กลยุทธ์ทำให้นกร้องเพลง ของ 3 วีรบุรุษสร้างชาติญี่ปุ่น ตอน 1

คนญี่ปุ่นมีเรื่องเล่ากันว่า หากถามวีรบุรุษผู้รวมชาติญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 16 ทั้งสามท่านว่า มีนกเกาะอยู่ที่กิ่งไม้ เราอยากให้นกร้องเพลงให้เราฟัง เราจะต้องทำอย่างไร

ท่านโอดะ โนบุนะกะ ตอบว่า “ถ้านกไม่ยอมร้องเพลง ข้าจะฆ่ามันให้หมด”
ท่านโตโยโตมิ ฮิเดโยชิ ตอบว่า “ถ้านกไม่ยอมร้องเพลง ข้าจะสอนให้มันร้องเพลงให้ได้”
ท่านโตกุกาวะ อิเอยาสุ ตอบว่า “ถ้านกไม่ยอมร้องเพลง ข้าจะเฝ้ารอคอยให้มันร้องเพลง”

เรื่องเล่านี้สะท้อนกลยุทธ์ที่แตกต่างกันของทั้งสามท่านที่อยู่ร่วมสมัยกัน และได้สร้างวีรกรรมจนทำให้ญี่ปุ่นสามารถรวมชาติได้ โนบุนากะใช้ความเด็ดขาดปราบปรามเมืองต่างๆจนก้าวขึ้นเป็นใหญ่ ท่านฮิเดโยชิใช้ความสามารถในการวางแผนและปกครองขยายอำนาจไปทั่วญี่ปุ่น แต่สุดท้ายแล้วกลับกลายเป็นท่านอิเอยาสุ ที่เฝ้ารอคอยให้ทั้งสองท่านแรกเสียชีวิตไป แล้วก้าวขึ้นเป็นใหญ่อย่างแท้จริง และตระกูลของท่านก็สืบทอดอำนาจในตำแหน่งโชกุนมาอีกกว่า 250 ปี เราลองมาฟังเรื่องราวของท่านแรกกันดีกว่า

Odanobunagaโอดะ โนบุนากะ เกิดเมื่อ 23 มิ.ย. ค.ศ. 1534 พ่อของเขาเป็นไดเมียว เจ้าแคว้นโอวาริ แคว้นเล็กๆในตอนกลางเกาะฮอนชู เขาเป็นคนมุทะลุ เอาแต่ใจตนเอง จนได้ฉายาว่า “ควายแห่งโอวาริ” เมื่อเขาอายุได้ 17 ปี พ่อของเขาได้เสียชีวิตลง ด้วยความเป็นลูกชายคนโต เขาจึงขึ้นเป็นหัวหน้าครอบครัวและไดเมียวแทนพ่อของเขา แต่ในงานศพของพ่อ เขากลับก่อเรื่องทะเลาะอาละวาดกลางงาน ทำให้อาจารย์ของเขาต้องทำเซ็ปปุกุ (ฆ่าตัวตายด้วยการคว้านท้อง) เพื่อชดใช้ความผิดที่สั่งสอนศิษย์ได้ไม่ดี ด้วยความที่เขาขึ้นเป็นไดเมียวตั้งแต่อายุยังน้อยและยังมีชื่อเสียงไม่ดี ทำให้ไม่ได้รับการยอมรับในหมู่ญาติพี่น้องและบริวาร มีการวางแผนฆ่าเขาหลายครั้ง แต่โนบุนากะรู้ก่อนและจึงได้ชิงลอบสังหารฝ่ายตรงข้าม ผู้ที่ต่อต้านคนสำคัญคนหนึ่งคือ น้องชายของเขาเอง โอดะ โนบูยูกิ ได้ก่อกบฏขึ้น เขาเอาชนะน้องชายได้ แต่แม่ของเขาขอร้องให้ไว้ชีวิตน้อง เขาจึงปล่อยไป ต่อมา โนบูยูกิได้วางแผนกบฏอีกครั้ง คราวนี้โนบุนากะได้ปล่อยข่าวว่าล้มป่วย หลอกให้น้องชายเข้ามาเยี่ยมจึงถูกสังหาร หลังเหตุการณ์นี้ โนบุนากะได้ส่งทหารเข้าไปยึดอำนาจจากผู้คิดกบฏทั้งหมด เขาจึงสามารถรวมอำนาจในแคว้นได้อย่างมั่นคงเมื่อปี 1559

