เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (31 ก.ค.58) กลุ่มคิงพาวเวอร์ได้ซื้อหุ้นบริษัท อาร์เอส (RS) 94 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 9% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ในราคาหุ้นละ 10 บาท รวมมูลค่า 940 ล้านบาท จากนายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ (เฮียฮ้อ) เจ้าของ RS และลูกชาย ผลจากรายการนี้ คาดว่าทำให้กลุ่มคิงพาวเวอร์ถือหุ้นใน RS เป็นอันดับ 3 รองลงจากเฮียฮ้อ และนายโสรัตน์ วณิชวรากิจ (คำนวณจากข้อมูลผู้ถือหุ้น ณ 11/3/2558 จากเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ฯ)
ความเคลื่อนไหวในการขายหุ้นครั้งนี้ ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของ RS ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตทีวีดิจิตอลช่อง 8 และมีช่องทีวีดาวเทียมอีก 4 ช่อง แต่เดิม RS เป็นค่ายเพลงไทยอันดับสองของไทย ต่อมาเมื่อธุรกิจเพลงเจอปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์เพลงจาก MP3 จนทำให้รายได้ลดลงเรื่อยๆ จึงได้เปลี่ยนโมเดลธุรกิจครั้งใหญ่เมื่อราวสิบปีก่อนด้วยการขายเครื่องจักรผลิต CD/DVD ทั้งหมด ยอมเจ็บตัวล้างสต็อกครั้งใหญ่ ทำให้เกิดความยืดหยุ่นในการบริหารสินค้าคงคลังได้ดีขึ้น จากนั้นเริ่มมามุ่งเน้นธุรกิจสื่อทีวีดาวเทียม และต่อมาก็เข้าประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิตอลและเริ่มออกอากาศเมื่อปีที่แล้ว จนปัจจุบัน (ปี 2557) รายได้จากธุรกิจสื่อคิดเป็น 78% ของรายได้ทั้งหมด (จาก 24% ในปี 2552) ส่วนธุรกิจเพลงเหลือเพียง 11% (จาก 42% ในปี 2552) ถือว่า RS ได้เปลี่ยนตัวเองจากค่ายเพลงกลายมาเป็นธุรกิจสื่ออย่างชัดเจน
ในช่วงปีสองปีแรกของการดำเนินการทีวีดิจิตอล ผู้ได้รับใบอนุญาตต่างก็เผชิญภาวะลำบาก เพราะรายได้จากโฆษณาไม่ได้เพิ่มจากช่องทีวีดาวเทียมมากนัก แต่ค่าใบอนุญาตที่ประมูลมาและต้นทุนผลิตรายการสูงขึ้นมาก แต่ละรายต่างต้องหาเงินทุนมาลงทุนอย่างต่อเนื่อง คาดว่ากว่าที่กระแสเงินสดจากธุรกิจทีวีดิจิตอลจะเป็นบวกคงใช้เวลาอีกหลายปี ทำให้ช่วงสองสามปีนี้ เราแทบไม่เห็นข่าวเจ้าของทีวีดิจิตอลเอาเงินไปลงทุนด้านอื่นหรือไปซื้อกิจการอื่นเลย มีแต่ข่าวการขายกิจการที่ถือครองอยู่หรือการขายหุ้นออกไป เช่น แกรมมี่ที่ขายธุรกิจนิตยสารออกไปทั้งหมด และขายหุ้นในบริษัท Index เป็นต้น ดังนั้น การที่เฮียฮ้อขายหุ้น RS ออกไปบางส่วน ได้เงินสดมา 940 ล้านบาทโดยยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้บริหาร ถือว่าได้ประโยชน์อย่างมาก อีกทั้งการได้กลุ่มคิงพาวเวอร์มาเป็นผู้ถือหุ้น อาจต่อยอดไปยังธุรกิจอื่นๆที่กลุ่มคิงพาวเวอร์ถือหุ้นอยู่ได้อีก รวมถึงทีมฟุตบอลเลสเตอร์ซิตี้ในพรีเมียร์ลีกของอังกฤษอีกด้วย
สำหรับกลุ่มคิงพาวเวอร์เอง ที่ธุรกิจหลักคือร้านค้าดิวตี้ฟรี ซึ่งเป็นธุรกิจที่สร้างกระแสเงินสดจำนวนมาก แบบที่เรียกว่าธุรกิจ Cash Cow การนำเงินสดส่วนเกินมาลงทุนใน RS ถือว่าเป็นการกระจายการลงทุนที่ดี เพราะธุรกิจทีวีดิจิตอลเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เวลาอีกหลายปีจึงจะสร้างกระแสเงินสดเป็นบวกได้ แต่เมื่อสร้างได้แล้ว ก็จะสร้างกระแสเงินสดได้มากอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญการเป็นเจ้าของสื่อย่อมสามารถเป็นช่องทางการโฆษณาประชาสัมพันธ์ธุรกิจปัจจุบันของคิงพาวเวอร์ได้อีก อีกทั้งธุรกิจสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ซิตี้ หากได้ทีมงานสื่อดีๆ ย่อมสามารถต่อยอดสร้าง Content และเพิ่มมูลค่าของธุรกิจได้อีกมาก
สรุปแล้ว ในช่วงสองสามปีจากนี้ เราคงได้เห็นธุรกิจที่มีเงินสดส่วนเกินหันมาลงทุนในธุรกิจสื่ออีกมาก โดยเฉพาะทีวีดิจิตอล ที่ต้องหาเงินมาลงทุนเพิ่มเติมอีกหลายปีกว่าจะประสบความสำเร็จ ขอให้ติดตามเฝ้าดูต่อไป
******************************
เขียนโดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
Celestial Strategist
4 สิงหาคม 2558
******************************
เครดิตภาพประกอบ จากหนังสือพิมพ์ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม 2558