พร้อมกันหรือยังกับคอนเสิร์ตบน Metaverse

เมื่อ มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก แห่ง Facebook ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก Facebook เป็น Meta เพื่อมุ่งหน้าเข้าสู่ธุรกิจ Metaverse โลกเสมือน ที่เขาเชื่อมั่นว่า คือโลกอนาคตที่มนุษยชาติจะมุ่งหน้าไป ทำให้คนทั้งโลกต่างตื่นเต้นไปกับ Metaverse

ฟากฝั่งโลกบันเทิง ก็ไม่น้อยหน้า มีการปรับตัวไปล่วงหน้าไปแล้ว อย่างเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่าน อาริอาน่า แกรนเด ก็ได้เข้าไปแสดงคอนเสิร์ตบนเกมส์ Fortnite เรียบร้อยแล้ว โดยการไปแสดงคอนเสิร์ตในเกมส์ ย่อมไม่ใช่แค่สร้าง อวตาร อาริอาน่า ขึ้นมาแล้วไปร้องบนเวที แต่ทาง Epic เจ้าของเกมส์ Fortnite ได้สร้างสรรค์ให้ผู้เล่นหลุดเข้าไปในโลกเสมือน มีทั้งเข้าไปในฉากสวย ๆ สไตล์อาริ, เลือก skin เข้าไปเล่น mini-game ระหว่างทาง, ฟองสบู่ขนาดยักษ์ล่อยล่องบนท้องฟ้า และมี อาริอาน่า มาร้องเพลงให้ผู้เล่นชมในโลกเสมือน ค่าย Epic ใช้คำว่า
“นำการเดินทางของดนตรี เข้าไปสู่ความจริงใหม่แห่งเวทย์มนตร์ ที่ที่ Fortnite และซุปเปอร์สตาร์ปะทะกัน”
“take a musical journey into magical new realities where Fortnite and a record-breaking superstar collide.”

อันที่จริง ก่อนหน้า อาริอาน่า มาเล่นคอนเสิร์ตในโลกเสมือนนั้น เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา แร็ปเปอร์ชื่อดัง ทราวิส สก็อตต์ ก็เคยไปเล่นคอนเสิร์ตในเกมส์ Fortnite มาแล้ว และสร้างสถิติผู้ชมสด สูงถึง 12.3 ล้านคน ว่ากันว่า ยอดขาย merchandise ในเกมส์กับ ทราวิส สก็อตต์ นั้นสูงถึง 20 ล้านดอลลาร์ เทียบกับยอดขายในคอนเสิร์ตจริงของเขาที่เคยทำได้ที่ 1.7 ล้านดอลลาร์ กลายเป็นว่า ยอดขาย Merchandise ในเกมส์โลกเสมือนกลับสูงกว่าคอนเสิร์ตจริงเป็น 10 เท่า

ทางค่ายเกมส์ Roblox ก็ไม่น้อยหน้า เพิ่งประกาศจับมือกับโปรโมเตอร์คอนเสิร์ต Insomniac เจ้าของ Electric Daisy Carnival (EDC) ว่าจะนำ EDC ซึ่งเป็นเทศกาลดนตรีเต้นรำที่ใหญ่ที่สุดในโลกเข้าสู่ Metaverse ด้วยศักยภาพของค่าย Roblox ที่มีผู้เล่นวันละ 43 ล้านราย ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะประสบความสำเร็จ

ถ้าให้ประเมินว่า คอนเสิร์ตใน Metaverse จะมาทดแทนคอนเสิร์ตแบบที่เรา ๆ ท่าน ๆ ไปชมในคอนเสิร์ตฮอลล์หรือไม่ ผมคิดว่า ไม่น่าจะทดแทนได้ เพราะบรรยากาศ คุณภาพดนตรี ความสนุกในรูปแบบที่มนุษย์ได้มาเจอกันนั้น มันไม่สามารถไปสร้างบนโลกเสมือนได้ แต่คอนเสิร์ตบน Metaverse นั้นเป็นการเปิดความบันเทิงรูปแบบใหม่ ที่ผู้ชมจะได้ประสบการณ์ในแบบที่โลกความเป็นจริงส่งมอบให้ไม่ได้ ผู้เล่นคนสำคัญในธุรกิจคอนเสิร์ต Metaverse ก็คงเป็น ค่ายเกมส์ทั้งหลาย ที่ผู้เล่นต่างคุ้นเคยกับการเข้าไปในโลกเสมือนอยู่แล้ว และนำความบันเทิงแบบใหม่เข้าไปในโลกนั้น

ว่าแต่เพื่อน ๆ คิดว่า ตัวเราเองพร้อมจะเปิดรับความบันเทิงคอนเสิร์ตบนโลกเสมือนแล้วหรือยังครับ?

**********************************
เขียนโดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
1 พฤศจิกายน 2021
**********************************

กลยุทธ์เดินหน้าก้าวข้ามโควิด-19 ของสิงคโปร์

บทความที่เขียนโดย รัฐมนตรีที่เป็นประธานคณะทำงานบริหารสถานการณ์โควิด-19 ของสิงคโปร์ ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ The Strait Times เมื่อปลาย มิ.ย. ที่ผ่านมา ทำให้เราเห็นกลยุทธ์ที่ชัดเจนของสิงคโปร์ที่จะเดินหน้าหาทางออกสถานการณ์โรคระบาดที่ทั่วโลกเผชิญมาปีครึ่งแล้ว

อ่านแล้ว เห็นภาพชัดเจนว่า สิงคโปร์จะเดินหน้าประเทศต่อไปอย่างไร ดูเหมือนว่าภายในไตรมาส 3 นี้ สิงคโปร์น่าจะเปิดประเทศได้แล้ว แผนนี้มีความเสี่ยง แต่ก็เชื่อว่าเป็นความเสี่ยงที่คำนวณมาแล้ว (Calculated Risk)

สิงคโปร์ สรุปว่า โควิด-19 จะไม่หายไป เพราะมันจะกลายพันธุ์ไปเรื่อย ๆ แต่เราต้องอยู่กับมันให้ได้ ให้เหมือนกับไข้หวัดใหญ่

แผนของสิงคโปร์ คือ

1) วัคซีนคือกุญแจสำคัญ เป้าหมายสิงคโปร์คือ

(1.1) ประชากรอย่างน้อย 2 ใน 3 ต้องได้ฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส ภายในต้น ก.ค. ซึ่งตอนนี้ทำได้ตามแผนอยู่ ฉีดเข็มแรกไปแล้ว 60% ของประชากร

(1.2) ประชากรอย่างน้อย 2 ใน 3 ต้องได้ฉีดวัคซีนครบ 2 โดส ภายในวันชาติสิงคโปร์ (9 ส.ค.) ซึ่งตอนนี้วัคซีนมีพร้อมตามแผน

(ข้อสังเกตของผม สิงคโปร์ใช้วัคซีนไฟเซอร์ กับ โมเดอร์นา เป็นวัคซีนหลัก ฉีดฟรี แต่มีคนสิงคโปร์จำนวนหนึ่งที่ระแวงวัคซีน mRNA เพราะเพิ่งใช้กับมนุษย์ จึงต้องการฉีดวัคซีนเชื้อตายอย่าง ซิโนแวค ซึ่งเป็นวัคซีนทางเลือกที่นั่น ใครอยากฉีด ต้องจ่ายเงินเอง)

2) ตรวจโควิดง่ายขึ้น : สิงคโปร์จะตรวจคนทุกคนที่เดินทางเข้าสิงคโปร์ และจะใช้ตรวจในสิงคโปร์เพื่อทำให้ทุกกิจกรรมในสิงคโปร์ปลอดภัยจากการระบาด โดยการตรวจแบบ Antigen Rapid Tests ที่รู้ผลภายใน 2 นาที โดยไม่ต้องสวอป จะตรวจแบบนี้ที่สนามบิน ท่าเรือ อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล สถาบันการศึกษา เพื่อตรวจพนักงานและผู้มาเยี่ยมเยือน เขาจะไม่เน้นการตรวจแบบ PCR ที่รู้ผลช้าใช้เวลาหลายชั่วโมง

(ดูเหมือนบ้านเรา ทางสาธารณสุขไม่ค่อยยอมรับการตรวจแบบ rapid test แต่ถ้าจะให้เดินหน้ากิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ คงต้องพิจารณาให้ใช้ rapid test เหมือนที่ภูเก็ตใช้ในการเปิดเกาะ)

3) การรักษาผู้ป่วยโควิด ทำได้ดีขึ้น มียารักษาหลายตัวที่ได้ผลดีขึ้น

4) ความรับผิดชอบต่อสังคมยังสำคัญมาก ทุกคนยังต้องระมัดระวัง รับผิดชอบตัวเอง ถ้ารู้สึกไม่สบาย ก็ต้องเลี่ยงเข้าชุมชน

ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่ New Normal นั่นคือ

1) ผู้ติดเชื้อโควิด สามารถรักษาตัวที่บ้าน เพราะการได้วัคซีนแล้วจะทำให้อาการไม่รุนแรง

2) ไม่จำเป็นตรวจติดตามและกักตัวผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อ แต่ละคนให้ตรวจเชื้อได้ด้วยตนเองอย่างรวดเร็วและง่าย ถ้าผล rapid test เป็นบวก ก็จะไปยืนยันด้วยการตรวจ PCR และกักตัวต่อไป

3) จะไม่รายงานผู้ติดเชื้อรายวัน แต่จะเน้นรายงานเฉพาะผู้ป่วยหนัก จำนวนผู้ป่วยใน ICU จำนวนผู้ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ให้เหมือนกับการรายงานผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่

4) ผ่อนคลายมาตรการสำหรับการรวมตัวของคน เช่น งานพาเหรดวันชาติ วันปีใหม่ ธุรกิจจะได้ไม่กระทบ

5) จะเปิดให้มีการเดินทางอีกครั้ง อย่างน้อยกับประเทศที่ควบคุมโควิดได้ดี และกลับมาปกติ จะดูวัคซีนพาสปอร์ต นักเดินทางที่ฉีดวัคซีนแล้วจะตรวจเชื้อที่สนามบิน ถ้าไม่พบเชื้อ ก็ไม่ต้อง quarantine

แผนของสิงคโปร์ก็ประมาณนี้ครับ น่าสนใจมาก ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ถ้าไปได้ดี เศรษฐกิจเขาจะพลิกฟื้นกลับมาได้เร็วมาก ถ้าพลาด ก็ต้องเจอสถานการณ์ระบาดหนักอีกครั้ง

อ่านบทความเต็มได้ที่ https://www.straitstimes.com/opinion/living-normally-with-covid-19

**********************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
3 กรกฎาคม 2021
**********************************

สถานการณ์ประเทศไทย : ไข้หวัดใหญ่ สเปน 1918-1920 vs โควิด-19 2020

เมื่อปี 1919-1920 หรือราวร้อยปีก่อน โลกเคยเจอการระบาดของไข้หวัดใหญ่ครั้งร้ายแรง เรียกกันว่า ไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish Flu) ครั้งนั้นมีผู้ติดเชื้อทั่วโลกไป 500 ล้านราย และประมาณกันว่า มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกราว 17-50 ล้านราย ครั้งนั้นเรียกว่า ไข้หวัดใหญ่สเปน เพราะเริ่มระบาดจากประเทศสเปน

จากข้อมูลที่มีเผยแพร่ไม่กี่วันที่ผ่านมา พบว่า ประเทศไทยก็ประสบภาวะโรคระบาดไข้หวัดใหญ่เช่นกัน มีหลักฐานเป็น แจ้งความกระทรวงมหาดไทย ลงในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๔๖๒ เล่ม ๓๖ หน้า ๑๑๙๓ โดยสรุปความว่า ในปี พ.ศ. 2462 ประเทศไทยของเรา มีประชากร 9,207,355 คน มีป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ 2,317,662 ราย คิดเป็น 25.2% ของประชากร และมีผู้เสียชีวิตจำนวน 80,223 ราย คิดเป็นอัตรา 3.5% ของผู้ป่วย

แจ้งความกระทรวงมหาดไทย ลงใน ราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๔๖๒ เล่ม ๓๖ หน้า ๑๑๙๓ ได้รายงานตัวเลขผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต ทั้ง 17 มณฑลของไทย รวมกันมีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ (Influenza) 2,317,662 ราย และตาย 80,223 ราย ตัวเลขประชากรจากการสำรวจสำมะโนครัวเมื่อ พ.ศ. 2462 อยู่ที่ 9,207,355 คน

พอเห็นตัวเลขดังกล่าว ทำให้ผมคิดไปถึง รายงานการคาดการณ์การระบาดและมาตรการในระยะที่ 3 โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของ ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ที่มีการเผยแพร่อย่างไม่เป็นทางการออกมาเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ในรายงานดังกล่าว ได้คาดการณ์สถานการณ์เป็น 3 ฉากทัศน์ (scenario ต่อไปผมขอใช้ scenario แทนนะครับ เพราะน่าจะเข้าใจง่ายกว่า) ได้แก่ รุนแรงที่สุด, ชะลอการระบาดได้พอสมควร และ ควบคุมโรคได้ดี

คาดการณ์ 3 ซีนาริโอ ที่จะเกิดขึ้น จากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จากรายงานของ กระทรวงสาธารณสุข เมื่อต้น มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา

Scenario รุนแรงที่สุด นั้น คาดการณ์ว่า จะมีผู้ติดเชื้อแสดงอาการในปี 2563 จำนวน 16.8 ล้านคน ประชากรไทยปัจจุบันมีจำนวน 66.5 ล้านคน หากไม่ป้องกันใดๆ ซึ่งก็น่าจะคล้ายกับเมื่อร้อยปีก่อน เอาสถิติเก่าที่มีผู้ติดเชื้อ 25.2% ของประชากร คูณ 66.5 ล้านคน ก็จะได้จำนวนผู้ติดเชื้อ 16.6 ล้านคน ใกล้เคียงกับที่ กระทรวงสาธารณสุขคาดการณ์ในรายงานฯดังกล่าว ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อแสดงอาการในปี 2563 เท่ากับ 16.8 ล้านคน

และถ้าเราดูอัตราการตายจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ทั่วโลก ณ ตอนนี้ อยู่ที่ 4-5% เทียบกับสถิติของไข้หวัดใหญ่ในไทยเมื่อร้อยปีก่อน ที่มีอัตราการตาย 3.5% ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด ก็ถือว่าใกล้เคียงกันมาก

กราฟแสดงจำนวนผู้ป่วยจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แบ่งเป็น 3 scenario ถ้าเป็นแบบร้อยปีก่อน ผู้ป่วยจะพุ่งไป 16.7 ล้านคน แต่ถ้าเราคุมได้ดี จะกลายเป็นเส้นสีเขียว ที่จะไประบาดสูงสุดปีหน้า 2564 ซึ่งตอนนั้น ยารักษา และวัคซีนป้องกัน น่าจะพัฒนาสำเร็จแล้ว

แต่ผมว่า เราคงไม่ได้มุ่งหน้าที่ scenario ร้ายแรงแบบนั้น เพราะ ณ พ.ศ.นี้ ความรู้ทางการแพทย์ได้พัฒนาไปมาก ทำให้มีองค์ความรู้ที่จะหาทางบรรเทาวิกฤติ ผสมผสานกับการร่วมมือร่วมแรงใจกันลดการระบาดของโรค ด้วยมาตรการหลายประการ จึงทำให้เราหวังว่า สถานการณ์จะเป็นไปตาม Scenario ที่ 3 คือควบคุมโรคได้ดี นั่นคือ มีผู้ติดเชื้อแสดงอาการในปี 2563 ที่ 9,100 คน แต่การระบาดสูงสุดจะไปเกิดในปีหน้าที่อาจมีผู้ติดเชื้อสูงถึง 398,000 คน หรือ 0.6% ของประชากร แต่ ณ เวลานั้น ยารักษาโรค รวมถึง วัคซีนป้องกันโรค อาจจะพัฒนาสำเร็จแล้วก็ได้

จากข้อมูลที่ว่ามา ผมอยากให้เตรียมตัวรับวิกฤตินี้แบบยาวๆ อย่าคิดว่ามันจะผ่านไปอย่างรวดเร็วภายในเดือนสองเดือน แต่ถ้าทุกคนร่วมแรงร่วมใจกัน เราจะช่วยกันทำให้ความรุนแรงของวิกฤติลดต่ำลงจนระบบสาธารณสุขของเรารองรับได้ แล้วในที่สุด เราจะผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกันครับ

******************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
30 มีนาคม 2020
******************************

ควันหลงเลือกตั้ง กับ กลยุทธ์การตลาดแบบ Online-to-Offline

ผลการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ได้สะท้อนอะไรหลายๆอย่างในโลกการตลาด มีพรรคการเมืองที่เพิ่งตั้งใหม่ประสบความสำเร็จในการได้คะแนนเสียงจำนวนมากด้วยการใช้กลยุทธ์การสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์ และก็มีพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเป็นอันดับต้นๆ ทั้งที่บนโลกออนไลน์ถูกโจมตีอย่างหนัก