ต่อมา อิมางาวะ โตชิโมโตะ ไดเมียวแห่งแคว้นมิคาวา ผู้คิดการใหญ่นำทัพ 25,000 คนจะไปทำสงครามกับเกียวโต โดยผ่านมาทางแคว้นโอวาริ ของโนบุนากะ ซึ่งมีทหารเพียง 2,000 กว่าคนเท่านั้น แทนที่โนบุนากะจะอ่อนน้อมต่ออิมางาวะ และให้ยกทัพผ่านไปโดยดี โนบุนากะกลับนำทัพเพียง 2,000 กว่าคนเข้าต่อสู้ ด้วยความชำนาญในภูมิประเทศ และการส่งกองกำลังเฉพาะกิจเข้าจู่โจมอิมางาวะขณะเกิดพายุฝน จนสามารถตัดศีรษะอิมางาวะได้ ทัพของโอบุนากะจึงเอาชนะทัพจากแคว้นมิคาวาสำเร็จ ชัยชนะครั้งนี้สร้างชื่อเสียงให้กับโนบุนากะโด่งดังไปทั่วประเทศ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเขาและประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น มีคนเข้ามาสวามิภักดิ์กับเขาจำนวนมาก ศัตรูก็เปลี่ยนมาเป็นมิตร แม้กระทั่ง โตกุกาวะ อิเอยาสุ ก็เข้ามาอยู่ฝ่ายเขาด้วย

โนบุนากะ ไม่หยุดเพียงเท่านั้น เขาได้ปรับปรุงกองทัพของเขาใหม่ ด้วยเหตุว่าแคว้นของเขาเป็นแคว้นเล็ก มีซามูไรน้อย เขาจึงนำชาวนามาเป็นทหาร แต่ทหารชาวนามีฝีมือรบด้อยกว่าชนชั้นซามูไรมาก เขาจึงพัฒนาหอกขึ้นมาเป็นอาวุธประจำตัวของทหาร แทนที่ดาบซามูไร เพราะว่าในสนามรบ หอกมีประสิทธิภาพในการรบเหนือกว่าดาบ หลายครั้งสามารถเอาชนะนับรบซามูไรที่ชำนาญดาบได้ นอกจากนั้น เขายังเอา ปืนคาบศิลา มาใช้ในกองทัพ โดยไม่สนการถูกปรามาสว่าเอาอาวุธของคนขี้ขลาดมาใช้ ทั้งหมดนี้ทำให้กองทัพของโนบุนากะกลายเป็นกองทัพที่เข้มแข็งเป็นที่เลื่องลือ

ระหว่างนั้น โนบุนากะขยายอำนาจด้วยการเสนอลูกสาวหรือน้องสาวให้ไปแต่งงานกับเจ้าแคว้นรอบข้าง ใครไม่ยอมรับข้อเสนอ เขาก็จะยกทัพไปโจมตี ชื่อเสียงของโนบุนากะโด่งดังไปถึงองค์จักรพรรดิที่เกียวโต จักรพรรดิจึงส่งพระราชสาส์นขอความช่วยเหลือต่อโนบุนากะ ให้ช่วยกอบกู้อำนาจจากโชกุนคืนมายังพระองค์ ขณะเดียวกันโชกุนก็ส่งหนังสือมาขอความช่วยเหลือจากเขาเช่นกัน เขาจึงมองว่า ตัวเขาเองได้รับการแต่งตั้งให้เข้ามาเป็นผู้ปกป้องประเทศญี่ปุ่น เขาจึงจัดทำตรายางประจำตัวของเขาขึ้นมา มีข้อความว่า “ปกครองจักรวรรดิด้วยพละกำลัง” จากนั้น โนบุนากะ ได้ยกทัพมายังเมืองหลวงเกียวโต แต่งตั้งโชกุนหุ่นเชิดของเขาขึ้นมา พร้อมปราบปรามเมืองที่แข็งข้อ ด้วยความดีความชอบนี้ จักรพรรดิได้แต่งตั้งเขาเป็น ไนไดจิน หรือ อัครมหาเสนาบดี เขาจึงก้าวเป็นผู้มีอำนาจอย่างแท้จริงในญี่ปุ่น

Azuchimomoyama-japan
อาณาเขตภายใต้การปกครองของโอดะ โนบุนากะ เมื่อถึงแก่กรรม ค.ศ. 1582

