ในตลาดหุ้นมักมีนักวิเคราะห์พยายามจับคู่เหตุการณ์ต่างๆที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวกันมาพยากรณ์ว่า ตลาดหุ้นจะไปในทางทิศทางไหน ล่าสุด เมื่อเดือนสิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา มีการแข่งขันโอลิมปิคฤดูร้อนที่บราซิล ที่เรียกว่า ริโอ 2016 (Rio 2016) ปรากฏว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาได้กวาดเหรียญรางวัลสูงสุด เป็นเจ้าเหรียญทองโอลิมปิค โดยได้เหรียญทอง 46 เหรียญ ก็มีคนสนใจว่า จริงๆแล้วมีความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าเหรียญทองโอลิมปิคกับผลตอบแทนตลาดหุ้นของประเทศนั้นหรือเปล่า? ซึ่งผลการวิเคราะห์ในอดีตพบว่า มันมีความสัมพันธ์กันจริงๆ
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยแล้ว ตลาดหุ้นของประเทศเจ้าเหรียญทองโอลิมปิคทั้งฤดูร้อนและฤดูหนาว จะมีผลตอบแทนดีกว่า ดัชนี MSCI World ที่เป็นดัชนีตลาดหุ้นของโลก ในช่วงเวลาไม่กี่เดือนหลังโอลิมปิคสิ้นสุดลง ตัวอย่างเช่น โอลิมปิค ฤดูร้อน 1996 สหรัฐอเมริกาชนะเป็นเจ้าเหรียญทอง หนึ่งปีถัดมา (คือจาก 4 ส.ค. 1996 ถึง 4 ส.ค. 1997) ดัชนี MSCI World Index เพิ่มขึ้น 26% ขณะที่ ดัชนี S&P500 ซึ่งเป็นตัวแทนตลาดหุ้นสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 43% เอาชนะตลาดหุ้นโลกไปได้ถึง 17%
ในปี 2008 โอลิมปิคฤดูร้อน ประเทศจีนเป็นเจ้าภาพ และเอาชนะเป็นเจ้าเหรียญทองไปได้ ปีต่อมาหลังโอลิมปิค ดัชนี MSCI World Index ตกลง 19% ขณะที่ ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิท (Shanghai Composite Index) ตัวแทนของตลาดหุ้นจีนกลับเพิ่มขึ้น 25% หมายความว่า เอาชนะตลาดหุ้นโลกไปได้ถึง 43%
จากตาราง ถ้าดูย้อนหลัง 20 ปี จากโอลิมปิค 10 ครั้ง ตลาดหุ้นของประเทศเจ้าเหรียญทองเอาชนะตลาดหุ้นโลกได้ 6 ครั้ง ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์เฉลี่ยอยู่ที่ 4%, ถ้าเราดูระยะเวลาหลังโอลิมปิคเพียง 3 เดือน จะพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วเจ้าเหรียญทองจะเอาชนะตลาดหุ้นโลกได้ราว 6% และถ้าเราดูที่ 6 เดือน ตัวเลขก็จะเป็น 6% เช่นกัน
ถ้าเราดูให้ละเอียดแล้ว จะพบว่า ตัวเลขที่ต่างกันมาก มีน้ำหนักจากโอลิมปิค 2008 ที่จีนเป็นเจ้าเหรียญทอง อย่างไรก็ตาม ถ้าเราถอดโอลิมปิค 2008 ออกไป ตัวเลขตลาดหุ้นเจ้าเหรียญทองก็ยังดีกว่าตลาดโลกอยู่ดี โดยเฉพาะถ้าเราดูที่ระยะเวลา 3 เดือนและ 6 เดือนหลังโอลิมปิค
ทำไมตลาดหุ้นประเทศเจ้าเหรียญทองถึงดีกว่าตลาดหุ้นโลกได้? เป็นไปได้ว่า การชนะเป็นเจ้าเหรียญทองน่าจะเป็นผลจากการที่ประเทศนั้นได้ลงทุนในกีฬามาก่อนหน้า ซึ่งประเทศที่จะมีเงินลงทุนในกีฬามักมาจากประเทศที่มีเศรษฐกิจกำลังเติบโต ซึ่งส่งผลให้ตลาดหุ้นหลังโอลิมปิคไม่กี่เดือนมีผลตอบแทนดีไปด้วย ดังนั้น ถ้าเราเชื่อทฤษฎีนี้ ก็คงต้องไปเลือกซื้อกองทุนที่อิงกับดัชนี S&P500 ของสหรัฐอเมริกา แต่บอกตามตรง ผมไม่รับประกันกำไรนะครับ
*******************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
26 สิงหาคม 2559
*******************************
เครดิตข้อมูลจาก http://www.truewealthpublishing.asia