ปรากฏการณ์แบบนี้สะท้อนโลกความเป็นจริงในไทย และอาจจะเป็นแบบเดียวกันในประเทศอื่นๆ ในแง่ของคนทำงานด้านสื่อและบันเทิง เราพบเจอปรากฏการณ์เช่นนี้มาโดยตลอด ถ้าเป็นเมื่อหลายปีก่อน หลายคนยังตั้งคำถามว่า สื่อออนไลน์ได้ผลจริงมั้ย แต่มาใน พ.ศ.นี้ คนจำนวนมากเริ่มเชื่อกันแล้วว่า สื่อออนไลน์นั้นมีอิทธิพลจริงๆ ยิ่งตัวเลขคนไทยที่ใช้งานอินเตอร์เน็ตบนมือถือสูงถึง 5 ชั่วโมง 13 นาทีต่อวัน ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในโลก ทำให้นักการตลาดหลายคนเชื่อกันว่า สื่อออนไลน์สามารถชี้เป็นชี้ตายได้ทุกอย่าง จนมองข้ามสื่ออื่นๆไป

แต่โลกของเรา มีสัจธรรมข้อหนึ่งว่า ไม่มีอะไรที่สุดโต่งแล้วจะเป็นเช่นนั้นได้นาน ลูกตุ้มเมื่อเหวี่ยงไปสุดก็ต้องแกว่งกลับมาจุดสมดุลใหม่เสมอ ทำให้เกิดแนวคิดกลยุทธ์การตลาดที่โด่งดังในช่วงปีสองปีมานี้ นั่นคือ กลยุทธ์ Online-to-Offline (O2O) กลยุทธ์นี้เป็นการผสมผสานของสื่อออนไลน์กับออฟไลน์ โดยมองว่าผู้บริโภคนั้นเมื่อได้รับสื่อออนไลน์ ในที่สุดก็จะไปซื้อสินค้า/บริการกับร้านค้าที่จับต้องได้ด้วย ไม่ใช่ทุกอย่างจบที่ออนไลน์เพียงอย่างเดียว เช่น Amazon เริ่มหันมาเปิดร้านหนังสือ หรือ Alibaba มีการเปิดร้านค้าจริงๆที่ไม่ใช่แค่บนเว็บไซต์

O2O

ตัวอย่างที่เราเคยเจออย่างเช่น การจัดคอนเสิร์ต บางทีเราหาข้อมูลบนออนไลน์แล้วพบว่า ศิลปินรายนี้ได้รับการกล่าวถึงจำนวนมาก แต่พอเปิดขายบัตรชมจริงๆกลับไม่มียอดซื้ออย่างที่คาด แต่ศิลปินบางรายที่ไม่มีการพูดถึงเท่าไรนักบนโลกออนไลน์ แต่กลับมียอดขายบัตรชมการแสดงเกินกว่าที่คาด ทำให้เราต้องให้ความสำคัญกับการตลาดแบบ O2O ทั้งออนไลน์และออฟไลน์

แต่สิ่งที่ทำให้การตลาดแบบ O2O ต่างจากการตลาดเมื่อก่อนก็คือตรงที่ ข้อมูลที่เราได้จาก Online จะช่วยให้เราเข้าใจผู้บริโภค (consumer insights) มากกว่าแต่ก่อน ทำให้เราวางแผนการตลาด Offline ได้ตรงใจผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น

อันที่จริงยังมีศัพท์การตลาดอีกคำหนึ่งที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กันโดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีก คือ Omnichannel ที่หมายถึงการบริหารช่องทางติดต่อลูกค้าอย่างรอบด้าน เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีสำหรับลูกค้าเวลาติดต่อกับธุรกิจของเรา ไม่ว่าจะเป็นช่องทางออนไลน์ หรือออฟไลน์ บางทีก็เรียกว่า ช่องทางดิจิทัล (Digital channel) หรือช่องทางกายภาพ (Physical channel) แต่โดยสรุป ผมคิดว่า ทั้ง O2O กับ Omnichannel มีความคล้ายคลึงกันที่ว่า จะต้องผสมผสานทั้งออนไลน์กับออฟไลน์ หรือ ดิจิทัลกับกายภาพ เข้าด้วยกันให้ได้ โดยต้องใช้ข้อมูลที่มีก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรือที่คนนิยมเรียกกันว่า Big Data นั่นเอง

************************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
27 มีนาคม 2019
************************************

กลยุทธ์สร้างมาตรฐานของจิ๋นซีฮ่องเต้

เมื่อเดือนที่แล้ว ได้ไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ปิงหม่าหย่ง หรือพิพิธภัณฑ์หุ่นทหารดินเผาของจิ๋นซีฮ่องเต้ ที่เมืองซีอาน ประเทศจีน ระหว่างเดินชมความยิ่งใหญ่ของพิพิธภัณฑ์ ก็คิดตั้งคำถามไปด้วยว่า ทำไมอารยธรรมจีนจึงได้ยิ่งใหญ่และดำรงต่อเนื่องมายาวนานถึงปัจจุบัน ต่างจากอารยธรรมโบราณเช่น อียิปต์ กรีก โรมัน ที่เมื่อถึงจุดหนึ่งก็ล่มสลายและไม่สามารถกลับมาครองความยิ่งใหญ่ได้เช่นยุคก่อน

ORG_DSC09938
พิพิธภัณฑ์หุ่นทหารดินเผาจิ๋นซีฮ่องเต้ ที่ซีอาน

การจะตอบคำถามดังกล่าว ก็ต้องย้อนทวนไปที่จุดพลิกผันของประวัติศาสตร์จีนครั้งสำคัญ นั่นคือ การสามารถรวบรวมแผ่นดินจีนเข้าด้วยกันเป็นจักรวรรดิอันหนึ่งอันเดียวกันในยุคของจิ๋นซีฮ่องเต้ (ถ้าออกเสียงแบบจีนกลาง ต้องออกเสียงว่า ฉินสื่อหวงตี้) ก่อนหน้านั้นแผ่นดินจีนได้แตกแยกออกเป็นแคว้นต่างๆมากมายหลายร้อยปี เรียกกันว่ายุคชุนชิว (春秋) แม้ว่าในนามทุกแคว้นจะอยู่ภายใต้ราชวงศ์โจว แต่ในทางปฏิบัติ เจ้าครองแคว้นต่างๆได้บริหารแคว้นของตนอย่างอิสระ ไม่ได้ฟังคำสั่งจากกษัตริย์ราชวงศ์โจวแต่อย่างใด มีการรบราฆ่าฟันขยายอำนาจกันตลอดเวลา แคว้นใหญ่กลืนแคว้นเล็ก จากกว่าสองร้อยแคว้น เหลืออยู่เพียงเจ็ดแคว้น เข้าสู่ยุคที่เรียกกันว่า จ้านกว๋อ (战国) และในที่สุดเมื่อสถานการณ์สุกงอม ประกอบกับเกิดผู้นำที่เข้มแข็งและเฉลียวฉลาดอย่าง จิ๋นซีฮ่องเต้ ขึ้นเป็นเจ้าแคว้นฉิน จึงสามารถรวบรวมแผ่นดินจีนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้

Qin_InscribedWeight
ตุ้มน้ำหนักเหล็กมาตรฐาน สมัยจิ๋นซีฮ่องเต้

การรบเอาชนะกองทัพแคว้นต่างๆในสนามรบนั้นถือว่าเป็นเรื่องยากแล้ว แต่การบริหารแคว้นต่างๆที่มีแตกต่างกันแทบทุกด้านเป็นเรื่องยากยิ่งกว่า จิ๋นซีฮ่องเต้ทรงตัดสินใจใช้กลยุทธ์สร้างมาตรฐาน (Standardization) เพื่อบริหารแผ่นดินจีนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ในทุกๆด้าน ได้แก่ มาตฐานการชั่ง ตวง วัด เงินตรา ความกว้างของเกวียนและถนน ตัวอักษร ฯลฯ

ด้านมาตรฐานชั่งตวงวัด มีการจัดทำหน่วยชั่งตวงวัดมาตรฐานกระจายไปทั่วประเทศ พร้อมพระราชโองการให้ทุกคนใช้มาตรฐานเดียวกัน ทำให้เวลาซื้อขายขนส่งสินค้า คำนวณราคาเปรียบเทียบกันได้โดยง่าย ไม่ต้องแปลงหน่วยไปมาให้ซับซ้อน ทุ่นเวลาไปได้มาก ที่สำคัญสำหรับรัฐก็คือ จำเป็นสำหรับการเก็บภาษี เพราะยุคนั้นจ่ายภาษีเป็นผลผลิตทางการเกษตร ไม่ใช่จ่ายด้วยเงินตรา การมีมาตรฐานเดียวกันย่อมทำให้การควบคุมการเก็บภาษีมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ด้านเงินตรา ทรงกำหนดมาตรฐานเงินตราแบบเดียว ยกเลิกการใช้เงินตราของแคว้นต่างๆแต่เดิม เช่น เดิมแคว้นฉู่ใช้เบี้ยหอยสำริดกับแผ่นทองคำสี่เหลี่ยม, แคว้นฉีใช้เหรียญเหล็กรูปมีด ฯลฯ และให้มาใช้เงินตรารูปแบบเดียวกัน คือ เหรียญวงกลม เจาะรูตรงกลางเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส เรียกว่า เหรียญป้านเหลี่ยง (半兩) น้ำหนัก 7.5 กรัม การใช้เงินตรารูปแบบเดียวกันเพิ่มประสิทธิภาพในการค้าขายอย่างมาก ไม่ต้องเสียเวลามาคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนเงินหลายสกุล ไม่ต้องศึกษาการดูเหรียญจริงเหรียญปลอมหลายๆแบบ และทำให้รัฐควบคุมปริมาณเงินในระบบได้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็สะท้อนความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการหล่อเหรียญกษาปณ์จากโลหะของจีนยุคนั้นด้วย

