ตอนที่ 1 ผมได้เขียนเล่าเหตุการณ์นับจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้จนมาถึงการมีพระรัตนตรัยครบทั้งสามประการ โดยทิ้งท้ายว่า “..พระพุทธศาสนา..จำเป็นต้องมี อุบาสก อุบาสิกา มาด้วยจึงจะมีกำลังพร้อมจะขยายพุทธจักรออกไป แล้วพระพุทธองค์ทรงดำเนินกลยุทธ์อย่างไร..”
การได้อุบาสกที่ถึงพระรัตนตรัยคนแรกนั้นเป็นเรื่องบังเอิญ ไม่ใช่การวางแผน แต่ข้อคิดที่ได้จากพุทธประวัติตอนนี้คือ บางครั้งแม้เราไม่ได้วางแผนไว้ แต่เมื่อโอกาสเข้ามา เราต้องมีความพร้อมที่จะสร้างประโยชน์จากโอกาสนั้นเต็มที่ เรื่องตอนนี้ก็คือ มีลูกเศรษฐีคนหนึ่งชื่อ ท่านยสะ เบื่อหน่ายความฟุ้งเฟ้อวุ่นวายในบ้าน จึงเดินเข้ามาในป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พร้อมกับบ่นว่า ที่นี่ขัดข้อง ที่นี่วุ่นวาย ไปตลอดทาง แล้วพบกับพระพุทธเจ้าโดยบังเอิญ พระองค์จึงตรัสว่า ที่นี่ไม่ขัดข้อง ที่นี่ไม่วุ่นวาย ท่านยสะจึงหยุดและนั่งฟัง พระพุทธเจ้าจึงสอน อนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ เมื่อฟังจบ ท่านยสะก็มีดวงตาเห็นธรรม ฝ่ายเศรษฐีบิดาของท่านยสะได้ออกมาตามหาบุตรชายจนพบ และพระพุทธเจ้าจึงได้สอน อนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ อีกครั้งให้ท่านฟัง เมื่อฟังจบ ท่านก็มีดวงตาเห็นธรรม และเปล่งวาจาแสดงตนขอนับถือพระรัตนตรัย (พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์) เป็นที่พึ่งตลอดชีวิต ท่านจึงเป็น อุบาสกคนแรกที่เปล่งวาจาถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ฝ่ายท่านยสะเมื่อฟังคำสอนอีกรอบ ก็ได้ทบทวนและสำเร็จเป็นพระอรหันต์ จึงขอบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา บิดาของท่านยสะจึงนิมนต์ไปฉันที่บ้านของท่าน เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปฉันที่บ้านเศรษฐี ท่านก็ได้สอน อนุปุพพิกถา และอริยสัจ ๔ เช่นเดียวกัน ทำให้มารดาและภรรยาเดิมของท่านยสะ ได้ดวงตาเห็นธรรม และแสดงตนเป็นอุบาสิกาผู้ถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต เป็นอุบาสิการสองท่านแรกในพระพุทธศาสนา การมีครบทั้งพระสงฆ์ อุบาสก และอุบาสิการ ถือว่าทีมงานในการเผยแผ่พระศาสนามีครบทีมแล้วนั่นเอง
มีข้อสังเกตในการสอนของพระพุทธเจ้าว่า ตอนที่สอนปัญจวัคคีย์ซึ่งเป็นนักบวชอยู่แล้ว ท่านสอนเริ่มจาก อริยสัจ ๔ เลย เพราะท่านเหล่านั้นเป็นนักบวชมีความต้องการจะหลุดพ้นทุกข์อยู่แล้ว มีความพร้อมที่จะฟังคำสอนระดับแก่นได้เลย ส่วนคราวที่สอนชาวบ้านนั้น พระองค์ทรงเริ่มจาก อนุปุพพิกถา ซึ่งเป็นคำสอนเริ่มตั้งแต่เรื่อง ทาน, ศีล, สวรรค์, โทษของกาม, ประโยชน์ของการออกจากกาม เมื่อผู้ฟังพร้อมแล้ว พระองค์จึงสอนอริยสัจ ๔ ที่เป็นธรรมะขั้นสูงต่อไป อันนี้ไม่ใช่เรื่องกลยุทธ์ แต่เป็นเทคนิคการสอนของพระพุทธเจ้า ที่ไม่ได้เอาแต่สอนสิ่งที่เราอยากสอน แต่ประเมินความพร้อมของผู้ฟังด้วย
