.วรางคณา นิพัทธ์สุขกิจ พบว่า ที่มาของความมั่งคั่งของอาณาจักรอยุธยานั้น มาจากการค้ากับต่างประเทศเป็นสำคัญ อยุธยามีการค้าทางทะเลกับเมืองต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย จีน ญี่ปุ่น และยุโรป ทำให้มีเงินไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจอยุธยาอยู่มาก ในประชุมพงศาวดารเล่ม ๒๓ (ภาค ๓๙ (ต่อ) – ๔๐) ได้บันทึกไว้ว่า “..พวกไทยได้เอาเงินทองบรรจุไว้ในองค์พระพุทธรูปเป็นอันมาก…ในพระเจดีย์องค์เดียวเท่านั้นได้พบเงินถึง ๕ ไห และทอง ๓ ไห…ทองคำเป็นสิ่งที่หาง่ายจนถึงกับหยิบกันเล่นเป็นกำๆ…” ที่วัดพุทไธศวรรย์เพียงวัดเดียวพบทองจำนวนมาก บรรทุกเรือยาวได้ถึง ๓ ลำ หลักฐานเหล่านี้เป็นเครื่องบ่งชี้ความมั่งคั่งของอาณาจักรอยุธยาได้เป็นอย่างดี
ปัจจัยความสำเร็จทางการค้าของอยุธยา มาจากสองปัจจัยหลัก ปัจจัยแรกคือ กรุงศรีอยุธยามีที่ตั้งอยู่ในทำเลการค้าที่ดี โดยตั้งอยู่บนตรงกลางภาคพื้นดินของทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญระหว่างอ่าวเบงกอล มหาสมุทรอินเดีย กับทะเลจีนใต้ ทำให้อยุธยาสามารถซื้อสินค้าจากพ่อค้าด้านหนึ่งแล้วส่งต่อไปขายให้พ่อค้าอีกด้านหนึ่งได้ ควบคู่กับการขายสินค้าที่ได้จากดินแดนกว้างใหญ่ของอาณาจักรอยุธยาเอง
ส่วนปัจจัยที่สองก็คือ ความสามารถในการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพของอยุธยาเองที่ทำให้การค้าในอยุธยามีความคึกคัก หากเราเจาะลึกลงไปอีกพบว่า ความสามารถในการบริหารจัดการนั้น มาจากกลยุทธ์หลักสองประการ นั่นคือ กลยุทธ์การสร้างความมั่นคงในอาณาจักร ทำให้หัวเมืองสำคัญอยู่ภายในอยุธยา มีความสงบเรียบร้อย ไม่ก่อกบฏหรือหันไปหาอาณาจักรอื่นที่ก็มีเมืองท่าเช่นกัน อย่าง พะโค (พม่า) และละแวก (กัมพูชา) ในสมัยสมเด็จพระนเรศวร พระองค์ได้ยกเลิกเมืองพระยามหานครที่เจ้าเมืองมีความเป็นอิสระมาก แล้วตั้งเป็น เมืองเอก (เช่น พิษณุโลก นครศรีธรรมราช) โท (เช่น สุโขทัย เพชรบูรณ์ นครราชสีมา) ตรี (เช่นพิจิตร นครสวรรค์ จันทบุรี พัทลุง) แทน เพื่อดึงอำนาจเข้าส่วนกลาง และสร้างเส้นทางเศรษฐกิจที่มั่นคงขึ้นมาได้ ส่วนกลยุทธ์ที่สองของอยุธยาคือ กลยุทธ์การจัดหาสินค้าตามความต้องการของตลาดและกำหนดราคาที่เหมาะสมผ่านองค์กรพระคลังสินค้า กลยุทธ์ข้อนี้ทำได้ก็เพราะอยุธยาประสบความสำเร็จจากกลยุทธ์แรกก่อน ทำให้หัวเมืองด้านในที่ไม่ติดทะเลส่งสินค้าหายากมาขายยังอยุธยาเพื่อส่งออกไปต่างประเทศต่อไป เวลาที่ตลาดจีนต้องการช้าง งาช้าง นอแรด ขนนกยูง อยุธยาก็จัดหาให้ได้ เวลาที่ตลาดญี่ปุ่นต้องการของป่า อย่าง หนังกวาง ไม้ฝาง ไม้จันทน์หอม อยุธยาก็จัดหาได้เช่นกัน นอกจากนี้การมีหน่วยงานพระคลังสินค้า ทำให้พ่อค้ามีความเชื่อถือและมั่นใจในการตกลงค้าขายว่าจะหาสินค้าได้ตามสัญญาและไม่เบี้ยวหนี้ ในทางกลับกัน พระคลังสินค้าก็มีข้อมูลมากพอที่จะเจรจาตกลงการค้ากับต่างชาติโดยไม่เสียเปรียบ
โดยสรุปแล้ว แม้ว่ากรุงศรีอยุธยาจะมีที่ตั้งที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันเพราะตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างมหาสมุทรอินเดียและทะเลจีนใต้ แต่ที่ตั้งเพียงอย่างเดียวย่อมไม่สามารถทำให้กรุงศรีอยุธยามีความยิ่งใหญ่ทางด้านการค้าระหว่างประเทศได้หากขาดความสามารถในการบริหารจัดการ บทเรียนจากประวัติศาสตร์นี้ย่อมนำมาใช้กับเมืองไทยปัจจุบันได้เช่นกัน เพราะประเทศไทยก็ยังตั้งอยู่ที่เดิม มีความได้เปรียบจากตำแหน่งที่ตั้ง แต่ประเทศไทยจะยังคงความเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจในภูมิภาคได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารจัดการของคนในประเทศนั่นเอง
**********************************************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
2 มีนาคม 2559
**********************************************************
ข้อมูลจาก หนังสือ “หนังกวาง ไม้ฝาง ช้าง ของป่า การค้าอยุธยาสมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓” โดย ดร.วรางคณา นิพัทธ์สุขกิจ