อย่างไรก็ตาม ผู้ต่อต้านเขายังคงมีอยู่จำนวนมาก หนึ่งในศัตรูสำคัญของโนบุนากะก็คือ พระนักรบในศาสนาพุทธ ที่มีอิทธิพลสูงมากในญี่ปุ่น ส่วนโนบุนากะเองนั้น ไม่ได้นับถือศาสนาใดๆ จึงได้เข้าปราบปรามพระนักรบเหล่านั้นด้วยความโหดเหี้ยม การกวาดล้างครั้งใหญ่คือ การที่เขานำทหาร 30,000 คนเข้าล้อมภูเขาฮิเออัน เขาศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาพุทธญี่ปุ่น แล้วเผาวัด ฆ่าทุกคนที่ถูกพบเห็น ไม่ว่าจะเป็น พระ สตรี และเด็ก และอีกเหตุการณ์หนึ่งที่เขาสร้างกำแพงล้อมชาวพุทธที่ตั้งมั่นอยู่ทางตะวันออกของเกาะฮอนชู แล้วจุดไฟเผาฆ่า 20,000 ชีวิตในนั้น

ในปี 1582 โนบุนากะได้นำทัพไปทำสงครามที่คิวชู ระหว่างทาง อาเคชิ มิตสึฮิเดะ ลูกน้องของเขา ได้วางแผนนำกองกำลังย้อนกลับมาล้อมโนบุนากะซึ่งขณะนั้นมีทหารคุ้มกันไม่มาก ไม่สามารถต้านทานได้ โนบุนากะตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยการคว้านท้อง หรือเซ็ปปุกุ ปิดชีวิตนักรบผู้ยิ่งใหญ่สมศักดิ์ศรีแห่งซามูไร อย่างไรก็ตาม ผู้สืบทอดอำนาจของเขากลับไม่ใช่ลูกชายของเขา แต่กลายเป็น โตโยโตมิ ฮิเดโยชิ ขุนพลคนสนิทของเขาแทน

หากให้สรุปบทเรียนจากเรื่องราวของโนบุนากะในด้านกลยุทธ์ จะได้ข้อคิดว่า โนบุนากะเติบโตจากตระกูลที่มีอำนาจไม่มากนัก เขาจึงต้องใช้กลยุทธ์บุกตะลุยไปข้างหน้า ไม่เว้นทางถอย เพราะไม่มีทรัพยากรเหลือพอให้ถอย เขาไม่สนใจแบบแผนดั้งเดิม เพราะนั่นจะทำให้เขาสู้กับผู้มีอำนาจในขณะนั้นไม่ได้ เขาต้องคิดหาแนวทางใหม่ๆเพื่อให้เขาได้เปรียบคนอื่น เช่น นำชาวนามาเป็นทหาร ใช้หอกยาวแทนดาบ นำปืนมาใช้การต่อสู้ เป็นต้น กลยุทธ์นี้ประสบความสำเร็จด้วยความสามารถของเขาเป็นหลัก แต่เขาไม่สามารถสร้างทายาทขึ้นมาสืบต่อได้ทันและเพียงพอ ทำให้เมื่อเขาพลาดท่าเสียที ตระกูลของเขาก็เสื่อมอำนาจลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หากเรานำมาเปรียบเทียบกับกลยุทธ์การลงทุน โนบุนากะก็เหมือนกับนักลงทุนที่ไม่ได้มีเงินทุนตั้งต้นมากมายนัก เขาต้องใช้กลยุทธ์ทุ่มหมดหน้าตัก ถ้ามีโอกาสก็ใช้มาร์จิ้นเต็มที่ เมื่อเขาชนะ ผลตอบแทนจึงมากมายทวีคูณ เขาไม่เลือกเล่นหุ้นแบบมาตรฐาน แต่หาแนวทางใหม่ๆเพื่อเทรดสร้างผลตอบแทนให้เร็วและสูงที่สุด อย่างไรก็ตาม ด้วยกลยุทธ์ทุ่มสุดตัวเช่นนี้ เมื่อเขาพลาด สิ่งที่เขาสร้างมาก็ต้องสูญไปเกือบทั้งหมดเช่นกัน

************************************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
8 กันยายน 2558
************************************************

ข้อมูลจาก หนังสือ ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น โดย วีระชัย โชคมุกดา

 

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s