จากนั้น เพื่อนๆของท่านยสะก็ได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้าและได้ออกบวชตามอีก ๕๔ คน โดยต่างก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น ถึงตอนนี้ พระพุทธเจ้าท่านประเมินแล้วว่า พระศาสนามีกำลังที่จะเผยแผ่ออกไปยังมหาชน ท่านจึงตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ครั้งสำคัญอีกครั้ง โดยบอกกับพระอรหันต์ทั้ง ๖๑ องค์ (ปัญจวัคคีย์ ๕ รวมกับท่านยสะและเพื่อนอีก ๕๔) ว่า ท่านทั้งหลาย จงออกจาริกไปประกาศพระศาสนา แก่คนทั้งหลาย เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ของคนเหล่านั้น แต่ว่าให้ไปทางละ ๑ รูป แยกกันไป ส่วนพระองค์จะไปยังอุรุเวลาเสนานิคมเพื่อแสดงธรรมต่อไป ตรงนี้จะเห็นได้ชัดว่า พระองค์ได้ประกาศภารกิจ (Mission) ที่ชัดเจนให้กับทีมงานทั้งหมด นั่นคือ ให้ไปประกาศพระศาสนาเพื่อประโยชน์ของคนที่ฟัง ไม่ใช่ไปเพื่อประโยชน์แก่ตัวพระองค์หรือศาสนาเอง เมื่อ Mission ชัดเจนแล้ว พระองค์ยังกำหนดนโยบายจัดสรรทรัพยากรด้วยว่า ให้ไปแยกกัน ไปเส้นทางละหนึ่งองค์ คาดว่าเพื่อให้พระธรรมได้แผ่ออกไปได้กว้างขวางและรวดเร็วที่สุด และพระองค์ยังระบุด้วยว่า ให้ไปสอนพระธรรมอย่างไร เพื่อให้คำสอนของทุกองค์เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนพระองค์เองซึ่งเป็นผู้นำสูงสุดนั้น ตัดสินใจที่จะไปสอนที่เมืองอุรุเวลาเสนานิคม นั่นแปลว่า เมืองนี้ต้องเป็นที่ตั้งสำคัญทางยุทธศาสตร์การเผยแผ่พระศาสนาแน่นอน
ที่เมืองอุรุเวลาเสนานิคม พระพุทธเจ้าตั้งใจไปสอนชฎิล ๓ พี่น้อง ซึ่งเป็นนักบวชที่มีลูกศิษย์รวมกันถึง ๑,๐๐๐ คน หากพระพุทธเจ้าสามารถชักชวนทั้งหมดมาได้ พระพุทธศาสนาก็จะมีฐานที่มั่นคงมากเลยทีเดียว ที่สำคัญคือ เมืองๆนี้เป็นเส้นทางไปสู่กรุงราชคฤห์ เมืองหลวงแคว้นมคธ ที่เป็นมหาอำนาจในแผ่นดินอินเดียขณะนั้น หากพระองค์สามารถวางรากฐานในเมืองหลวงของประเทศมหาอำนาจก็ย่อมทำให้มีความมั่นคงและเกิดความสามารถในการแข่งขัน (Competitive Advantage) เพียงพอที่จะขยายพุทธจักรออกไปได้อีกกว้างไกล
