เมื่อวาน ผมได้มีโอกาสไปไหว้อนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ทุ่งภูเขาทอง อยุธยา ตรงริมถนนด้านหน้า มีซุ้มติดประวัติและเรื่องราวของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชอยู่หลายซุ้ม ซุ้มหนึ่งเขียนถึง ยุทธศาสตร์การสงครามของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตอนหนึ่งเขียนว่า “หลักการรวมกำลัง อำนาจกำลังรบให้เหนือกว่า ณ ตำบลและเวลาที่จะให้บรรลุผลแตกหัก ความเหนือกว่าจะเป็นผลมาจากการผสมผสานองค์ประกอบของอำนาจกำลังรบอย่างเหมาะสมกับเวลาและสถานที่ และในรูปแบบที่ผู้บังคับบัญชาเลือก เพื่อครองความริเริ่มช่วยให้กำลังที่เสียเปรียบด้านจำนวน สามารถบรรลุผลแตกหักทั้งการปฏิบัติการทัพและการปฏิบัติการรบ” นี่แสดงให้เห็นว่า พระองค์ท่านนิยมหลักการมุ่งเน้น (Concentration) เพราะในขณะนั้น กำลังรบของพระองค์มีจำนวนน้อยกว่ากำลังรบของหงสาวดี ท่านจึงใช้หลักการมุ่งเน้นกำลังของท่านมายังตำแหน่งที่ต้องการรบแตกหัก จึงจะเอาชนะหงสาวดีได้ ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ผมคิดถึงหลักการลงทุนว่าด้วย การกระจายความเสี่ยง (Diversification) กับ การมุ่งเน้น (Concentration) ขึ้นมาทันที
หนึ่งในบทเรียนการลงทุนเบื้องต้นที่มักสอนกันอย่างแพร่หลายก็คือ “อย่าใส่ไข่ทุกฟองไว้ในตะกร้าใบเดียว (Don’t put all your eggs in one basket)” ความหมายของประโยคนี้ก็คือ อย่าใส่เงินลงทุน (ไข่) ของเราทั้งหมดไว้ในการลงทุน (ตะกร้า) ตัวเดียว เช่น หุ้นตัวเดียว ฯลฯ ก็เพราะว่า หากเกิดเหตุการณ์ด้านลบที่ไม่คาดฝันกับการลงทุนตัวนั้น (ตะกร้าหล่น ไข่แตก) เราก็ยังมีไข่ในตะกร้าใบอื่น (เงินลงทุนในการลงทุนตัวอื่น เช่น หุ้นตัวอื่น เงินฝาก อสังหาฯ) ไม่เสียหายไปทั้งหมด นี่คือหลักกระจายความเสี่ยง (Diversification)
แต่ปรมาจารย์การลงทุนอย่าง วอเรน บัฟเฟตต์ และ ปีเตอร์ ลินช์ ไม่ได้มองเช่นนั้น บัฟเฟตต์กลับหยิบยกสุภาษิตเก่าแก่ที่บอกว่า “ให้ใส่ไข่ทุกฟองในตะกร้าใบเดียว แล้วจับตาดูตะกร้าใบนั้นให้ดีๆ (Keep all your eggs in one basket, but watch that basket closely.)” เพราะบัฟเฟตต์มองว่า การกระจายความเสี่ยงด้วยการลงทุนไปให้ในหุ้นหลายๆตัวมากเกินไปเป็นอุปสรรคขวางกั้นการได้รับผลตอบแทนที่ดี แต่การลงทุนในตะกร้าใบเดียวแล้วเอาใจใส่เฝ้ามองให้ดีกลับจะให้ผลตอบแทนสูงกว่า นี่ก็คือหลักการมุ่งเน้น (Concentration)
ปีเตอร์ ลินช์ มองว่า การกระจายการลงทุนมากเกินไปเป็นจุดด้อยของการลงทุน เขาเขียนไว้ในหนังสือว่า “คนทั่วไปสามารถลงทุนแบบมุ่งเน้นในบริษัทไม่กี่บริษัท ขณะที่ผู้จัดการกองทุนรวมถูกบังคับให้กระจายการลงทุน การถือหุ้นจำนวนมากเกินไป ทำให้สูญเสียประโยชน์จากการมุ่งเน้น การลงทุนให้ถูกตัวเพียงไม่กี่ครั้งก็ทำกำไรมหาศาลคุ้มค่าการลงทุนตลอดชีวิตแล้ว” ซึ่งหมายความว่า ปีเตอร์ ลินช์ ก็นิยมหลักการมุ่งเน้น (Concentration) เช่นเดียวกัน
ตำราพิชัยสงครามซุนวู บทที่ 6 ตื้นลึกหนาบาง เขียนไว้ว่า “เรารวมศูนย์ แต่ศัตรูกระจาย เรารวมเป็นหนึ่ง ศัตรูกระจายเป็นสิบ เราจึงเหนือกว่าศัตรูอยู่สิบต่อหนึ่งในพื้นที่แห่งนั้น เมื่อจึงเอาชนะได้โดยง่าย” นี่ก็คือ หลักการมุ่งเน้น (Concentration) นั่นเอง ถ้าเราปรับมาใช้กับการลงทุน ก็จะตรงกับแนวคิดของบัฟเฟตต์และปีเตอร์ ลินช์ ว่า การลงทุนแบบมุ่งเน้น ทำให้เรามีเงินทุนตั้งต้นที่สามารถสร้างกำไรในเยอะกว่าการกระจายเงินลงทุนไปทั่ว ประเด็นสำคัญคือ เราต้องเลือกการลงทุนนั้นให้ดี ต้องมั่นใจว่าชนะ หรือได้กำไรแน่ๆ แล้วทุ่มเงินลงทุนลงไป ทำอย่างนี้ กำไรที่ได้ย่อมมากกว่าการกระจายการลงทุนหลายเท่า ถ้าใช้สูตรแบบซุนวู คือรวมสิบมาไว้ที่แห่งเดียว ก็ย่อมได้กำไรมากกว่าสิบเท่า นั่นเอง
***********************************************************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
CelestialStrategist.com
13 สิงหาคม 2558
***********************************************************************