ทุกปี บริษัทที่ปรึกษาสัญชาติอังกฤษ ระดับโลก ดีลอยต์ (Deloitte) จะออกรายงานเกี่ยวกับธุรกิจฟุตบอล เรียกชื่อรายงานนี้ว่า Football Money League โดยจะรายงานข้อมูลรายได้และข้อมูลสำคัญๆในปีที่ผ่านมาของสโมสรฟุตบอลชั้นนำ 20 อันดับแรกในยุโรป การจัดอันดับในลีกการเงินฟุตบอลนี้จัดโดยเรียงลำดับจากรายได้ประจำปี โดยฉบับล่าสุดซึ่งเป็นรายงานปีที่ 23 แล้ว ได้ออกมาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ในชื่อว่า Deloitte Football Money League 2020: Eye on the prize (จับตาที่เงินรางวัล)
รายงานฉบับนี้มีเรื่องน่าสนใจหลายเรื่อง แต่ขอหยิบมาเฉพาะสโมสรอันดับ 7 ใน Football Money League ปีนี้ก่อน นั่นคือ สโมสรลิเวอร์พูล เพื่อมาวิเคราะห์ผลการบริหารทีมนับตั้งแต่ปี 2015 ที่ เจอร์เกน คล็อปป์ มาเป็นผู้จัดการทีม (คล็อปป์ รับตำแหน่งผู้จัดการทีมลิเวอร์พูลเมื่อ 8 ตุลาคม 2015 ก่อนหน้านั้นสโมสรลิเวอร์พูล มี แบรนดอน ร็อดเจอร์ เป็นผู้จัดการทีม)
จากรายงานของดีลอยต์ เมื่อมกราคม 2015 ลิเวอร์พูล อยู่อันดับ 9 ของ Football Money League มีรายได้ในปี 2014 อยู่ที่ 255.8 ล้านปอนด์ มาจาก รายได้วันแข่งขัน (Matchday) 51 ล้านปอนด์ หรือ 20% ของรายได้ทั้งหมด, รายได้จากลิขสิทธิ์ถ่ายทอด (Brodcast) 101 ล้านปอนด์ หรือ 39% ของรายได้ทั้งหมด และรายได้จากพาณิชย์ (Commercial) เช่น สปอนเซอร์, ขายสินค้า ที่ 124.1 ล้านปอนด์ หรือ 41% ของรายได้ทั้งหมด
เมื่อมาเทียบกับรายงานฉบับล่าสุด มกราคม 2020 สโมสรลิเวอร์พูล ขยับขึ้นมา 2 อันดับ มาอยู่อันดับ 7 ของ Football Money League มีรายได้ในปี 2019 อยู่ที่ 533 ล้านปอนด์ เพิ่มขึ้นจาก 5 ปีก่อนถึง 277.2 ล้านปอนด์ หรือเพิ่มขึ้น 108% เลยทีเดียว โดยมีรายได้วันแข่งขัน 83.3 ล้านปอนด์ เพิ่มขึ้นจากห้าปีก่อน 63%, รายได้จากลิขสิทธิ์ออกอากาศ 263.8 ล้านปอนด์ เพิ่มจากห้าปีก่อน 161% และรายได้จากพาณิชย์ 185.9 ล้านปอนด์ เพิ่มจากห้าปีก่อน 79%
รายได้รวมที่เพิ่มขึ้นมาเท่าตัวภายใน 5 ปีนั้น ในทางธุรกิจถือว่าเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของฝ่ายบริหาร ซึ่งก็มาจากการทำงานร่วมกันของเจ้าของบริษัท ซึ่งก็คือ จอห์น เฮนรี แห่ง เฟนเวย์สปอร์ตกรุ๊ป (FSG) กับ เจอร์เกน คล็อปป์ ผู้จัดการทีม รวมไปถึงฝ่ายบริหารคนอื่นทั้ง ประธานสโมสร ทอม เวอร์เนอร์, CEO ปีเตอร์ มัวร์ เป็นต้น
หากเราย้อนดูปัจจัยสำคัญที่ทำให้สโมสรลิเวอร์พูลมีรายได้เพิ่มขึ้นมาเท่าตัวภายในห้าปี นอกจากผลงานการแข่งขันแล้ว ในแง่บริหารเงินก็มีประเด็นน่าสนใจหลายประการ กลุ่ม FSG เข้ามาเป็นเจ้าของสโมสรลิเวอร์พูลเมื่อ 15 ต.ค. 2010 โดยเข้ามาสะสางปัญหาทางการเงินของสโมสรที่ผู้ถือหุ้นคนเก่าสร้างเอาไว้ กว่าที่จะได้เริ่มลงทุนอะไรใหม่ๆให้สโมสรก็ใช้เวลานับปี
ประเด็นที่น่าสนใจที่ผมเห็นคือ การใช้เงินลงทุน Capital Expenditure หรือที่เรียกสั้นๆว่า CapEx (แคปเอ็กซ์) เพราะการลงทุนแบบนี้จะสะท้อนถึงแผนการในระยะยาวของฝ่ายบริหาร ถ้าลงทุนในสิ่งที่เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน (Competitive Advantage) ก็จะส่งผลดีในระยะยาว แต่ถ้าลงทุนสะเปะสะปะ เงินที่ลงทุนไปก็จะสูญเปล่า ดีไม่ดีจะบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของสโมสรด้วย