ด้านภาษา จิ๋นซีฮ่องเต้ได้กำหนดให้ใช้ตัวอักษรจีนมาตรฐานเดียวกันทั้งอาณาจักร อัครมหาเสนาบดีหลี่ซือจึงได้ประดิษฐ์อักษรเสี่ยวจ้วน (小篆) ขึ้นจำนวนราวๆ 3,300 ตัวอักษร เพื่อใช้เป็นอักษรมาตรฐานในงานราชการ  การสร้างมาตรฐานทางภาษาก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการสั่งการของรัฐบาลกลางไปยังส่วนต่างๆทั่วราชอาณาจักร รวมไปถึงสามารถส่งเสริมการศึกษาของบัณฑิตทั่วประเทศให้เรียนรู้ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น

LcPBng5WSKa9LJVUdSwlWg
รถม้าสำริดจำลอง เชื่อว่าเป็นลักษณะรถม้าที่จิ๋นซีฮ่องเต้นั่งตรวจราชการไปทั่วราชอาณาจักร

ด้านมาตรฐานของถนนและเกวียน มีการกำหนดความกว้างมาตรฐานของเกวียน ส่งผลให้สามารถกำหนดความกว้างมาตรฐานของถนนได้ นอกจากนั้น มาตรฐานความกว้างของเกวียน ทำให้การขนส่งเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะเมื่อเกวียนกว้างเท่ากัน รถม้าที่ใช้ลากก็มีขนาดมาตรฐานเดียวกัน การเปลี่ยนรถม้าระหว่างการขนส่งก็ทำได้สะดวก เมื่อกำหนดมาตรฐานของเกวียนแล้ว จิ๋นซีฮ่องเต้จึงได้สร้างเครือข่ายถนนครั้งใหญ่ของจีน โดยแบ่งเป็น 3 ขนาด คือ ทางหลวงขนาดใหญ่ ซึ่งจะเราจะเรียกว่า ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ ก็ได้ เพราะกว้างถึง 69 เมตร, ทางหลวงขนาดรองลงมา กว้าง 34.5 เมตร และถนนทั่วไป กว้าง 11.5 เมตร ตลอดรัชกาลพระองค์ได้สร้างถนนมาตรฐานความยาวรวมมากกว่า 5,200 ไมล์ เทียบกับโรมันในยุคใกล้เคียงกันที่สร้างถนนหน้ากว้าง 8.5 เมตร เพียง 3,750 ไมล์เท่านั้น นับว่าจีนก้าวหน้าไปกว่าโรมันมาก การสร้างเมกะโปรเจ็กต์ขยายเครือข่ายถนนในยุคจิ๋นซี นอกจากเป็นการเพิ่มความรวดเร็วในการยกทัพไปยังดินแดนต่างๆซึ่งเป็นประโยชน์ด้านความมั่งคนแล้ว ยังเป็นการสร้างเครือข่ายการคมนาคมขนส่งที่ทำให้เกิดการเดินทางและซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าเชื่อมโยงไปทั่วราชอาณาจักร และด้วยกลยุทธ์สร้างมาตรฐานถนนและเกวียน จึงทำให้ต้นทุนโดยรวมของระบบเศรษฐกิจลดลงอีกด้วย

ด้วยกลยุทธ์การสร้างมาตรฐานนี้ ทำให้ระยะเวลาเพียง 11 ปีที่จิ๋นซีฮ่องเต้ขึ้นครองราชย์ สามารถรวมแผ่นดินจีนได้อย่างเป็นปึกแผ่น แต่ด้วยความเด็ดขาดโหดเหี้ยมภายใต้การปกครองของพระองค์ทำให้เกิดกบฏขึ้นมาหลายแห่งในช่วงปลายรัชสมัยของพระองค์ และทำให้ที่สุดแล้ว ราชวงศ์ฉินมีฮ่องเต้ปกครองเพียง 2 พระองค์ รวมระยะเวลาเพียง 15 ปีเท่านั้น แต่ราชวงศ์ฮั่นที่ปกครองแผ่นดินจีนต่อจากราชวงศ์ฉิน ก็ยังคงใช้กลยุทธ์สร้างมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นราชวงศ์ที่ได้รับประโยชน์จากกลยุทธ์ดังกล่าวจนสามารถครองแผ่นดินจีนได้ยาวนานถึงกว่า 400 ปี

ในยุคต่อๆมา กลยุทธ์การสร้างมาตรฐาน (Standardization Strategy) ยังคงเป็นกลยุทธ์ที่ใช้อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา เพราะอุตสาหกรรมใดที่สร้างมาตรฐานกลางได้มักเติบโตรุ่งเรือง เพราะกลยุทธ์นี้ทำให้เกิดประสิทธิภาพสูง ต้นทุนต่อหน่วยต่ำ ตัวอย่างเช่นเรื่องมาตรฐานหน่วยการวัด ประเทศส่วนใหญ่ได้ตกลงที่จะใช้มาตรฐาน SI (หรือที่เรียกกันว่ามาตรฐานเมตริก) เป็นมาตรฐานกลางของโลก ทำให้คนส่วนใหญ่ใช้หน่วยวัดเดียวกัน ไม่ต้องปวดหัวกับการแปลงหน่วย (ที่น่าแปลกคือ ประเทศสหรัฐอเมริการ ยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจของโลกกลับไม่ยอมใช้มาตรฐานกลางของโลก ทำให้ยังคงความไม่มีประสิทธิภาพค้างในระบบเศรษฐกิจโลก)

ในแง่บริหารธุรกิจ หลายบริษัทได้ใช้กลยุทธ์การสร้างมาตรฐาน เพื่อลดต้นทุนโดยรวมของบริษัท เช่น สายการบินเซาท์เวสต์แอร์ไลน์ (South West Airline) ต้นตำรับสายการบินต้นทุนต่ำของโลก เลือกที่จะบินโดยเครื่องบินรุ่นเดียว (ปัจจุบันคือ โบอิ้ง 737 รุ่นเดียว 752 ลำ) เพื่อลดต้นทุนการบำรุงรักษาโดยรวม เพราะนักบินฝึกบินเครื่องแบบเดียว ช่างบำรุงรักษาเรียนรู้ซ่อมบำรุงเครื่องแบบเดียว อะไหล่ต่างๆก็เตรียมไว้สำหรับเครื่องแบบเดียว ฯลฯ​ ด้วยต้นทุนบำรุงรักษาต่ำกว่าคู่แข่งทำให้สามารถลดราคาให้ผู้โดยสารได้ จึงทำให้ความสามารถในการทำกำไรไม่แพ้คู่แข่งแม้ราคาจะถูกกว่า

หรืออย่าง Starbucks ที่สร้างมาตรฐานของกาแฟและบรรยากาศของร้าน ที่ไม่ว่าจะเข้าร้านสตาร์บัคส์สาขาไหน ก็จะได้รับรสชาติกาแฟและบรรยากาศในร้านแบบเดียวกันทุกแห่ง ทำให้ลูกค้าไม่ว่าจะไปที่ไหน ก็จะเลือกร้านสตาร์บัคส์เพราะรู้ว่าจะได้รับบริการมาตรฐานเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจยุคใหม่มีการใช้กลยุทธ์ตอบสนองเฉพาะราย (Customization Strategy) เพื่อเอาใจลูกค้าบางกลุ่มที่ไม่ได้ต้องการได้รับสินค้าบริการเหมือนๆกับคนอื่น เพียงแต่กลยุทธ์นี้มักทำให้ต้นทุนสูงกว่ากลยุทธ์สร้างมาตรฐาน ดังนั้นการเลือกใช้กลยุทธ์ใด จำเป็นต้องตัดสินใจเลือกให้ดีว่าแบบไหนจะเหมาะสมกับธุรกิจของเรามากกว่า และบางครั้งอาจจะผสมผสานทั้งสองกลยุทธ์เข้าด้วยกันก็สามารถทำได้เช่นกัน

