เงินถุงแดง Emergency Fund ของสยาม

ในการวางแผนการเงิน (Financial Planning) นั้น มีหลักสำคัญเกี่ยวกับการบริหารสภาพคล่องของเราว่า จะต้องมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน (Emergency Fund) ไว้เท่ากับค่าใช้จ่าย 3-6 เดือนของเรา เพื่อว่าหากเกิดเรื่องฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็น อุบัติเหตุ ล้มป่วยไม่สบาย ตกงาน หรือเหตุอื่นใดที่จำเป็นต้องใช้เงินทันที เราก็จะมีเงินใช้ โดยไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินให้เป็นภาระซ้ำเติมการเงินของเราอีก หลายคนมักประมาทเงินก้อนนี้และมองว่า การเก็บเงินก้อนนี้ไว้เป็นการเสียโอกาสที่จะนำไปลงทุนสร้างผลตอบแทนสูงๆกัน แต่เชื่อเถอะว่า เงิน Emergency Fund นี้สำคัญในยามฉุกเฉินจริงๆ โดยขอยกตัวอย่างการเงินระดับชาติในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้ง วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ที่ไทยถูกฝรั่งเศสเอาเรือปืนมาปิดอ่าวไทย

วิกฤติครั้งนั้นเริ่มต้นเมื่อ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2436 เรือรบฝรั่งเศส 2 ลำ คือ เรือแองกองสตัง (Inconstant) และเรือโกเมต (Comete) ถูกส่งเข้ามาในสยาม อ้างว่าจะให้ความคุ้มครองชาวฝรั่งเศสในกรุงเทพฯ เพราะขณะนั้นมีข้อพิพาทแถวชายแดนอินโดจีน แต่รัฐบาลสยามปฏิเสธเพราะมีเรือรบลาลูแตง (La Lutin) ของฝรั่งเศสจอดอยู่ในกรุงเทพฯอยู่แล้วหนึ่งลำ ตอนนั้น นายเดอเวล รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสรับปากทูตไทยที่ปารีสว่าจะระงับการเดินทางของเรือรบทั้งสองลำ แต่ผู้บัญชาการฝ่ายฝรั่งเศสที่สยามอ้างว่าไม่ได้รับการแจ้งจากรัฐบาลฝรั่งเศส จึงใช้เรือเมล์ ฌอง บับติสต์ เซย์ เป็นเรือนำร่อง นำเรือรบเข้ามา เมื่อผ่านถึงป้อมพระจุลฯ ฝ่ายไทยจึงยิงปืนเสือหมอบเตือนไป 2 นัด แต่ฝรั่งเศสไม่หยุด จึงเกิดการยิงปืนใหญ่ต่อสู้กัน เรือนำร่องฝรั่งเศสถูกยิงเกยตื้น แต่เรือรบฝรั่งเศสทั้ง  2 ลำ ผ่านป้อมพระจุลฯ ทะลุมาจอดหน้าสถานทูตฝรั่งเศสที่ถนนเจริญกรุง บางรัก กรุงเทพ ได้ตอนหัวค่ำ (ซึ่งอยู่ในวิสัยที่สามารถเคลื่อนที่มายิงปืนใหญ่ใส่พระบรมมหาราชวังที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ประทับอยู่ได้) ผลจากการต่อสู้วันนั้น ทหารฝรั่งเศสตาย 3 นาย บาดเจ็บ 3 นาย ฝ่ายไทย ทหารตาย 8 นาย บาดเจ็บ 34 นาย

o4hd56hh6Y3oripQb8i-o

20 กรกฎาคม 2436 ฝรั่งเศสยื่นข้อเรียกร้องต่อไทย 6 ข้อ โดยมีใจความสำคัญคือ ให้ดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง (หมายถึงอาณาจักรล้านช้าง หรือลาวในปัจจุบัน) และเกาะแก่งบนแม่น้ำโขง เป็นของฝรั่งเศส และที่สำคัญอีกข้อหนึ่งคือ สยามต้องจ่ายเงินค่าปรับชดใช้ค่าเสียหายให้ฝรั่งเศส 3 ล้านฟรังก์ หรือประมาณ 22,000 ชั่ง ทั้งหมดนี้สยามต้องตอบภายใน 48 ชั่วโมง มิฉะนั้น จะปิดอ่าวไทยและเมืองชายทะเลของสยาม ฝ่ายไทยรีบส่งโทรเลขให้ทูตไทยในปารีสเพื่อเจรจากับรัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส ขณะเดียวกันก็ขอคำปรึกษาจากอังกฤษในทำนองให้มาคานอำนาจกับฝรั่งเศส แต่อังกฤษกลับนิ่งเฉย ในที่สุด 22 กรกฎาคม 2436 รัฐบาลสยามจึงตอบกลับฝรั่งเศสโดยยอมเป็นส่วนใหญ่ แต่ขอเจรจาในรายละเอียด พร้อมยืนยันว่าจะจ่ายเงิน 3 ล้านฟรังก์โดยทันที แต่ฝรั่งเศสไม่พอใจที่ไทยต่อรอง จึงประกาศตัดสัมพันธ์ทางทูตกับสยาม และให้กองเรือรบฝรั่งเศสปิดอ่าวไทยทันที จนในที่สุด 29 กรกฎาคม 2436 สยามต้องยอมรับคำขาดของฝรั่งเศสและรีบจ่ายเงิน 3 ล้านฟรังก์ให้ฝรั่งเศสโดยเร็วที่สุด

