เมื่อปี 1919-1920 หรือราวร้อยปีก่อน โลกเคยเจอการระบาดของไข้หวัดใหญ่ครั้งร้ายแรง เรียกกันว่า ไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish Flu) ครั้งนั้นมีผู้ติดเชื้อทั่วโลกไป 500 ล้านราย และประมาณกันว่า มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกราว 17-50 ล้านราย ครั้งนั้นเรียกว่า ไข้หวัดใหญ่สเปน เพราะเริ่มระบาดจากประเทศสเปน
จากข้อมูลที่มีเผยแพร่ไม่กี่วันที่ผ่านมา พบว่า ประเทศไทยก็ประสบภาวะโรคระบาดไข้หวัดใหญ่เช่นกัน มีหลักฐานเป็น แจ้งความกระทรวงมหาดไทย ลงในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๔๖๒ เล่ม ๓๖ หน้า ๑๑๙๓ โดยสรุปความว่า ในปี พ.ศ. 2462 ประเทศไทยของเรา มีประชากร 9,207,355 คน มีป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ 2,317,662 ราย คิดเป็น 25.2% ของประชากร และมีผู้เสียชีวิตจำนวน 80,223 ราย คิดเป็นอัตรา 3.5% ของผู้ป่วย

พอเห็นตัวเลขดังกล่าว ทำให้ผมคิดไปถึง รายงานการคาดการณ์การระบาดและมาตรการในระยะที่ 3 โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของ ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ที่มีการเผยแพร่อย่างไม่เป็นทางการออกมาเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ในรายงานดังกล่าว ได้คาดการณ์สถานการณ์เป็น 3 ฉากทัศน์ (scenario ต่อไปผมขอใช้ scenario แทนนะครับ เพราะน่าจะเข้าใจง่ายกว่า) ได้แก่ รุนแรงที่สุด, ชะลอการระบาดได้พอสมควร และ ควบคุมโรคได้ดี

Scenario รุนแรงที่สุด นั้น คาดการณ์ว่า จะมีผู้ติดเชื้อแสดงอาการในปี 2563 จำนวน 16.8 ล้านคน ประชากรไทยปัจจุบันมีจำนวน 66.5 ล้านคน หากไม่ป้องกันใดๆ ซึ่งก็น่าจะคล้ายกับเมื่อร้อยปีก่อน เอาสถิติเก่าที่มีผู้ติดเชื้อ 25.2% ของประชากร คูณ 66.5 ล้านคน ก็จะได้จำนวนผู้ติดเชื้อ 16.6 ล้านคน ใกล้เคียงกับที่ กระทรวงสาธารณสุขคาดการณ์ในรายงานฯดังกล่าว ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อแสดงอาการในปี 2563 เท่ากับ 16.8 ล้านคน
และถ้าเราดูอัตราการตายจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ทั่วโลก ณ ตอนนี้ อยู่ที่ 4-5% เทียบกับสถิติของไข้หวัดใหญ่ในไทยเมื่อร้อยปีก่อน ที่มีอัตราการตาย 3.5% ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด ก็ถือว่าใกล้เคียงกันมาก

แต่ผมว่า เราคงไม่ได้มุ่งหน้าที่ scenario ร้ายแรงแบบนั้น เพราะ ณ พ.ศ.นี้ ความรู้ทางการแพทย์ได้พัฒนาไปมาก ทำให้มีองค์ความรู้ที่จะหาทางบรรเทาวิกฤติ ผสมผสานกับการร่วมมือร่วมแรงใจกันลดการระบาดของโรค ด้วยมาตรการหลายประการ จึงทำให้เราหวังว่า สถานการณ์จะเป็นไปตาม Scenario ที่ 3 คือควบคุมโรคได้ดี นั่นคือ มีผู้ติดเชื้อแสดงอาการในปี 2563 ที่ 9,100 คน แต่การระบาดสูงสุดจะไปเกิดในปีหน้าที่อาจมีผู้ติดเชื้อสูงถึง 398,000 คน หรือ 0.6% ของประชากร แต่ ณ เวลานั้น ยารักษาโรค รวมถึง วัคซีนป้องกันโรค อาจจะพัฒนาสำเร็จแล้วก็ได้
จากข้อมูลที่ว่ามา ผมอยากให้เตรียมตัวรับวิกฤตินี้แบบยาวๆ อย่าคิดว่ามันจะผ่านไปอย่างรวดเร็วภายในเดือนสองเดือน แต่ถ้าทุกคนร่วมแรงร่วมใจกัน เราจะช่วยกันทำให้ความรุนแรงของวิกฤติลดต่ำลงจนระบบสาธารณสุขของเรารองรับได้ แล้วในที่สุด เราจะผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกันครับ
******************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
30 มีนาคม 2020
******************************