************************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
19 กุมภาพันธ์ 2019
************************************

Sell Less, Profit More กลยุทธ์ ต้นไม้ผลิดอก ของ Apple

เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2018 ที่ผ่านมา บริษัท Apple Inc. กลายเป็นบริษัทแห่งแรกที่มีมูลค่าบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ (Market Capitalization) ทะลุ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ($1 trillion) ด้วยผลประกอบการที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง

SellLessProfitMore.png

แต่เชื่อหรือไม่ว่า ผลประกอบการที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งนี้ แอปเปิลกลับขายโทรศัพท์ iPhone คิดเป็นจำนวนเครื่องได้น้อยลง จากข้อมูลเมื่อไตรมาส 1 ปี 2018 แอปเปิลขาย iPhone ได้น้อยลงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ -1% แต่ยอดขายคิดเป็นจำนวนเงิน กลับเพิ่มขึ้น +12% ยิ่งไปกว่านั้น กำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้นสูงกว่าการเพิ่มยอดขายเสียอีก โดยเพิ่มที่ +16%

กลยุทธ์ของ Apple ตอนนี้เรียกกันว่า Sell Less, Profit More ขายน้อย กำไรมาก ที่ว่าขายน้อย คือจำนวนเครื่องที่ขายได้นั้นน้อยลง (อันที่จริงไม่ถึงกับน้อยลง แต่น่าจะเรียกว่าขายได้พอๆกับที่ผ่านมา) แต่ยอดขายที่เป็นจำนวนเงินนั้นสูงขึ้น เพราะขายสินค้าในราคาที่แพงขึ้น โดย iPhoneX ที่เปิดตัวไปเมื่อปลายปี 2017 มีราคาขายเฉลี่ยสูงขึ้นกว่ารุ่นก่อนหน้า แม้ว่าจะถูกคนวิจารณ์ว่า iPhoneX ไม่มีอะไรใหม่เท่าไหร่นักเมื่อเทียบกับคู่แข่ง แต่สังเกตได้ว่า Apple ได้ตัดรุ่นที่มีหน่วยความจำ RAM น้อยๆไป เหลือแต่รุ่น 64GB และ 256 GB ล่าสุด Apple เปิดตัว iPhone Xs Max ก็เพิ่มรุ่น 512 GB ที่แพงขึ้นไปอีก กลายเป็นว่า ลูกค้า Apple ยินดีที่จะซื้อรุ่นใหม่ หน่วยความจำมากขึ้น ในราคาที่แพงขึ้น ทำให้ราคาขายเฉลี่ยที่ขายจริงของ Apple นั้นสูงขึ้น ส่งผลให้จำนวนเครื่องที่ขายพอๆกับของเดิม แต่ยอดขายเป็นจำนวนเงินกลับเพิ่มขึ้น เพราะขายสินค้าแพงขึ้นนั่นเอง นี่เรายังไม่ได้พูดถึงสินค้า accessories และบริการเพิ่มเติม ที่ Apple ขายในราคาพรีเมียมให้กับลูกค้าที่ภักดีกับแบรนด์ Apple ที่สร้างรายได้อีกมหาศาลอีกด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น Apple ยังสามารถควบคุมต้นทุนได้ดีกว่าเดิม ทำให้ อัตรากำไรขั้นต้นของสินค้าที่ขายได้นั้น สูงกว่าเดิม พูดง่ายๆคือ ขายของแพงขึ้น ทั้งที่ต้นทุนลดลง ทำให้กำไรของ Apple จึงเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่ายอดขายที่เพิ่มขึ้นเสียอีก

กลยุทธ์ที่ Apple ใช้นี้ หากเราจะเปรียบเทียบกับ คัมภีร์ 36 กลยุทธ์สู่ชัยชนะ ของจีนโบราณแล้ว ผมคิดถึงกลยุทธ์ที่ 29 ต้นไม้ผลิดอก (树上开花 ซู่ซ่างไคฮวา) อาจารย์บุญศักดิ์ แสงระวี แปลกลยุทธ์นี้ไว้ว่า ยึดสถานการณ์สร้างกระบวนท่า เล็กแต่ทำใหญ่ นกใหญ่โผบิน ปีกขนช่วยพาสง่างาม ในภาษาอังกฤษเรียกกลยุทธ์นี้ว่า Deck the tree with false blossoms ประดับต้นไม้ด้วยดอกไม้ปลอม นั่นคือ ต้นไม้ที่ไร้ดอกไร้ผล แต่เมื่อเอาดอกไม้ปลอมมาติดไว้ทั่วทั้งต้น คนที่ผ่านมาย่อมเห็นว่าต้นไม้นี้มีดอกบานสะพรั่ง เช่นเดียวกับ Apple ที่พัฒนาสินค้าที่แท้จริงแล้วไม่ได้โดดเด่นเกินกว่าคู่แข่งมากมายอะไร แต่นำการออกแบบผสมกับแบรนด์ท่ีติดตลาด ผนวกกับการเพิ่มหน่วยความจำในโทรศัพท์เข้าไป ทำให้ลูกค้าประทับใจยินดีอุดหนุนในราคาที่แพงกว่าคู่แข่งในตลาด

ด้วยกลยุทธ์ที่ 29 ต้นไม้ผลิดอก นี้ ก็นำพาให้ Apple Inc โผบินทะยานขึ้นท้องฟ้า สร้างมูลค่าหลักทรัพย์ Market Cap ทะลุ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นบริษัทแรกของโลกเลยทีเดียว

************************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
8 ตุลาคม 2561
************************************

กฎคืนหลัง (back-pass Law) จุดเปลี่ยนฟุตบอลพรีเมียร์ลีก เครื่องพิสูจน์แนวคิดสำนักนิติธรรมฝ่าเจีย

ปัญหาใหญ่ข้อหนึ่งซึ่งมักพบในองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะขนาดเล็กอย่างครอบครัว หรือจะใหญ่โตระดับประเทศ นั่นคือ ทำอย่างไรจึงจะทำให้คนในองค์กรประพฤติไปในทิศทางเดียวกัน ปัญหานี้มีการคิดค้นแนวทางแก้ปัญหามาตั้งแต่ยุคโบราณ ในแผ่นดินจีนตั้งแต่ยุคสองพันกว่าปีก่อนก็ได้เกิดแนวคิดแก้ปัญหานี้ออกเป็น 2 สำนัก สำนักหนึ่งเรียกว่า สำนักคุณธรรม หรือ หรูเจีย (儒家) ซึ่งมี ขงจื้อ เป็นเจ้าสำนัก โดยมีแนวคิดหลักว่า จะต้องสั่งสอนให้คนเป็นคนดีมีคุณธรรม เมื่อสมาชิกในองค์กรเป็นคนดีแล้ว ก็ย่อมจะประพฤติในแนวทางที่ดี เกิดประโยชน์ต่อองค์กร ส่วนอีกสำนักหนึ่งคือ สำนักนิติธรรม หรือ ฝ่าเจีย (法家) นำโดยหันเฟย ที่เสนอแนวทางว่า ต้องมีกฎหมายออกมาให้ชัดเจน ใครทำผิดกฎหมาย ต้องถูกลงโทษ บังคับใช้กฎหมายกับทุกคน อย่างเที่ยงธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ เมื่อทำเช่นนี้แล้ว องค์กรจะขับเคลื่อนไปได้อย่างเข้มแข็ง ในยุคจ้านกว๋อ รัฐฉินได้ใช้แนวคิดสำนักนิติธรรมบริหารประเทศ เริ่มจากการปฏิรูปซางยาง ทำให้รัฐฉินก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจ และในที่สุดก็รวมแผ่นดินจีนได้ในยุคของจิ๋นซีฮ่องเต้