สโมสรลิเวอร์พูลในยุค FSG กับคล็อป เริ่มลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ที่สร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยเริ่มจาก ลงทุนขยายอัฒจันทร์ Main Stand ใช้เงินไปราว 110 ล้านปอนด์ โดยเริ่มสร้างในปี 2014 มาเสร็จใช้งานได้ในปี 2016 ส่งผลให้เพิ่มจำนวนที่นั่งทั้งสนามมาอีก 8,500 ที่ หรือประมาณ 19% ทำให้ปัจจุบันสนามแอนฟิลด์มีที่นั่งทั้งหมด 53,394 ที่นั่ง (ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของสโมสรในพรีเมียร์ลีก) เมื่อจำนวนที่นั่งเพิ่มขึ้นมา 19% แต่รายได้วันแข่งเพิ่ม 63% แปลว่าความนิยมแฟนบอลเพิ่มขึ้น จำนวนแมตช์แข่งขันมากขึ้น ส่วนราคาบัตรนั้น สโมสรตรึงราคาไว้หลายปีแล้ว (ไม่นับราคาในตลาดมือสองที่เพิ่มพรวดๆ) ได้ใจแฟนบอลไปมาก
เมื่อ Main Stand เสร็จในปี 2016 ฝ่ายบริหารสโมสรก็ใช้เงินลงทุนสร้าง Club Superstore ที่สนาม ขนาด 1,800 ตารางเมตร ต่อเนื่องทันที ร้านค้าสโมสรที่มีขนาดใหญ่ขึ้น สวยงามขึ้น ย่อมเพิ่มรายได้จากพาณิชย์ ขึ้นไปอีก ร้านใหม่เสร็จภายในปีเดียว เริ่มเปิดในปี 2017
ถัดจากขยายอัฒจันทร์กับร้านประจำสโมสร ฝ่ายบริหารลิเวอร์พูล ได้ลงทุนสร้างสนามซ้อมแห่งใหม่ ที่ เคิร์กบี้ ขนาด 9,200 ตารางเมตร ด้วยเงินลงทุนสูงถึง 50 ล้านปอนด์ ซึ่งคาดว่าจะเสร็จเริ่มใช้งานกลางปี 2020 นี้ แปลว่าฤดูกาลหน้า ทีมจะย้ายสนามซ้อมจากเมลวู้ดมายังเคิร์กบี้ ซึ่งมีอุปกรณ์การฝึกซ้อมทันสมัยครบครัน สโมสรใช้คำว่า state-of-the-art facilities การลงทุนในสนามซ้อมนี้ ไม่ได้ส่งผลต่อรายได้ของสโมสรโดยตรง แต่เป็นการมองการณ์ไกลของฝ่ายบริหาร เพราะจะส่งผลดีต่อผลงานของทีม เมื่อนักเตะได้ซ้อมในสนามที่ทันสมัยย่อมได้เปรียบกว่าซ้อมในอุปกรณ์เก่าๆอย่างเดียว อีกทั้งยังเป็นการสร้างทีมเยาวชนขึ้นมาให้สโมสรด้วย
และเมื่อสนามซ้อมแห่งใหม่จะเสร็จในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ฝ่ายบริหารก็เริ่มโครงการลงทุนสำคัญต่อไปทันที คือแผนการขยายอัฒจันทร์ฝั่งถนนแอนฟิลด์ ซึ่งจะทำให้สนามมีความจุเพิ่มอีก 7,000 ที่นั่ง รวมเป็น 61,000 ที่นั่ง (เพิ่มขึ้นอีก 14% และจะกลายสนามใหญ่เป็นอันดับ 3 ในพรีเมียร์ลีกด้วย) ซึ่งอยู่ระหว่างรับฟังความเห็นชุมชนอยู่ หากผ่านการอนุมัติก็พร้อมที่จะก่อสร้างทันที
จะเห็นว่า ก้าวย่างของการลงทุน CapEx ของฝ่ายบริหารสโมสร ล้วนแล้วแต่เลือกลงทุนในสิ่งที่สร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับสโมสรทั้งสิ้น ทำให้เชื่อได้ว่า สโมสรจะสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจให้กับเจ้าของไปอีกนาน
ที่เล่ามานี้ ยังไม่ได้กล่าวถึง การบริหารเชิงพาณิชย์ของสโมสร ซึ่งไม่ใช่เรื่องของการลงทุน CapEx แต่เป็นฝีมือการบริหารเพื่อเพิ่มรายได้ ที่เมื่อไม่นานมานี้ สโมสรได้ประกาศเปลี่ยนสปอนเซอร์ผู้ผลิตเสื้อผ้าจาก New Balance มาเป็น Nike ในฤดูกาลหน้า (2020/21) ซึ่งเงื่อนไขสำคัญก็คือ การที่สโมสรจะได้รับส่วนแบ่ง 20% จากยอดขายสินค้าที่มีตราสโมสร (กรณีรองเท้าได้ 5%) จากการประเมินเชื่อกันว่า รายได้ที่เดิมเคยได้รับจาก New Balance ปีละ 25 ล้านปอนด์ จะเพิ่มขึ้นเป็น 75 ล้านปอนด์ต่อปี ซึ่งหมายความว่า สโมสรจะมีรายได้เพิ่มอีก 50 ล้านปอนด์เลยทีเดียว แต่จะเป็นไปตามคาดหรือไม่ก็ต้องติดตามกันต่อไป
**********************************
โดย พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย
20 มกราคม 2020
**********************************