ปัญหาใหญ่ขณะนั้นคือ ไทยจะหาเงิน 3 ล้านฟรังก์ที่ไหนมาจ่ายฝรั่งเศสโดยทันที ในตอนนั้น รัฐบาลไทยยังอยู่ระหว่างการปฏิรูปการจัดเก็บภาษี เงินรายได้เข้าคลังยังน้อยกว่าที่ควรจะเป็นมาก รัชกาลที่ 5 เคยเขียนเล่าให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ความตอนหนึ่งว่า “…ในเวลาครึ่งปีต่อมา เงินภาษีอากรก็ลดเกือบหมดทุกอย่าง ลดลงไปเป็นลำดับ จนถึงปีมะแม ตรีศก (พ.ศ. 2414) เงินแผ่นดินที่เคยได้อยู่ปีละ 50,000-60,000 ชั่งนั้น เหลือจำนวนอยู่ 40,000 ชั่ง…” หากเราประมาณเอาว่า รายได้แผ่นดินสมัยนั้นอยู่ประมาณ 50,000 ชั่ง เงิน 3 ล้านฟรังก์ซึ่งเทียบเท่ากับ 22,000 ชั่งในตอนนั้น ก็เป็นสัดส่วนสูงถึง 40-50% ของรายได้แผ่นดินต่อปีเลยทีเดียว หรือหากคิดตามสูตรวางแผนการเงิน เงินค่าปรับที่เราต้องจ่ายอยู่ก็ราวๆค่าใช้จ่ายของรัฐบาลสยามราวๆ 5-6 เดือน  (คิดว่ารัฐบาลขณะนั้นมีค่าใช้จ่ายเท่ากับรายได้พอดี) ซึ่งก็ตรงตามสูตรเลยทีเดียว โดยหากรัฐบาลไทยไม่มีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินเอาไว้และต้องเอาเงินรายได้แผ่นดินปีนั้นมาจ่ายก็แทบจะไม่เหลือเงินใช้จ่ายเลย นั่นย่อมทำให้ฝรั่งเศสและเหล่ามหาอำนาจตะวันตกที่จ้องจะยึดไทยอยู่ สามารถเอาเปรียบไทยได้อีกจนอาจต้องสูญเสียเอกราชไปก็ได้ ดูตัวอย่างได้จากเมื่อครั้งอังกฤษรุกรานพม่าเมื่อ พ.ศ. 2369 อังกฤษเรียกร้องค่าปฏิกรรมสงครามจากพม่าสูงถึง 2 ล้านปอนด์ พม่าไม่มี Emergency Fund เก็บเอาไว้ ทำให้ราชวงศ์อลองพญาซวดเซจนในที่สุดก็ต้องสูญเสียเอกราชให้อังกฤษในที่สุด

โชคดีของสยามที่ยังมีเงินถุงแดง ของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 3 เก็บสะสมไว้อยู่ เงินถุงแดงซึ่งเป็นเงินเก็บหอมรอมริบของรัชกาลที่ 3 ตั้งแต่เมื่อพระองค์ยังไม่ขึ้นครองราชย์ ทรงพระปรีชาในการค้าขายเรือสำเภาจนมีเงินกำไรสะสมจำนวนมาก ส่วนหนึ่งพระองค์ได้เก็บเอาไว้ในถุงแดง และเคยมีพระราชดำรัสว่า “เอาไว้ไถ่บ้านไถ่เมือง” ในที่สุดเมื่อพระองค์จากไปเป็นเวลา 43 ปี เงินนี้ก็ได้นำมาใช้ไถ่บ้านไถ่เมืองจริงๆ เงินในถุงแดงนั้นเป็นเหรียญรูปนกอินทรีกางปีกของเม็กซิโก ซึ่งเป็นเงินที่ได้รับการยอมรับในการค้าขายระหว่างประเทศในยุคนั้น  ในวันที่ 22 สิงหาคม 2436 สยามได้จ่ายเงินเหรียญจากท้องพระคลังจำนวน 801,282 เหรียญ คิดเป็นเงินบาท 1,605,235 บาทกับอีก 8 อัฐ มีนำ้หนักรวมกันถึง 23 ตัน โดยนำไปให้ฝรั่งเศสที่เรือ ว่ากันว่า ตอนลำเลียงโดยล้อเลื่อนทางถนน ทำให้เกิดรอยล้อยุบเป็นร่องบนถนนเลยทีเดียว

กล่าวได้ว่า การที่ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของตะวันตกมาได้นั้น ส่วนสำคัญก็เพราะเงินถุงแดงที่รัชกาลที่ 3 ทรงมองการณ์ไกลเก็บสะสมไว้เป็น Emergency Fund ของสยาม นั่นเอง ดังนั้น เราควรนำเอาบทเรียนเรื่องนี้มาใช้กับชีวิตของเราด้วยการเตรียมเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินเอาไว้ตามสูตรการวางแผนการเงินนั่นเอง

*******************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
5 กันยายน 2559
*******************************

 

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s