ในโลกยุคปัจจุบัน ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า แนวคิดไหนจึงจะส่งผลดีที่สุดต่อองค์กร ซึ่งมีกรณีศึกษาหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือ การปรับปรุงเกมฟุตบอลให้เปลี่ยนจาก เกมรับที่น่าเบื่อในยุคปลายทศวรรษ ’80 ให้กลายเป็นเกมที่สนุกยิ่งขึ้นในต้นทศวรรษ ’90 เรื่องของเรื่องก็คือ การทำทีมฟุตบอลในยุคปลายทศวรรษ ’80 ได้เน้นกลยุทธ์ตั้งรับเป็นหลัก เพราะโค้ชต้องการเน้นที่ผลลัพธ์การแข่งขัน โดยไม่สนใจว่าเกมจะสนุกหรือไม่ ส่งผลให้ฟุตบอลโลก 1990 มีการยิงประตูเฉลี่ยกันเพียง 2.21 ประตูต่อเกมเท่านั้น ซึ่งต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์บอลโลก และที่แย่ไปกว่านั้นคือ เมื่อทีมใดทีมหนึ่งนำอยู่ กองหลังก็จะครองบอลไว้ เมื่อฝ่ายตรงข้ามพยายามมาแย่งบอล ก็จะส่งบอลคืนโกล์ โกล์ก็จะรับบอล หยิบบอลขึ้นมา และส่งไปให้กองหลัง กองหลังก็จะทำซ้ำๆอีก ไม่ได้พยายามเปิดเกมบุกไปข้างหน้าเลย หรือในฟุตบอลยุโรป 1992 เดนมาร์กได้กลายเป็นแชมป์บอลยุโรปได้ด้วยกลยุทธ์นี้ โดยเฉพาะใน 5 นาทีสุดท้ายซึ่งตอนนั้นเดนมาร์กนำเยอรมันอยู่ 2:0 ปีเตอร์ ชไมเคิล นายประตูทีมเดนมาร์ก ได้พูดถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “ทุกครั้งที่เราเข้าไปในแดนของเยอรมันและหาคนที่จะส่งบอลให้ไม่ได้ เราก็จะหันกลับและส่งบอลกลับมาที่ผม และผมก็หยิบลูกบอลขึ้นมา นี่เราเอาชนะการแข่งขันด้วยการเล่นแบบนี้ได้ยังไง?!” ก่อนหน้านั้นที่น่าเกลียดคือ เกมยูโรเปี้ยนคัพระหว่าง กลาสโกว์เรนเจอร์ กับ ไดนาโมเคียฟ เมื่อปี 1987 ขณะที่ เรนเจอร์นำอยู่ 2-1 แกรม ซูเนสส์ มิดฟิลด์ของเรนเจอร์ ได้บอลในแดนไดนาโมเคียฟ แต่เขากลับหันหลังกลับแล้วส่งบอลยาว 70 หลา กลับมาหาผู้รักษาประตูฝ่ายเขา!!

ความพยายามที่จะชักชวนให้แต่ละทีมเล่นเกมให้สนุกด้วยความสมัครใจนั้นแทบไม่ได้ผล ในที่สุด ฟีฟ่าจึงประกาศแก้ไขกฎคืนหลัง (back-pass law) แต่เดิมผู้รักษาประตูหรือโกล์สามารถใช้มือรับลูกบอลที่เตะกลับมาจากผู้เล่นทีมเดียวกัน แต่กฎใหม่ไม่สามารถทำได้ เว้นแต่การรับบอลจากการโหม่ง, หัวไหล่, เข่า หรือทุ่มลูกกลับมา กฎนี้บังคับให้โกล์ต้องใช้เท้ามากขึ้นกว่าแต่ก่อน

กฎคืนหลังแบบใหม่นี้ ได้เริ่มใช้งานจริงในฤดูกาล 1992/93 ซึ่งเป็นปีแรกของการตั้งฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ในปีก่อนหน้า แชมป์ลีกสูงสุด (ตอนนั้นคือ ดิวิชั่น 1) คือทีมลีดส์ยูไนเต็ด เป็นทีมที่เล่นสไตล์โยนยาวไปให้ศูนย์หน้าร่างใหญ่เข้าทำประตู โฮเวิร์ด วิลกินสัน ผู้จัดการทีมลีดส์ยูไนเต็ด ประกาศตอนต้นฤดูกาลว่า “ถ้ากฎใหม่มาจากแนวคิดว่าจะทำให้เกมฟุตบอลดีขึ้น ผลที่ออกมาจะพิสูจน์ให้เห็นว่ามันเป็นตรงกันข้าม กฎใหม่เหมือนกับอาหารจากสวรรค์สำหรับโค้ชที่ชอบเกมโยนยาวเลยล่ะ” แต่ผลที่ออกมากลับไม่ได้เป็นอย่างนั้น ลีดส์ยูไนเต็ด กลายเป็นทีมที่เกิดความเสียหายมากที่สุดเมื่อเริ่มใช้กฎส่งกลับแบบใหม่ เพราะแต่เดิมกองหลังจะส่งบอลกลับมาให้โกล์รับ จากนั้น โกล์ก็จับบอลแล้วเตะยาวไปข้างหน้าจนถึงแดนหลังของฝ่ายตรงข้ามเพื่อเข้าทำประตู แต่พอมีกฎใหม่ โกล์ไม่สามารถรับบอลจากกองหลังแล้วมาโยนเตะได้ แต่ต้องเตะบอลจากพื้นซึ่งไปไกลเพียงตอนกลางสนามเท่านั้น แทคติกที่ลีดส์เคยใช้ได้ผลจนเป็นแชมป์ กลับไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป จบฤดูกาลนั้น ลีดส์กลายมาอยู่อันดับที่ 17 แทบตกชั้นเลยทีเดียว

โดยรวมแล้ว กฎใหม่สร้างแรงกดดันให้กองหลังทำผิดพลาดได้ง่ายเมื่อลังเลว่าจะส่งคืนโกล์หรือจะเตะทิ้งดี ส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ เพราะมันสร้างแรงจูงใจให้ทำเกมบุกเพรสซิ่งฝ่ายตรงข้ามเพื่อกดดันให้กองหลังทำผิดพลาด ส่งผลให้โค้ชพยายามขยับเกมรับให้พ้นจากแนวหลังเพื่อป้องกันความผิดพลาด ทำให้เกมตรงกลางเปิดมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้จังหวะเกมเร็วขึ้นกว่าเดิม และสร้างความสนุกให้กับผู้ชมมากยิ่งขึ้น

ทีมที่คว้าโอกาสทองจากการเปลี่ยนกฎนี้ ก็คือ ทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ซึ่งเพิ่งได้ ปีเตอร์ ชไมเคิล มาเป็นโกล์มือหนึ่งของทีม ชไมเคิลเป็นโกล์ร่างยักษ์สูง 191 ซม. ที่สามารถขว้างบอลได้ไกลและแม่นยำ ชอบตะโกนสั่งการเพื่อนร่วมทีม และเป็นโกล์ที่มีส่วนร่วมในเกมรุกของทีม หลายครั้งที่ทีมตามอยู่ ช่วงใกล้หมดเวลา หากทีมได้ลูกเตะมุม ชไมเคิลจะขึ้นไปสร้างโอกาสทำประตู เขาเคยถูกเป่าฟาวล์ล้ำหน้า ซึ่งน่าจะเป็นโกล์คนแรกที่ทำฟาวล์ข้อนี้ บทบาทของผู้รักษาประตูหลังเปลี่ยนกฎได้เปลี่ยนไปจากคนที่ช่วยทีมในเกมรับอย่างเดียว กลายเป็นตำแหน่งที่มีส่วนร่วมทั้งเกมรับและเกมรุก อย่างที่ชไมเคิลโชว์ผลงานให้เห็น ส่งผลให้สโมสรฟุตบอลในอังกฤษต้องนำเข้าโกล์จากต่างประเทศเข้ามา เพราะโกล์อังกฤษไม่ถนัดกับบทบาทใหม่ จนทำให้ในฤดูกาลที่สองของพรีเมียร์ลีก มีโกล์ที่เป็นชาวต่างชาติถึง 10 ทีมจากทีมทั้งหมด 20 ทีมเลยทีเดียว

ตัวอย่างการเปลี่ยนกฎคืนหลังนี้เป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการใช้แนวคิดสำนักนิติธรรม ฝ่าเจีย ที่ต้องประกาศใช้กฎเกณฑ์นำไปสู่การปรับพฤติกรรมคนในองค์กรไปในแนวทางที่ผู้นำองค์กรต้องการ อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์จีนได้พิสูจน์ให้เห็นหลายต่อหลายครั้งว่า การใช้แต่แนวคิดฝ่าเจีย ด้วยการใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดเพียงอย่างเดียว มักทำให้องค์กรอยู่ได้ไม่นาน ราชวงศ์ฉินที่รวมแผ่นดินจีนได้กลับปกครองอยู่ได้เพียง 15 ปีเท่านั้น แต่ราชวงศ์ฮั่นที่ใช้แนวคิดสำนักคุณธรรม หรูเจีย ของขงจื้อ กลับปกครองแผ่นดินได้นานถึงสี่ร้อยกว่าปี ดังนั้น การบริหารองค์กรใดๆจำเป็นต้องใช้แนวคิดสำนักนิติธรรม ควบคู่กับสำนักคุณธรรม ไปด้วยกัน จึงจะยั่งยืน

************************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
2 มีนาคม 2561
************************************

กลยุทธ์โฟกัสของ Oppo

จากตัวเลขยอดขายในปี 2016 ที่รายงานโดย IDC ปรากฏว่า Oppo ได้ประกาศศักดาก้าวเป็นอันดับหนึ่งของตลาดสมาร์ตโฟนในประเทศจีน ด้วยส่วนแบ่งตลาด 16.8% แซงหน้า Xiaomi, Huawei, Apple ถือว่าเป็นก้าวย่างสำคัญของแบรนด์โทรศัพท์จากมณฑลกว่างตงแห่งนี้ (vivo อันดับ 4 ก็เป็นแบรนด์ภายใต้บริษัทแม่เดียวกันกับ Oppo นั่นคือ BBK Electronics) โดยในปีก่อนหน้า Oppo ยังอยู่อันดับที่ 4 ที่ส่วนแบ่งตลาดในจีนเพียง 8.2% เท่านั้น ภายในปีเดียว Oppo มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มมาเท่าตัว แล้ว Oppo ทำได้อย่างไร?