หลังจากที่พระพุทธเจ้าสามารถสอนให้ชฎิลทั้งสามพี่น้องพร้อมบริวารอีกพันคนมาบวชเป็นพระภิกษุแล้ว พระองค์จึงมุ่งหน้าสู่กรุงราชคฤห์ และด้วยขบวนพระสงฆ์ถึงพันรูป ย่อมทำให้เกิดข่าวใหญ่ไปทั้งเมืองว่าพระพุทธเจ้าพร้อมพระสงฆ์เดินทางมาเผยแผ่ศาสนาที่นี่ แต่แทนที่พระองค์จะเข้าไปในตัวเมือง พระองค์เลือกที่จะอยู่ที่สวนตาลนอกเมือง ทำให้พระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งได้รับทราวข่าวของพระองค์ ตัดสินใจพาบริวารจำนวนมากทั้งขุนนาง พราหมณ์ คฤหบดี มาเฝ้าพระพุทธเจ้าที่สวนตาลแห่งนั้น คนที่มากับคณะพระเจ้าพิมพิสารไม่ได้นับถือพระพุทธเจ้าทั้งหมด ยังมีจำนวนมากที่มีข้อสงสัย ด้วยเหตุว่า ถึงแม้พระพุทธเจ้าจะเป็นเจ้าชายจากเมืองกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ แต่แคว้นสักกะเป็นเพียงแคว้นเล็กๆ ไม่ใช่แคว้นใหญ่ และอยู่ภายใต้อิทธิพลของแคว้นมหาอำนาจอีกแห่งนั่นคือแคว้นโกศล ซึ่งเป็นคู่แข่งโดยตรงกับแคว้นมคธของพระเจ้าพิมพิสาร จะให้คนของพระเจ้าพิมพิสารนับถือพระองค์ในทันทีคงไม่ใช่เรื่องง่าย ถึงตรงนี้ เราจะเห็นชัดเจนว่า แผนกลยุทธ์ของพระองค์ได้แสดงผลออกมา นั่นคือ พระองค์ก็ถามชฎิลคนพี่ว่า ทำไมจึงละทิ้งลัทธิเดิมของตนเสีย ท่านจึงตอบว่าธรรมะของพระพุทธเจ้าประเสริฐอย่างไร และได้ซบศีรษะลงที่พระบาทของพระพุทธเจ้าเพื่อแสดงความเคารพสูงสุด คนที่อยู่ ณ ที่นั้นก็คิดได้ว่า ขนาดชฎิลที่เป็นหัวหน้าสำนักที่มีบริวารนับพัน ยังยอมละทิ้งความเชื่อเดิมและหันมาหาศาสนาพุทธ แสดงว่า พระพุทธเจ้าต้องมีดีไม่ธรรมดาเลย ทำให้เปิดใจรับฟังคำสอน จากนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าได้สอนธรรมะ ทุกคนจึงตั้งใจฟัง เมื่อฟังจบ ทุกคนก็หันมานับถือศาสนาพุทธทั้งสิ้น ถือว่าพระองค์ได้เอาชนะใจชนชั้นนำในกรุงราชคฤห์เรียบร้อยแล้ว
พระเจ้าพิมพิสารเกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าอย่างยิ่ง จึงได้ถวายสวนไผ่ทางทิศเหนือของกรุงราชคฤห์ สร้างให้เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าและพระสาวก เรียกว่า พระเวฬุวัน เกิดเป็นวัดครั้งแรกในพระพุทธศาสนา ณ จุดนี้ ถือได้ว่า พระพุทธศาสนาได้ลงหลักปักฐานอย่างมั่นคงในชมพูทวีปแล้ว พร้อมที่จะเผยแผ่พระธรรม ขยายพุทธจักร ต่อไป เพื่อประโยชน์สุขของคนทั้งหลาย อย่างไม่แยกชนชั้นวรรณะยากดีมีจนทั้งปวง ความสำเร็จนี้เป็นผลจากการบริหารเชิงกลยุทธ์ของพระพุทธเจ้าตั้งแต่วันที่พระองค์ตัดสินใจจะเผยแผ่คำสอนหลังตรัสรู้นั่นเอง
*******************************************************************
เขียนโดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย Celestial Strategist
31 กรกฎาคม 2558
*******************************************************************