เป็นเรื่องน่าสนใจอย่างยิ่งเมื่อตำราพิชัยสงครามเมื่อกว่า 2,500 ปีก่อนของจีน กล่าวถึงปัจจัยชี้ขาดชัยชนะห้าประการ ขณะเดียวกัน เมื่อสามสิบกว่าปีก่อน ปรมาจารย์กลยุทธ์ธุรกิจของอเมริกา ก็บอกว่า มีพลังห้าประการที่กำหนดกลยุทธ์ (The Five Competitive Forces that Shape Strategy) แล้วเลข 5 ของทั้งสองท่านมีความเหมือนหรือความต่างกันอย่างไร
เมื่อกว่า 2,500 ปีก่อน ซุนวู แม่ทัพใหญ่แห่งแคว้นอู๋ ผู้นำทัพที่มีจำนวนทหารและทรัพยากรด้อยกว่าไปพิชิตแคว้นฉู่ มหาอำนาจในยุคนั้น ได้เขียนตำราพิชัยสงคราม 13 บท ที่ถือว่าเป็นสุดยอดของตำราพิชัยสงครามตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ในบทแรก ซุนวูบอกว่า การสงคราม (หรือการแข่งขัน ในความหมายปัจจุบัน) เป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องความเป็นความตาย ไม่ศึกษาให้ถ่องแท้ไม่ได้ มีปัจจัยสำคัญห้าประการที่จะชี้ขาดชัยชนะ ได้แก่
- วิถี ซึ่งจะนำพาให้ประชาชนร่วมเป็นร่วมตายไปกับประมุขของรัฐ หากเราจะประยุกต์มาใช้กับการบริหารธุรกิจปัจจุบัน เราสามารถใช้คำว่า ภารกิจ (Mission) และ วิสัยทัศน์ (Vision) ได้ เพราะเป็นสิ่งที่จะทำให้คนในองค์กรร่วมแรงร่วมใจต่อสู้กับการแข่งขันทางธุรกิจได้
- ฟ้า ซึ่งกำหนดกลางวัน-กลางคืน, ร้อน-หนาว, และการเปลี่ยนแปลงแห่งฤดูกาล ในยุคปัจจุบัน ปัจจัยข้อนี้คือ สภาวะแวดล้อมและจังหวะเวลา (Timing) ของธุรกิจ เศรษฐกิจ การเมือง และต่างๆ ที่ส่งผลต่อการแข่งขัน
- ดิน หมายถึง ตำแหน่งที่ตั้งของสมรภูมิ ใกล้หรือไกล มั่นคงหรือท้าทาย ที่ราบหรือที่ลาดชัน ในยุคปัจจุบัน ย่อมหมายถึง ตำแหน่งที่ตั้งของธุรกิจ
- แม่ทัพ แม่ทัพต้องประกอบด้วยคุณลักษณะ 5 ประการ คือ ฉลาด เชื่อถือได้ เมตตา กล้าหาญ และเข้มงวด ในยุคปัจจุบันย่อมหมายถึง ผู้บริหาร ซึ่งต้องมีคุณลักษณะทั้ง 5 ประการที่ว่านี้เช่นกัน
- วินัย หมายถึง วินัยกองทัพ, การจัดทัพ และการควบคุมจัดส่งยุทโธปกรณ์ ในยุคปัจจุบัน เราควรใช้คำว่า วัฒนธรรมองค์กร
ซุนวูบอกว่า แม่ทัพที่รู้และเข้าใจปัจจัยทั้งห้าประการนี้ ย่อมมีชัยชนะ แม่ทัพที่ไม่รู้ก็จะพ่ายแพ้
ข้ามเวลามายังปี 1979 ปีนั้นเป็นปีที่ศาสตราจารย์ ไมเคิล อี. พอร์เตอร์ แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาดได้ตีพิมพ์บทความชื่อว่า How Competitive Forces Shape Strategy ลงในนิตยสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนมีนาคม 1979 บทความนั้นได้นำเสนอการวิเคราะห์โครงสร้างอุตสาหกรรมด้วยโมเดลพลังการแข่งขันห้าประการ (The Five Competitive Forces Model) โมเดลนี้ได้รับความสนใจและนำไปใช้อย่างมากมายจนถือได้ว่าเป็นโมเดลที่นักบริหารเชิงกลยุทธ์ทุกคนต้องรู้จัก และใช้ในการวิเคราะห์โครงสร้างการแข่งขันของอุตสาหกรรม
พลังห้าประการนั้น ประกอบด้วย
- การคุกคามจากคู่แข่งขันรายใหม่
- อำนาจต่อรองของซัพพลายเออร์
- อำนาจต่อรองของลูกค้า
- การคุกคามจากสินค้าทดแทน
- การแข่งขันระหว่างคู่แข่งขันในปัจจุบัน
พอร์เตอร์บอกว่า โดยเนื้อแท้แล้ว หน้าที่ของนักกลยุทธ์ก็คือทำความเข้าใจและรับมือกับการแข่งขัน แต่การทำความเข้าใจการแข่งขันนั้น จะต้องเข้าใจโครงสร้างของอุตสาหกรรมก่อน ด้วยการวิเคราะห์พลังการแข่งขันทั้งห้าประการ นักกลยุทธ์ธุรกิจผู้เข้าใจว่าพลังที่ส่งผลต่อการแข่งขันไม่ได้มาจากคู่แข่งในปัจจุบันเพียงอย่างเดียว ก็จะพบพลังจากด้านอื่นๆ และสามารถกำหนดกลยุทธ์การแข่งขันที่นำชัยชนะมาสู่องค์กรได้
จากที่ว่ามา แม้ว่าปัจจัยชี้ขาดห้าประการของซุนวูกับพลังการแข่งขันห้าประการของพอร์เตอร์นั้น ไม่ได้มีเนื้อหาเหมือนกันในแต่ละข้อ เพราะซุนวูพูดถึงปัจจัยทั้งภายในและภายนอกที่จะชี้ขาดชัยชนะ ส่วนพอร์เตอร์นั้นพูดถึงการวิเคราะห์โครงสร้างอุตสาหกรรมด้วยพลังห้าประการ ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก และสอดคล้องกับข้อ 2 ฟ้า และข้อ 3 ดินของซุนวู ส่วนปัจจัยภายในนั้น พอร์เตอร์ได้พูดถึงในอีกเรื่องก็คือ ความสามารถในการแข่งขัน (Competitive Advantage) แต่ทั้งสองคนต่างก็กล่าวตรงกันว่า กลยุทธ์การเอาชนะจะต้องมีการศึกษาทำความเข้าใจสภาวะการแข่งขันให้ถ่องแท้เสียก่อนจึงจะประสบความสำเร็จได้
********************************
เขียนโดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
Celestial Strategist
3 สิงหาคม 2558
********************************
ภาพประกอบ
- ตำราพิชัยสงคราซุนวู ฉบับไม้ไผ่ จาก “Bamboo book – binding – UCR” by vlasta2, bluefootedbooby on flickr.com
- แผนภูมิ The Five Forces That Shape Industry Competition จาก บทความ The Five Competitive Forces That Shape Strategy โดย Michael E. Porter ในวารสาร Harvard Business Review ฉบับ January 2008