ChinaSmartPhoneMarketShare2016

กลยุทธ์ที่ Oppo เลือกใช้ก็คือ กลยุทธ์โฟกัส ซึ่งเป็นไปตามตำราพิชัยสงครามซุนวู บทที่ 6 ตื้นลึกหนาบาง เขียนไว้ว่า “เรารวมศูนย์ แต่ศัตรูกระจาย เรารวมเป็นหนึ่ง ศัตรูกระจายเป็นสิบ เอาสิบไปตีหนึ่งของศัตรู เราก็มากแต่ศัตรูน้อย เมื่อเอามากไปตีน้อยจึงเอาชนะได้โดยง่าย”

Oppo โฟกัสในทุกด้านของธุรกิจ ในด้านผลิตภัณฑ์ Oppo มุ่งเน้นพัฒนาโทรศัพท์ที่มีจุดเด่น 2 อย่างเท่านั้น นั่นคือ ถ่ายรูปสวย และแบตเตอรี่อยู่ได้นานด้วยการชาร์จสั้นกว่าคนอื่น การทุ่มเททรัพยากรการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปที่จุดเด่นสองอย่างที่เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ทำให้ Oppo สามารถตามทันผู้นำตลาดเดิมที่มีทรัพยากรในการพัฒนามากกว่าได้ แต่หาก Oppo คิดจะพัฒนาโทรศัพท์ให้เด่นในทุกด้าน ก็ย่อมสู้ผู้นำในตลาดโลกอย่าง Apple และ Samsung ได้ยาก

ในด้านการขาย ขณะที่คนอื่นทุ่มเทไปกับช่องทางออนไลน์ Oppo กลับมุ่งเน้นไปที่ช่องทางการขายดั้งเดิมพวกร้านค้าและตู้ขายมือถือ การมุ่งเน้นกลุ่มนี้ทำให้ Oppo สามารถให้ margin กับตัวแทนจำหน่าย Oppo ได้มากกว่าคู่แข่ง ทำให้เมื่อมีคนมาหาซื้อมือถือที่ร้าน ที่ร้านย่อมเชียร์ให้ซื้อ Oppo ที่ทำให้ร้านได้กำไรมากกว่านั่นเอง

ในด้านการโฆษณา ผมเคยคุยกับผู้บริหารด้านโฆษณาของ Oppo เขาบอกผมว่า โจทย์เขาชัดเจนมาก นั่นคือ กลุ่มเป้าหมายของเขาคือกลุ่มวัยรุ่น เขาจึงโฆษณาในรายการเรียลลิตี้ โดยเฉพาะการร้องเพลง ในเวลาไพรม์ไทม์ พรีเซ็นเตอร์ของเขาต้องเป็นคนดังที่สุดสำหรับวัยรุ่นในตอนนี้ เขาไม่สนใจลงโฆษณาที่ไม่ตรงตามโจทย์นี้เลย เมื่อโจทย์ชัดเจน ทีมงานก็ทำงานได้อย่างชัดเจน ส่งผลให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้รับสารที่ Oppo สื่อไปได้อย่างชัดเจนเช่นกัน อย่างในเมืองไทย Oppo โฆษณาในรายการร้องเพลงทั้ง The Voice Thailand และ The Mask Singer หน้ากากนักร้อง จนคนจดจำแบรนด์ได้ทั่วบ้านทั่วเมือง

ด้วยกลยุทธ์โฟกัสอย่างนี้ ทรัพยากรของ Oppo จึงทุ่มเทไปยังจุดที่เขามุ่งเน้นจุดเดียว ทำให้เกิดพลังมหาศาลตามที่ซุนวูว่าไว้”เรารวมศูนย์ แต่ศัตรูกระจาย เรารวมเป็นหนึ่ง ศัตรูกระจายเป็นสิบ เอาสิบไปตีหนึ่งของศัตรู เราก็มากแต่ศัตรูน้อย เมื่อเอามากไปตีน้อยจึงเอาชนะได้โดยง่าย” จนทำให้ Oppo ก้าวขึ้นอันดับหนึ่งในประเทศจีนได้นั่นเอง

*******************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
24 เมษายน 2560
*******************************

เครดิตภาพจาก China Daily Asia

กลยุทธ์ยืมซากคืนชีพ กับกลยุทธ์ซื้อหุ้นกลุ่มอุตฯที่ให้ผลตอบแทนแย่ที่สุดในปีที่ผ่านมา

มีกลยุทธ์การลงทุนแบบหนึ่งที่แนะนำให้นักลงทุนเลือกซื้อหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีผลตอบแทนแย่ที่สุดในปีที่ผ่านมา และถือเอาไว้หนึ่งปี พอครบปีก็ขายออกไปและทำเช่นเดิมซ้ำอีก กลยุทธ์นี้มีสมมติฐานที่ว่า การลงทุนแบบสวนกระแส (Contrarian) จะสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าการลงทุนแบบตามคนส่วนใหญ่ เพื่อพิสูจน์ความน่าเชื่อถือของกลยุทธ์นี้ มีนักวิเคราะห์กลยุทธ์หุ้นคนหนึ่งที่ชื่อว่า Kim Iskyan แห่ง True Wealth Publishing สิงคโปร์ ได้รวบรวมข้อมูลจาก Bloomberg ย้อนหลัง 10 ปี โดยใช้ดัชนี Bloomberg World Asia-Pacific เป็นตัวแทนตลาด และแยกกลุ่มอุตสาหกรรมออกเป็น 10 กลุ่ม นำมาทำตารางตามรูป โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนลงทุนดีที่สุดของปีจะใส่สีเขียวเอาไว้ ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนแย่ที่สุดก็เป็นสีแดง


จากภาพ จะเห็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดไม่สามารถรักษาแชมป์ในปีถัดไปได้เลย ดังนั้นกลยุทธ์ที่ซื้อหุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดในปีที่ผ่านมาโดยคาดว่าปีถัดไปจะยังคงดีเช่นเดิมนั้น เป็นกลยุทธ์ที่ใช้ไม่ได้ผล  มีบางปีกลุ่มที่ดีที่สุดกลายเป็นกลุ่มที่แย่ที่สุดในปีถัดไปเลย อย่างปี 2014 ที่หุ้นกลุ่มสินค้าปลีก (Consumer Discretionary) ให้ผลตอบแทน -3% ทั้งๆที่ปีก่อนหน้ามีผลตอบแทนถึง 25%

ส่วนกลยุทธ์ที่ซื้อหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนแย่ที่สุดในปีที่ผ่านมา กลับให้ผลตอบแทนสูงกว่าตลาด 7 ปีจากทั้งหมด 10 ปี (ยกเว้นปี 2012, 2013, 2014) และหากเราใช้กลยุทธ์นี้ทุกปีตั้งแต่ปี 2008 เราจะได้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 13% ขณะที่ตลาด (ดัชนี Bloomberg World Asia-Pacific) ได้ผลตอบแทนเพียง 6% ต่อปี หรือพูดได้ว่า กลยุทธ์นี้เอาชนะตลาดถึง 7% ต่อปีเลยทีเดียว สำหรับปี 2017 นี้ กลยุทธ์นี้จะแนะนำให้ซื้อหุ้นกลุ่มสาธารณูปโภค (Utilities Sector) และกลุ่มสุขภาพ (Healthcare) เพราะเมื่อปีที่แล้ว หุ้นสองกลุ่มนี้ให้ผลตอบแทน -9% แย่ที่สุดในตลาด

กลยุทธ์ซื้อหุ้นที่มีผลตอบแทนแย่ที่สุดในปีที่ผ่านมานี้ ดูๆไปก็เหมือนกับกลยุทธ์ที่ 14 จากคัมภีร์ 36 กลยุทธ์แห่งชัยชนะของจีน นั่นคือ กลยุทธ์ยืมซากคืนชีพ (借尸还魂 เจี้ยซือหวนหุน) ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ให้หาประโยชน์จากสิ่งที่ดูเหมือนตายไปแล้วหรือไร้ประโยชน์ ในกรณีนี้ หุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนแย่ที่สุดในปีที่ผ่านมาก็เหมือนกับซากศพที่ใครๆไม่สนใจ แต่เมื่อไปลงทุน ซากนั้นกลับกลายมีชีวิตขึ้นมา ให้ผลตอบแทนดีกว่าตลาดในปีต่อมานั่นเอง

*******************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
5 กุมภาพันธ์ 2560
*******************************

หัวเหว่ย ร่วมมือกับ ไลก้า : กลยุทธ์คบไกลตีใกล้

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2016 หัวเหว่ย (Huawei) ผู้ประกอบการโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของจีน ได้ประกาศความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับ ไลก้า (Leica) ผู้ผลิตกล้องถ่ายรูปชั้นนำของโลกจากเยอรมัน ที่จะพัฒนาการถ่ายรูปบนสมาร์ทโฟน สองเดือนต่อมา หัวเหว่ย ก็ออกโทรศัพท์รุ่น P9 ที่ไลก้าร่วมพัฒนากล้องถ่ายรูปเข้าสู่ตลาด สร้างความสั่นสะเทือนในวงการโทรศัพท์มือถือไปทั่วโลก

huawei_leica_distantneighbor

หากเราย้อนไปดูเส้นทางของหัวเหว่ยในธุรกิจโทรศัพท์มือถือ พบว่า เมื่อปี 2010 หัวเหว่ย มีส่วนแบ่งตลาดโทรศัพท์มือถือทั้งโลกอยู่ที่ 1.7% เป็นอันดับที่ 10 ของโลก ต่อจากนั้น ก็เติบโตอย่างก้าวกระโดด ไต่อันดับขึ้นมาจนเป็นอันดับ 3 ของโลกในปี 2012 ด้วยส่วนแบ่งตลาด 2.9% และยังคงเติบโตต่อเนื่องจนถึงปี 2015 ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มเป็น 8.2% ครองอันดับ 3 ของโลก ตามหลังอันดับสองอย่าง Apple ที่มีส่วนแบ่งตลาด 18.7% อยู่ 10%

กลยุทธ์ที่หัวเหว่ยใช้ในการเติบโตที่ผ่านมา นั่นคือ เป็นโทรศัพท์ราคาถูก ที่มีคุณภาพสินค้าคุ้มค่ากว่าราคา แต่หากหัวเหว่ยต้องการจะขึ้นเป็นอันดับสอง หรืออันดับหนึ่ง จำเป็นต้องมีกลยุทธ์ที่มากกว่านั้น เพราะ Samsung และ Apple ต่างมีชื่อเสียงในเรื่องนวัตกรรม ทำให้ขายสินค้าได้แพงกว่ามาก ผู้บริโภคยังไม่รู้สึกว่า แบรนด์ Huawei เป็นแบรนด์พรีเมียมแต่อย่างใด แล้วกลยุทธ์ใดที่จะทำให้หัวเหว่ยก้าวกระโดดต่อไปได้ล่ะ

การจับมือกับ Leica คือคำตอบเชิงกลยุทธ์ที่หัวเหว่ยเลือก เพราะในสมัยนี้ การถ่ายรูปด้วยโทรศัพท์มือถือเป็นฟังก์ชั่นการใช้งานหลักที่ผู้บริโภคใช้ ใครๆก็อยากถ่ายรูปออกมาให้สวย ถ้า Huawei พัฒนาเทคโนโลยีกล้องด้วยตัวเอง จะทำให้ดีแค่ไหน คนก็ยังไม่รับรู้ว่าเป็นระดับโลก แต่ ไลก้า เป็นแบรนด์ระดับโลกในด้านเลนส์ถ่ายภาพ เมื่อ หัวเหว่ย จับมือกับไลก้า คนรับรู้ทันทีว่านี่คือโทรศัพท์ที่คุณสมบัติการถ่ายรูปที่ดีที่สุด ในขณะเดียวกัน ไลก้า เองก็สามารถเข้าสู่ตลาดโทรศัพท์มือถือได้โดยไม่ต้องสร้างเทคโนโลยีทั้งหมดเอง เพียงแต่เอาแบรนด์ของตนเองมาต่อยอดกับ Huawei เท่านั้น

ผลลัพธ์ของกลยุทธ์นี่ทำให้ในปี 2016 หัวเหว่ย มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มมาอีก 1% กลายเป็น 9.3% ตามติด Apple ที่ส่วนแบ่งตลาดลดลงเหลือเพียง 12.5% ห่างกันเพียง 3% เท่านั้น ภายในเวลา 1 ปี ช่องว่างระหว่างเบอร์ 2 กับเบอร์ 3 ลดลงจาก 10% เหลือเพียง 3% เท่านั้น ขณะที่ ผู้บริโภครับรู้ว่าแบรนด์ Huawei ไม่ใช่แบรนด์ของถูกอย่างเดียวแล้ว นับว่า เป็นผลลัพธ์ที่ดีกว่าที่หลายคนคาดทีเดียว นั่นทำให้ Huawei ขยับหมากไปอีกขั้นด้วยการประกาศตั้ง ศูนย์วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ Leica ที่ประเทศเยอรมัน ในชื่อว่า Max Berek Innovation Lab เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการถ่ายภาพบนโทรศัพท์มือถือ รวมไปถึงเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) และ VR (Virtual Reality) ในเดือนกันยายน 2016 ส่งผลให้ทั่วโลกจับตาดูว่า ปี 2017 นี้ Huawei กับ Leica จะเปิดตัวสินค้าใหม่ตัวไหนเข้ามาสั่นสะเทือนตลาดโลกอีกครั้ง

หากเรามองจังหวะการเคลื่อนไหวเชิงกลยุทธ์ของ Huawei ด้วยสายตานักพิชัยสงคราม เราจะนึกออกทันทีว่า หัวเหว่ย กำลังใช้กลยุทธ์ที่ 23 ของตำรา 36 กลยุทธ์สู่ชัยชนะ ซึ่งเป็นคัมภีร์พิชัยสงครามโบราณของจีน นั่นคือ กลยุทธ์ คบไกลตีใกล้ (遠交近攻 หยวนเจียวจิ้นกง) กลยุทธ์นี้มีที่มาจากในยุคจ้านกว๋อ เว่ยหร่าง สมุหนายกแคว้นฉิน เสนอต่อ ฉินเจาเซียงอ๋อง ว่า แคว้นใกล้เคียงแข็งขืนต่อแคว้นฉินก็เพราะมีแคว้นฉีที่อยู่ไกลหนุนหลังอยู่ เราจึงควรยกทัพไปโจมตีแคว้นฉีที่อยู่ไกลก่อน เพื่อให้ทุกแคว้นหวาดกลัว ไม่กล้าเป็นพันธมิตรกับฉี แต่ ฟ่านซุย ขุนนางอีกคนรีบคัดค้าน บอกว่า การโจมตีแคว้นฉีที่อยู่ไกลทำได้ยาก กองทัพต้องเดินทางไกลและเหนื่อยยาก หากข้าศึกรวมตัวกันโจมตีแคว้นเรา กองทัพจะถอนทัพกลับมาไม่ทัน ดังนั้น แคว้นฉินควรผูกมิตรกับแคว้นไกล โจมตีแคว้นใกล้ ฉินเจาเซียงอ๋อง เห็นด้วยกับฟ่านซุย จึงปลดเว่ยหร่าง และแต่งตั้ง ฟ่านซุย ขึ้นเป็นสมุหนายก ขับเคลื่อนกลยุทธ์คบไกลตีใกล้ และด้วยกลยุทธ์นี้ ทำให้แคว้นฉินทยอยเอาชนะแคว้นใกล้ก่อน และในที่สุดก็รวมประเทศจีนได้สำเร็จ

คำว่า คบไกลตีใกล้ ในเรื่องของหัวเหว่ย ไม่ได้หมายถึง หัวเหว่ย แบรนด์จีน ไปคบกับ ไลก้า แบรนด์เยอรมัน ที่อยู่ไกล แต่ไกลในที่นี้คืออยู่คนละธุรกิจกัน หัวเหว่ย ในธุรกิจมือถือ ไปคบกับ ไลก้า จากธุรกิจเลนส์ถ่ายภาพ เพื่อไปตี ใกล้ นั่นคือ ตลาดมือถือ นั่นเอง ข้อคิดในเรื่องนี้คือ การคิดหากลยุทธ์เพื่อชัยชนะ บางครั้งเราต้องมองไปยังธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่ธุรกิจที่เราอยู่ เพื่อดูว่า เราจะสามารถสร้างพันธมิตร สร้างโอกาสจากธุรกิจอื่น เพื่อมาเสริมธุรกิจของเราได้หรือไม่ นั่นเอง

*******************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
29 มกราคม 2560
*******************************